คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5682/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การกระทำความผิดฐานเป็นอั้งยี่ ตาม ป.อ. มาตรา 209 เป็นความผิดสำเร็จทันทีเมื่อผู้นั้นได้เข้าเป็นสมาชิกของคณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีดำเนินการและมีความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบ ทั้งยังเป็นความผิดต่อเนื่องติดต่อกันตลอดมา ตราบใดที่ผู้กระทำความผิดฐานเป็นอั้งยี่ยังคงเป็นสมาชิกของคณะบุคคลดังกล่าว เมื่อคณะบุคคลที่จำเลยทั้งเจ็ดเข้าร่วมเป็นสมาชิกตามที่โจทก์บรรยายฟ้องในคดีนี้ กับคณะบุคคลที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 5 เข้าร่วมเป็นสมาชิกตามที่โจทก์บรรยายฟ้องในคดีก่อนเป็นคณะบุคคลเดียวกัน และช่วงระยะเวลาที่จำเลยทั้งเจ็ดสมัครเป็นสมาชิกของคณะบุคคลดังกล่าวอยู่ในช่วงระยะเวลาเดียวกันกับระยะเวลาที่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 สมัครเป็นสมาชิกของคณะบุคคลในคดีดังกล่าว ความผิดฐานเป็นอั้งยี่ที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 5 ในคดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำหรือเป็นฟ้องซ้อนกับคดีดังกล่าว หากคดีดังกล่าวถึงที่สุด สิทธินำคดีอาญาในความผิดฐานเป็นอั้งยี่มาฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 5 เป็นอันระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4) หรือหากคดีดังกล่าวอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 9 หรือศาลฎีกา ห้ามมิให้โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 5 ในความผิดเป็นอั้งยี่ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1) ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15
ความผิดฐานเป็นซ่องโจรตาม ป.อ. มาตรา 210 เป็นความผิดสำเร็จเมื่อมีการสมคบกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป เพื่อกระทำความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่บทบัญญัติไว้ในภาค 2 ของประมวลกฎหมายอาญา ความผิดฐานเป็นซ่องโจรจึงเป็นขั้นตอนการกระทำความผิดที่ยกระดับจากความผิดฐานเป็นอั้งยี่ โดยมีการกระทำถึงขั้นคบคิดหรือตกลงกันหรือประชุมหรือตกลงกันเพื่อกระทำความผิด ส่วนความผิดฐานร่วมกันก่อการร้ายตาม ป.อ. มาตรา 135/2 (2) จะเป็นความผิดต่อเมื่อผู้กระทำได้สะสมกำลังพลหรืออาวุธ จัดหาหรือรวบรวมทรัพย์สิน ให้หรือรับการฝึกการก่อการร้าย หรือการกระทำอื่นใดตามที่บทบัญญัติไว้ในมาตรา 135/2 (2) อันเป็นการยกระดับจากความผิดฐานเป็นอั้งยี่เช่นกัน แม้ความผิดฐานเป็นซ่องโจรและความผิดฐานร่วมกันก่อการร้ายอาจเป็นความผิดกรรมเดียวกันได้หากเป็นการสมคบกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป เพื่อก่อการร้ายซึ่งเป็นความผิดตามที่บัญญัติไว้ในภาค 2 ของประมวลกฎหมายอาญา แต่วันเวลาและสถานที่เกิดเหตุซึ่งโจทก์บรรยายฟ้องเกี่ยวกับการกระทำความผิดฐานเป็นซ่องโจรและฐานร่วมกันก่อการร้ายในคดีนี้ต่างจากวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุที่โจทก์บรรยายฟ้องเกี่ยวกับการกระทำความผิดฐานเป็นซ่องโจรและฐานร่วมกันก่อการร้ายในคดีก่อน และเจตนาในการกระทำความผิดคดีนี้ต่างกับเจตนาในการกระทำความผิดที่โจทก์ฟ้องในคดีก่อน ฟ้องโจทก์ในความผิดฐานเป็นซ่องโจรและฐานร่วมกันก่อการร้ายคดีนี้เป็นการกระทำความผิดต่างกรรมกันกับความผิดฐานเป็นซ่องโจรและฐานร่วมกันก่อการร้ายในคดีก่อน จึงไม่เป็นฟ้องซ้อนหรือฟ้องซ้ำกับฟ้องในความผิดฐานเป็นซ่องโจรและฐานร่วมกันก่อการร้ายในคดีดังกล่าว
เมื่อการกระทำความผิดฐานเป็นซ่องโจรในคดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องและนำสืบว่า จำเลยที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 5 และที่ 7 สมคบกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป เพื่อกระทำการก่อการร้าย และลงมือกระทำความผิดฐานก่อการร้ายโดยร่วมกันมีวัตถุระเบิด ดังนี้ การกระทำความผิดฐานเป็นซ่องโจรและความผิดฐานร่วมกันก่อการร้ายในคดีนี้จึงเป็นกระทำความผิดโดยมีเจตนาเดียวกันในการกระทำความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวอันถือเป็นความผิดกรรมเดียวตาม ป.อ. มาตรา 90 ส่วนการกระทำความผิดฐานเป็นอั้งยี่ และฐานเป็นซ่องโจรเป็นการกระทำความผิดที่ยกระดับถึงขั้นมีการสมคบกันเพื่อกระทำความผิดไม่ว่าโดยร่วมกันคบคิดหรือวางแผนเพื่อกระทำความผิดตามที่บัญญัติไว้ในภาค 2 ของประมวลกฎหมายอาญา ดังนั้น การกระทำความผิดฐานเป็นอั้งยี่ และฐานเป็นซ่องโจรจึงเป็นการกระทำความผิดที่ผู้กระทำความผิดมีเจตนาต่างกัน อันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งเจ็ดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33 83, 91, 135/1, 135/2, 209 และ 210 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 4, 7, 38, 55, 72, 74 และ 78 พระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ.2498 มาตรา 4, 6, 17, 22 และ 25 ริบของกลาง
จำเลยทั้งเจ็ดให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 2 หลบหนีจากการควบคุมของเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีชั่วคราวสำหรับจำเลยที่ 2
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 7 มีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 72 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 7 มาตรา 78 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 55 พระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ.2498 มาตรา 23 ประกอบมาตรา 6 วรรคหนึ่ง มาตรา 25 ประกอบมาตรา 17 มาตรา 22 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จำเลยที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 5 และที่ 7 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 135/1 (1) (2) (3) มาตรา 135/2 (2) มาตรา 209 วรรคแรก และมาตรา 210 วรรคท้าย ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 7 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุกคนละ 5 ปี ฐานร่วมกันมีวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ จำคุกคนละ 20 ปี ฐานร่วมกันทำ มี ใช้ นำเข้า นำออก หรือค้าซึ่งเครื่องวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจำคุกคนละ 2 ปี ฐานร่วมกันดักรับไว้ ใช้ประโยชน์ หรือเปิดเผยโดยมิชอบด้วยกฎหมายซึ่งข่าววิทยุคมนาคมที่มิได้มุ่งหมายเพื่อประโยชน์สาธารณะหรือที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศชาติหรือประชาชน จำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 5 และที่ 7 คนละ 1 ปี ฐานร่วมกันเป็นอั้งยี่ จำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 5 และที่ 7 คนละ 7 ปี ฐานร่วมกันตระเตรียมการเพื่อก่อการร้าย จำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 5 และที่ 7 คนละ 10 ปี ความผิดฐานร่วมกันก่อการร้ายกับฐานร่วมกันเป็นช่องโจรเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันก่อการร้าย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 135/1 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีและสภาพความผิดแล้ว การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 5 และที่ 7 อุกอาจร้ายแรง เป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศชาติ และส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความสงบเรียบร้อยของสังคม จึงเห็นสมควรลงโทษสถานหนัก ให้ประหารชีวิตจำเลยที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 5 และที่ 7 รวมจำคุกจำเลยที่ 6 มีกำหนด 27 ปี ส่วนจำเลยที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 5 และที่ 7 เมื่อลงโทษประหารชีวิตแล้ว จึงไม่อาจนำโทษจำคุกในความผิดกระทงอื่นมารวมได้อีก คงให้ประหารชีวิตจำเลยที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 5 และที่ 7 สถานเดียว ริบของกลาง สำหรับวิทยุคมนาคมริบไว้ใช้ในราชการกรมไปรษณีย์โทรเลข ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 7 ในข้อหาอื่นนอกจากนี้
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 7 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย จำเลยที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 5 และที่ 7 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 135/2 (2) ประกอบมาตรา 83 ความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายกับความผิดฐานร่วมกันเป็นอั้งยี่และซ่องโจรเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 135/2 (2) ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 2 ปี รวมโทษทุกกระทงความผิดแล้ว เป็นจำคุกคนละ 30 ปี ลดโทษให้คนละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 20 ปี ข้อหาอื่นให้ยก ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 6 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ จำเลยที่ 1 ที่ 3 ถึง ที่ 5 และที่ 7 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 7 มิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2550 เวลา 6.30 นาฬิกา เกิดเหตุระเบิดขึ้นที่สวนยางพาราของนายสุข ซึ่งตั้งอยู่ที่บ้านเขานาคา หมู่ที่ 5 ตำบลกะลุวอ อำเภอเมืองนราธิวาส จังหวัดนราธิวาส นายสุขจึงไปแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรตันหยงพันตำรวจตรีเฉลิมชัย จึงสั่งการให้สิบตำรวจเอกสมคิด ดาบตำรวจแชน กับพวกไปตรวจสอบพร้อมเจ้าพนักงานชุดเก็บกู้และทำลายวัตถุระเบิด กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนราธิวาส และเจ้าหน้าที่วิทยาการจังหวัดนราธิวาส เมื่อไปถึงที่เกิดเหตุสิบตำรวจเอกสมคิดกับพวกพบหลุมลึกประมาณ 5 เซนติเมตร กว้างประมาณ 10 เซนติเมตร และพบรอยเลือดเป็นทางยาวห่างจากหลุมระเบิดประมาณ 30 เมตร หายเข้าไปในสวนยางพาราหลังโรงเรียนอิสลามบูรพา พันตำรวจตรีเฉลิมชัยจึงเรียกประชุมเจ้าพนักงานตำรวจเพื่อตรวจค้นโรงเรียนดังกล่าว โดยได้รับกำลังสนับสนุนจากกองกำกับการสืบสวนตำรวจภูธรจังหวัดนราธิวาส เจ้าหน้าที่ทหารและฝ่ายปกครองรวมทั้งหมดจำนวนประมาณกว่า 100 นาย จากนั้นเจ้าพนักงานได้เข้าตรวจค้นโรงเรียนอิสลามบูรพา เมื่อเวลาประมาณ 15 นาฬิกา ของวันเกิดเหตุ ขณะเข้าตรวจค้นเจ้าพนักงานพบว่าบริเวณที่บ้านพักภายในโรงเรียนดังกล่าวมีชายกลุ่มหนึ่งวิ่งหนีไป พันตำรวจตรีเฉลิมชัยจึงสั่งการให้เจ้าพนักงานไปตรวจค้นที่บ้านพักดังกล่าวซึ่งมีอยู่จำนวน 4 หลัง แต่ละหลังห่างกันประมาณ 2 ถึง 3 เมตร จากการตรวจค้นบ้านหลังแรกคือบ้านหมายเลข 6 ในแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุ ไม่พบผู้ใดและไม่พบสิ่งผิดกฎหมายและขณะเข้าตรวจค้นสิบตำรวจเอกสมคิดเห็นชายกลุ่มหนึ่งวิ่งหนีออกจากบ้านหลังที่ 3 ซึ่งเป็นบ้านหมายเลข 8 เข้าไปในบ้านหลังที่ 2 ซึ่งเป็นบ้านหมายเลข 7 ในแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุดังกล่าวด้วย และจากการตรวจค้นบ้านหลังที่ 2 พบจำเลยที่ 6 อยู่ที่ห้องภายในบ้านดังกล่าว จึงทำการตรวจค้นตัวแต่ไม่พบสิ่งของผิดกฎหมาย แต่พบวิทยุสื่อสารอยู่ภายในบ้านดังกล่าว และพบจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 หลบซ่อนอยู่อีกห้องหนึ่ง ภายในบ้านหลังที่ 2 จึงทำการตรวจค้นตัวจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 แต่ไม่พบสิ่งของผิดกฎหมาย แล้วควบคุมตัวจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และที่ 6 ไว้ จากการตรวจค้นภายในบ้านหลังที่ 2 เจ้าพนักงานพบอาวุธปืนพกขนาด 9 มม. และขนาด .38 กับปืนลูกซองยาวและมีดรวมทั้งสิ่งของอื่นอีกหลายรายการรวมจำนวน 13 รายการ จึงยึดไว้เป็นของกลาง ตามบัญชีของกลางคดีอาญาและบันทึกการตรวจสถานที่เกิดเหตุลงวันที่ 2 กรกฎาคม 2550 และขณะเข้าตรวจค้นบ้านหลังที่ 3 ซึ่งเป็นบ้านหมายเลข 8 ในแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุ เจ้าพนักงานตำรวจเห็นนายตอริก กระโดดออกจากหน้าต่าง แต่เจ้าพนักงานตำรวจสามารถจับกุมตัวไว้ได้ และเมื่อร้อยตำรวจโทอนุรักษ์ กับพวกปีนหน้าต่างเข้าไปในบ้านหลังที่ 3 จำเลยที่ 4 และที่ 5 หลบอยู่ใต้ผ้านวมที่ราวแขวนผ้า จึงควบคุมตัวไว้ และตรวจค้นภายในบ้านหลังที่ 3 พบซิมการ์ดโทรศัพท์เคลื่อนที่ ปุ๋ยแอมโมเนียมไนเตรท ดินระเบิด และชิ้นส่วนประกอบวัตถุระเบิดสีโป๊รถยนต์และน้ำมันเบนซินบรรจุในแกลลอน ตามบัญชีของกลางคดีอาญา และบันทึกการตรวจสถานที่เกิดเหตุ และจากการตรวจค้นบ้านหลังที่ 4 ซึ่งเป็นบ้านพักของนายมะเปาซี ครูสอนศาสนาอิสลามหรืออุสตาซของโรงเรียนอิสลาม เจ้าพนักงานพบฮาร์ดดิสก์คอมพิวเตอร์ แผ่นดิสก์ กับสว่านเจาะผิวถนนพร้อมมือบิด เพลาของเครื่องตัดหญ้าที่ใต้ถุนบ้าน จึงยึดไว้เป็นของกลาง ตามบัญชีของกลาง และบันทึกการตรวจสถานที่เกิดเหตุ ขณะตรวจค้นนายมะเปาซีไม่ได้อยู่ที่บ้านนั้น หลังจากนั้นเจ้าพนักงานได้เชิญตัวจำเลยที่ 7 ซึ่งเป็นครูสอนศาสนาอิสลามโรงเรียนอิสลามบูรพามาสอบถามและจับกุมตัวไว้ ชั้นสอบสวนพนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาแก่จำเลยทั้งเจ็ดและนายตอริกว่า ร่วมกันเป็นอั้งยี่ ซ่องโจร และร่วมกันก่อการร้าย กับร่วมกันทำ มี ใช้วัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ ร่วมกันมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียน และร่วมกันทำ มี ใช้ นำเข้านำออก หรือค้าซึ่งเครื่องวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และร่วมกันดักรับไว้ ใช้ประโยชน์ หรือเปิดเผยโดยมิชอบด้วยกฎหมายซึ่งข่าววิทยุคมนาคมที่มิได้มุ่งหมายเพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศชาติหรือประชาชน ชั้นสอบสวนนายตอริกและจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพในข้อหาความผิดฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 72 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 7 จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพในข้อหาความผิดตามพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ.2498 มาตรา 23 ประกอบมาตรา 6 วรรคหนึ่ง มาตรา 25 ประกอบมาตรา 17 ส่วนข้ออื่นให้การปฏิเสธ จำเลยที่ 3 ถึงที่ 7 ให้การปฏิเสธทุกข้อหา ต่อมาเจ้าพนักงานได้เก็บตัวอย่างดีเอ็นเอจากจำเลยทั้งเจ็ดและจากสิ่งของเครื่องใช้ภายในบ้านที่เกิดเหตุรวมทั้งรถยนต์ของจำเลยที่ 7 และส่งอาวุธปืน วัตถุระเบิด เครื่องวิทยุคมนาคม ซิมการ์ดโทรศัพท์เคลื่อนที่และของกลางตัวอย่างดีเอ็นเอของจำเลยทั้งเจ็ดและเสื้อผ้าของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 แยกส่งไปตรวจพิสูจน์และได้รับผลการตรวจพิสูจน์ ตามรายงานผลการพิสูจน์ลงวันที่ 2 สิงหาคม 2552 และรายงานผลการตรวจพิสูจน์พันธุกรรมลงวันที่ 27 กรกฎาคม 2550
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 5 และที่ 7 ข้อแรกว่า ฟ้องโจทก์ในความผิดฐานเป็นอั้งยี่ ความผิดฐานเป็นซ่องโจร และความผิดฐานร่วมกันก่อการร้ายคดีนี้เป็นฟ้องซ้ำหรือฟ้องซ้อนกับฟ้องในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 465/2553, 2027/2553, 856/2554 และคดีหมายเลขดำที่ 373/2555 ของศาลอุทธรณ์ภาค 9 หรือไม่ ในปัญหาข้อนี้โจทก์ฎีกาด้วยว่าการกระทำความผิดฐานอั้งยี่ ความผิดฐานซ่องโจร และความผิดฐานร่วมกันก่อการร้ายในคดีนี้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209 มาตรา 210 และมาตรา 135/2 (2) ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน จึงเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาตามฎีกาของโจทก์ดังกล่าวรวมกันไปกับปัญหาเรื่องฟ้องซ้ำหรือฟ้องซ้อนตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 5 และที่ 7 สำหรับปัญหาที่จำเลยที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 5 และที่ 7 ฎีกาว่า ฟ้องโจทก์ในความผิดฐานร่วมกันก่อการร้าย ความผิดฐานเป็นอั้งยี่และความผิดฐานเป็นซ่องโจรคดีนี้เป็นฟ้องซ้ำหรือฟ้องซ้อนกับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 465/2553, 2027/2553, 856/2554 และคดีหมายเลขดำที่ 373/2555 ของศาลอุทธรณ์ภาค 9 นั้น จำเลยที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 5 และที่ 7 ไม่ได้อ้างส่งสำเนาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 ในคดีดังกล่าว คงอ้างส่งเพียงสำเนาคำพิพากษาศาลชั้นต้น อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาสำเนาคำพิพากษาศาลชั้นต้น แล้วเห็นว่า ตามสำเนาคำพิพากษา ซึ่งจำเลยที่ 1 และที่ 3 ถูกฟ้องในข้อหาความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย เป็นอั้งยี่ และเป็นซ่องโจรนั้น โจทก์บรรยายฟ้องและนำสืบว่า เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2548 ถึงวันที่ 2 พฤศจิกายน 2548 เวลากลางคืนหลังเที่ยงต่อเนื่องกัน จำเลยที่ 1 และที่ 3 กับพวกรวมจำนวน 14 คน ร่วมกันกระทำความผิดฐานเป็นอั้งยี่โดยเข้าเป็นสมาชิกของคณะบุคคลชื่อ ขบวนการกู้ชาติรัฐปัตตานีหรือขบวนการบีอาร์เอ็น และร่วมกันกระทำความผิดฐานเป็นซ่องโจร และวันที่ 2 พฤศจิกายน 2548 จำเลยที่ 1 และที่ 3 กับพวกรวมจำนวน 14 คน ร่วมกันกระทำความผิดฐานก่อการร้าย ส่วนสำเนาคำพิพากษา ซึ่งจำเลยที่ 1 และที่ 4 ถูกฟ้องในข้อหาความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายเป็นอั้งยี่ และเป็นซ่องโจรนั้น โจทก์บรรยายฟ้องและนำสืบว่า เมื่อประมาณปี 2547 ถึงวันที่ 30 พฤษภาคม 2548 จำเลยที่ 1 และที่ 4 กับพวกที่หลบหนีไปร่วมกันกระทำความผิดฐานเป็นอั้งยี่โดยสมัครเข้าเป็นสมาชิกของคณะบุคคลชื่อ ขบวนการกู้ชาติรัฐปัตตานีหรือขบวนการบีอาร์เอ็น ร่วมกันเป็นซ่องโจร และร่วมกันกระทำความผิดฐานเป็นก่อการร้าย ตามสำเนาคำพิพากษา ซึ่งจำเลยที่ 5 ถูกฟ้องในความผิดฐานก่อการร้ายเป็นอั้งยี่ และเป็นซ่องโจรนั้น โจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อปี 2547 ถึงวันที่ 22 มิถุนายน 2548 จำเลยที่ 5 กับพวกที่หลบหนีไปร่วมกันกระทำความผิดฐานเป็นอั้งยี่โดยเข้าเป็นสมาชิกของคณะบุคคลชื่อ ขบวนการกู้ชาติรัฐปัตตานีหรือขบวนการบีอาร์เอ็น และร่วมกันกระทำความผิดฐานเป็นซ่องโจร และระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน 2548 ถึงวันที่ 22 มิถุนายน 2548 จำเลยที่ 5 กับพวกที่หลบหนีไปร่วมกันกระทำความผิดฐานก่อการร้าย ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องว่าเมื่อประมาณต้นปี 2547 ถึงวันที่ 2 กรกฎาคม 2550 จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันกระทำความผิดฐานเป็นอั้งยี่โดยสมัครเข้าเป็นสมาชิกของคณะบุคคลชื่อ ขบวนการกู้ชาติรัฐปัตตานีหรือขบวนการบีอาร์เอ็น และเป็นซ่องโจรและวันที่ 2 กรกฎาคม 2550 จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันกระทำความผิดฐานก่อการร้ายดังนี้ เมื่อการกระทำความผิดฐานเป็นอั้งยี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209 เป็นความผิดสำเร็จทันทีเมื่อผู้นั้นได้เข้าเป็นสมาชิกของคณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีดำเนินการและมีความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบ ทั้งยังเป็นความผิดต่อเนื่องติดต่อกันตลอดมาตราบใดที่ผู้กระทำความผิดฐานนี้ยังคงเป็นสมาชิกของคณะบุคคลดังกล่าว ความผิดฐานนี้จึงไม่อาจเป็นความผิดอีกกรรมหนึ่งได้ หากผู้กระทำความผิดฐานนี้สมัครเข้าเป็นสมาชิกของคณะบุคคลที่ปกปิดวิธีดำเนินการไม่ได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกของคณะบุคคลอื่นใดที่ปกปิดวิธีดำเนินการและมีความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบอีก เมื่อคณะบุคคลที่โจทก์บรรยายในฟ้องคดีนี้ว่าจำเลยทั้งเจ็ดสมัครเข้าเป็นสมาชิกกับคณะบุคคลที่โจทก์บรรยายในฟ้องตามสำเนาคำพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 5 สมัครเข้าเป็นสมาชิกเป็นคณะบุคคลเดียวกันคือขบวนการกู้ชาติรัฐปัตตานีหรือขบวนการบีอาร์เอ็น และระยะเวลาที่จำเลยทั้งเจ็ดกระทำความผิดฐานเป็นอั้งยี่ในคดีนี้โดยสมัครเข้าสมาชิกของคณะบุคคลดังกล่าวซึ่งอยู่ระหว่างต้นปี 2547 ถึงวันที่ 2 กรกฎาคม 2550 อยู่ในช่วงระยะเดียวกับที่โจทก์บรรยายการกระทำผิดฐานเป็นอั้งยี่ของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 5 คดีนี้ในคดีตามสำเนาคำพิพากษาศาลชั้นต้นดังกล่าวไว้ข้างต้น ความผิดฐานเป็นอั้งยี่ที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 5 ในคดีนี้จึงย่อมเป็นฟ้องซ้ำหรือไม่ก็ต้องเป็นฟ้องซ้อนกับฟ้องในคดีตามสำเนาคำพิพากษา หากในคดีตามคำพิพากษา ศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดหรืออยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาแล้วแต่กรณี สิทธินำคดีอาญาในความผิดฐานเป็นอั้งยี่มาฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 5 ย่อมระงับไปเพราะศาลได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดที่ได้ฟ้อง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (4) หรือเป็นฟ้องซ้อนซึ่งห้ามมิให้โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 5 ในความผิดเป็นอั้งยี่อีก ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1) ฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 5 ข้อนี้ฟังขึ้น ส่วนจำเลยที่ 7 นั้นไม่ปรากฏจากสำเนาคำพิพากษาว่าถูกฟ้องในข้อหาความผิดฐานเป็นอั้งยี่ร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 5 ด้วยแต่อย่างใด ดังนั้น สำหรับจำเลยที่ 7 ความผิดฐานเป็นอั้งยี่ที่โจทก์ฟ้องในคดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำหรือฟ้องซ้อนกับคดีตามสำเนาคำพิพากษาดังกล่าวด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 7 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 5 และที่ 7 ประการต่อมาจึงมีว่าความผิดฐานเป็นซ่องโจรและความผิดฐานร่วมกันก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 210 และ 135/2 (2) ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาในคดีนี้เป็นฟ้องซ้ำหรือฟ้องซ้อนกับฟ้องในความผิดฐานเป็นซ่องโจรกับความผิดฐานร่วมกันก่อการร้ายในคดีตามสำเนาคำพิพากษาหรือไม่ เห็นว่า ความผิดฐานเป็นซ่องโจรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 210 เป็นความผิดสำเร็จเมื่อมีการสมคบกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่บทบัญญัติไว้ในภาค 2 ของประมวลกฎหมายอาญา ความผิดฐานเป็นซ่องโจรจึงเป็นขั้นตอนการกระทำความผิดที่ยกระดับจากความผิดฐานเป็นอั้งยี่โดยมีการกระทำถึงขั้นคบคิดหรือตกลงกันหรือประชุมหารือกันเพื่อจะกระทำความผิด ส่วนความผิดฐานร่วมกันก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 135/2 (2) จะเป็นความผิดต่อเมื่อผู้กระทำได้สะสมกำลังพลหรืออาวุธ จัดหาหรือรวบรวมทรัพย์สิน ให้หรือรับการฝึกการก่อการร้าย ตระเตรียมการอื่นใดหรือสมคมกัน เพื่อก่อการร้าย หรือกระทำความผิดใด ๆ อันเป็นส่วนของแผนการเพื่อก่อการร้าย หรือยุยงประชาชนให้เข้ามีส่วนร่วมในการก่อการร้าย หรือรู้ว่ามีผู้จะก่อการร้ายแล้วกระทำการใดอันเป็นการช่วยปกปิดไว้ อันเป็นการยกระดับจากความผิดฐานเป็นอั้งยี่เช่นกัน โดยมีการลงมือกระทำความผิดอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่บทบัญญัติไว้ในมาตรา 135/2(2) แม้ความผิดฐานเป็นซ่องโจรและความผิดฐานร่วมกันก่อการร้ายตามมาตรา 210 และ 135/2 (2) อาจเป็นความผิดกรรมเดียวกันได้หากเป็นการสมคบกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปเพื่อก่อการร้ายซึ่งเป็นความผิดตามที่บัญญัติไว้ในภาค 2 ของประมวลกฎหมายอาญาดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยในคดีนี้ แต่หากการกระทำความผิดฐานเป็นซ่องโจรและฐานร่วมกันก่อการร้ายในคดีนี้เป็นความผิดต่างกรรมกันกับการกระทำความผิดฐานเป็นซ่องโจรและฐานร่วมกันก่อการร้ายในคดีก่อน ศาลก็สามารถลงโทษผู้กระทำความผิดฐานดังกล่าวในคดีนี้ได้ เมื่อวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุซึ่งโจทก์บรรยายฟ้องเกี่ยวกับการกระทำความผิดฐานเป็นซ่องโจรและฐานร่วมกันก่อการร้ายของจำเลยที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 5 และที่ 7 ในคดีนี้ต่างจากวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุที่โจทก์บรรยายฟ้องเกี่ยวกับการกระทำความผิดฐานเป็นซ่องโจรและฐานร่วมกันก่อการร้ายของจำเลยที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 5 และที่ 7 ในคดีตามสำเนาคำพิพากษา การกระทำความผิดฐานเป็นซ่องโจรและฐานร่วมกันก่อการร้ายในคดีนี้เป็นการกระทำความผิดที่จำเลยที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 5 และที่ 7 มีเจตนาในการกระทำความผิดต่างกับเจตนาในการกระทำความผิดที่โจทก์ฟ้องในคดีก่อน การกระทำความผิดในคดีนี้จึงเป็นการกระทำความผิดต่างกรรมกันกับความผิดฐานเป็นซ่องโจรและความผิดฐานก่อการร้ายที่โจทก์ฟ้องเป็นคดีก่อน ฟ้องโจทก์ในความผิดฐานเป็นซ่องโจรและฐานร่วมกันก่อการร้ายคดีนี้เป็นการกระทำความผิดต่างกรรมกันกับความผิดฐานเป็นซ่องโจรและความผิดฐานก่อการร้ายจึงไม่เป็นฟ้องซ้อนหรือฟ้องซ้ำกับฟ้องในความผิดฐานเป็นซ่องโจรและความผิดฐานร่วมกันก่อการร้ายในคดีตามสำเนาคำพิพากษา ฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 5 และที่ 7 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนข้อที่โจทก์ฎีกาว่า ความผิดฐานเป็นอั้งยี่และความผิดฐานเป็นซ่องโจรกับความผิดฐานร่วมกันก่อการร้ายในคดีนี้เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันนั้น เมื่อวินิจฉัยไว้แล้วว่าความผิดฐานเป็นซ่องโจรกับความผิดฐานร่วมกันก่อการร้ายตามมาตรา 210 และ มาตรา 135/2 (2) อาจเป็นความผิดกรรมเดียวกันได้หากเป็นการสมคบกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปเพื่อก่อการร้ายซึ่งเป็นความผิดตามที่บัญญัติไว้ในภาค 2 ของประมวลกฎหมายอาญา หรือได้มีการลงมือกระทำผิดฐานก่อการร้ายตามที่สมคบคิดกันอันเข้าข่ายเป็นการกระทำความผิดดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 135/2 (2) ด้วย เช่น ลงมือกระทำความผิดตามที่สมคบคิดกันก่อการร้ายโดยการสะสมกำลังพลหรืออาวุธ หรือจัดหาหรือรวบรวมทรัพย์สิน เป็นต้น ซึ่งจะทำให้ความผิดฐานสมคบกันเป็นซ่องโจรเป็นการกระทำความผิดส่วนหนึ่งของความผิดฐานร่วมกันก่อการร้าย เมื่อการกระทำความผิดฐานเป็นซ่องโจรในคดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องและนำสืบว่าจำเลยที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 5 และที่ 7 สมคบกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปเพื่อกระทำการก่อการร้ายและลงมือกระทำความผิดฐานก่อการร้ายโดยร่วมกันมีวัตถุระเบิดที่ทำอันตรายต่อชีวิต ร่างกายและทรัพย์สิน ดังนั้น การกระทำความผิดฐานเป็นซ่องโจรและความผิดฐานร่วมกันก่อการร้ายในคดีนี้จึงเป็นการกระทำความผิดโดยจำเลยที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 5 และที่ 7 มีเจตนาเดียวกันในการกระทำความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวอันถือเป็นความผิดกรรมเดียวกัน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนปัญหาว่าการกระทำความผิดฐานเป็นอั้งยี่กับความผิดฐานเป็นซ่องโจรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209 และมาตรา 210 จะเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันตามฎีกาของโจทก์หรือไม่นั้น เมื่อวินิจฉัยไว้แล้วว่าความผิดฐานเป็นอั้งยี่เป็นความผิดสำเร็จเมื่อได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกของคณะบุคลซึ่งปกปิดวิธีดำเนินการและมีความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมาย ส่วนการกระทำความผิดฐานเป็นซ่องโจรตามมาตรา 210 แห่งประมวลกฎหมายอาญานั้น เป็นการกระทำความผิดที่ยกระดับถึงขั้นมีการสมคบกันเพื่อกระทำความผิดไม่ว่าโดยร่วมกันคบคิดหรือวางแผนเพื่อกระทำความผิดตามที่บัญญัติไว้ในภาค 2 ของประมวลกฎหมายอาญา ดังนั้น การกระทำความผิดฐานเป็นอั้งยี่และการกระทำความผิดฐานเป็นซ่องโจรจึงเป็นการกระทำความผิดที่ผู้กระทำความผิดมีเจตนาต่างกันอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อวินิจฉัยไว้แล้วว่าความผิดฐานเป็นอั้งยี่ในคดีนี้เฉพาะในส่วนของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 5 เป็นฟ้องซ้ำหรือฟ้องซ้อนกับฟ้องในคดีตามสำเนาคำพิพากษาของศาลชั้นต้นตาม โดยหากคดีตามสำเนาคำพิพากษาดังกล่าวถึงที่สุดแล้วย่อมถือว่าได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้อง สิทธินำคดีอาญาของโจทก์มาฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 5 ในความผิดฐานเป็นอั้งยี่ ย่อมระงับไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (4) แต่หากคดีตามสำเนาคำพิพากษาดังกล่าวยังไม่ถึงที่สุด แต่คดีดังกล่าวอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 9 หรือศาลฎีกา โจทก์คดีนี้ก็ต้องห้ามมิให้นำคดีข้อหาความผิดฐานเป็นอั้งยี่มายื่นฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 5 เป็นคดีนี้อีกเพราะเป็นฟ้องซ้อนต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1) เมื่อโจทก์ไม่อาจฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 5 ในข้อหาความผิดฐานเป็นอั้งยี่ในคดีนี้ได้อีกด้วยเหตุผลดังกล่าว กรณีจึงไม่มีเหตุให้ต้องวินิจฉัยว่าความผิดฐานเป็นอั้งยี่กับความผิดฐานร่วมกันก่อการร้ายในส่วนของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 5 ในคดีนี้ว่าเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันหรือไม่อีก ในส่วนของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 5 จึงต้องพิพากษายกฟ้องสำหรับความผิดฐานเป็นอั้งยี่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209 ความผิดฐานเป็นซ่องโจรและฐานร่วมกันก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 210 และมาตรา 135/2 (2) เป็นความผิดกรรมเดียวกัน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 3 และที่ 7 ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 ที่ 4 และที่ 5 ในความผิดฐานเป็นอั้งยี่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209 จำเลยที่ 1 ที่ 4 และที่ 5 มีความผิดฐานเป็นซ่องโจรและฐานร่วมกันก่อการร้าย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 210 และมาตรา 135/2 (2) ประกอบมาตรา 83 ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 135/2 (2) ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 2 ปี เมื่อรวมกับโทษจำคุกคนละ 5 ปี ในความผิดฐานร่วมกันมีอาวุธปืนโดยไม่ได้รับใบอนุญาต โทษจำคุกคนละ 20 ปี ในความผิดฐานร่วมกันมีวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ โทษจำคุกคนละ 2 ปี ในความผิดฐานร่วมกันทำ มี ใช้ นำเข้า นำออก หรือค้าซึ่งเครื่องวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และโทษจำคุกคนละ 1 ปี ในความผิดฐานร่วมกันดักรับไว้ ใช้ประโยชน์ หรือเปิดเผยโดยมิชอบด้วยกฎหมายซึ่งข่าววิทยุคมนาคมที่มิได้มุ่งหมายเพื่อสาธารณประโยชน์ หรือที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศชาติหรือประชาชนแล้ว เป็นจำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 4 และที่ 5 คนละ 30 ปี ลดโทษให้คนละหนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 เป็นจำคุกคนละ 20 ปี คงให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 6 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9

Share