คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2570/2535

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยอ้างว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสอง จำเลยต้องยื่นคำร้องคัดค้านก่อนการบังคับคดีได้เสร็จลง แต่ต้องไม่ช้ากว่าแปดวันนับแต่วันทราบการฝ่าฝืนนั้น แม้จะฟังได้ว่าจำเลยไม่ทราบวันขายทอดตลาดอันเป็นการบังคับคดีฝ่าฝืน ป.วิ.พ. มาตรา 306 ก็ตามแต่เมื่อจำเลยยื่นคำร้องคัดค้านภายหลังจากการบังคับคดีได้เสร็จลงคำร้องของจำเลยจึงต้องห้ามตามกฎหมาย

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจาก โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี ค้ำประกัน และบังคับจำนอง ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน จำนวน 677,404.75 บาทพร้อมดอกเบี้ยและค่าฤชาธรรมเนียมจำเลยทั้งสามไม่ยอมชำระ โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ของจำเลยทั้งสามขายทอดตลาด
วันที่ 27 มิถุนายน 2533 ซึ่งเป็นวันนัดขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ปรากฏว่า โจทก์มาศาล จำเลยที่ 1 และที่ 2ไม่มาศาล ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขายทรัพย์ของจำเลยทั้งสอง วันที่5 พฤศจิกายน 2533 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ยื่นคำร้อง ขอให้ยกเลิกการขายและดำเนินการขายใหม่
ศาลชั้นต้นยกคำร้อง
จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ขายทอดตลาดเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2533 โจทก์ไม่คัดค้านและศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ขายได้ ต่อมาวันที่ 5 พฤศจิกายน 2533 จำเลยทั้งสองได้ยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลชั้นต้นว่า การขายทอดตลาดทรัพย์ในครั้งนี้ เจ้าพนักงานบังคับคดีมิได้แจ้งวันนัดให้จำเลยทั้งสองทราบขอให้ยกเลิกการขาย และขอให้ดำเนินการขายทอดตลาดใหม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามคำร้องของจำเลยทั้งสองนั้น เป็นกรณีที่จำเลยทั้งสองอ้างว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสอง จำเลยทั้งสองต้องคัดค้านเสียก่อนที่การบังคับคดีได้เสร็จลงหรือยื่นภายใน 8 วันนับแต่วันที่ทราบถึงการฝ่าฝืนนั้น แม้จะฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองไม่ทราบวันขายทอดตลาดอันเป็นการบังคับคดีฝ่าฝืนประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 306 ก็ตาม แต่กรณีของจำเลยทั้งสองเพิ่งมายื่นคำร้องคัดค้านภายหลังจากที่การบังคับคดีได้เสร็จลงแล้วจึงต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว
พิพากษายืน

Share