คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 148/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

หุ้นส่วนคนหนึ่งของห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลโจทก์ที่ 1ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2521 โจทก์ที่ 1 จึงต้องเลิกกันในวันดังกล่าวโดยผลของกฎหมาย แต่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1249 ให้พึงถือว่ายังคงตั้งอยู่ตราบเท่าเวลาที่จำเป็นเพื่อการชำระบัญชี เมื่อเพิ่งมีการจดทะเบียนเลิกห้างโจทก์ที่ 1 เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2529 และจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2530 จึงถือว่าในช่วงรอบระยะเวลาบัญชีปี พ.ศ. 2527 และ 2528 โจทก์ที่ 1 ยังคงมีสภาพเป็นห้างหุ้นส่วนอยู่ ผู้ต้องเสียภาษีอุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เกี่ยวกับเงินได้ของตนต่อศาล ขอให้ศาลเพิกถอนคำวินิจฉัยคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล คำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์อาจจะถูกเปลี่ยนแปลงแก้ไขหรือเพิกถอนโดยคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลได้ กรมสรรพากรจึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกเงินภาษีรายเดียวกันจากผู้ต้องเสียภาษีอีก

ย่อยาว

คดีสองสำนวนนี้ศาลภาษีอากรกลางได้มีคำสั่งให้รวมการพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน โดยเรียกห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลศรีเจริญเซ็นเตอร์ กับพวก ว่าโจทก์ และเรียกกรมสรรพากรว่าจำเลยและเพื่อความสะดวกในการพิจารณา ศาลฎีกาเห็นสมควรให้เรียกห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลศรีเจริญเซ็นเตอร์ ว่าโจทก์ที่ 1นายไพโรจน์ ศรีประเสริฐสุข ว่าโจทก์ที่ 2
คดีสำนวนแรกโจทก์ที่ 1 ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นนิติบุคคลมีหุ้นส่วน 2 คน คือ นายไพโรจน์ ศรีประเสริฐสุข โจทก์ที่ 2และนายเติม กุดแสวง นับตั้งแต่จดทะเบียนก่อตั้ง โจทก์ที่ 1มิได้ประกอบกิจการอื่นใด จนกระทั่งต่อมาเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม2521 นายเติม กุดแสวง หุ้นส่วนคนหนึ่งได้ถึงแก่กรรม ห้างโจทก์ที่ 1 จึงเป็นอันต้องเลิกโดยผลของกฎหมาย เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม2529 ได้จดทะเบียนเลิกห้างและได้จดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2530 ต่อมาเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2531เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยได้มีหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ 1047/2/02337, ที่ 1047/2/02338 ให้โจทก์ที่ 1 ไปชำระเงินค่าภาษี เบี้ยปรับ เงินเพิ่ม สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี พ.ศ.2527 และ 2528 รวมเป็นเงิน 266,304 บาท โดยอ้างว่าในรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าว โจทก์ที่ 1 ยื่นแบบ ภ.ง.ด. 50 โดยไม่มีเงินได้และไม่แจ้งผลกำไรสุทธิ แต่จากการตรวจสอบพบว่าโจทก์ที่ 1 มีเงินได้จากดอกเบี้ยให้กู้ยืมแก่ผู้เป็นหุ้นส่วนเป็นเงิน 114,000 บาทและโจทก์ที่ 1 ไม่มีค่าใช้จ่าย การประเมินดังกล่าวไม่ตรงต่อความจริง โจทก์ที่ 1 จึงได้อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ และคณะกรรมการได้วินิจฉัยแล้ว ซึ่งเป็นคำวินิจฉัยที่ไม่ชอบกล่าวคือ นับแต่จดทะเบียนตั้งห้างโจทก์ที่ 1 มิได้ดำเนินกิจการใดจึงไม่มีรายรับที่จะต้องนำไปยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล นายเติม กุดแสวง เป็นบิดาของนางสอิ้ง ศรีประเสริฐสุขซึ่งเป็นภรรยาของโจทก์ที่ 2 เมื่อนายเติม กุดแสวง ถึงแก่กรรมลงบรรดาทรัพย์สินของบุคคลดังกล่าวตกแก่นางสอิ้งและถือเป็นสินสมรสของโจทก์ที่ 2 หากจะฟังว่าโจทก์ที่ 2 กู้ยืมเงินจากห้างหุ้นส่วนก็ไม่ต้องเสียดอกเบี้ย เพราะเจ้าหนี้ลูกหนี้เป็นบุคคลเดียวกัน จึงเกลื่อนกลืนกัน ขอให้เพิกถอนการประเมินตามหนังสือที่ 1047/2/02337, หนังสือที่ 1047/2/02338 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เลขที่ 1/2532/2 ให้งดหรือลดเบี้ยปรับเงินเพิ่มทั้งหมด
กรมสรรพากรจำเลยให้การว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมาย แม้นายเติม กุดแสวง จะถึงแก่กรรม แต่กฎหมายก็มิได้บัญญัติให้ความรับผิดชอบของโจทก์ที่ 1 เกี่ยวกับหนี้สินที่เกิดขึ้นภายหลังความตายของผู้เป็นหุ้นส่วนระงับลง และการตายของผู้เป็นหุ้นส่วนแม้จะทำให้ห้างโจทก์ที่ 1 เลิกไป แต่กฎหมายก็ยังถือว่าโจทก์ที่ 1ยังคงตั้งอยู่ตราบเท่าเวลาจำเป็นเพื่อการชำระบัญชี โจทก์ทั้งสองและนางสอิ้ง ศรีประเสริฐสุข ในฐานะทายาทผู้รับมรดกของนายเติม กุดแสวง จึงมีหน้าที่และความรับผิดในอันที่จะต้องชำระเงินค่าภาษีสำหรับรอบระยะบัญชี ปี พ.ศ. 2527 และ 2528 แก่จำเลยขอให้ยกฟ้อง
คดีสำนวนหลังกรมสรรพากรจำเลยฟ้องว่า เจ้าพนักงานของกรมสรรพากรมีเหตุควรเชื่อว่า โจทก์ที่ 1 ได้แสดงรายการตามแบบยื่นรายการภาษีเงินได้ไม่ถูกต้องตามจริงและไม่สมบูรณ์ และไม่ได้ยื่นแสดงรายการตามแบบในรอบระยะเวลาบัญชีปี พ.ศ. 2527-2528 จึงได้ออกหมายเรียกไปยังโจทก์ที่ 2 ในฐานะผู้ชำระบัญชีของโจทก์ที่ 1มาไต่สวนและสั่งให้ส่งมอบบัญชี โจทก์ที่ 1 ไม่ส่งมอบให้เจ้าพนักงานผลการไต่สวนปรากฏว่า ในรอบระยะบัญชีปี พ.ศ. 2527 โจทก์ที่ 1ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีว่าไม่มีเงินได้ และไม่แจ้งผลกำไรสุทธิจากการตรวจสอบพบว่า โจทก์ที่ 1 มีเงินได้จากดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมแก่ผู้เป็นหุ้นส่วนเป็นเงิน 114,000 บาท และโจทก์ที่ 1ไม่มีรายจ่ายในการประกอบกิจการ จึงต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเงิน 45,600 บาท และเบี้ยปรับหนึ่งเท่าของภาษีดังกล่าว ทั้งเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือนเป็นเวลา 34 เดือน รวมเป็นภาษีเงินได้ทั้งสิ้น 114,456 บาท และสำหรับรอบระยะบัญชีปี พ.ศ. 2528โจทก์ที่ 1 มิได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคลภายในกำหนดเวลาตามกฎหมาย แต่ได้ยื่นหลังจากออกหมายเรียกแล้ว และมิได้นำบัญชีและเอกสารประกอบการลงบัญชีมาให้ตรวจสอบตามหมายเรียกผลการตรวจสอบพบว่าโจทก์ที่ 1 มีเงินได้จากดอกเบี้ยรับจากการให้กู้ยืมเป็นเงิน 114,000 บาท โดยไม่มีรายจ่าย ซึ่งต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล 45,600 บาท เบี้ยปรับอีกสองเท่า ทั้งเงินเพิ่มอีก รวมเป็นเงิน 151,848 บาท เจ้าพนักงานของกรมสรรพากรจำเลยได้แจ้งผลการตรวจสอบและแจ้งการประเมินให้โจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 ทราบแล้ว โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ได้ยื่นอุทธรณ์การประเมินดังกล่าวต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์พิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า รอบระยะบัญชีปี พ.ศ. 2527 การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายทุกประเด็น และเห็นว่า โจทก์ที่ 1 ไม่มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีมีเหตุควรผ่อนผันจึงลดเบี้ยปรับที่ได้เรียกเก็บไปแล้วคงเหลือเรียกเก็บเพียงร้อยละ50 ส่วนรอบระยะบัญชีปี พ.ศ. 2528 เจ้าพนักงานประเมินระบุรอบระยะเวลาบัญชีไม่ถูกต้อง ให้ส่งเรื่องให้เจ้าพนักงานประเมินยกเลิกการประเมินแล้วทำการประเมินใหม่ จำเลยได้ยกเลิกใบแจ้งภาษีอากรสำหรับรอบระยะบัญชีปี พ.ศ. 2528 แจ้งให้โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ทราบแล้ว และเจ้าพนักงานประเมินได้ทำการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลรอบระยะบัญชีปี พ.ศ. 2528 ของโจทก์ที่ 1 ใหม่ โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ได้ทราบคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์สำหรับภาษีเงินได้นิติบุคคลรอบระยะบัญชีปี พ.ศ. 2528 แล้ว ไม่ได้ยื่นฟ้องต่อศาล ขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีอากรของเจ้าพนักงานประเมินและเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภายในกำหนด และได้รับทราบการยกเลิกใบแจ้งภาษีอากรและแจ้งการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลรอบระยะบัญชีปี พ.ศ. 2528 แล้ว มิได้ยื่นอุทธรณ์ภายในกำหนด โจทก์ที่ 1 ต้องรับผิดเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลรอบระยะบัญชีปี พ.ศ. 2527 เบี้ยปรับ (ลดเหลือร้อยละ 50) และเงินเพิ่มจนถึงวันฟ้องรวมเป็นเงิน 98,496 บาท รอบระยะบัญชีปีพ.ศ. 2528 เป็นภาษีเงินได้นิติบุคคล เบี้ยปรับ และเงินเพิ่มจนถึงวันฟ้องรวม 158,688 บาท รวมเป็นภาษีอากรสองรอบระยะบัญชีเป็นเงิน257,184 บาท ซึ่งโจทก์ที่ 2 ในฐานะผู้ชำระบัญชีของโจทก์ที่ 1ต้องร่วมรับผิด และนางสอิ้ง ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายเติมต้องร่วมรับผิดด้วย ขอให้บุคคลทั้งสามร่วมกันชำระหนี้ค่าภาษีอากรรวม 257,184 บาท และให้ร่วมกันชำระเงินเพิ่มตามประมวลรัษฎากรอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน ของเงินภาษีของรอบระยะเวลาบัญชีปี พ.ศ. 2527จำนวน 45,600 บาท และปี พ.ศ. 2528 จำนวน 45,600 บาท นับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระหนี้ค่าภาษีอากรให้กรมสรรพากรจำเลยเสร็จสิ้น แต่ทั้งนี้เมื่อรวมกับเงินเพิ่มซึ่งได้ชำระให้กรมสรรพากรจำเลยแล้วไม่เกินกว่าจำนวนภาษีดังกล่าว
โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ให้การและฟ้องแย้งว่า เจ้าพนักงานประเมินของกรมสรรพากรจำเลยประเมินโดยผิดความจริง เพราะความจริงแล้วไม่มีการกู้ยืม โจทก์ที่ 1 ได้อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์แล้ว เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2531 ต่อมาวันที่ 7ธันวาคม 2531 จำเลยได้ส่งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ให้โจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 1 ไม่พอใจคำวินิจฉัยอุทธรณ์ จึงได้ฟ้องต่อศาลเมื่อวันที่5 มกราคม 2532 เป็นสำนวนคดีแรก คดีอยู่ระหว่างพิจารณา เมื่อคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลโดยที่โจทก์ที่ 1 ฟ้องกรมสรรพากรจำเลยให้ยกเลิกการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ จึงเป็นฟ้องที่มิชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ยกฟ้องและยกเลิกการประเมินตามหนังสือที่ 1047/2/02337 และที่ 1047/2/02415 ให้กรมสรรพากรจำเลยคืนเงินจำนวน 256,500 บาทแก่โจทก์
กรมสรรพากรให้การแก้ฟ้องแย้งว่า คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ และหนังสือแจ้งยอดภาษีอากรถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายแล้ว โจทก์ที่ 1 ได้ยื่นฟ้องกรมสรรพากรจำเลยในคดีสำนวนแรกขอให้ยกเลิกการประเมินตามหนังสือแจ้งการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ 1047/2/02337 และที่ 1047/2/02338 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ที่ 1/2532/2 แล้วคดีอยู่ระหว่างการพิจารณา โจทก์ที่ 1และที่ 2 ฟ้องแย้งในคดีนี้ในเรื่องเดียวกันเป็นการฟ้องซ้ำหรือฟ้องซ้อน จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้องแย้งของโจทก์
ระหว่างพิจารณา กรมสรรพากรขอถอนฟ้องนางสอิ้ง ศรีประเสริฐสุขในสำนวนคดีหลัง ศาลภาษีอากรกลางอนุญาตและมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเฉพาะนางสอิ้งในสำนวนดังกล่าว
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้องคดีสำนวนแรก และฟ้องแย้งในคดีสำนวนหลัง ให้ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลศรีเจริญเซ็นเตอร์โจทก์ที่ 1 และนายไพโรจน์ ศรีประเสริฐสุข โจทก์ที่ 2 ร่วมกันชำระเงินค่าภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับระยะเวลาบัญชีปี พ.ศ.2527-2528 รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 257,184 บาท กับให้ร่วมกันชำระเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนในต้นเงิน 91,200 บาท นับจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่กรมสรรพากร แต่ทั้งนี้มิให้เกินจำนวนเงินค่าภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ต้องเสียตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 27 แห่งประมวลรัษฎากรและยกฟ้องคดีสำนวนหลังสำหรับนางสอิ้ง ศรีประเสริฐสุข โจทก์ที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลศรีเจริญเซ็นเตอร์โจทก์ที่ 1 มีผู้เป็นหุ้นส่วน 2 คน คือ นายไพโรจน์ ศรีประเสริฐสุขโจทก์ที่ 2 และนายเติม กุดแสวง นางสอิ้ง ศรีประเสริฐสุข เป็นบุตรของนายเติม กุดแสวง และเป็นภรรยาของโจทก์ที่ 2 นายเติมได้ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2521 นางสอิ้งเป็นผู้จัดการมรดกของนายเติม ต่อมาเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2529 โจทก์ที่ 1 ได้ยื่นคำร้องขอจดทะเบียนเลิกห้างโดยตั้งโจทก์ที่ 2 เป็นผู้ชำระบัญชีและจดทะเบียนเสร็จสิ้นการชำระบัญชีเมื่อวันที่ 13มกราคม 2530 ในระหว่างวันเวลาที่โจทก์ที่ 1 ยื่นคำร้องขอเลิกห้างและอยู่ในระหว่างการชำระบัญชี เจ้าพนักงานประเมินสำนักงานภาษีสรรพากรเขตพื้นที่ 1 ได้ออกหมายเรียกฉบับลงวันที่ 8 กันยายน2530 ตามเอกสารหมาย ล.2 แผ่นที่ 58 ไปยังผู้ชำระบัญชีของโจทก์ที่ 1 เพื่อตรวจสอบไต่สวนการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี พ.ศ. 2527-2528 และเจ้าพนักงานเห็นว่าในรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าวโจทก์ที่ 1 มีรายรับคือดอกเบี้ยที่ได้จากการให้ผู้เป็นหุ้นส่วนกู้ยืมเป็นเงินปีละ 114,000 บาททั้งสองปีโจทก์ที่ 1 ไม่นำเงินค่าดอกเบี้ยที่ได้รับไปเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล เจ้าพนักงานประเมินจึงได้ทำการประเมินให้โจทก์ที่ 1เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลแล้วแจ้งการประเมินตามเอกสารหมาย ล.2แผ่นที่ 18, 19 โดยเฉพาะเอกสารหมาย ล.2 แผ่นที่ 19 นั้น ระบุรอบระยะเวลาบัญชีผิดพลาด (1 มกราคม 2528-31 มกราคม 2528) โจทก์ที่ 1 ได้รับเอกสารดังกล่าวแล้วไม่พอใจการประเมินจึงได้อุทธรณ์ตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 23-27 ซึ่งต่อมาคณะกรรมการดังกล่าวได้วินิจฉัยว่าการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี พ.ศ. 2527 ชอบแล้ว ดังปรากฏรายละเอียดตามเอกสารหมายล.1 แผ่นที่ 3 ส่วนการประเมินของเจ้าพนักงานสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี พ.ศ. 2528 ของโจทก์ที่ 1 นั้นระบุรอบระยะเวลาผิดไปกล่าวคือเจ้าพนักงานระบุในแบบแจ้งการประเมินเอกสารหมาย ล.2 แผ่นที่ 19เกี่ยวกับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่ 1 มกราคม 2528-31 มกราคม 2528ความจริงแล้วควรเป็นรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่ 1 มกราคม 2528-31ธันวาคม 2528 กองอุทธรณ์ภาษีอากรกรมสรรพากรจึงทำบันทึกเอกสารหมายล.1 แผ่นที่ 5 เสนอต่ออธิบดีกรมสรรพากรว่าคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เห็นว่าน่าจะเกิดความผิดพลาด ให้เจ้าพนักงานประเมินยกเลิกการประเมินเดิมแล้วทำการประเมินใหม่โดยระบุรอบระยะเวลาบัญชีให้ถูกต้องซึ่งอธิบดีกรมสรรพากรเห็นด้วยกับมติของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ และต่อมาเจ้าพนักงานประเมินสำนักงานภาษีอากรเขตพื้นที่ 1ก็ได้ออกหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลโดยระบุรอบระยะเวลาบัญชีใหม่ที่ถูกต้องตามเอกสารหมาย ล.2 แผ่นที่ 7 ส่งไปยังโจทก์ที่ 1โจทก์ที่ 1 ได้รับแล้ว นอกจากนี้กรมสรรพากรจำเลยได้มีหนังสือยกเลิกใบแจ้งภาษีอากรไปยังโจทก์ที่ 1 ตามเอกสารหมายเดียวกันแผ่นที่ 9
มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยในชั้นนี้ ตามฎีกาของโจทก์ที่ 1และที่ 2 ว่า (1) การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบหรือไม่ (2) คดีมีเหตุงดหรือลดเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มหรือไม่ (3) จำเลยซึ่งเป็นโจทก์ในสำนวนคดีหลังมีอำนาจฟ้องหรือไม่ (4) ฟ้องโจทก์ในคดีสำนวนหลังขาดอายุความหรือไม่ และฟ้องแย้งของโจทก์ทั้งสองในคดีดังกล่าวเป็นฟ้องซ้อนหรือไม่
สำหรับในประเด็นข้อแรกนั้น โจทก์ที่ 1 และที่ 2 นำสืบว่านับตั้งแต่จดทะเบียนห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลศรีเจริญเซ็นเตอร์โจทก์ที่ 1 มาจนถึงวันที่ 30 พฤษภาคม 2521 ซึ่งเป็นวันที่นายเติม กุดแสวง หุ้นส่วนคนหนึ่งถึงแก่กรรม โจทก์ที่ 1 ไม่เคยประกอบกิจการใด ๆ เลย และหลังจากนั้นก็ไม่ได้ประกอบกิจการใด ๆโจทก์ที่ 1 ไม่มีวัตถุประสงค์ในการให้กู้ยืมเงิน ทั้งไม่เคยให้ผู้เป็นหุ้นส่วนกู้ยืมเงิน และไม่ได้รับดอกเบี้ยตามจำนวนที่เจ้าพนักงานประเมินนำมาประเมินให้โจทก์ที่ 1 เสียภาษี โจทก์ที่ 1ได้ยื่นแสดงรายการและเสียภาษีโดยระบุว่าไม่มีเงินได้ที่จะเสียและในการยื่นแบบดังกล่าว ได้แนบงบดุลและงบกำไรขาดทุนไปด้วย เงินจำนวน 950,000 บาท ที่ระบุในงบดุลเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 8 และแผ่นที่ 10 และเอกสารหมาย จ.2 แผ่นที่ 83-86 ว่าเป็นเงินทดรองจ่ายผู้จัดการนั้น ความจริงเป็นเงินที่นายไพโรจน์โจทก์ที่ 2 กับนายเติม กุดแสวง นำมาเข้าหุ้นกัน และโจทก์ที่ 2 เป็นผู้เก็บรักษาไว้ เมื่อเจ้าพนักงานประเมินให้โจทก์ที่ 1 เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล โจทก์ที่ 1 ได้อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์แต่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ส่งคำวินิจฉัยให้โจทก์ที่ 1 เฉพาะเกี่ยวกับการประเมินภาษีสำหรับรอบระยะบัญชีปี พ.ศ. 2527 ไม่ได้ส่งคำวินิจฉัยสำหรับรอบระยะบัญชีปี พ.ศ. 2528 กรมสรรพากรจำเลยนำสืบว่าเจ้าหน้าที่ของกรมสรรพากรจำเลยได้ตรวจสอบการเสียภาษีของโจทก์ที่ 1 สำหรับรอบระยะบัญชีปี พ.ศ. 2527 และ 2528 พบว่าสำหรับรอบระยะบัญชีแรกโจทก์ที่ 1 มีรายรับคือดอกเบี้ยจากเงินที่ให้ผู้เป็นหุ้นส่วนกู้ แต่โจทก์ที่ 1 มิได้นำเงินรายได้ดังกล่าวมายื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ส่วนรอบระยะเวลาบัญชีปี พ.ศ. 2528 โจทก์ที่ 1 มิได้ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีภายใน 150 วัน เจ้าพนักงานประเมินจึงได้ทำการประเมินให้โจทก์ที่ 1 เสียภาษีพร้อมทั้งเงินเพิ่มและเบี้ยปรับสำหรับสองรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าวแล้วแจ้งให้โจทก์ที่ 1 ทราบนายไพโรจน์ผู้ชำระบัญชีโจทก์ที่ 1 และเป็นโจทก์ที่ 2 ด้วยได้มารับทราบทั้งยอมรับว่าการไต่สวนและการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินชอบ ดังปรากฏตามเอกสารหมาย ล.2 แผ่นที่ 22-23 โจทก์ที่ 1และที่ 2 ฎีกาว่าการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินไม่ชอบเพราะในรอบระยะเวลาบัญชีสองรอบที่เป็นปัญหานี้โจทก์ที่ 1 ไม่มีสภาพเป็นนิติบุคคลแล้ว ไม่ได้ดำเนินกิจการและไม่ได้ให้กู้ยืมเงินจึงไม่มีรายได้จากกิจการหรือเกี่ยวเนื่องจากกิจการ เห็นว่า แม้ห้างโจทก์ที่ 1 จะเลิกกันตามผลของกฎหมายในวันที่นายเติม กุดแสวงหุ้นส่วนคนหนึ่งตายคือ วันที่ 30 พฤษภาคม 2521 แต่เมื่อปรากฏว่าเพิ่งมีการจดทะเบียนเลิกห้างเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2529 และจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2530 และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1249 บัญญัติว่า ห้างหุ้นส่วนก็ดี บริษัทก็ดี แม้จะได้เลิกกันแล้ว ก็ให้พึงถือว่ายังคงตั้งอยู่ตราบเท่าเวลาที่จำเป็นเพื่อการชำระบัญชี ฉะนั้นจึงถือว่าในช่วงรอบระยะเวลาบัญชีปี พ.ศ. 2527 และ 2528 โจทก์ที่ 1 ยังคงตั้งอยู่หรืออีกนัยหนึ่งคือยังคงมีสภาพเป็นห้างหุ้นส่วนอยู่ ส่วนในข้อที่ว่า โจทก์ที่ 1 ได้ให้กู้ยืมเงินและมีรายได้เป็นดอกเบี้ยจากการให้กู้ยืมเงินหรือไม่นั้น จำเลยมีเอกสารหมาย ล.2 แผ่นที่ 44ซึ่งเป็นบัญชีงบดุลของโจทก์ที่ 1 ซึ่งระบุว่า เงินหมุนเวียนลูกหนี้และเงินให้กู้ยืมแก่ผู้เป็นหุ้นส่วน 950,000 บาท และแผ่นที่45 ระบุว่า รายได้จากดอกเบี้ย 114,000 บาท และปรากฏจากเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 8 และแผ่นที่ 10 ว่า ทรัพย์สินหมุนเวียน เงินทดรองจ่ายผู้จัดการ 950,000 บาท พยานหลักฐานโจทก์เจือสมพยานหลักฐานจำเลยจึงฟังได้ว่า โจทก์ที่ 1 ได้ให้กู้ยืมเงินและมีรายได้เป็นดอกเบี้ยจากการให้กู้ยืมเงินดังกล่าว ที่โจทก์นำสืบว่าเงินจำนวนที่ระบุให้หุ้นส่วนกู้นั้น ความจริงเป็นเงินที่หุ้นส่วนนำมาร่วมกันแล้วให้โจทก์ที่ 2 เก็บรักษาไว้ เป็นการขัดต่อเอกสารและไม่สมเหตุผล ไม่น่าเชื่อ ศาลภาษีอากรกลางฟังว่า โจทก์ที่ 1 มีรายได้จากการดำเนินกิจการและการประเมินชอบแล้ว จึงชอบแล้ว
ในข้อที่ว่าการวินิจฉัยคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไม่ชอบนั้นโจทก์อ้างในอุทธรณ์ว่าคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์แยกคำวินิจฉัยออกเป็นสองส่วน คือสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี พ.ศ. 2527 ส่วนหนึ่งกับรอบระยะเวลาบัญชีปี พ.ศ. 2528 อีกส่วนหนึ่ง แล้วส่งคำวินิจฉัยเฉพาะส่วนแรกให้โจทก์ ส่วนที่ 2 มิได้ส่งให้โจทก์ แต่กลับส่งให้จำเลยเป็นการส่งคำวินิจฉัยไม่ชอบ คำวินิจฉัยจึงไม่ชอบทั้งหมดเพราะไม่มีกฎหมายให้แยกพิจารณา เห็นว่า ได้ความจากทางนำสืบของจำเลยว่าคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เห็นว่าการประเมินสำหรับรอบระยะบัญชีปี พ.ศ. 2527 ถูกต้องแล้ว ส่วนสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี พ.ศ. 2528 เจ้าพนักงานประเมินระบุรอบระยะเวลาบัญชีผิด จึงได้แจ้งไปให้เจ้าพนักงานประเมินประเมินใหม่ เมื่อเจ้าพนักงานประเมินแก้ไขแล้ว จึงได้ยกเลิกการประเมินสำหรับรอบระยะบัญชีปีดังกล่าว ซึ่งเป็นการกระทำที่ชอบ คำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จึงชอบแล้ว…
สำหรับประเด็นข้อที่สามเรื่องอำนาจฟ้องของกรมสรรพากร ซึ่งเป็นโจทก์ในสำนวนคดีหลังนั้น ปรากฏว่า ในคดีสำนวนแรกโจทก์ที่ 1ฟ้องหรืออุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาลขอให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินกับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เกี่ยวกับภาษีเงินได้ของโจทก์ที่ 1ขณะคดีอยู่ระหว่างพิจารณา กรมสรรพากรจำเลยเป็นโจทก์ฟ้องเรียกเงินภาษีรายเดียวกันนี้ในสำนวนคดีหลัง เช่นนี้ เห็นว่า เมื่อโจทก์ที่ 1 อุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาลและขอให้ศาลเพิกถอนคำวินิจฉัยดังกล่าวแล้ว คำวินิจฉัยดังกล่าวอาจจะถูกเปลี่ยนแปลงแก้ไขหรือเพิกถอนโดยคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลได้ กรมสรรพากรจำเลยซึ่งเป็นโจทก์ในคดีสำนวนหลังจึงไม่มีอำนาจฟ้องซึ่งโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ได้หยิบยกข้อนี้ขึ้นต่อสู้ในคำให้การอยู่แล้ว ที่ศาลภาษีอากรกลาง เห็นว่า โจทก์ในสำนวนคดีหลังมีอำนาจฟ้อง ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ฟังขึ้น คดีไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยประเด็นข้อที่ 4 และประเด็นที่ว่า ฟ้องแย้งของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 เป็นฟ้องซ้อนชอบที่จะยกฟ้องแย้งหรือไม่”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องคดีสำนวนหลังเฉพาะที่เกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลศรีเจริญเซ็นเตอร์ และนายไพโรจน์ศรีประเสริฐสุข นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง

Share