คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5699/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาพิพาทที่โจทก์และฝ่ายจำเลยทำกันไว้เป็นสัญญาที่โจทก์มอบหมายให้ฝ่ายจำเลยเป็นตัวแทนไปเจรจาขอเช่าที่ดินของก. เพื่อก่อสร้างอาคารเมื่อไปเจรจาเป็นผลสำเร็จและฝ่ายจำเลยได้ก่อสร้างอาคารเสร็จแล้วฝ่ายจำเลยจะต้องจัดการให้โจทก์ได้เช่าอาคารที่ก่อสร้างขึ้นนั้นจากกรมธนารักษ์ไม่ได้มีผลผูกพันกันเป็นพิเศษว่าจะเลิกสัญญาต่อกันไม่ได้ดังนั้นฝ่ายจำเลยซึ่งเป็นตัวแทนจะบอกเลิกสัญญาที่ทำกันไว้เสียเมื่อใดก็ได้เว้นแต่จะเป็นการบอกเลิกในเวลาที่ไม่สะดวกแก่โจทก์ฝ่ายจำเลยจึงจะต้องรับผิดต่อโจทก์ในความเสียหายที่เกิดขึ้นแต่การนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา827 เมื่อปรากฎว่าหลังจากทำสัญญากันแล้วจำเลยได้ไปติดต่อขอเช่าที่ดินและขออนุญาตก่อสร้างตึกแถวเป็นอาคารพาณิชย์จากก.แต่ก.ได้กำหนดให้ปฎิบัติตามเงื่อนไขหลายประการและก.ได้กำหนดให้ผู้ขอเช่าที่ดินและขออนุญาตก่อสร้างอาคารพาณิชย์ปฎิบัติตามเงื่อนไขให้ครบถ้วนก่อนซึ่งฝ่ายจำเลยได้แจ้งให้โจทก์ทราบว่าก.กำหนดให้ผู้ที่จะขอก่อสร้างอาคารต้องประมูลกันใครให้ผลประโยชน์มากที่สุดจะเป็นผู้ได้รับอนุญาตและผู้ประมูลจะต้องเป็นนิติบุคคลหลังจากแจ้งไปแล้วโจทก์ก็ไม่ได้แสดงความประสงค์จะเข้าประมูลต่อมาได้มีการบอกเลิกสัญญาที่พิพาทเนื่องจากคู่กรณีไม่สามารถที่จะปฎิบัติตามเงื่อนไขในสัญญาได้เพราะขัดกับระเบียบของกรมธนารักษ์ดังนี้ฝ่ายจำเลยจึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาที่ทำกันไว้ต่อโจทก์ได้แม้ตามสัญญาจะไม่ได้กำหนดให้ฝ่ายจำเลยมีสิทธิบอกเลิกสัญญาในเวลาใดๆได้ก็ตามและการบอกเลิกสัญญาดังกล่าวถือไม่ได้ว่าเป็นการบอกเลิกเป็นตัวแทนในเวลาที่ไม่สะดวกแก่ฝ่ายโจทก์ประกอบกับหนังสือบอกเลิกสัญญาฝ่ายจำเลยก็ไม่ได้บอกเลิกสัญญาโดยเด็ดขาดแต่ยังให้โอกาสโจทก์มาทำความตกลงกับฝ่ายจำเลยได้อีกภายใน7วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแต่ในช่วงระยะเวลาที่กำหนดดังกล่าวโจทก์ไม่ได้มาทำความตกลงอย่างหนึ่งอย่างใดกับฝ่ายจำเลยเช่นนี้สัญญาที่โจทก์ทำกับฝ่ายจำเลยจึงสิ้นความผูกพันต่อกันแล้ว ส่วนการที่จำเลยได้รับเงินสินจ้างไปจากโจทก์และยังไม่ได้คืนโจทก์นั้นเมื่อเงินจำนวนดังกล่าวนี้ตามสัญญาระหว่างโจทก์จำเลยไม่ได้ระบุให้มีผลผูกพันต่อกันไว้แต่ประการใดเลยและเงินจำนวนนี้ฝ่ายโจทก์ให้ไว้เป็นค่าใช้จ่ายในการที่ฝ่ายจำเลยไปติดต่อขออนุญาตก่อสร้างอาคารตึกแถวใหม่แทนตึกแถวเดิมดังนี้เงินจำนวนนี้จึงไม่ใช่เงื่อนไขว่าจำเลยจะบอกเลิกสัญญาได้หรือไม่ดังนั้นภายหลังจากที่ฝ่ายจำเลยบอกเลิกสัญญาต่อโจทก์แล้วฝ่ายจำเลยได้เข้าประมูลและสามารถประมูลงานก่อสร้างอาคารในที่ดินของก.ได้และได้ทำการก่อสร้างอาคารจนแล้วเสร็จกับส่งมอบให้แก่ทางราชการเป็นที่เรียบร้อยฝ่ายจำเลยซึ่งหมดความผูกพันกับโจทก์แล้วจึงไม่มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบต่อโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันรับเงิน 621,600บาท จากโจทก์ และยอมหรือนำให้โจทก์เป็นผู้เช่าตึกแถวใหม่4 ชั้น จำนวน 1 คูหาตรงคูหาหมายเลข 2 ตามแผนสังเขป เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 ต่อกรมธนารักษ์เป็นเวลา 15 ปี นับแต่วันทำสัญญาเช่า หากจำเลยทั้งห้าไม่ปฎิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งห้า หากคำขอดังกล่าวไม่สามารถบังคับได้ ให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันใช้เงินให้โจทก์จำนวน 528,400 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 5ร่วมกันรับเงินจำนวน 621,600 บาท จากโจทก์ แล้วนำโจทก์ทำสัญญาเช่าตึกแถวจำนวน 1 คูหา ตรงคูหาหมายเลข 2 ในแผนผังสังเขปเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 จากกรมธนารักษ์เป็นเวลา 15ปี นับแต่วันทำสัญญาเช่า มิฉะนั้นให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3และที่ 5 ร่วมกันใช้เงินให้โจทก์จำนวน 528,400 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ คำขออื่นให้ยก ส่วนจำเลยที่ 4 ให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1ที่ 2 ที่ 3 และที่ 5
โจทก์ฎีกา
ระหว่างพิจารณา โจทก์ถึงแก่กรรม นายปรีชา ตุลาประพฤทธิ์ทายาทของโจทก์ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลฎีกาอนุญาต
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความรับและไม่โต้เถียงกันฟังได้ว่า เดิมโจทก์เป็นผู้เช่าห้องแถว 1 ห้องในจำนวน 9 ห้อง จากกองลูกเสือ จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินราชพัสดุของกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง ตรงริม ถนนเศรษฐกิจ 1 ตำบลมหาชัย อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาครและสัญญาเช่าได้หมดอายุลงแล้ว ต่อมาทางราชการได้ขยายถนนดังกล่าว จึงจำเป็นต้องรื้อถอนห้องแถวดังกล่าวออกไป โจทก์กับพวกซึ่งเช่าห้องแถวดังกล่าวและจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ต่างมีความประสงค์จะสร้างอาคารขึ้นใหม่ในที่ดินแปลงนี้โจทก์กับผู้เช่าห้องแถวรายอื่นจึงมอบหมายให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นตัวแทนไปเจรจาขอเช่าและปลูกสร้างอาคาร เมื่อเจรจาเป็นผลสำเร็จ ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นผู้ก่อสร้างอาคารหลังจากก่อสร้างเสร็จแล้ว จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จะต้องจัดการให้โจทก์กับผู้เช่ารายการอื่นเป็นผู้เช่าอาคารที่ก่อสร้างขึ้นนั้น โจทก์กับผู้เช่าดังกล่าวและจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3ได้ทำสัญญากันไว้มีรายละเอียดตามเอกสารหมาย จ.2 หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ได้ร่วมกันจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 5 ขึ้น โดยมีจำเลยที่ 1 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นหุ้นส่วนประเภทจำกัดความรับผิดเมื่อจำเลยที่ 2 ออกจากการเป็นหุ้นส่วน จำเลยที่ 4 ได้เข้ามาเป็นหุ้นส่วนแทน ต่อมาจำเลยที่ 5 ประมูลงานก่อสร้างอาคารในที่ดินราชพัสดุแปลงดังกล่าวได้ จึงได้ทำการก่อสร้างอาคารจนเสร็จและส่งมอบงานแก่ทางราชการเรียบร้อยแล้ว แต่ฝ่ายจำเลยไม่ยอมให้โจทก์เป็นผู้เช่าอาคารตามที่ได้ตกลงกันไว้ข้างต้น
คดีมีข้อวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3และที่ 5 จะต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้องหรือไม่ และค่าเสียหายโจทก์มีเพียงใดสำหรับปัญหาข้อแรก โจทก์ฎีกาว่าสัญญาที่โจทก์กับฝ่ายจำเลยทำกันไว้ตามเอกสารหมาย จ.2 เป็นสัญญามีเงื่อนไขบังคับก่อนว่า เมื่อทางราชการหรือกรมธนารักษ์อนุมัติให้ฝ่ายจำเลยเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างอาคารแล้วสัญญาที่ทำกันดังกล่าวจึงมีผลบังคับ หากไม่อนุมัติสัญญาจึงจะสิ้นผล เมื่อฝ่ายจำเลยได้รับอนุมัติให้ดำเนินการก่อสร้างอาคารและได้ทำการก่อสร้างจนแล้วเสร็จและส่งมอบให้แก่ทางราชการรับไปเรียบร้อยแล้ว จึงถือได้ว่าฝ่ายจำเลยสามารถปฎิบัติตามข้อตกลงจนบรรลุผลสำเร็จตามเงื่อนไขที่กำหนดในสัญญาเป็นที่เรียบร้อย สัญญาที่ทำกันไว้ตามเอกสารหมาย จ.2จึงมีผลบังคับ ศาลฎีกาได้พิจารณาสัญญาที่โจทก์กับฝ่ายจำเลยทำกันไว้ตามเอกสารหมาย จ.2 แล้วสัญญาดังกล่าวมีข้อความเป็นสำคัญว่า โจทก์มอบอำนาจให้ฝ่ายจำเลยทำการก่อสร้างอาคารตามรูปแบบและรายละเอียดของกรมธนารักษ์ในราคาค่าก่อสร้างประมาณ 300,000 บาท กับค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานอีก 250,000บาท รวมเป็นเงิน 550,000 บาท แต่ราคาดังกล่าวอาจเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้อีก โดยผ่อนชำระ 9 งวด งวดแรกเป็นเงิน 140,000บาท ที่เหลืองงวดละเดือน เดือนละ 50,000 บาท เมื่อพิจารณาประกอบกับข้อเท็จจริงที่ทั้งสองฝ่ายรับกันข้างต้น เห็นได้ว่าสัญญาที่โจทก์และฝ่ายจำเลยทำกันไว้ดังกล่าวเป็นสัญญาที่โจทก์มอบหมายให้ฝ่ายจำเลยเป็นตัวแทนไปเจรจาขอเช่าที่ดินของกรมธนารักษ์เพื่อก่อสร้างอาคาร เมื่อไปเจรจาเป็นผลสำเร็จและฝ่ายจำเลยได้ก่อสร้างอาคารเสร็จแล้ว ฝ่ายจำเลยจะต้องจัดการให้โจทก์ได้เช่าอาคารที่ก่อสร้างขึ้นนั้นจากกรมธนารักษ์
เห็นว่าสัญญาที่โจทก์และฝ่ายจำเลยทำกันดังกล่าวไม่ได้มีผลผูกพันกันเป็นพิเศษว่าเลิกสัญญาต่อกันไม่ได้ ดังนั้นฝ่ายจำเลยซึ่งเป็นตัวแทนจะบอกเลิกสัญญาที่ทำกันไว้เสียเมื่อใดก็ได้ เว้นแต่จะเป็นการบอกเลิกในเวลาที่ไม่สะดวกแก่โจทก์ฝ่ายจำเลยจึงจะต้องรับผิดต่อโจทก์ในความเสียหายที่เกิดขึ้นแต่การนั้น ทั้งนี้ ตามบทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 827 ข้อเท็จจริงได้ความว่า หลังจากทำสัญญากันแล้วได้ไปติดต่อขอเช่าที่ดินและขออนุญาตก่อสร้างตึกแถวเป็นอาคารพาณิชย์จากกรมธนารักษ์ แต่กรมธนารักษ์ได้กำหนดให้ปฎิบัติตามเงื่อนไขหลายประการ เป็นต้นว่า ต้องมีการประมูล ผู้ประมูลต้องเป็นนิติบุคคล ผู้ประมูลได้จะต้องมีเงินขัดประโยชน์ไม่ต่ำกว่า 500,000 บาท และผู้ประมูลจะต้องมีที่ดินไปแลกเปลี่ยนเพื่อสร้างบ้านพักให้ศึกษาธิการจังหวัดสมุทรสาครและที่ดินนั้นต้องเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้เข้าประมูลเอง และหลังจากโจทก์ทำสัญญากับเอกสารหมาย จ.2 ฝ่ายจำเลยแล้ว ต่อมาฝ่ายจำเลยแล้ว ต่อมาฝ่ายจำเลยได้แจ้งให้โจทก์ทราบว่ากรมธนารักษ์กำหนดให้ผู้ที่จะขอก่อสร้างอาคารต้องประมูลกันใครให้ผลประโยชน์มากที่สุดจะเป็นผู้ได้รับอนุญาต และผู้ประมูลจะต้องเป็นนิติบุคคล ไม่ได้ความว่าหลังจากได้รับแจ้งดังกล่าวแล้วโจทก์ได้ดำเนินการอย่างไรและเมื่อกรมธนารักษ์มีข้อกำหนดให้ต้องปฎิบัติตามเงื่อนไขจึงได้แจ้งไปให้ผู้เช่าห้องแถวเดิมทราบว่าจะต้องมีการประมูลการก่อสร้างอาคารพาณิชย์ในที่ดินที่สร้างห้องแถวเดิม หลังจากแจ้งไปแล้วโจทก์ไม่ได้แสดงความประสงค์จะเข้าประมูล ต่อมาได้มีการบอกเลิกสัญญาเอกสารหมายจ.2 แล้ว เนื่องจากคู่กรณีไม่สามารถที่จะปฎิบัติตามเงื่อนไขในสัญญาได้เพราะขัดกับระเบียบของกรมธนารักษ์ ดังนี้ จึงฟังได้ว่า โจทก์ไม่ประสงค์จะเข้าประมูล ฝ่ายจำเลยจึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาที่ทำกันไว้ต่อโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.2 ได้ แม้ตามสัญญาจะไม่ได้กำหนดให้ฝ่ายจำเลยมีสิทธิบอกเลิกสัญญาในเวลาใด ๆได้ดังที่โจทก์ฎีกาก็ตาม แต่การบอกเลิกสัญญาดังกล่าวก็ถือไม่ได้ว่าเป็นการบอกเลิกเป็นตัวแทนในเวลาที่ไม่สะดวกแก่ฝ่ายโจทก์ ประกอบกับหนังสือบอกเลิกสัญญาเอกสารหมาย จ.20ดังกล่าว ฝ่ายจำเลยก็ไม่ได้บอกเลิกสัญญาโดยเด็ดขาด แต่ยังให้โอกาสโจทก์มาทำความตกลงกับฝ่ายจำเลยได้อีกภายใน 7 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือซึ่งก็ไม่ได้ความว่าในช่วงระยะเวลาที่กำหนดดังกล่าวนั้นโจทก์ได้มาทำความตกลงอย่างหนึ่งอย่างใดกับฝ่ายจำเลย ดังนี้ สัญญาที่โจทก์ทำกับฝ่ายจำเลยตามเอกสารหมาย จ.2 จึงสิ้นความผูกพันต่อกันแล้ว ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่าฝ่ายจำเลยได้รับเงินสินจ้างไปจากโจทก์ 10,000 บาทและยังไม่ได้คืน ฝ่ายจำเลยจึงไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญานั้นเห็นว่า เงินจำนวนดังกล่าวนี้ตามสัญญาเอกสารหมาย จ.2 ไม่ได้ระบุให้มีผลผูกพันต่อกันไว้แต่ประการใดเลย แต่กลับได้ความจากคำเบิกความของนายปรีชาผู้รับมอบอำนาจโจทก์ว่า เงินจำนวนนี้ฝ่ายโจทก์ให้ไว้เป็นค่าใช้จ่ายในการที่ฝ่ายจำเลยไปติดต่อขออนุญาตก่อสร้างอาคารตึกแถวใหม่แทนตึกแถวเดิมดังนี้ เงินจำนวนนี้จึงไม่ใช่เงื่อนไขเกี่ยวกับการบอกเลิกสัญญาได้หรือไม่ดังที่โจทก์ฎีกาแต่ประการใด ดังนั้น ภายหลังจากที่ฝ่ายจำเลยบอกเลิกสัญญาต่อโจทก์แล้วฝ่ายจำเลยได้เข้าประมูลและสามารถประมูลงานก่อสร้างอาคารในที่ดินราชพัสดุได้และได้ทำการก่อสร้างอาคารจนแล้วเสร็จกับส่งมอบให้แก่ทางราชการเป็นที่เรียบร้อยฝ่ายจำเลยซึ่งหมดความผูกพันกับโจทก์แล้วจึงไม่มีหน้าที่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้อง
พิพากษายืน

Share