คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5689/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระหนี้ตามสัญญากู้จำนวน30,000 บาท จำเลยนำสืบว่า ในการกู้ยืมนี้จำเลยตกลงให้ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3 ต่อเดือนและผ่อนชำระให้โจทก์แล้วเดือนละ 1,500 บาท โดยเป็นเงินต้นจำนวน 600 บาท และดอกเบี้ยจำนวน 900 บาท เป็นเวลา 44 เดือน รวมเป็นเงินต้นจำนวน2,400 บาท เป็นดอกเบี้ยจำนวน 39,600 บาท โดยนำสืบถึงวิธีการใช้เงินให้แก่โจทก์ว่า จำเลยเป็นพนักงานองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย โดยปฏิบัติงานประจำที่ชุมสายโทรศัพท์จังหวัดขอนแก่น ในการรับเงินเดือนหรือเงินอื่นใดจากองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย จำเลยจะรับผ่านบัญชีเงินฝากประเภทออมทรัพย์ตามเอกสารหมาย ล.2 ซึ่งจำเลยเปิดบัญชีเงินฝากไว้ที่ธนาคารกรุงไทย จำกัด สาขาขอนแก่น และจำเลยได้มอบสมุดคู่ฝากเงินออมทรัพย์ตามบัญชีเงินฝากดังกล่าวพร้อมทั้งได้มอบฉันทะให้โจทก์มีอำนาจถอนเงินจากบัญชีเงินฝากเพื่อหักชำระหนี้แก่โจทก์ได้เดือนละ 1,500 บาท นับแต่เดือนมกราคม 2527 ถึงเดือนสิงหาคม 2530 ดังนี้ การที่จำเลยนำสืบการใช้เงินต้นโดยวิธีดังกล่าวข้างต้นจำเลยก็ชอบที่จะทำได้ เพราะเป็นกรณีที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ยอมรับการชำระหนี้อย่างอื่นแทนการชำระหนี้ที่ได้ตกลงกันไว้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2526 จำเลยได้กู้ยืมเงินโจทก์จำนวน 30,000 บาท โดยไม่ได้กำหนดระยะเวลาชำระเงินต้นคืนดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ต่อมาโจทก์ทวงถามให้จำเลยชำระหนี้แล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย นับแต่วันกู้ยืมเงินจนถึงวันฟ้องเป็นเวลา 6 ปี 4 เดือน โจทก์ขอคิดดอกเบี้ยเพียง 6 ปี เป็นเงินจำนวน 13,500 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน 43,500 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ของเงินต้นจำนวน 30,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์จำนวน30,000 บาท อัตราดอกเบี้ยตามกฎหมาย จำเลยเปิดบัญชีเงินฝากประเภทออมทรัพย์ไว้ที่ธนาคารกรุงไทย จำกัด สาขาขอนแก่นเลขที่ 15673 บรรดาเงินเดือน เงินล่วงเวลา เงินโบนัสประจำปีและเงินช่วยเหลือบุตรที่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยจ่ายให้แก่จำเลยทุกเดือนนั้น องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยได้โอนเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ธนาคารดังกล่าว ในวันกู้ยืมเงินโจทก์ จำเลยได้มอบสมุดคู่เงินฝากให้โจทก์ยึดถือไว้พร้อมทั้งมอบฉันทะให้โจทก์เป็นผู้ถอนเงินแทน ทั้งนี้เพื่อชำระเงินต้นและดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ โดยโจทก์ได้ถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของจำเลยไปแล้วเป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน 98,010 บาท เกินกว่าหนี้ตามฟ้องถึง54,510 บาท โจทก์ต้องคืนเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่จำเลย พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 22ธันวาคม 2530 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ถอนเงินไปจากบัญชีเงินฝากของจำเลยครั้งสุดท้ายถึงวันฟ้องแย้งเป็นเวลา 2 ปี 6 เดือนคิดเป็นเงินดอกเบี้ยจำนวน 10,220 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน 64,730 บาท ขอให้ยกฟ้องโจทก์และบังคับให้โจทก์ชำระเงินจำนวน 64,730 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของเงินต้น 54,150 บาท นับแต่วันฟ้องแย้งจนกว่าโจทก์จะชำระเสร็จแก่จำเลย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า ในการกู้ยืมเงินจากโจทก์จำเลยตกลงจะจ่ายเงินพิเศษให้แก่โจทก์ร้อยละ 5 ของเงินจำนวน30,000 บาท เป็นเงินจำนวน 1,500 บาท ทุกเดือนไปจนกว่าจำเลยจะคืนเงินที่กู้ยืมให้แก่โจทก์และเมื่อมีการฟ้องร้องให้โจทก์เรียกดอกเบี้ยได้ตามกฎหมาย สำหรับเงินจำนวน 1,500 บาท นั้นจำเลยชำระให้โจทก์เมื่อจำเลยรับเงินเดือนโดยจำเลยขอให้โจทก์หักไว้ชำระและคืนส่วนที่เหลือให้จำเลยทุกเดือน เงินประเภทอื่นโจทก์ไม่เคยได้รับชำระจากจำเลยแต่อย่างใด ต่อมาต้นปี 2529จำเลยเดือดร้อนขอจ่ายเงินพิเศษให้โจทก์ร้อยละ 3 ต่อเดือนเป็นเงินเดือนละ 900 บาท จำเลยจ่ายเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์จนถึงเดือนมิถุนายน 2530 หลังจากนั้นโจทก์ไม่ได้รับเงินใด ๆจากจำเลยอีก ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 30,000 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่เดือนกันยายน 2530 จนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 3,600 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในเงินต้นดังกล่าวนับตั้งแต่เดือนกันยายน 2530 จนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองให้ฎีกาในข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า จำเลยเป็นพนักงานองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย โดยปฏิบัติงานประจำที่ชุมสายโทรศัพท์จังหวัดขอนแก่น ในการรับเงินเดือนหรือเงินอื่นใดจากองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย จำเลยจะรับผ่านบัญชีเงินฝากประเภทออมทรัพย์ตามเอกสารหมาย ล.23 ซึ่งจำเลยเปิดบัญชีเงินฝากไว้ที่ธนาคารกรุงไทย จำกัด สาขาขอนแก่น เมื่อวันที่27 ธันวาคม 2526 จำเลยได้กู้ยืมเงินโจทก์จำนวน 30,000 บาทตามหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.1 และจำเลยได้มอบสมุดคู่ฝากเงินออมทรัพย์ตามบัญชีเงินฝากดังกล่าวพร้อมทั้งได้มอบฉันทะให้โจทก์มีอำนาจถอนเงินจากบัญชีเงินฝากเพื่อหักชำระหนี้แก่โจทก์ได้เดือนละ 1,500 บาท นับแต่เดือนมกราคม 2527 ถึงเดือนสิงหาคม 2530
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์เพียงประเด็นเดียวว่าจำเลยได้ชำระเงินต้นให้โจทก์แล้วหรือไม่เพียงใด จำเลยเบิกความว่าในการกู้ยืมเงินจากโจทก์นั้นจำเลยตกลงให้ดอกเบี้ยร้อยละ3 ต่อเดือน ผ่อนชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยทุกเดือนรวมเป็นเงินเดือนละ 1,500 บาท โดยให้โจทก์หักชำระเป็นเงินต้น 600 บาทเป็นดอกเบี้ย 900 บาท พนักงานชุมสายโทรศัพท์ จังหวัดขอนแก่นคนอื่น ๆ ที่โจทก์ให้กู้ยืมเงินก็เสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3ต่อเดือนเช่นเดียวกัน ซึ่งความข้อนี้นายวีระวิทย์ เนตรขันธ์พยานโจทก์ซึ่งเป็นพนักงานชุมสายโทรศัพท์ จังหวัดขอนแก่น ที่กู้ยืมเงินโจทก์ก็เบิกความว่า เสียดอกเบี้ยให้โจทก์ในอัตราร้อยละ3 ต่อเดือนเช่นเดียวกัน และตัวโจทก์เองก็รับว่าพนักงานชุมสายโทรศัพท์จังหวัดขอนแก่น ที่กู้ยืมเงินจากโจทก์ไปหลายรายนั้นโจทก์ได้ปฏิบัติเช่นเดียวกับจำเลย แสดงว่าโจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยในอัตราร้อยละ 3 ต่อเดือน เช่นเดียวกัน คำเบิกความของตัวจำเลยแม้จะมีเพียงปากเดียวแต่ประกอบไปด้วยเหตุผลและสอดคล้องเชื่อมโยงกับพยานเอกสารตามเอกสารหมาย ล.1 ถึง ล.6 คำเบิกความของจำเลยจึงมีน้ำหนัก และอีกประการหนึ่งโจทก์เป็นเจ้าหนี้เงินกู้ เมื่อให้นายวีระวิทย์พนักงานชุมสายโทรศัพท์จังหวัดขอนแก่น กู้ยืมเงินไปโดยคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3 ต่อเดือน เมื่อให้จำเลยซึ่งเป็นพนักงานทำงานแห่งเดียวกับนายวีระวิทย์กู้ยืมเงินไปก็น่าจะคิดดอกเบี้ยในอัตราเดียวกันไม่น่าจะคิดในอัตราร้อยละ 5 ต่อเดือน โดยไม่ปรากฏเหตุพิเศษแต่อย่างใด ที่โจทก์ฎีกาว่าหากคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3 ต่อเดือน แล้ว อัตราดอกเบี้ยที่ปรากฏทุก ๆ เดือนจะมีจำนวนไม่เท่ากันเพราะต้องนำเงินเดือนที่ชำระบางส่วนไปลดยอดเงินต้นเดิมเสียก่อนจึงนำมาคิดดอกเบี้ยต่อไปเช่นเดียวกับที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยนั้นเห็นว่า การคิดดอกเบี้ยตามวิธีการดังที่โจทก์ฎีกานั้นส่วนมากจะเป็นวิธีการคิดดอกเบี้ยของสถานบันการเงินที่ชอบด้วยกฎหมายเช่น ธนาคารพาณิชย์ เป็นต้น เพราะมีกฎหมายควบคุมคิดคำนวณดอกเบี้ยไว้ แต่หากเป็นกรณีเอกชนหรือบุคคลที่ให้บุคคลอื่นกู้ยืมเงินเพื่อคิดดอกเบี้ยนั้น ส่วนมากจะดำเนินการด้วยวิธีง่าย ๆและสะดวก โดยคิดตามแบบที่ผู้ให้กู้ยืมประสงค์จะคิดและกำหนดอัตราดอกเบี้ยตามจำนวนที่ประสงค์ แล้วคำนวณระยะเวลาที่กู้ยืมไปเป็นจำนวนเงินดอกเบี้ยทั้งหมดเท่าใดแล้วจะนำไปรวมกับยอดเงินต้นจากนั้นก็กำหนดให้ผ่อนชำระเป็นรายเดือนตามความสามารถที่ผู้กู้ยืมจะทำได้ว่าเดือนละเท่าใด โดยผ่อนชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยดังเช่นกรณีที่จำเลยผ่อนชำระให้แก่โจทก์คดีนี้ ดังนั้นที่จำเลยนำสืบว่าชำระเป็นเงินต้น 600 บาท และเป็นดอกเบี้ย 900 บาทต่อเดือน จึงชอบด้วยเหตุผล และน่าจะเป็นไปได้มากกว่า เมื่อเปรียบเทียบพยานหลักฐานของจำเลยและพยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมาแล้วเห็นว่า พยานหลักฐานของจำเลยมีน้ำหนักดีกว่า ฟังได้ว่าจำเลยตกลงให้ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3 ต่อเดือน และผ่อนชำระให้โจทก์แล้วเดือนละ 1,500 บาท โดยเป็นเงินต้นจำนวน 600 บาทและดอกเบี้ยจำนวน 900 บาท เป็นเวลา 44 เดือน รวมเป็นเงินต้นจำนวน 26,400 บาท เป็นดอกเบี้ยจำนวน 39,600 บาท และการที่จำเลยนำสืบการใช้เงินต้นโดยวิธีดังกล่าวข้างต้นจำเลยก็ชอบที่จะทำได้เพราะเป็นกรณีที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ยอมรับการชำระหนี้อย่างอื่นแทนการชำระหนี้ที่ได้ตกลงกันไว้ จึงถือได้ว่าจำเลยได้ชำระหนี้ที่ได้ตกลงกันไว้ จึงถือได้ว่าจำเลยได้ชำระเงินต้นให้โจทก์ไปแล้วเป็นเงินจำนวน 26,400 บาท คงค้างชำระอีกเพียงจำนวน3,600 บาท ข้อฎีกาของโจทก์นอกจากนี้ไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไปไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย
พิพากษายืน

Share