คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 573/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เมื่อหนังสือสัญญาการเช่าใช้บริการวิทยุคมนาคม (โทรศัพท์เคลื่อนที่) ไม่ได้กำหนดเวลาอันพึงชำระหนี้ที่แน่นอนไว้แต่อย่าใด โจทก์ผู้ให้บริการย่อมเรียกให้จำเลยผู้เช่าใช้บริการดังกล่าวชำระหนี้ได้โดยพลันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 203 ข้อกำหนดในสัญญาในการเรียกเก็บค่าบริการ ค่าธรรมเนียม หรือหลักประกันโดยใช้วิธีส่งใบแจ้งหนี้ให้แก่จำเลยนั้นเป็นการบอกกล่าวให้จำเลยชำระหนี้ตามนัยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 387 เท่านั้น ไม่ใช่เป็นกำหนดเวลาชำระหนี้สิ้นสุดลง อายุความจึงมิได้เริ่มนับตั้งแต่เวลาการบอกกล่าวให้จำเลยชำระหนี้สิ้นสุดลงแต่อย่างใดไม่ เมื่อปรากฏว่าจำเลยได้โอนการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ให้บุคคลอื่นไป สัญญาเช่าใช้บริการวิทยุคมนาคมระหว่างโจทก์และจำเลยย่อมสิ้นสุดลง โจทก์มีสิทธิเรียกค่าใช้บริการดังกล่าวจากจำเลยได้ทันที คือตั้งแต่วันที่จำเลยโอนการใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ให้แก่บุคคลอื่น เมื่อนับระยะเวลาจากวันดังกล่าวถึงวันฟ้องเกินกำหนด 2 ปี จึงขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 45,492 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง

ระหว่างพิจารณาคู่ความรับข้อเท็จจริงว่า ระหว่างวันที่ 28 กันยายน 2536ถึงวันที่ 21 ตุลาคม 2536 จำเลยเป็นผู้เช่าใช้บริการของโจทก์ แต่จำเลยไม่ได้ใช้บริการวิทยุคมนาคมของโจทก์ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังยุติได้ว่า จำเลยเป็นผู้เช่าใช้บริการวิทยุคมนาคมระบบเวิลด์โฟน (โทรศัพท์เคลื่อนที่) หมายเลข 4891019 กับโจทก์ในช่วงเวลาระหว่างวันที่ 28 กันยายน 2536 ถึงวันที่ 21 ตุลาคม 2536 โดยการเช่าใช้บริการวิทยุคมนาคมดังกล่าว มีการทำสัญญาเป็นหนังสือไว้ด้วย แต่จำเลยไม่ได้ใช้บริการในช่วงเวลาดังกล่าว ในวันที่ 22 ตุลาคม 2536 จำเลยได้ขอเปลี่ยนแปลงทะเบียนผู้ใช้บริการใหม่เป็นชื่อของนายปัญญาศิลป์ ชัชรัตน์ โดยโจทก์ยินยอม และจำเลยได้มีหนังสือยอมรับผิดชอบค่าใช้จ่ายซึ่งเกิดจากการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ดังกล่าวที่ยังค้างชำระอยู่จนถึงวันโอนสิทธิต่อโจทก์ โจทก์ได้ทำสัญญาเช่าบริการใหม่กับนายปัญญาศิลป์ในวันที่ 22 ตุลาคม 2536 โจทก์ได้แจ้งและเรียกเก็บค่าบริการจากจำเลยในช่วงเวลาก่อนการโอนสัญญาเช่าบริการตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2536ถึงวันที่ 21 ตุลาคม 2536 เป็นเงิน 48,492 บาท โดยให้จำเลยชำระเงินภายในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2536 และสิทธิเรียกร้องคดีนี้มีกำหนด 2 ปี คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า สิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่จะเรียกให้จำเลยชำระหนี้เริ่มนับแต่เมื่อใด เห็นว่า ตามหนังสือสัญญาเช่าใช้บริการวิทยุคมนาคมระบบเวิลด์โฟนระบุเงื่อนไขไว้ในข้อ 2 ว่า “ผู้ใช้บริการตกลงชำระค่าเช่าเลขหมายหลักประกันในการปฏิบัติตามสัญญา และค่าธรรมเนียมรวมทั้งค่าบริการตามอัตราที่ผู้ให้บริการกำหนดในปัจจุบันและที่จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงใช้ต่อไปในอนาคตภายใต้ความเห็นชอบของการสื่อสารแห่งประเทศไทย เมื่อผู้ใช้บริการได้ทราบการเปลี่ยนแปลงอัตราค่าบริการดังกล่าวแล้วมีสิทธิที่จะเลิกสัญญานี้ได้โดยบอกกล่าวให้ผู้ให้บริการทราบเป็นลายลักษณ์อักษรล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 15 วัน แต่ค่าบริการค่าธรรมเนียม และหลักประกันในการปฏิบัติตามสัญญาที่ค้างชำระอยู่นั้น ผู้ใช้บริการจะต้องชำระในทันทีที่ได้รับใบแจ้งหนี้จากผู้ให้บริการ” ข้อ 3 กำหนดไว้ว่า “ผู้ใช้บริการจะต้องนำค่าใช้บริการหรือค่าเช่าเลขหมายและค่าธรรมเนียมอื่นใด ตามจำนวนที่ผู้ให้บริการเรียกเก็บตามใบแจ้งหนี้ในแต่ละครั้งไปชำระ ณ สถานที่ที่ผู้ให้บริการกำหนดภายในกำหนดระยะเวลาที่ระบุไว้ในใบแจ้งหนี้” ข้อ 4 กำหนดว่า “ผู้ใช้บริการจะต้องชำระเงินที่เรียกเก็บนั้นในทันทีที่ได้รับใบแจ้งหนี้ ในกรณีที่ผู้ใช้บริการไม่ชำระเงินใด ๆ ที่จะต้องชำระให้แก่ผู้ให้บริการตามเงื่อนไขในสัญญานี้ หรือผู้ใช้บริการค้างชำระค่าใช้บริการโทรคมนาคมของการสื่อสารแห่งประเทศไทย ซึ่งการสื่อสารแห่งประเทศไทยได้เรียกเก็บเงินตามใบแจ้งหนี้ของการสื่อสารแห่งประเทศไทยเอง ผู้ให้บริการมีสิทธิระงับการบริการวิทยุคมนาคมระบบเซลลูล่าหรือบอกเลิกสัญญาได้ทันที” และเงื่อนไขตามข้อ 6 กำหนดไว้ว่า “เป็นที่ตกลงกันต่อไปว่า ผู้ให้บริการมีสิทธิคิดค่าปรับในอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน สำหรับค่าบริการใด ๆ ที่ค้างชำระและซึ่งผู้ใช้บริการต้องจ่ายในเวลาใดเวลาหนึ่ง ผู้ให้บริการจะเรียกเก็บเงินค่าปรับดังกล่าวเป็นคราว ๆ พร้อมกับการเรียกเก็บค่าใช้บริการหรือจะเรียกเก็บโดยวิธีอื่นก็ได้ แล้วแต่ผู้ให้บริการจะเห็นสมควรโดยเศษของเดือนจะคิดเป็นหนึ่งเดือน” และข้อ 20 กำหนดว่า “ใบแจ้งหนี้หรือหนังสือบอกกล่าวใด ๆ ที่ผู้ให้บริการส่งไปยังผู้ใช้บริการตามที่อยู่ และ/หรือสถานที่ส่งใบแจ้งหนี้ที่ระบุไว้ในสัญญา ให้ถือว่าเป็นการส่งโดยชอบ และถือว่าผู้ใช้บริการได้รับใบแจ้งหนี้และ/หรือหนังสือบอกกล่าวนั้นโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว” ตามหนังสือสัญญาดังกล่าวไม่ได้กำหนดเวลาอันพึงชำระหนี้ที่แน่นอนไว้แต่อย่างใด โจทก์ย่อมเรียกให้จำเลยชำระหนี้ได้โดยพลันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 203 ข้อกำหนดในสัญญาในการเรียกเก็บค่าบริการ ค่าธรรมเนียม หรือหลักประกันโดยใช้วิธีส่งใบแจ้งหนี้ให้แก่จำเลยนั้นเป็นการบอกกล่าวให้จำเลยชำระหนี้ตามนัยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 387 เท่านั้น ไม่ใช่เป็นกำหนดเวลาชำระหนี้สิ้นสุดลง อายุความจึงมิได้เริ่มนับตั้งแต่เวลาการบอกกล่าวให้จำเลยชำระหนี้สิ้นสุดลงแต่อย่างใดไม่ เมื่อปรากฏว่าจำเลยได้โอนการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ให้นายปัญญาศิลป์ไปตั้งแต่วันที่ 22 ตุลาคม2536 สัญญาเช่าใช้บริการวิทยุคมนาคม ระหว่างโจทก์กับจำเลยย่อมสิ้นสุดลง โจทก์มีสิทธิเรียกค่าใช้บริการดังกล่าวจากจำเลยได้ในทันทีคือตั้งแต่วันที่ 22 ตุลาคม 2536 มิใช่นับแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2536 ตามที่โจทก์ฎีกา เมื่อนับระยะเวลาถึงวันที่โจทก์ฟ้องคือวันที่ 30 พฤศจิกายน 2538 เกินกำหนด 2 ปี คดีของโจทก์จึงขาดอายุความ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share