คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1811/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 5 และที่ 8 และศาลอุทธรณ์พิพากษายืนจึงห้ามมิให้คู่ความฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220ที่โจทก์ฎีกาว่าฟ้องของโจทก์ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) เป็นฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายแต่อัยการสูงสุดรับรองให้โจทก์ฎีกาเฉพาะปัญหาข้อเท็จจริง แม้ศาลชั้นต้นจะรับฎีกาของโจทก์สำหรับจำเลยที่ 5 และที่ 8 ในปัญหาดังกล่าว ศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัย ส่วนที่โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงนั้น เมื่อคดีสำหรับจำเลยที่ 5 และที่ 8 เป็นอันยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แล้วว่าฟ้องของโจทก์ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5)และพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้ยกฟ้อง ศาลฎีกาจึงไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงดังกล่าวอีกต่อไป
โจทก์ได้บรรยายฟ้องให้เห็นถึงมูลคดีที่ต้องมาฟ้องเป็นคดีนี้ก็เพราะโจทก์ร่วมเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 และที่ 8 ในเรื่องผิดสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินต่อกัน เป็นเหตุให้โจทก์ร่วมต้องนำคดีมาฟ้องต่อศาลแพ่ง ซึ่งจำเลยทั้งแปดได้ร่วมกันกระทำการเพื่อมิให้โจทก์ร่วมได้รับชำระหนี้ในคดีดังกล่าวด้วยการร่วมกันนำสืบและแสดงสัญญาว่าจ้างตัวแทนระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 อันเป็นเท็จ ทั้งนี้เพื่อแกล้งให้จำเลยที่ 1 เป็นหนี้จำเลยที่ 2 เป็นเหตุให้ศาลแพ่งพิพากษาให้จำเลยที่ 1 แพ้คดีแก่จำเลยที่ 2 นอกจากนี้โจทก์ยังได้บรรยายฟ้องถึงวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุมาด้วยที่สำคัญจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จำเลยที่ 6 และที่ 7 มิได้อุทธรณ์ในปัญหาข้อนี้ รูปคดีเป็นที่เข้าใจได้ว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จำเลยที่ 6 และที่ 7 ต่างเข้าใจข้อหาทั้งหมดได้ดี กรณีต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) ฟ้องของโจทก์สำหรับจำเลยทั้งห้าคนดังกล่าวจึงชอบแล้ว
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมโดยยังมิได้พิพากษาในเนื้อหาแท้จริงอันเป็นสาระสำคัญในประเด็นแห่งคดี แม้คู่ความจะสืบพยานจนเสร็จสิ้นเป็นการเพียงพอที่ศาลฎีกาจะวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงไปเสียเองได้ก็ตามแต่ผลแห่งการวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์อาจนำไปสู่การจำกัดสิทธิการฎีกาของคู่ความได้เพื่อให้การดำเนินคดีเป็นไปตามขั้นตอน ศาลฎีกาเห็นสมควรให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาในเนื้อหาแห่งคดีเสียก่อน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 240(3) ประกอบด้วยมาตรา 247 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15

ย่อยาว

คดีทั้งสามสำนวน ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกันโดยเรียกโจทก์ทุกสำนวนว่า โจทก์ และเรียกจำเลยทั้งหกในสำนวนแรกว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 จำเลยในสำนวนที่สองว่า จำเลยที่ 7 จำเลยในสำนวนที่สามว่า จำเลยที่ 8

โจทก์ฟ้องทั้งสามสำนวนว่า เมื่อระหว่างวันที่ 31 มีนาคม 2529 เวลากลางวันถึงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2529 เวลากลางวัน ต่อเนื่องกันตลอดมาจำเลยทั้งแปดโดยเจตนาเพื่อมิให้นายเลิศศักดิ์ ภู่ชนะกิจ ผู้เสียหาย ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1และที่ 8 ซึ่งได้ใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 8 ต่อศาลแพ่ง ฐานผิดสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินตามโฉนดเลขที่ 47201, 47203 และ 74204ถึง 74214 รวม 13 แปลง และเรียกร้องค่าเสียหายจำนวนทุนทรัพย์ 70,110,005 บาท ตามคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 616/2529 ให้ได้รับชำระหนี้ดังกล่าวทั้งหมด และร่วมกระทำความผิดด้วยกันเป็นตัวการ โดยจำเลยทั้งแปดได้ร่วมกันทำสัญญาว่าจ้างตัวแทนระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 อันเป็นเท็จแกล้งให้จำเลยที่ 1 เป็นหนี้จำเลยที่ 2 จำนวน 50,000,000 บาท ตามสัญญาว่าจ้างตัวแทนดังกล่าวอันไม่เป็นความจริง แล้วให้จำเลยที่ 2 เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นจำเลยต่อศาลแพ่งในคดีหมายเลขดำที่ 7452/2529 ฐานผิดสัญญาว่าจ้างตัวแทน จำนวนทุนทรัพย์ 50,000,000 บาท โดยจำเลยทั้งแปดได้ร่วมกันนำสืบและแสดงสัญญาว่าจ้างตัวแทนซึ่งเป็นพยานหลักฐานอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดี และเป็นพยานหลักฐานในข้อสำคัญในคดีนั้น เป็นเหตุให้ศาลแพ่งพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชนะคดีจำเลยที่ 1 และออกหมายบังคับคดียึดที่ดินโฉนดเลขที่ 47201, 47203 และ 74204 ถึง 74214 รวม 13 แปลง ของจำเลยที่ 1 และที่ 8 ดังกล่าวข้างต้นเพื่อชำระหนี้ให้จำเลยที่ 2 อันเป็นการกระทำความผิดฐานร่วมกันนำสืบแสดงหลักฐานอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดี และร่วมกันโกงเจ้าหนี้ จำเลยที่ 1 เป็นบุคคลเดียวกับจำเลยที่ 2 ในคดีหมายเลขแดงที่ 9027/2533 ของศาลอาญาและจำเลยที่ 2 เป็นบุคคลเดียวกับจำเลยที่ 1 ในคดีเดียวกัน ซึ่งศาลอาญามีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2533 ให้จำคุกคนละ 3 ปี ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 180, 350 กับนับโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต่อจากโทษในคดีหมายเลขแดงที่ 9027/2533 ของศาลอาญาด้วย

จำเลยทั้งแปดให้การปฏิเสธ

ระหว่างพิจารณา นายเลิศศักดิ์ ภู่ชนะกิจ ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต

ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 4 ถึงแก่ความตาย ศาลชั้นต้นจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 4 ออกจากสารบบความ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จำเลยที่ 6 และที่ 7 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 180 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 จำคุกคนละ 3 เดือน ปรับคนละ 6,000 บาท จำเลยทั้งหมดไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน เห็นสมควรให้รอการลงโทษไว้คนละ 2 ปี ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 5 และที่ 8 คำขออื่นให้ยก

โจทก์และโจทก์ร่วมอุทธรณ์ โดยอัยการสูงสุดรับรองให้โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ส่วนโจทก์ร่วมศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จำเลยที่ 6 และที่ 7เสียด้วย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ในคดีที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ห้ามมิให้คู่ความฎีกา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220อันเป็นกรณีที่ต้องห้ามมิให้ฎีกาไม่ว่าจะเป็นปัญหาข้อเท็จจริงหรือปัญหาข้อกฎหมายเว้นแต่ผู้พิพากษาคนใดซึ่งพิจารณา หรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ หรืออัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 221 สำหรับจำเลยที่ 5 และที่ 8 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง และศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จึงห้ามมิให้คู่ความฎีกา ที่โจทก์ฎีกาว่า ฟ้องของโจทก์ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) แล้วเป็นฎีกาในปัญหาข้อกฎหมาย แต่อัยการสูงสุดรับรองให้โจทก์ฎีกาเฉพาะปัญหาข้อเท็จจริงจึงห้ามมิให้โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมาย ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาข้างต้น แม้ศาลชั้นต้นจะรับฎีกาของโจทก์สำหรับจำเลยที่ 5 และที่ 8 ในปัญหาดังกล่าว ศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัย ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า พยานหลักฐานโจทก์รับฟังได้ว่าจำเลยที่ 5 และที่ 8 ร่วมกับจำเลยอื่น ๆ กระทำความผิดตามฟ้องโจทก์ซึ่งเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงนั้น แม้อัยการสูงสุดจะรับรองให้โจทก์ฎีกาแต่เมื่อคดีสำหรับจำเลยที่ 5 และที่ 8 เป็นอันยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แล้วว่าฟ้องของโจทก์ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) จึงไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงดังกล่าวอีกต่อไป

สำหรับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จำเลยที่ 6 และที่ 7 นั้น ไม่ห้ามโจทก์และโจทก์ร่วมฎีกาทั้งในปัญหาข้อกฎหมายและปัญหาข้อเท็จจริง มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในชั้นนี้ว่า ฟ้องของโจทก์ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) หรือไม่ ซึ่งศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า การบรรยายฟ้องของโจทก์ในความผิดฐานโกงเจ้าหนี้นั้นยังไม่พอฟังข้อเท็จจริงและรายละเอียดว่า ผู้เสียหายเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 และที่ 8 อย่างแท้จริง จึงไม่แน่นอนว่าผู้เสียหายกับจำเลยที่ 1และที่ 8 จะมีหนี้ต่อกันหรือไม่ และเป็นหนี้อะไรจำเลยอื่นอีก 6 คน มีส่วนเป็นตัวการร่วมด้วยอย่างไร ส่วนที่อ้างว่า จำเลยทั้งแปดร่วมกันนำสืบและแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จนั้น ก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงและรายละเอียดว่า จำเลยทั้งแปดร่วมกันเป็นตัวการกระทำการอย่างใด ๆ ในวันเวลาและสถานที่ใด จึงเป็นฟ้องที่ไม่ได้บรรยายถึงการกระทำที่อ้างว่าจำเลยทั้งแปดได้ร่วมกันกระทำความผิดพอสมควร เท่าที่จะให้จำเลยทั้งแปดเข้าใจข้อหาได้ดี ดังนั้น ฟ้องของโจทก์จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) โดยที่ทั้งโจทก์และโจทก์ร่วมต่างยื่นฎีกา จึงเห็นสมควรแยกวินิจฉัยดังต่อไปนี้

ในส่วนที่เกี่ยวกับโจทก์นั้น เป็นที่เห็นได้ว่าโจทก์ได้บรรยายฟ้องให้เห็นถึงมูลคดีที่ต้องมาฟ้องเป็นคดีนี้ก็เพราะเหตุอันเนื่องมาจากโจทก์ร่วมเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 และที่ 8 ในเรื่องผิดสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินต่อกันเป็นเหตุให้โจทก์ร่วมต้องนำคดีมาฟ้องต่อศาลแพ่ง ซึ่งจำเลยทั้งแปดได้ร่วมกันกระทำการเพื่อมิให้โจทก์ร่วมได้รับชำระหนี้ในคดีดังกล่าว ด้วยการร่วมกันนำสืบและแสดงสัญญาว่าจ้างตัวแทนระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 อันเป็นเท็จ ทั้งนี้เพื่อแกล้งให้จำเลยที่ 1 เป็นหนี้จำเลยที่ 2 อันเป็นเหตุให้ศาลแพ่งพิพากษาให้จำเลยที่ 1 แพ้คดีแก่จำเลยที่ 2 นอกจากนี้โจทก์ยังได้บรรยายฟ้องถึงวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุมาด้วยเช่นกัน แม้โจทก์จะมิได้บรรยายถึงรายละเอียดบางอย่างดังที่ศาลอุทธรณ์หยิบยกขึ้นมาวินิจฉัย แต่ก็เป็นที่เห็นได้ว่าเป็นเพียงรายละเอียดที่โจทก์จะนำสืบในชั้นพิจารณาได้ที่สำคัญจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และจำเลยที่ 6 ที่ 7 มิได้อุทธรณ์ในปัญหาข้อนี้ รูปคดีเป็นที่เข้าใจได้ว่า จำเลยทั้งห้าคนดังกล่าวต่างเข้าใจข้อหาทั้งหมดได้ดี กรณีต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) ฟ้องของโจทก์สำหรับจำเลยทั้งห้าคนดังกล่าวจึงชอบแล้ว แต่โดยที่ศาลอุทธรณ์ยังมิได้พิพากษาในเนื้อหาแท้จริงอันเป็นสาระสำคัญในประเด็นแห่งคดี แม้คู่ความจะสืบพยานจนเสร็จสิ้นเป็นการเพียงพอที่ศาลฎีกาจะวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงไปเสียเองได้ก็ตาม แต่เห็นว่า ปัญหาดังกล่าวควรย้อนสำนวนให้ศาลอุทธรณ์เป็นผู้วินิจฉัย เพราะผลแห่งการวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์อาจนำไปสู่การจำกัดสิทธิการฎีกาของคู่ความได้ ฉะนั้นเพื่อให้การดำเนินคดีเป็นไปตามขั้นตอน เห็นสมควรให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาในเนื้อหาแห่งคดีเสียก่อน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 240(3) ประกอบด้วยมาตรา 247 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15

สำหรับโจทก์ร่วมนั้น การที่โจทก์ร่วมฎีกาเพียงว่าไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ โจทก์ร่วมเป็นผู้เสียหาย การบรรยายฟ้องโจทก์และโจทก์ร่วมได้บรรยายฟ้องไว้ครบถ้วนแล้วเช่นนี้ เห็นว่า กรณีไม่เป็นที่ชัดแจ้งว่าได้ระบุข้อเท็จจริงโดยย่อหรือข้อกฎหมายที่ยกขึ้นอ้างอิงเป็นลำดับในชั้นฎีกาโต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่าไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบด้วยเหตุใด จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบ แม้ศาลชั้นต้นจะรับฎีกา ศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัยให้

พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาสำหรับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จำเลยที่ 6 และที่ 7 ใหม่ตามรูปคดี

Share