คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7013/2540

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่ศาลใช้ดุลพินิจตั้งให้ผู้ใดเป็นผู้จัดการมรดกนั้นนอกจากจะต้องเป็นบุคคลผู้มีคุณสมบัติไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1718 แล้ว ศาลยังจะต้องพิเคราะห์ถึงเหตุอื่น ๆ เพื่อประโยชน์แก่กองมรดกที่จะต้องจัดการนั้นด้วย ปรากฏว่าจำเลยถูกศาลพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุก 10 ปี ในความผิดฐานยักยอกทรัพย์มรดกนอกจากนี้ยังปรากฏว่าหลังจากที่ศาลมีคำสั่งตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกแต่เพียงผู้เดียวแล้วจำเลยมิได้ดำเนินการตามหน้าที่ของผู้จัดการมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1728(2),1729 และ 1732 อีกด้วย และที่จำเลยอ้างว่าระหว่างที่รับโทษจำเลยอาจมอบหมายให้ผู้อื่นทำแทนได้นั้นก็ขัดต่อมาตรา 1723 ที่ต้องการให้ผู้จัดการมรดกต้องจัดการโดยตนเอง ดังนั้นจึงเป็นที่เห็นประจักษ์ว่าจำเลยเป็นผู้ไม่สมควรเป็นผู้จัดการมรดก ไม่มีบทบัญญัติกฎหมายใดห้ามนิติบุคคลเป็นผู้จัดการมรดกเมื่อปรากฏว่ามูลนิธิโจทก์เป็นผู้มีสิทธิรับมรดกตามพินัยกรรม จึงถือว่าโจทก์เป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกย่อมมีสิทธิเป็นผู้จัดการมรดกและมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายที่จะจัดการมรดกได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อศาลแต่งตั้งให้จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของนางพร้าแล้ว จำเลยก็มิได้จัดการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่โจทก์ตามพินัยกรรม ตามหน้าที่ของผู้จัดการมรดกคงยึดถือครอบครองที่ดินและตึกแถวของโจทก์ไว้และเก็บเอาผลประโยชน์เบียดบังเป็นของตนเองโดยทุจริต และมิได้จัดทำบัญชีทรัพย์มรดกให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน นับแต่วันที่จำเลยได้ทราบคำสั่งศาล ไม่แบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทตามพินัยกรรมให้เสร็จภายใน 1 ปี นับแต่วันเริ่มหน้าที่ผู้จัดการมรดก จำเลยจึงไม่สมควรจะเป็นผู้จัดการมรดกของนางพร้าอีกต่อไป โจทก์ได้มีหนังสือแจ้งให้จำเลยจัดการโอนทรัพย์เฉพาะส่วนที่เป็นของโจทก์ตามพินัยกรรมให้แก่โจทก์แล้วแต่จำเลยก็เพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 437ตำบลสามยอด อำเภอสามเพ็ง กรุงเทพมหานคร และที่ดินที่แยกไปจากโฉนดเลขที่ 437 ทุกแปลง กับที่ดินโฉนดเลขที่ 1336, 7665 และ 7666ตำบลบางด้วน อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการกับทรัพย์สินอื่นทั้งหมดที่นางพร้าทำพินัยกรรมยกให้เป็นทรัพย์สินของโจทก์ให้แก่โจทก์ และขอให้ศาลมีคำสั่งถอนจำเลยออกจากการที่เป็นผู้จัดการมรดกของนางพร้า แล้วตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนางพร้าแทน
จำเลยให้การว่า โจทก์มิได้มีฐานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายจำเลยขายที่ดินที่แบ่งแยกแล้วจำนวน 9 โฉนดได้เงิน 2,000,000 บาทเศษ ซึ่งจำเลยนำเงินดังกล่าวไปใช้จ่ายซ่อมแซมอาคารสำนักงานและดำเนินคดีฟ้องขับไล่ผู้เช่าอาคารบนที่ดินแปลงดังกล่าวจึงไม่มีเงินพอที่จะสามารถจัดการโอนที่ดินให้แก่โจทก์ได้ โจทก์ไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสียในกองมรดก โจทก์เป็นผู้รับมรดกส่วนหนึ่งเท่านั้นโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ถอดถอนจำเลยออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกและให้โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกแทน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยไปจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 437 ตำบลสามยอด อำเภอสามเพ็ง กรุงเทพมหานคร และที่ดินที่แยกไปจากโฉนดเลขที่ 437 ทุกแปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้างกับทรัพย์สินอื่น ๆ ทั้งหมดที่นางพร้า นีลวัชระ เจ้ามรดกทำพินัยกรรมยกให้แก่โจทก์ ถ้าจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย และให้ถอนจำเลยออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของนางพร้า กับตั้งให้โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนางพร้าโดยให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามที่คู่ความนำสืบรับกันว่า เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2508นางพร้า นีลวัชระ ได้ทำพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองยกทรัพย์สินของตนได้แก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 437 ตำบลวัดเทพศิรินทร์อำเภอป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร พร้อมตึกแถว 15 ห้องตั้งอยู่ถนนวรจักร ที่ดินรวม 9 โฉนด อยู่ที่ตำบลบางด้วนอำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ และที่ดินที่ถนนสาธุประดิษฐ์ ตำบลบางโคล่ อำเภอยานนาวา กรุงเทพมหานครจัดตั้งเป็นมูลนิธิใช้ชื่อว่า “มูลนิธิพร้า นีลวัชระ” โดยให้นาวาตรีสุรพล ศศะนานนท์ นายประเสริฐ เสนาลักษณ์ และนายศุภนิติ อโนมะศิริ เป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมเอกสารหมาย จ.7 ต่อมาวันที่ 4 มีนาคม 2509 นางพร้าถึงแก่ความตายศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งตั้งนาวาตรีสุรพลกับนายศุภนิติเป็นผู้จัดการมรดกของนางพร้า ส่วนนายประเสริฐถึงแก่ความตายไปก่อน ต่อมานายศุภนิติถึงแก่ความตายเมื่อปี 2513 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งจำเลยให้เป็นผู้จัดการมรดกของนางพร้าร่วมกับนาวาตรีสุรพล ต่อมาในวันที่ 22 มิถุนายน 2519 นาวาตรีสุรพลได้ยื่นคำขอจดทะเบียนโจทก์ นายทะเบียนได้รับจดทะเบียนเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2519 ในเดือนกรกฎาคม 2522 นาวาตรีสุรพลได้ถึงแก่ความตาย จึงได้มีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการบริหารของโจทก์ โดยมีจำเลยเป็นประธานกรรมการ วันที่ 29 มกราคม 2523ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของนางพร้าแต่เพียงผู้เดียว ในระหว่างที่จำเลยเป็นกรรมการและเป็นผู้จัดการมรดก พนักงานอัยการได้ร้องต่อศาลชั้นต้นขอให้ถอดถอนจำเลยกับพวกออกจากการเป็นกรรมการของโจทก์โดยอ้างว่าจัดการผิดพลาด ทำให้โจทก์เสียหาย ในที่สุดศาลฎีกาได้มีคำสั่งถอดถอนจำเลยกับพวกออกจากการเป็นกรรมการบริหารโจทก์ กับมีคำสั่งตั้งให้พันเอก (พิเศษ)โอภาส นีลวัชระ กับพวกรวม 6 คน เป็นกรรมการบริหารตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 16135/2527 ของศาลชั้นต้นต่อมาจำเลยยื่นฟ้องผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ขอให้พิพากษาว่าโจทก์สิ้นสภาพนิติบุคคลไปแล้ว แต่ศาลพิพากษายกฟ้อง ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.43
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยประการแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ โดยจำเลยอ้างว่าโจทก์สิ้นสภาพไม่เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายเนื่องจากกรรมการของโจทก์มีมติให้ยกเลิกโจทก์เมื่อวันที่ 8และวันที่ 12 ธันวาคม 2519 ซึ่งเป็นไปตามตราสารที่จดทะเบียนตั้งมูลนิธิโจทก์ข้อ 23.1 แล้ว ถือว่ามูลนิธิโจทก์ยกเลิกไปโดยผลของกฎหมาย แม้ว่ายังมิได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา และอ้างว่าการดำเนินการที่เกี่ยวกับมูลนิธิโจทก์เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายจึงถือไม่ได้ว่าโจทก์เป็นนิติบุคคลนั้น เห็นว่าข้ออ้างของจำเลยตามที่กล่าวในฎีกา จำเลยเคยนำมาเป็นเหตุฟ้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่าโจทก์สิ้นสภาพบุคคลและศาลมีคำพิพากษายกฟ้องตามที่ปรากฏในเอกสารหมาย จ.43 แล้ว ซึ่งคดีดังกล่าวได้มีคำพิพากษาของศาลฎีกาพิพากษายืนให้ยกฟ้อง ซึ่งคำวินิจฉัยในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2893/2538 ตามคำแก้ฎีกาของโจทก์นั้นก็ได้กล่าวโดยชัดแจ้งว่ามูลนิธิโจทก์ยังคงมีสภาพเป็นนิติบุคคลเข้ากรณีดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 145 วรรคสอง (1) ซึ่งบุคคลภายนอกจะยกขึ้นอ้างอิงหรือจะใช้ยันบุคคลภายนอกก็ได้ จำเลยจะนำเหตุผลเดียวกันมากล่าวอ้างเพื่อให้ฟังว่าโจทก์ไม่เป็นนิติบุคคลย่อมไม่อาจรับฟังได้ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยข้อต่อไปคือมีเหตุถอนจำเลยจากการเป็นผู้จัดการมรดกและสมควรตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกหรือไม่ จำเลยฎีกาประการแรกอ้างว่าแม้จำเลยจะถูกพิพากษาจำคุกอยู่ในเรือนจำ 10 ปี ก็เป็นการจำคุกเพียงระยะหนึ่งเท่านั้นซึ่งระหว่างถูกจำคุกอยู่ จำเลยก็มีอำนาจมอบหมายให้ผู้หนึ่งผู้ใดมาทำแทนเป็นการชั่วคราวได้นั้น เห็นว่า การที่ศาลใช้ดุลพินิจในการตั้งให้ผู้ใดเป็นผู้จัดการมรดกนั้นนอกจากจะต้องเป็นบุคคลผู้มีคุณสมบัติไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1718 แล้วศาลยังจะต้องพิเคราะห์ถึงเหตุอื่น ๆ เพื่อประโยชน์แก่กองมรดกที่จะต้องจัดการนั้นด้วย ข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยถูกศาลพิพากษาลงโทษจำคุก 10 ปี ในความผิดฐานยักยอกทรัพย์มรดกและคำพิพากษาดังกล่าวถึงที่สุดที่ปรากฏตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2354/2538 ตามที่โจทก์กล่าวในคำแก้ฎีกา จึงเป็นที่เห็นประจักษ์ว่าจำเลยเป็นผู้ไม่สมควรเป็นผู้จัดการมรดก นอกจากนี้ยังปรากฏด้วยว่าหลังจากที่ศาลมีคำสั่งตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกแต่เพียงผู้เดียวแล้ว จำเลยมิได้ดำเนินการตามหน้าที่ของผู้จัดการมรดกตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1728(2) มาตรา 1729 และ 1732 อีกด้วย ส่วนที่จำเลยอ้างว่าระหว่างที่รับโทษจำเลยอาจมอบหมายให้ผู้อื่นทำแทนได้นั้นก็ขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1723 ที่ต้องการให้ผู้จัดการมรดกต้องจัดการโดยตนเอง ประการต่อมาจำเลยอ้างว่าโจทก์เป็นนิติบุคคลที่ต้องดำเนินการตามวัตถุประสงค์ แต่มูลนิธิโจทก์ไม่มีวัตถุประสงค์เป็นผู้จัดการมรดก จึงไม่อาจเป็นผู้จัดการมรดกทั้งเป็นมูลนิธิที่สิ้นสภาพไปแล้วนั้น เนื่องจากมูลนิธิโจทก์ยังคงมีสภาพเป็นนิติบุคคลดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้วส่วนข้อที่ว่ามูลนิธิโจทก์เป็นนิติบุคคลไม่อาจเป็นผู้จัดการมรดกได้นั้น เห็นว่า ไม่มีบทบัญญัติกฎหมายใดห้ามนิติบุคคลเป็นผู้จัดการมรดก ทั้งจำเลยมิได้นำสืบให้เห็นว่ามีข้อห้ามดังกล่าวอันจะทำให้เห็นได้ว่า หากโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกจะเป็นการขัดต่อวัตถุประสงค์เมื่อปรากฏว่ามูลนิธิโจทก์เป็นผู้มีสิทธิรับมรดกของนางพร้าตามพินัยกรรม จึงถือว่าโจทก์เป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกย่อมมีสิทธิเป็นผู้จัดการมรดกได้ เมื่อมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าโจทก์มีสภาพเป็นนิติบุคคล ผู้มีอำนาจทำการแทนจึงมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายที่จะจัดการมรดกได้ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น
ปัญหาสุดท้ายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยคือ จำเลยจะต้องโอนทรัพย์มรดกตามฟ้องให้แก่โจทก์หรือไม่ โดยจำเลยอ้างว่ามูลนิธิโจทก์มิได้จัดตั้งขึ้นตามพินัยกรรมเอกสารหมาย จ.7 หากแต่จัดตั้งขึ้นโดยส่วนตัวของนาวาตรีสุรพลไม่เกี่ยวกับกองมรดกของนางพร้านั้น เมื่อปรากฏว่ามีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2893/2538วินิจฉัยมาแล้วว่ามูลนิธิโจทก์ตั้งขึ้นโดยพินัยกรรมของนางพร้าแม้โจทก์จะมิได้เป็นคู่ความในคดีดังกล่าวแต่เนื่องจากเป็นคำพิพากษาที่เข้าลักษณะตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 วรรคสอง (1) ซึ่งบุคคลภายนอกจะยกขึ้นอ้างอิงหรือจะใช้ยันแก่บุคคลภายนอกได้ดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิที่จะอ้างว่ามูลนิธิโจทก์เป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นโดยพินัยกรรมของนางพร้า และทรัพย์พิพาทตกได้แก่โจทก์ตั้งแต่วันที่พินัยกรรมมีผล คือวันที่ 4 มีนาคม 2509 ซึ่งเป็นวันที่นางพร้าถึงแก่ความตายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1678จึงเป็นหน้าที่ของผู้จัดการมรดกหรือผู้ครอบครองทรัพย์นั้นไว้จะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในทรัพย์พิพาทในฐานะผู้จัดการมรดกของนางพร้าจะอ้างว่าจำเลยถูกถอนจากการเป็นผู้จัดการมรดกแล้วไม่มีหน้าที่จะต้องโอนทรัพย์พิพาทให้แก่โจทก์จึงไม่อาจจะอ้างได้ เมื่อจำเลยถูกถอนอำนาจจากการเป็นผู้จัดการมรดกของนางพร้าจึงไม่อาจยึดถือทรัพย์พิพาทอันเป็นมรดกที่ตกได้แก่โจทก์ตามพินัยกรรมของนางพร้าอีกต่อไป จำเลยต้องดำเนินการจดทะเบียนโอนทรัพย์พิพาทให้แก่โจทก์ หากไม่ไปดำเนินการก็ให้ถือคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบแล้วฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นอีกเช่นกัน”
พิพากษายืน

Share