คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4366/2528

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

อธิบดีกรมตำรวจเป็นผู้แทนรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการของกรมตำรวจ เมื่ออธิบดีกรมตำรวจได้ออกคำสั่งกำหนดสายงานของกรมตำรวจและมอบหมายหน้าที่ความรับผิดชอบให้รองอธิบดีและผู้ช่วยอธิบดีปฏิบัติราชการแทนอธิบดี การปฏิบัติราชการของผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจภายในกรอบอำนาจตามคำสั่งดังกล่าวเป็นการปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมตำรวจ มีผลเท่ากับเป็นการปฏิบัติราชการตามหน้าที่ของอธิบดีกรมตำรวจ การที่ผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจในฐานะดังกล่าวรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้ที่จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนคือจำเลยตั้งแต่วันที่ 13 กันยายน 2521 ถือได้ว่ากรมตำรวจโจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนคือจำเลยตั้งแต่วันดังกล่าวโจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2523 คดีโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับพันตำรวจโทบรรลือกระทำการโดยประมาทไม่ปฏิบัติตามระเบียบของราชการ ทำให้แร่ซีไรท์ซึ่งอยู่ในความดูแลรับผิดชอบของจำเลยกับพันตำรวจโทบรรลือ ถูกคนร้ายลักไป ทำให้โจทก์ซึ่งเป็นกรมในรัฐบาลเสียหายพันตำรวจโทบรรลือยอมชดใช้ค่าเสียหายกึ่งหนึ่งไปแล้วขอให้ศาลบังคับจำเลยชำระเงินค่าแร่ที่เหลือพร้อมทั้งดอกเบี้ย

จำเลยให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องแร่ซีไรท์ที่พิพาทไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบของจำเลย และคดีโจทก์ขาดอายุความขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นฟังว่าคดีโจทก์ขาดอายุความ พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์เป็นกรมในรัฐบาลเป็นนิติบุคคลมีอธิบดีกรมตำรวจเป็นผู้แทนรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการของกรมตำรวจโจทก์ ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 73, 75 ประกอบด้วยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 218 ลงวันที่ 29 กันยายน 2515 ข้อ 32 วรรคสอง และอธิบดีกรมตรวจได้ออกคำสั่งกรมตำรวจที่ 1690/2519 กำหนดสายงานของกรมตำรวจโดยจัดแบ่งสายงานออกเป็น 3 ฝ่าย เพื่อมอบหมายอำนาจของอธิบดี ให้รองอธิบดีและผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจปฏิบัติราชการแทนสายงาน 3 ฝ่ายดังกล่าวคือ 1. ฝ่ายกิจการพิเศษ 2. ฝ่ายบริหาร 3. ฝ่ายป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม ลักษณะงานฝ่ายบริหารได้แก่งานกำลังพล วินัย ฯลฯ ของกรมตำรวจตามเอกสารหมาย ป.จ.1 สืบเนื่องจากคำสั่งดังกล่าวกรมตำรวจได้ออกคำสั่งที่ 1691/2519 มอบหมายหน้าที่ความรับผิดชอบให้รองอธิบดีและผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมตำรวจ คือ ข้อ 2 ให้พลตำรวจโทสุพล จุลละพราหมณ์ รองอธิบดีกรมตำรวจรับผิดชอบงานฝ่ายบริหาร มีพลตำรวจโทถวิล จันทสีหราช ผู้รักษาการในตำแหน่งผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจเป็นผู้ช่วยตามเอกสารหมาย ป.จ.2 เห็นว่า การปฏิบัติราชการของพลตำรวจโทถวิล จันทสีหราช ภายในกรอบอำนาจตามคำสั่งดังกล่าวเป็นการปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมตำรวจ มีผลเท่ากับเป็นการปฏิบัติราชการตามหน้าที่ของอธิบดีกรมตำรวจและเห็นว่าการที่พลตำรวจโทถวิล จันทสีหราชในฐานะผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจทำหนังสือที่ 0503 (พ)/14295 ลงวันที่ 13 กันยายน 2521 สั่งการให้ผู้บัญชาการตำรวจภูธร 3 แจ้งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายพิจารณาดำเนินการทางแพ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ดังกล่าวข้างต้นเป็นการปฏิบัติราชการตามหน้าที่ที่ได้รับมอบอำนาจตามคำสั่งกรมตำรวจที่ 1691/2519 เป็นการปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมตำรวจมีผลถือว่าโจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนคือจำเลยตั้งแต่วันที่ 13 กันยายน 2521 และเห็นว่าการรู้ถึงการละเมิดดังกล่าวกับการฟ้องคดีนั้นเป็นขั้นตอนคนละขั้นตอนกัน คือเมื่อโจทก์ทราบถึงตัวผู้ทำละเมิดอันก่อให้เกิดความเสียหายแล้ว โจทก์อาจไม่ฟ้องหรือฟ้องผู้ทำละเมิดให้รับผิดก็ได้ซึ่งการฟ้องคดีนี้เป็นอำนาจเฉพาะตัวของโจทก์จริงดังโจทก์ฎีกา แต่โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2523 อันเป็นเวลาเกินหนึ่งปีนับแต่วันที่โจทก์ได้รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนคือจำเลยดังวินิจฉัยแล้ว คดีโจทก์ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448

พิพากษายืน

Share