คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6129/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์รู้เห็นยินยอมให้จำเลยนำเงินไปมอบให้เจ้าพนักงาน เพื่อให้มีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการโอนที่ดินและค่าภาษี ให้น้อยลง เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมายโดยโจทก์ รู้อยู่แล้วว่าโจทก์ไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระเงิน ส่วนที่เหลือจากค่าธรรมเนียมและค่าภาษีการโอน โจทก์ไม่มีสิทธิ เรียกเงินคืนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 407

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์กับนางกมลวรรณ สกุนตนาค ตกลงขายที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 16270, 16271, 16272 และเลขที่ 1025ให้แก่จำเลยเป็นเงินทั้งสิ้น 8,600,000 บาท ได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 16270 และ 16271 และรับเงินค่าซื้อที่ดินไปแล้ว ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 16272 และ 1025ซึ่งเป็นที่ดินของโจทก์ ตกลงไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในวันที่30 พฤศจิกายน 2532 แต่จดทะเบียนไม่ได้เพราะวันดังกล่าวจำเลยเตรียมเงินชำระค่าซื้อที่ดินที่เหลือส่วนที่เป็นเงินสดไปเพียง 300,000 บาท เพื่อชำระค่าธรรมเนียมค่าภาษีในนามของโจทก์แต่เจ้าพนักงานที่ดินคำนวณเป็นค่าธรรมเนียมและค่าภาษีประมาณ500,000 บาท จึงตกลงเลื่อนไป ต่อมาวันที่ 1 ธันวาคม 2532ซึ่งเป็นวันนัด จำเลยเตรียมเงินสดไปจำนวน 500,000 บาทเพื่อชำระค่าธรรมเนียมและค่าภาษีดังกล่าว โจทก์ให้จำเลยไปติดต่อกับเจ้าพนักงานที่ดินเพราะจำเลยรู้จักกับเจ้าพนักงานที่ดินดีจะได้รับความสะดวก ในที่สุดก็จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์แล้วเสร็จจำเลยนำเงินสดที่เหลือจากชำระค่าธรรมเนียมและค่าภาษีจำนวน21,000 บาท คืนให้โจทก์ ครั้นวันที่ 16 มีนาคม 2533 โจทก์ไปตรวจสอบทราบว่าการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินชำระค่าธรรมเนียมเป็นเงิน 69,110 บาท ค่าภาษีจำนวน 167,456 บาท รวมเป็นเงิน 246,566 บาท เท่านั้น ที่จำเลยคืนเงินให้โจทก์เพียงจำนวน 21,000 บาท จึงคืนให้น้อยกว่าที่ต้องคืนเป็นเงินจำนวน 232,434 บาท โจทก์ได้ทวงถามแล้วจำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยคืนเงินจำนวน 232,434 บาท ให้โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2532 จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า โจทก์ต้องการจะหลีกเลี่ยงชำระภาษีการขายที่ดินจึงให้จำเลยติดต่อกับพนักงานที่ดินขอชำระค่าธรรมเนียมการขายโดยประเมินราคาที่ดินให้ต่ำลง ให้จำเลยกันเงินค่าซื้อที่ดินจำนวน 500,000 บาท ไว้ชำระค่าธรรมเนียมในนามของโจทก์โดยตกลงกันว่าเมื่อหักค่าธรรมเนียมแล้ว เงินที่กันไว้ยังเหลือก็ให้มอบเป็นค่าตอบแทนแก่เจ้าหน้าที่ผู้ดำเนินการจดทะเบียนจำเลยได้มอบเงินจำนวนดังกล่าวแก่เจ้าพนักงานไปทั้งหมดแต่เจ้าพนักงานคืนเงินให้ 21,000 บาท จำเลยจึงมอบเงินจำนวนนั้นให้โจทก์ จำเลยไม่ได้เบียดบังเงินแต่อย่างใด ตามใบสั่งค่าธรรมเนียมค่าภาษีที่ทางราชการออกให้ระบุว่าที่ดินมีราคาจำนวน 3,200,000 บาทแต่ตามราคาประเมินของทางราชการว่ามีราคาเป็นเงินจำนวน3,954,000 บาท โดยที่ตามราคาซื้อขายเป็นเงินจำนวน 8,600,000 บาท แต่โจทก์กลับแจ้งว่าซื้อขายในราคาเป็นเงินเพียงจำนวน 3,200,000 บาท ซึ่งยังต่ำกว่าราคาประเมินอีกด้วย โจทก์หลีกเลี่ยงการชำระค่าธรรมเนียมและค่าภาษีที่จะต้องชำระ โจทก์กระทำการโดยมีวัตถุประสงค์ต้องห้ามตามกฎหมาย ขัดขวางต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน และโจทก์ชำระหนี้อันฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมาย โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกเงินคืน พร้อมดอกเบี้ยขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ระหว่างการพิจารณา โจทก์ถึงแก่กรรม นายดาบตำรวจสังวาลย์เกิดแก่น บุตรของโจทก์ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลฎีกามีคำสั่งอนุญาต
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พยานหลักฐานของจำเลยมีน้ำหนักยิ่งกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ ข้อเท็จจริงเชื่อได้ตามทางนำสืบของจำเลยว่าการที่จำเลยไปดำเนินการเพื่อให้เจ้าพนักงานที่ดินประเมินราคาที่ดินให้ต่ำลง ทำให้การเสียค่าธรรมเนียมการโอนและค่าภาษีลดน้อยลง โจทก์ได้รู้เห็นยินยอมด้วย ฎีกาของโจทก์ในปัญหานี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาสุดท้าย โจทก์มีสิทธิเรียกเงินที่เหลือจากค่าธรรมเนียมและค่าภาษีคืนได้เพียงใดหรือไม่ เห็นว่า การที่โจทก์รู้เห็นยินยอมให้จำเลยนำเงินไปมอบให้เจ้าพนักงานเพื่อให้มีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการโอนและค่าภาษีให้น้อยลง เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมายโดยโจทก์รู้อยู่แล้วว่าโจทก์ไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระเงินส่วนที่เหลือจากค่าธรรมเนียมและค่าภาษีการโอนโจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกเงินจำนวนดังกล่าวคืนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 407 ฎีกาของโจทก์ในปัญหานี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน

Share