แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คำฟ้องของโจทก์ที่อ้างว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดีกว่าจำเลยผู้ที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วจึงขอให้ศาลสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยและเรียกค่าเสียหายจากการที่จำเลยเอาสินค้าของจำเลยไปลวงขายว่าเป็นสินค้าของโจทก์เป็นการใช้สิทธิตามที่โจทก์ได้รับความคุ้มครองดังที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าพ.ศ.2474มาตรา41(1)และมาตรา29วรรคสองเป็นคนละกรณีกับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าตามมาตรา22ที่วินิจฉัยว่าเครื่องหมายการค้าที่จำเลยยื่นขอจดทะเบียนไม่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของผู้ที่โอนเครื่องหมายการค้านั้นให้โจทก์โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า “SUPER EVEREADY” “EVEREADY”เครื่องหมายการค้าตราแมวเก้าชีวิต และเครื่องหมายการค้ารูปแมวกระโดดในรูปลักษณะที่แตกต่างกันหลายรายการ โดยได้รับโอนมาจากบุคคลอื่นซึ่งได้จดทะเบียนสำหรับสินค้าจำพวกที่ 8ไว้ต่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า กระทรวงพาณิชย์ โจทก์ผลิตและจำหน่ายสินค้ารวมทั้งถ่านไฟฉายโดยใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวจนเป็นที่รู้จักแพร่หลายแก่สาธารณชนทั้งในประเทศและต่างประเทศมานานกว่า 50 ปี โจทก์เป็นผู้มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดังกล่าวแต่ผู้เดียว เมื่อวันที่ 1 และ 10 กันยายน 2529 จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า “EVERPOWER” และคำว่า “SUPEREADY” มีรูปลักษณะแมวกระโดดอยู่ภายในสามเหลี่ยมเพื่อใช้กับสินค้าจำพวกที่ 8 คือถ่านไฟฉายตามคำขอเลขที่ 158333 และ 158637 และได้รับการจดทะเบียนเป็นทะเบียนที่ 118138 และ 118137 ตามลำดับ เครื่องหมายการค้าของจำเลยทั้งสองมีลักษณะเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์มีอักษรโรมันและรูปแมวที่คล้ายกัน เป็นการลงใจเลียนแบบเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทำให้สาธารณชนเกิดความสับสนและหลงเชื่อว่าสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าของจำเลยเป็นสินค้าของโจทก์ จำเลยทั้งสองร่วมกันนำเครื่องหมายการค้าดังกล่าวไปใช้กับสินค้าจำพวกที่ 8คือถ่านไฟฉาย โดยมีจำเลยที่ 1 เป็นผู้ผลิตจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ แล้วนำออกจำหน่าย ทำให้โจทก์เสียหายขาดรายได้จากการที่ประชาชนผู้ประสงค์จะซื้อสินค้าของโจทก์สับสนหลงผิดโดยโจทก์ต้องขาดรายได้เป็นเงิน 100,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองเพิกถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยเลขที่ 158333 และเลขที่ 158637 หากไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาห้ามจำเลยทั้งสองใช้หรือยื่นคำขอจดทะเบียนหรือเข้าเกี่ยวข้องใด ๆกับเครื่องหมายการค้าคำว่า “SUPER EVEREADY” “EVEREADY” “SUPEREADY”รวมทั้งเครื่องหมายการค้าอื่นใดที่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ให้จำเลยทั้งสองเก็บสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 158333 และเลขที่ 158637 จากท้องตลาดให้หมดสิ้นให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 100,000 บาท พร้อมค่าเสียหายนับแต่วันถัดจากวันฟ้องอีกเดือนละ 10,000 บาท จนกว่าจะเพิกถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าว
จำเลยทั้งสองสำนวนให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่เคยยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า “EVERPOWER” และ”SUPEREADY” เครื่องหมายการค้าของโจทก์และเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 2 มีลักษณะแตกต่างและไม่คล้ายกัน ซึ่งนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าเคยวินิจฉัยไว้แล้ว ต่อมาโจทก์อุทธรณ์คำวินิจฉัยดังกล่าวต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าคณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีคำวินิจฉัยว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลยที่ 2 ไม่คล้ายกัน คำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าเป็นที่สุดตามกฎหมาย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องโจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้น พิพากษายก ฟ้องโจทก์ ทั้ง สอง สำนวน
โจทก์ ทั้ง สอง สำนวน อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
โจทก์ ทั้ง สอง สำนวน ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองสำนวนว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองหรือไม่ สำหรับจำเลยที่ 1 ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า “EVERPOWER” และคำว่า “SUPEREADY” มีรูปสุนัขกระโดดอยู่ภายในสามเหลี่ยม เพื่อใช้กับสินค้าจำพวกที่ 8 คือถ่านไฟฉายตามคำขอเลขที่ 158333 และ 158637 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1ส่วนจำเลยที่ 2 นั้น ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยที่ 2 ไม่ได้นำสืบโต้เถียงกันรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ 1 และ 10 กันยายน2529 จำเลยที่ 2 ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า “EVERPOWER” และคำว่า “SUPEREADY” มีรูปแมวกระโดดอยู่ภายในสามเหลี่ยม เพื่อใช้กับสินค้าจำพวกที่ 8 คือถ่านไฟฉายตามคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเอกสารหมาย ล.1 และล.2 บริษัทยูเนียนคาร์ไบด์ไทยแลนด์ จำกัด ซึ่งเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า “EVEREADY” และ “SUPER EVEREADY”เครื่องหมายการค้าตราแมวเก้าชีวิต และเครื่องหมายการค้ารูปแมวกระโดดเพื่อใช้กับสินค้าจำพวกที่ 8 คือถ่านไฟฉายและแบตเตอรี่ ได้ยื่นคำคัดค้านว่าเครื่องหมายการค้าที่จำเลยที่ 2 ยื่นขอจดทะเบียนเหมือนหรือคล้ายและเจตนาลอกเลียนแบบเครื่องหมายการค้าของผู้คัดค้าน และจำเลยที่ 2 ได้โต้แย้งแถลงเหตุที่อาศัยเป็นหลักในการขอจดทะเบียน ตามทะเบียนเครื่องหมายการค้าเอกสารหมายจ.8 และ จ.10 กับคำคัดค้านการขอจดทะเบียนและคำโต้แย้งเอกสารหมาย ล.3 และ ล.7 นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้ให้คำวินิจฉัยว่า เครื่องหมายการค้าได้ให้คำวินิจฉัยว่า เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 2 เป็นรูปประดิษฐ์ที่มีลักษณะคล้ายรูปสุนัขกำลังกระโดดอยู่ภายในกรอบสามเหลี่ยม ส่วนเครื่องหมายการค้าของผู้คัดค้านเป็นรูปประดิษฐ์คล้ายแมวกำลังกระโดดลอดเลขอารบิคหมายเลข 9และมีการเรียกขานที่แตกต่างกันเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 2จึงไม่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของผู้คัดค้าน และไม่พึงนับว่าเลียนเครื่องหมายการค้าของผู้คัดค้าน ตามคำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าเอกสารหมาย ล.4 และ ล.8 ผู้คัดค้านได้ยื่นอุทธรณ์คำวินิจฉัยดังกล่าว ตามอุทธรณ์คำสั่งหรือคำวินิจฉัยต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าเอกสารหมาย ล.5 และ ล.9คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าได้วินิจฉัยยืนตามคำวินิจฉัยของนายทะเบียนให้ยกอุทธรณ์ของผู้คัดค้านโดยให้เหตุผลว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 2 ไม่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของผู้คัดค้านจึงชอบที่จะรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของผู้ขอจดทะเบียนได้ตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าเอกสารหมาย ล.6 และ ล.10 และโจทก์เป็นผู้รับโอนเครื่องหมายการค้าของบริษัทยูเนียนคาร์ไบด์ไทยแลนด์ จำกัด หรือผู้คัดค้าน ตามหนังสือสัญญาโอนพร้อมคำแปลและคำร้องขอให้จดนามเจ้าของคนหลังลงในทะเบียนว่าเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าเอกสารหมาย จ.15 และ จ.16
พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า คำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474มาตรา 22 วรรคสี่(1) เป็นการวินิจฉัยข้อพิพาทของโจทก์และจำเลยที่ 2ในชั้นแรกเกี่ยวกับเรื่องเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 2 ที่ยื่นขอจดทะเบียนว่ามีลักษณะเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วหรือไม่ ซึ่งคำวินิจฉัยดังกล่าวโจทก์จะนำเรื่องเดียวกันนั้นมาฟ้องศาลอีกไม่ได้ตามบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้น แต่ในคดีนี้โจทก์อ้างในคำฟ้องว่า โจทก์ได้รับโอนเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนมาจากบุคคลอื่น โจทก์ได้ผลิตและจำหน่ายสินค้ารวมทั้งถ่านไฟฉายซึ่งเป็นสินค้าจำพวกที่ 8 โดยใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวจนเป็นที่รู้จักแพร่หลายแก่สาธารณชนทั้งในและต่างประเทศมานานกว่า 50 ปี โจทก์เป็นผู้มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดังกล่าวแต่ผู้เดียว จำเลยที่ 2 ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์โดยจงใจเลียนแบบเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทำให้สาธารณชนเกิดความสับสนและหลงเชื่อว่าสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าของจำเลยเป็นสินค้าของโจทก์จำเลยทั้งสองร่วมกันนำเครื่องหมายการค้าดังกล่าวซึ่งต่อมาได้รับการจดทะเบียนไปใช้กับสินค้าจำพวกที่ 8 คือถ่านไฟฉายแล้วนำออกจำหน่ายทำให้โจทก์เสียหายขาดรายได้จากการที่ประชาชนสับสนหลงผิดขอให้บังคับจำเลยทั้งสองเพิกถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่จำเลยที่ 2 ยื่นคำขอจดทะเบียนและชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ดังนี้ ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาและคำขอบังคับตามคำฟ้องของโจทก์เป็นเรื่องที่โจทก์อ้างว่า โจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดีกว่าจำเลยที่ 2 ผู้ที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว จึงขอให้ศาลสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 2 และเรียกค่าเสียหายจากการที่จำเลยทั้งสองเอาสินค้าของจำเลยไปลวงขายว่าเป็นสินค้าของโจทก์ ซึ่งเป็นการใช้สิทธิตามที่โจทก์ได้รับความคุ้มครองดังที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าพ.ศ.2474 มาตรา 41(1) และมาตรา 29 วรรคสอง อันเป็นบทกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่โจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิ ซึ่งเป็นคนละกรณีกับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่วินิจฉัยว่าเครื่องหมายการค้าที่จำเลยที่ 2 ยื่นขอจดทะเบียนไม่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของผู้ที่โอนเครื่องหมายการค้านั้นให้โจทก์ การฟ้องคดีของโจทก์หาใช่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตไม่โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
พิพากษายืน