คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5712/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์และ ส. ได้ตกลงแบ่งมรดกของเจ้ามรดกทั้งที่มีพินัยกรรมและไม่มีพินัยกรรมตามสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งระบุว่าโจทก์ยอมสละที่ดินโฉนดเลขที่ 2893,68903,184852 และที่ 184853 พร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินโฉนดเลขที่ 2893 แก่ ส. จึงต้องด้วยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1750 วรรคสองเมื่อโจทก์และ ส. ลงลายมือชื่อไว้จึงต้องผูกพันตามสัญญาประนีประนอมยอมความย่อมถือได้ว่าที่ดินดังกล่าวพร้อมสิ่งปลูกสร้างตามที่โจทก์ฟ้องได้แบ่งปันไปเสร็จสิ้นแล้วโจทก์จึงไม่มีส่วนได้เสียในที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างอีกไม่ว่าในฐานะส่วนตัวหรือในฐานะผู้จัดการมรดกที่จะใช้สิทธิขอแบ่งหรือมีอำนาจจัดการอีกต่อไปไม่ ดังนั้น หากจำเลยซึ่งเป็นผู้เช่าที่ดินโฉนดเลขที่ 2893 ก่อให้เกิดความเสียหายหรือไม่ประการใด ก็เป็นเรื่องของเจ้าของที่ดินจะไปว่ากล่าวแก่จำเลยต่างหาก หาเกี่ยวข้องกับโจทก์ไม่ จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยได้โต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยไม่ปฏิบัติตามสัญญาเช่าและสัญญาแบ่งผลประโยชน์ส่วนจำเลยฟ้องแย้งว่าโจทก์แกล้งฟ้องจำเลย เพื่อให้จำเลยต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางแก่ อ. ภริยาของ ส. จากประเทศเบลเยี่ยมเพื่อมาต่อสู้คดีในฐานะผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลย และโจทก์รบกวนผู้เช่าจนผู้เช่ายกเลิกการเช่าและไม่เช่าพื้นที่เพิ่ม ทำให้จำเลยขาดประโยชน์อันเป็นการฟ้องแย้งในมูลละเมิดฟ้องแย้งของจำเลยจึงเป็นเรื่องอื่นไม่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิม ไม่อาจรวมพิจารณาไปกับคำฟ้องเดิมได้ จำเลยชอบที่จะไปฟ้องเป็นคดีต่างหาก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า นายสวิง รัศมิทัต กับนายศิริ จ.รัศมิทัต เป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย มีบุตรร่วมกัน 3 คน คือ โจทก์ นายวิสุทธิ์ รัศมิทัต และนายสุขุม รัศมิทัตนายศิริถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2502 นางสวิงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 2893 ตำบลพระโขนงฝั่งเหนือ อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2524 นางสวิงได้ให้จำเลยซึ่งเป็นบริษัทจำกัดมีนางอำไพศรีคุ้มธรรมพินิจหรือรัศมิทัต ภริยานายสุขุมเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน เช่าที่ดินโฉนดเลขที่ 2893 บางส่วน และเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2524 นางสวิงกับจำเลยและนายสุขุมทำสัญญาแบ่งผลประโยชน์ที่ได้จากที่ดินที่ให้เช่าคนละ 1 ส่วนเท่ากัน หลังจากทำสัญญาได้มีการแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 2893 ออกไปอีก 2 แปลง เป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 184852 และ 184853 ตำบลสวนหลวง นางสวิงถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 10มิถุนายน 2533 ก่อนตายได้ทำพินัยกรรมไว้โดยมีข้อกำหนดพินัยกรรมในข้อ 7 ว่า ให้โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนางสวิง ต่อมานายสุขุมได้ยื่นฟ้องโจทก์ต่อศาลแพ่งเป็นคดีหมายเลขดำที่ 19069/2533 ขอให้เพิกถอนพินัยกรรมของนางสวิงฉบับดังกล่าวผลที่สุดเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2534 โจทก์กับนายสุขุมทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันโดยมีข้อตกลงประการหนึ่งให้นายศลย์ ไชยสุต กับนายอุดมศักดิ์ ศุกรวรรณ เป็นผู้จัดการมรดกของนางสวิง ต่อมานายอุดมศักดิ์ขอถอนตัวจึงตกลงให้นายพินิศจัยพันธุ์วิชาติกุล เป็นผู้จัดการมรดกแทน แต่บุคคลทั้งสองมิได้ปฏิบัติหน้าที่รวบรวมทรัพย์มรดกมาแบ่งปันให้แก่โจทก์กับนายวิสุทธิ์และนายสุขุมผู้เป็นทายาทของนางสวิง ทั้งที่จำเลยค้างชำระค่าเช่าที่ดินนับแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2533 และมิได้แบ่งผลประโยชน์ที่ได้จากที่ดินที่ให้เช่านับแต่วันที่ 1 มกราคม 2534 นายวิสุทธิ์ จึงยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งขอให้มีคำสั่งเพิกถอนบุคคลทั้งสองจากการเป็นผู้จัดการมรดกของนางสวิง ต่อมาโจทก์ในฐานะทายาทและผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมของนางสวิงได้มอบอำนาจให้ทนายความมีหนังสือบอกเลิกสัญญาเช่าที่ดินไปยังจำเลย ขอให้จำเลยชำระค่าเช่าที่ดินและแบ่งผลประโยชน์ที่ได้จากที่ดินที่ให้เช่าที่จำเลยค้างชำระกับขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินที่ให้เช่า แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน3,299,006.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่ 2893, 184852 และ 184853 ตำบลสวนหลวง (ที่ 8 พระโขนงฝั่งเหนือ) พร้อมทั้งส่งมอบที่ดินที่ให้เช่าในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดีแก่โจทก์เพื่อนำไปแบ่งปันให้แก่ผู้เป็นทายาทของนางสวิงต่อไป หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้โจทก์มีอำนาจดำเนินการโดยให้จำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย ให้จำเลยชำระค่าเสียหายและค่าขาดประโยชน์เป็นเงินเดือนละ 200,000 บาท แก่โจทก์ นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยจะขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินที่ให้เช่า

จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะโจทก์มิได้เป็นผู้จัดการมรดกของนางสวิง รัศมิทัต และตามสำเนาสัญญาประนีประนอมยอมความเอกสารท้ายคำฟ้อง โจทก์ยอมยกที่ดินตามฟ้องทั้งหมดพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่นายสุขุม รัศมิทัต โจทก์จึงไม่มีสิทธิในที่ดินตามฟ้องทั้งหมดพร้อมสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งผลประโยชน์ตามที่โจทก์กล่าวอ้าง โจทก์ไม่มีอำนาจบอกเลิกสัญญาเช่าที่ดิน คำฟ้องของโจทก์ในเรื่องผลประโยชน์และในเรื่องค่าเสียหายเป็นคำฟ้องที่เคลือบคลุมเพราะมิได้บรรยายฟ้องให้ชัดแจ้งว่ามีความเป็นมาอย่างไร และเป็นคำฟ้องที่ขาดอายุความเพราะมิได้มีการใช้สิทธิเรียกร้องในเรื่องผลประโยชน์เป็นระยะเวลาเกินกว่า 10 ปีแล้วและในเรื่องค่าเช่าที่ดินกับผลประโยชน์อันสืบเนื่องมาจากการเช่าที่ดินเป็นระยะเวลาเกินกว่า 5 ปีแล้ว ทั้งโจทก์ทราบดีว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยและทราบดีว่านางอำไพศรีรัศมิทัต ภริยานายสุขุมต้องติดตามนายสุขุมไปปฏิบัติหน้าที่ในฐานะภริยาเอกอัครราชทูตณ กรุงบรัสเซล ประเทศเบลเยี่ยม โจทก์จึงแกล้งฟ้องคดีเพื่อให้จำเลยต้องเสียค่าโดยสารเครื่องบินและค่าใช้จ่ายสำหรับนางอำไพศรีกับบุตรและผู้ติดตามเพื่อให้นางอำไพศรีเดินทางกลับมาต่อสู้คดีในประเทศไทย ขอให้ยกฟ้องและบังคับโจทก์ชำระเงินค่าโดยสารเครื่องบินและค่าใช้จ่ายในการที่นางอำไพศรีต้องเดินทางกลับประเทศไทยและไปประเทศเบลเยี่ยมเที่ยวละ 120,000 บาท ทุกนัดพิจารณาของศาลจนกว่าคดีจะถึงที่สุด ให้โจทก์ชำระค่าเสียหายที่จำเลยต้องขาดรายได้เป็นเงินเดือนละ 105,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าคดีจะถึงที่สุด

โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า การฟ้องคดีของโจทก์เป็นการใช้สิทธิตามกฎหมายและมิได้ฟ้องนางอำไพศรี รัศมิทัต เป็นการส่วนตัว ที่นางอำไพศรีต้องติดตามนายสุขุมรัศมิทัต ไปประเทศเบลเยี่ยมเป็นเรื่องความสมัครใจของนางอำไพศรี ขอให้ยกฟ้องแย้ง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องและยกฟ้องแย้ง

โจทก์และจำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์และจำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง (โกดัง) ที่นางสวิงทำพินัยกรรมให้แก่นายวิสุทธิ์ นายธนะสุทธิ์และนางสาวปิยะบุตร ตามพินัยกรรมเอกสารหมาย จ.1 ข้อ 5 หมายถึง ที่ดินโฉนดเลขที่ 2893 ตำบลสวนหลวง (ที่ 8 พระโขนงฝั่งเหนือ) อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร เพียงแปลงเดียว โจทก์ยังเป็นทายาทและผู้จัดการมรดกในที่ดินโฉนดเลขที่ 184852 และ 184853 ตำบลสวนหลวง (ที่ 8พระโขนงฝั่งเหนือ) อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร จึงมีอำนาจฟ้องจำเลย เห็นว่าพินัยกรรมตามเอกสารหมาย จ.1 มีข้อกำหนดพินัยกรรมในข้อ 1 ให้ที่ดินตามโฉนดที่ดินรวม 16 โฉนด ตั้งอยู่ที่ถนนพระราม 9 ตำบลบางกะปิ (ลาดพร้าวฝั่งเหนือ) อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ตกได้แก่โจทก์และนายชเนศร์ รัศมิทัต กับนายชนายุสรัศมิทัต ซึ่งเป็นบุตรโจทก์คนละ 1 ส่วนเท่ากัน ข้อ 4 ให้ที่ดินตามโฉนดที่ดินรวม 2 โฉนดตั้งอยู่ที่แขวงมหาพฤฒาราม เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างตกได้แก่โจทก์ ซึ่งเห็นได้ว่าในการยกที่ดินให้แก่ผู้รับพินัยกรรมนั้น หากที่ดินบริเวณที่จะยกให้มีหลายแปลง นางสวิงก็จะยกให้แก่ผู้รับพินัยกรรมทั้งหมด มิใช่ยกให้เฉพาะบางแปลง การที่ข้อกำหนดพินัยกรรม ข้อ 5 กำหนดให้ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง (โกดัง) ตั้งอยู่ที่ซอยเจริญพัฒนา แขวงสวนหลวง เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร ตกได้แก่นายวิสุทธิ์ นายธนะสุทธิ์และนางสาวปิยะบุตร แม้ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามแผนที่วิวาทเอกสารหมาย ล.1 ว่า โกดังดังกล่าวปลูกสร้างอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 2893 ตำบลสวนหลวง (ที่ 8 พระโขนงฝั่งเหนือ) อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร เพียงแปลงเดียวก็ตามแต่เมื่อนางสวิงมิได้ระบุที่ดินแปลงใดไว้โดยเฉพาะและพิจารณาเจตนาของนางสวิงที่ยกที่ดินบริเวณใดให้แก่ผู้รับพินัยกรรมคนใดคนหนึ่งหรือหลายคน ก็จะยกให้ทั้งหมดดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้ว ย่อมเห็นได้ว่านางสวิงเจตนายกที่ดินของนางสวิงทั้งหมด ซึ่งอยู่ที่ซอยเจริญพัฒนา แขวงสวนหลวง เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร ให้แก่นายวิสุทธิ์นายธนะสุทธิ์และนางสาวปิยะบุตร หาใช่มีเจตนายกให้เฉพาะที่ดินโฉนดเลขที่ 2893ตำบลสวนหลวง (ที่ 8 พระโขนงฝั่งเหนือ) อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร ดังที่โจทก์ฎีกาไม่ ดังนั้น ที่ดินโฉนดเลขที่ 2893, 184852 และ 184853 ตำบลสวนหลวง(ที่ 8 พระโขนงฝั่งเหนือ) อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร จึงตกได้แก่นายวิสุทธิ์นายธนะสุทธิ์และนางสาวปิยะบุตรตามข้อกำหนดพินัยกรรมฉบับดังกล่าวแล้วภายหลังที่นางสวิงถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2533 อย่างไรก็ตามปรากฏว่าโจทก์และนายสุขุมได้ตกลงแบ่งมรดกของนางสวิงทั้งที่มีพินัยกรรมและไม่มีพินัยกรรมตามสัญญาประนีประนอมยอมความเอกสารหมาย จ.22 ข้อ 1.3 ซึ่งระบุว่าโจทก์ยอมสละที่ดินโฉนดเลขที่ 2893, 68903, 184852 และที่ 184853 ตำบลสวนหลวง(ที่ 8 พระโขนงฝั่งเหนือ) อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินโฉนดเลขที่ 2893 แก่นายสุขุม กรณีจึงต้องด้วยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1750 วรรคสอง เมื่อโจทก์และนายสุขุมลงลายมือชื่อไว้จึงต้องผูกพันตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว และเมื่อได้ความดังนี้ย่อมถือได้ว่าที่ดินทั้งสามแปลงดังกล่าว พร้อมสิ่งปลูกสร้างตามที่โจทก์ฟ้องได้แบ่งปันไปเสร็จสิ้นแล้ว โจทก์จึงไม่มีส่วนได้เสียในที่ดินทั้งสามแปลงดังกล่าวพร้อมสิ่งปลูกสร้างอีกไม่ว่าในฐานะส่วนตัวหรือในฐานะผู้จัดการมรดกที่จะใช้สิทธิขอแบ่งหรือมีอำนาจจัดการอีกต่อไปไม่ นอกจากนี้นายสุขุมก็มาเบิกความเป็นพยานฝ่ายจำเลย ดังนั้น หากจำเลยซึ่งเป็นผู้เช่าที่ดินจะก่อให้เกิดความเสียหายหรือไม่ประการใดก็เป็นเรื่องของเจ้าของที่ดินจะไปว่ากล่าวแก่จำเลยต่างหากหาเกี่ยวข้องกับโจทก์ไม่ กรณีจึงถือไม่ได้ว่าจำเลยได้โต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55อันโจทก์จะมีอำนาจฟ้องจำเลยได้ ส่วนค่าเช่าที่ดินนับแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2533 ถึงวันที่10 มิถุนายน 2533 ก่อนนางสวิงถึงแก่ความตาย โจทก์ก็ฎีกายอมรับว่าจำเลยเคยชำระค่าเช่าที่ดินที่ค้างชำระนับแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2533 เป็นเงินจำนวน 100,000 บาท ซึ่งเป็นจำนวนเงินเกินกว่าค่าเช่าที่ดิน ที่จำเลยค้างชำระระหว่างระยะเวลาดังกล่าว จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์อีก ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

สำหรับปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ฟ้องแย้งเรียกค่าใช้จ่ายในการเดินทางจากประเทศเบลเยี่ยมมาประเทศไทยและจากประเทศไทยกลับประเทศเบลเยี่ยม และค่าเสียหายที่ขาดประโยชน์จากการที่โจทก์ไปรบกวนผู้เช่าจนผู้เช่ายกเลิกการเช่าและไม่เช่าพื้นที่เพิ่มนั้น เห็นว่า โจทก์ฟ้องว่าจำเลยไม่ปฏิบัติตามสัญญาเช่าและสัญญาแบ่งผลประโยชน์ ส่วนจำเลยฟ้องแย้งว่าโจทก์แกล้งฟ้องจำเลยเพื่อให้จำเลยต้องเสียค่าใช่จ่ายในการเดินทางแก่นางอำไพศรี รัศมิทัต ภริยาของนายสุขุมซึ่งต้องติดตามนายสุขุมไปปฏิบัติหน้าที่ในฐานะภริยาเอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซล ประเทศเบลเยี่ยม เพื่อมาต่อสู้คดีในฐานะผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลย และโจทก์รบกวนผู้เช่าจนผู้เช่ายกเลิกการเช่าและไม่เช่าพื้นที่เพิ่มทำให้จำเลยขาดประโยชน์ อันเป็นการฟ้องแย้งในมูลละเมิดฟ้องแย้งของจำเลยจึงเป็นเรื่องอื่นไม่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิมไม่อาจรวมพิจารณาไปกับคำฟ้องเดิมได้ ชอบที่จำเลยจะฟ้องเป็นคดีต่างหาก ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยฟ้องแย้งของจำเลยที่เรียกค่าใช้จ่ายในการเดินทางของนางอำไพศรีนั้นชอบแล้ว ส่วนที่ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยฟ้องแย้งของจำเลยซึ่งเรียกค่าเสียหายที่ขาดประโยชน์จากการที่โจทก์รบกวนผู้เช่าจนผู้เช่ายกเลิกการเช่าและไม่เช่าพื้นที่เพิ่มนั้น เป็นการไม่ชอบศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”

พิพากษายืน ให้คืนค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมดในชั้นฎีกาที่เกี่ยวกับฟ้องแย้งแก่จำเลย ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกานอกจากนี้ให้เป็นพับ

Share