คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1264/2473

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พฤตติการณ์อย่างไร เรียกว่าการกระทำผิดขาดตอนกันแล้ว วิธีพิจารณาอาชญา การที่จะวินิจฉัยว่าจำเลยมีผิดฐานชิงหรือปล้นนั้น ในชั้นแรกต้องวินิจฉัยเสียก่อนว่าความผิดฐานลักในตอนแรกกับความผิดในตอนหลังขาดตอนกันแล้วหรือยัง พ.ร.บ.ฎีกาอุทธรณ์ พ.ศ.2461 ม.3 แก้มาก ศาลเดิมลงปล้น 10 ปี ศาลอุทธรณ์ลงชิง 3 ปี ฎีกาได้

ย่อยาว

ได้ความว่าเจ้าทรัพย์กลับมาจากดูงานทราบว่าโคของตัสหายไป แลได้นำความไปแจ้งต่อผู้ใหญ่บ้าน แล้วเจ้าทรัพย์กับพวกจึงออกติดตามพบจำเลยกับพวกอีก ๒ คนกำลังพาโคหนี พวกเจ้าทรัพย์ตามทัน จำเลยพูดขู่ว่าเข้ามาจะแทง พวกเจ้าทรัพย์โดดเข้าจับจำเลยเอากฤชแทงไม่ถูก พวกเจ้าทรัพย์เอามีดฟันถูกจำเลย แล้วจำเลยกับพวกวิ่งหนี้แยกกันไป
ศาลเดิมตัดสินว่า จำเลยมีผิดตาม ม.๓๐๑ จำคุก ๑๐ ปี เพิ่มโทษตาม ม.๗๒ อีก ๑ ใน ๓ รวมโทษ ๑๓ ปี ๔ เดือนศาลอุทธรณ์แก้ว่าจำเลยมีผิดตาม ม.๒๘๘ ประกอบด้วย ม.๒๙๓ ข้อ ๗ แล ๒๙๔ ข้อ ๖ จำคุก ๓ ปี เพิ่มโทษตาม ม.๗๒ อีก ๑ ใน ๓ รวม ๔ ปี
ฎีกาเห็นว่า เมื่อพวกเจ้าทรัพย์ได้ติดตามคนร้ายไปนั้นเปนเวลาภายหลังเวลาที่โคหายนานแล้ว ตามพฤติการณ์ต้องฟังว่าการลักทรัพย์ได้ขาดตอนไปแล้วกิริยาที่จำเลยทำลงในตอนหลังนี้จึงเปนความผิดอีกกรรมหนึ่ง ไม่ต่อเนื่องกันจำเลยมีผิด ๒ กะทง คือฐานลักตาม ม.๒๙๓ ข้อ ๑,๗,๑๑ ประกอบด้วย ม.๒๙๔ ข้อ ๖ กะทงหนึ่งให้จำคุก ๑ ปี กับฐานพยายามทำร้ายร่างกายตาม ม. ๒๕๕-๖๐ ประกอบด้วย ม.๒๕๐ (๖) อีกกระทงหนึ่งให้จำคุก ๘ เดือน รวมโทษ ๒ กะทง ๑ ปี ๘ เดือน เพิ่มโทษตาม ม.๗๒ รวมเปนโทษ ๒ ปี ๒ เดือน ๒๐ วัน

Share