คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5737/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ส่วนจำเลยมิได้แก้อุทธรณ์ จะถือว่าจำเลยไม่ได้ต่อสู้คดีในชั้นอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ต้องรับฟังข้ออุทธรณ์ของโจทก์ฝ่ายเดียวแล้วพิพากษาลงโทษจำเลยหาได้ไม่ เพราะไม่มีบทกฎหมายใดบัญญัติไว้เช่นนั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 264, 265, 268, 83, 91
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา โจทก์ถึงแก่ความตาย นางสาวเนาวนิจ ศิลปรัตน์ผู้สืบสันดานโจทก์ยื่นคำร้องขอเข้าดำเนินคดีต่างผู้ตายศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาในศาลชั้นต้น อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่าจำเลยที่ 2 กู้เงินนายไพโรจน์ โล่ห์สุนทร จำนวน 3,000,000 บาทกำหนดชำระหนี้คืนภายใน 1 เดือน การกู้เงินดังกล่าวโจทก์สั่งจ่ายเช็คจำนวน 3,000,000 บาท ลงวันที่ 10 ตุลาคม 2535 มอบให้นายไพโรจน์เพื่อค้ำประกันการชำระหนี้ และจำเลยที่ 2มอบโฉนดที่ดินของจำเลยที่ 1 กับหนังสือมอบอำนาจซึ่งจำเลยที่ 2ลงลายมือชื่อจำเลยที่ 1 ในช่องผู้มอบอำนาจให้นายไพโรจน์เป็นประกันหนี้ เมื่อถึงกำหนดจำเลยที่ 2 ไม่ชำระหนี้ นายไพโรจน์จึงนำเช็คที่โจทก์สั่งจ่ายไปเรียกเก็บเงินแล้วมอบโฉนดที่ดินและหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวให้แก่โจทก์ โจทก์นำโฉนดที่ดินและหนังสือมอบอำนาจไปจดทะเบียนจำนอง แต่ไม่สามารถจดทะเบียนได้เพราะลายมือชื่อผู้มอบอำนาจในหนังสือมอบอำนาจแตกต่างจากหลักฐานลายมือชื่อของจำเลยที่ 1 เดิมซึ่งมีอยู่ที่สำนักงานที่ดิน
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันกระทำความผิดตามฟ้องและโจทก์เป็นผู้เสียหายหรือไม่ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่จำเลยที่ 2 กู้เงินได้กำหนดเงื่อนไขว่าจำเลยที่ 2 ต้องมอบโฉนดที่ดินของจำเลยที่ 1 พร้อมด้วยหนังสือมอบอำนาจของจำเลยที่ 1 ให้จดทะเบียนจำนอง และโจทก์ต้องสั่งจ่ายเช็คจำนวนเงินเท่ากับยอดเงินที่จำเลยที่ 2 กู้ยืมเพื่อค้ำประกันเงินกู้ของจำเลยที่ 1 ให้แก่นายไพโรจน์ด้วย ซึ่งสอดคล้องกับสำเนาบันทึกของจำเลยที่ 2 ที่เขียนมอบให้นางสาวพวงเพชรตามเอกสารหมาย จ.7 ทั้งเมื่อพิจารณาประกอบกับสำเนาหนังสือมอบอำนาจให้จำนองตามเอกสารหมาย จ.2 ก็ระบุว่าจำเลยที่ 1 มอบให้โจทก์เป็นผู้มีอำนาจจดทะเบียนจำนองที่ดินและได้ความว่าจำเลยที่ 2 ได้มอบเอกสารหมาย จ.2 ให้แก่นางสาวพวงเพชรตัวแทนโจทก์พร้อมด้วยโฉนดที่ดินตามเอกสารหมาย จ.1 เพื่อเป็นหลักประกันเงินกู้ หาใช่มอบให้โจทก์เพื่อเป็นหลักประกันการที่โจทก์สั่งจ่ายเช็คค้ำประกันในการที่จำเลยที่ 2 กู้ยืมเงินจากนายไพโรจน์ไม่หากเป็นการค้ำประกันหรือหลักประกันในการที่โจทก์สั่งจ่ายเช็คให้นายไพโรจน์แล้วก็จะต้องมอบโฉนดที่ดินและหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวให้แก่โจทก์ในฐานะผู้รับจำนองนอกจากนั้น การที่โจทก์สั่งจ่ายเช็คตามเอกสารหมาย จ.4 ก็มิใช่ผลโดยตรงจากการที่จำเลยที่ 2 มอบโฉนดที่ดินและหนังสือมอบอำนาจให้แก่นายไพโรจน์ แต่เป็นเพราะนายไพโรจน์กำหนดเงื่อนไขในการกู้เงินของจำเลยที่ 2 ว่าจะต้องให้โจทก์สั่งจ่ายเช็คลงวันที่ล่วงหน้าตามจำนวนเงินที่ให้กู้เพื่อค้ำประกันหนี้เงินกู้ระหว่างจำเลยที่ 2 กับนายไพโรจน์ยิ่งกว่านั้นยังได้ความจากคำเบิกความของโจทก์ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องว่าโจทก์รู้จักกับจำเลยที่ 1 มาเป็นเวลาประมาณ 25 ปี จำเลยที่ 1มีฐานะดี ประกอบธุรกิจที่ดิน เป็นเจ้าของศูนย์การค้า และเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรด้วย ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นบุตรเขยของจำเลยที่ 1 การที่โจทก์สั่งจ่ายเช็คค้ำประกันการกู้ยืมดังกล่าวจึงน่าเชื่อว่าเกิดจากความสนิทสนมคุ้นเคยระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 มาเป็นเวลานาน ตลอดจนเชื่อถือในฐานะและอาชีพของจำเลยที่ 1 และความเกี่ยวพันระหว่างจำเลยที่ 1กับจำเลยที่ 2 เป็นสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โจทก์มีฐานะเป็นเพียงผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 2 เท่านั้น โจทก์ก็ไม่ใช่ผู้เสียหายตามความหมายของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(4)โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 28(2) ไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาอื่นอีกต่อไป
ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยทั้งสามมิได้แก้อุทธรณ์ จึงถือว่าจำเลยทั้งสามไม่ได้ต่อสู้คดีในชั้นอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ต้องรับฟ้องข้ออุทธรณ์ของโจทก์ฝ่ายเดียวแล้วพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสามนั้น เห็นว่า ไม่มีบทกฎหมายใดบัญญัติไว้เช่นนั้น
พิพากษายืน

Share