คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7229/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การที่ลูกหนี้ชำระหนี้ให้แก่ผู้คัดค้านตามสัญญาประนีประนอมยอมความโดยมีผลทำให้เจ้าหนี้อื่นไม่ได้รับการแบ่งชำระด้วยเป็นการกระทำที่มุ่งหมายให้ผู้คัดค้านได้เปรียบแก่เจ้าหนี้อื่นตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ.2483มาตรา115แม้การชำระหนี้ดังกล่าวจะเนื่องมาจากผู้คัดค้านอายัดเงินของลูกหนี้ที่มีต่อบริษัทอื่นไว้ชั่วคราวก่อนพิพากษาในคดีแพ่งที่ผู้คัดค้านฟ้องลูกหนี้ให้ชำระหนี้แล้วมีการต่อรองลดจำนวนหนี้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความและชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความก็จะถือว่าลูกหนี้อยู่ในภาวะจำยอมหรือเป็นความจำเป็นอันมิได้ประสงค์ให้ผู้คัดค้านได้เปรียบแก่เจ้าหนี้อื่นไม่ได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2531 โจทก์ฟ้องลูกหนี้ (จำเลย) ขอให้ล้มละลาย และศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เด็ดขาด เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2532ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ลูกหนี้เป็นผู้รับเหมาก่อสร้างอาคารคอนโดมิเนียมจากบริษัทสาธรคอร์ปอเรชั่น จำกัด และได้ว่าจ้างผู้คัดค้านติดตั้งประตูหน้าต่างอลูมิเนียมในอาคารดังกล่าวต่อมาผู้คัดค้านดำเนินการติดตั้งแล้วเสร็จตามสัญญาและเรียกเก็บเงินจำนวน 2,110,395 บาท จากลูกหนี้ แต่ลูกหนี้ไม่ชำระ ผู้คัดค้านจึงฟ้องลูกหนี้เรียกเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมทั้งขออายัดเงินค่าจ้างเหมาของลูกหนี้ไว้ชั่วคราวก่อนพิพากษาไปยังบริษัทสาธรคอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งบริษัทสาธรคอปอร์เรชั่น จำกัดได้ส่งเงินจำนวน 2,100,000 บาท มาตามคำสั่งอายัดชั่วคราวของศาล ต่อมาลูกหนี้ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับผู้คัดค้านโดยยอมชำระเงินจำนวน 2,100,000 บาท แก่ผู้คัดค้าน แต่ผู้คัดค้านไม่มาศาลตามนัด ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดี ผู้คัดค้านจึงฟ้องลูกหนี้เป็นคดีใหม่เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2532 ตามคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 630/2532 ของศาลชั้นต้น พร้อมทั้งขออายัดเงินจำนวน 2,100,000 บาท ของลูกหนี้ไว้ชั่วคราวก่อนพิพากษาต่อมาวันที่ 8 มีนาคม 2532 ลูกหนี้กับผู้คัดค้านทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันโดยลูกหนี้ยอมชำระเงินจำนวน 2,100,000 บาท แก่ผู้คัดค้านศาลพิพากษาตามยอมตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 3556/2532 ของศาลชั้นต้น ผู้คัดค้านได้รับเงินจำนวนดังกล่าวไปจากศาลเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2532 การกระทำของลูกหนี้เป็นการกระทำในระยะเวลาภายหลังที่มีการขอให้ลูกหนี้ล้มละลายโดยมุ่งหมายให้ผู้คัดค้านซึ่งเป็นเจ้าหนี้ได้เปรียบแก่เจ้าหนี้อื่นเพราะเมื่อลูกหนี้ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้วมีเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้รวม 15 ราย เป็นเงิน 5,734,093 บาทซึ่งเจ้าหนี้ดังกล่าวไม่สามารถได้รับชำระหนี้ครบถ้วน ขอให้มีคำสั่งเพิกถอนการชำระหนี้จำนวน 2,100,000 บาท ตามสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างลูกหนี้กับผู้คัดค้านตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 115
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านไม่ทราบมาก่อนว่าลูกหนี้มีเจ้าหนี้อื่นหรือมีหนี้สินล้นพ้นตัว ลูกหนี้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความและชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความให้แก่ผู้คัดค้านโดยสมัครใจและมีมูลหนี้แท้จริง มิได้เป็นการฉ้อฉลหรือสมยอมกันเพื่อให้เจ้าหนี้อื่นเสียเปรียบ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนการชำระหนี้จำนวน 2,100,000 บาทตามสัญญาประนีประนอมยอมความฉบับลงวันที่ 8 มีนาคม 2532 ระหว่างลูกหนี้กับผู้คัดค้านตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 115
ผู้คัดค้าน อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
ผู้คัดค้าน ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่มิได้โต้เถียงกันฟังยุติได้ว่า โจทก์ฟ้องลูกหนี้เป็นคดีล้มละลายเมื่อวันที่8 กันยายน 2531 และศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เด็ดขาดเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2532 มีเจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้รวม 15 รายเป็นเงิน 5,000,000 บาทเศษ ก่อนลูกหนี้ถูกฟ้องล้มละลายลูกหนี้ได้รับเหมาก่อสร้างอาคารคอนโดมิเนียมจากบริษัทสาธรคอร์ปอเรชั่น จำกัด และว่าจ้างผู้คัดค้านติดตั้งประตูหน้าต่างอลูมิเนียมในอาคารดังกล่าว เมื่อผู้คัดค้านติดตั้งเสร็จแล้วเรียบร้อยได้เรียกเก็บเงินค่าจ้างจำนวน 2,110,395 บาทจากลูกหนี้ ลูกหนี้ไม่ชำระ ผู้คัดค้านจึงฟ้องลูกหนี้เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2531 ขอให้ชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมกับขออายัดเงินของลูกหนี้ที่มีต่อบริษัทสาธรคอร์ปอเรชั่น จำกัดไว้ชั่วคราวก่อนพิพากษา ซึ่งบริษัทสาธรคอร์ปอเรชั่น จำกัดได้ส่งเงินจำนวน 2,100,000 บาท มาตามคำสั่งอายัดชั่วคราวของศาล ต่อมาศาลจำหน่ายคดีเนื่องจากผู้คัดค้านไม่มาศาลตามนัดผู้คัดค้านได้ฟ้องลูกหนี้เป็นคดีใหม่เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2532ตามคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 630/2532 ของศาลชั้นต้น และขออายัดเงินที่บริษัทสาธรคอร์ปอเรชั่น จำกัด ส่งมาในคดีเดิมไว้ชั่วคราวก่อนพิพากษา ต่อมาวันที่ 8 มีนาคม 2532 ลูกหนี้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับผู้คัดค้านโดยยอมชำระเงินจำนวน 2,100,000 บาทแก่ผู้คัดค้าน ศาลพิพากษาตามยอม ผู้คัดค้านได้รับเงินจำนวน2,100,000 บาท ไปครบถ้วนเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2532
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านว่า การที่ลูกหนี้ชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความให้แก่ผู้คัดค้านจำนวน 2,100,000 บาท เป็นการกระทำโดยมุ่งหมายให้ผู้คัดค้านได้เปรียบแก่เจ้าหนี้อื่นหรือไม่ เห็นว่า แม้ในขณะที่ผู้คัดค้านได้รับชำระหนี้จากลูกหนี้จะเป็นเวลาก่อนที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เด็ดขาด แต่เมื่อเป็นเวลาภายหลังที่มีการขอให้ล้มละลาย และเมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เด็ดขาดแล้วมีเจ้าหนี้อื่นขอรับชำระหนี้รวม 15 ราย เป็นเงินถึง5,000,000 บาทเศษ หนี้ที่เจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้ดังกล่าวไม่ปรากฏในทางนำสืบของผู้คัดค้านว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่ประการใดส่วนที่นายสุวัฒน์ สุภาชัยวัฒน์ ทนายผู้คัดค้านเบิกความว่าทราบว่าลูกหนี้มีสิทธิได้รับเงินจากบริษัทสาธรคอร์ปอเรชั่นจำกัด ประมาณ 9,000,000 บาทเศษ มากกว่าหนี้ของเจ้าหนี้นั้นพยานเพียงแต่ทราบว่าเท่านั้น ไม่มีพยานอื่นสนับสนุน จึงเป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ ทั้งได้ความจากทางนำสืบของผู้ร้องซึ่งเป็นผู้คัดค้านยอมรับในฎีกาว่าผู้ร้องรวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้ได้บ้างแต่ไม่สามารถชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ได้ครบถ้วนทุกราย ดังนี้การที่ลูกหนี้ชำระหนี้ให้แก่ผู้คัดค้านตามสัญญาประนีประนอมยอมความโดยมีผลทำให้เจ้าหนี้อื่นไม่ได้รับการแบ่งชำระด้วย จึงเห็นได้ว่าเป็นการกระทำที่มุ่งหมายให้ผู้คัดค้านได้เปรียบแก่เจ้าหนี้อื่นตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 115 การที่ผู้คัดค้านอายัดเงินของลูกหนี้ที่มีต่อบริษัทสาธรคอร์ปอเรชั่น จำกัดไว้ชั่วคราวก่อนพิพากษา แล้วมีการต่อรองลดจำนวนหนี้ ทำสัญญาประนีประนอมยอมความและชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความกรณีจะถือว่าลูกหนี้อยู่ในภาวะจำยอมหรือเป็นความจำเป็นอันมิได้ประสงค์ให้ผู้คัดค้านได้เปรียบแก่เจ้าหนี้อื่นตามฎีกาของผู้คัดค้านหาได้ไม่ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5916/2530 ระหว่าง บริษัทที.แอนด์.วี.ทรานสปอร์ต จำกัด โจทก์ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของนายดุสิต แสงเดือนฉาย ผู้ร้อง นางกิติมา อุดมศรีผู้คัดค้าน นายดุสิต แสงเดือนฉาย จำเลย และคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 613/2531 ระหว่าง นาวาอากาศโทไพบูลย์ รักเดช โจทก์เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของนายสุนันท์ ประเสริฐสม ผู้ร้องนายสุนันท์ ประเสริฐสม จำเลย ที่ผู้คัดค้านอ้างในฎีกาข้อเท็จจริงต่างกับคดีนี้โดยคำพิพากษาศาลฎีกาเรื่องแรกเป็นกรณีลูกหนี้ในฐานะจำเลยชำระหนี้ตามเช็คให้แก่ผู้คัดค้าน เพราะถูกคัดค้านในฐานะโจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ยึดบ้านไว้ชั่วคราวก่อนพิพากษามิฉะนั้นลูกหนี้ไม่อาจทำนิติกรรมขายบ้านให้แก่บุคคลภายนอกได้คำพิพากษาศาลฎีกาเรื่องหลังเป็นกรณีลูกหนี้ในฐานะจำเลยชำระหนี้ตามเช็คให้แก่โจทก์เพื่อให้โจทก์ถอนฟ้องคดีอาญาในความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค ซึ่งศาลได้ออกหมายจับลูกหนี้ไว้แล้ว จึงนำมาเทียบเคียงกับคดีนี้ไม่ได้ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนการชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความและศาลอุทธรณ์พิพากษายืนนั้นชอบแล้ว ฎีกาของผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share