แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยเป็นหนี้โจทก์ 2 จำนวน โจทก์เคยฟ้องจำเลยให้ล้มละลายในหนี้จำนวนหนึ่งแล้ว แต่โจทก์ไม่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ทั้ง 2 จำนวนในกำหนดศาลจึงสั่งยกเลิกการล้มละลายเสีย ดังนี้ โจทก์จะเอาหนี้ 2 จำนวนนั้นมาฟ้องล้มละลายอีกไม่ได้ เพราะถ้ายอมให้ฟ้องได้ก็เท่ากับอนุญาตให้ขยายระยะเวลาขอรับชำระหนี้อันผิดบทบัญญัติในพระราชบัญญัติล้มละลาย
การที่ศาลจะสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดหรือให้ล้มละลายนั้นย่อมทำให้ลูกหนี้ถูกจำกัดสิทธิและไม่สามารถจัดกิจการทรัพย์สินได้ด้วยตนเองจึงต้องเป็นไปโดยมีเหตุสมควรจริงๆ ไม่ใช่ให้ใช้กฎหมายล้มละลายเป็นเครื่องมือบีบคั้นลูกหนี้เท่านั้น
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นหนี้โจทก์ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีและตามหนังสือรับสภาพหนี้ หนี้รายหลังโจทก์เคยฟ้องจำเลยให้ล้มละลายและศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว แต่ไม่มีเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ ศาลจึงยกเลิกการล้มละลาย แต่ไม่ทำให้จำเลยหลุดพ้นจากหนี้สิน จึงฟ้องล้มละลายคดีนี้อีก
จำเลยปฏิเสธต่อสู้ว่า โจทก์เคยฟ้องล้มละลายแล้วไม่ขอรับชำระหนี้จึงไม่มีอำนาจฟ้อง และเป็นฟ้องซ้ำ
คู่ความรับกันว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์จริง และไม่สามารถชำระหนี้ได้ ต่างไม่สืบพยานโดยขอให้ศาลวินิจฉัย 3 ข้อ คือ 1. เงินค่าขายแร่กับค่าเซ้งห้องซึ่งจำเลยชำระโจทก์แล้วจะหักจากหนี้รายไหน 2. หนี้ที่ฟ้องขาดอายุความหรือไม่ 3. เป็นฟ้องซ้ำหรือไม่
ศาลชั้นต้นเห็นว่า 1. ตามหนังสือรับสภาพหนี้ระบุให้หักจากหนี้ตั๋วแลกเงินก็ต้องเป็นไปตามนั้น 2. โจทก์ไม่ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในกำหนดในคดีล้มละลายที่ฟ้องจำเลยไว้ จึงหมดสิทธิที่จะทำเช่นนั้นต่อไปตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 91 3. เป็นฟ้องซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 ประกอบพระราชบัญญัติล้มละลาย มาตรา 153 แต่ตามมาตรา 136 เจ้าหนี้อาจฟ้องเป็นคดีแพ่งธรรมดาได้ ไม่ใช่ให้ฟ้องเป็นคดีล้มละลายอีก พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ว่าไม่ขาดอายุความและไม่เป็นฟ้องซ้ำ
จำเลยอุทธรณ์ว่า หนี้ขาดอายุความแล้ว โจทก์จะฟ้องเป็นคดีแพ่งธรรมดาอีกไม่ได้
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โดยไม่วินิจฉัยอุทธรณ์จำเลยเพราะไม่เป็นประเด็น
โจทก์ฎีกาฝ่ายเดียวว่าหนี้ไม่ขาดอายุความและไม่เป็นฟ้องซ้ำ
ศาลฎีกาเห็นว่า หนี้ของโจทก์ทั้งสองรายนี้เป็นหนี้ที่อาจขอรับชำระได้ในคดีล้มละลาย หมายเลขแดงที่ 4/2500 เมื่อโจทก์ไม่ขอรับชำระก็ดี และขอรับชำระ เมื่อพ้นกำหนดเวลาขอรับชำระแล้วก็ดี โจทก์เป็นอันหมดสิทธิที่จะเรียกร้องจากจำเลยในคดีล้มละลายได้ และโดยเฉพาะคดีนี้ได้ความว่า ในคดีล้มละลายหมายเลขแดงที่ 4/2500 นั้น โจทก์นี้เองเป็นผู้ฟ้องจำเลยให้ล้มละลาย จนศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด แต่โจทก์ไม่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้จนเกินกำหนดเวลาและไม่มีเจ้าหนี้อื่นขอรับชำระหนี้เลย เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานศาล ๆ สั่งให้ยกเลิกการล้มละลายไปแล้ว ฉะนั้นถ้ายอมให้โจทก์เอาหนี้ที่หมดสิทธิเรียกร้องในคดีล้มละลายแล้ว กลับมาฟ้องจำเลยให้ล้มละลายใหม่อีก ก็เท่ากับอนุญาตให้ขยายระยะเวลาขอรับชำระหนี้อันผิดบทบัญญัติในพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 91 และการที่ศาลจะสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดหรือให้ล้มละลายนั้น ย่อมจะทำให้ลูกหนี้ถูกจำกัดสิทธิ และไม่สามารถจัดกิจการทรัพย์สินได้ด้วยตนเอง จึงต้องเป็นไปโดยมีเหตุสมควรจริง ๆ ไม่ใช่ให้ใช้กฎหมายล้มละลายเป็นเครื่องมือบีบคั้นลูกหนี้ ตามข้อเท็จจริงในคดีนี้จึงถือได้ว่า เป็นเหตุที่ไม่สมควรให้ลูกหนี้ล้มละลาย ศาลต้องยกฟ้องตามพระราชบัญญัติล้มละลาย มาตรา 14 ตอนท้าย คดีไม่จำต้องวินิจฉัยในประเด็นข้ออื่น
พิพากษายืน ให้ยกฟ้องโจทก์