แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
หนี้ที่มีจำนองเป็นประกัน เจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องอย่างหนี้สามัญ คือ บังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินทั่วไปของลูกหนี้ หรือจะบังคับจำนอง คือ ใช้บุริมสิทธิบังคับชำระหนี้จากทรัพย์จำนองอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดร่วมกับนายมด จำเลยมอบอำนาจให้ภริยาทำจำนองที่ดินเฉพาะส่วนของจำเลยดังกล่าวไว้แก่โจทก์ตามสำเนาสัญญาท้ายฟ้อง แต่ที่ดินเฉพาะส่วนของจำเลยที่จำนองไว้แก่โจทก์นั้น ต่อมาคณะกรรมการจัดสรรที่ดินฯ ได้สั่งถอนชื่อจำเลยออกจากโฉนดรายนี้ โอนใส่ชื่อนายมดเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ผู้เดียว จำเลยจึงไม่มีสิทธิในที่ดินรายนี้ต่อไป โจทก์ได้ติดต่อบังคับจำนองและทวงเงินหลายครั้ง จำเลยเพิกเฉยเสีย โจทก์จึงต้องฟ้องจำเลยขอให้ชำระหนี้สินธรรมดา ขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้ต้นเงินและดอกเบี้ยรวม ๓๕,๐๐๐ บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยร้อยละ ๑๕ ต่อปี ในต้นเงิน ๒๐,๐๐๐ บาท นับแต่วันฟ้อง
จำเลยให้การต่อสู้คดี
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินตามฟ้อง
จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกาว่าโจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยเรียกหนี้สินธรรมดา โจทก์ชอบที่จะบังคับจำนองเอาจากผู้ครอบครองทรัพย์ที่จำนอง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๗๐๒ และ มาตรา ๗๔๔ (๑) ลักษณะการจำนองเป็นการเอาทรัพย์เป็นประกันการชำระหนี้ อาจแยกการจำนองกับหนี้ที่เอาทรัพย์เป็นประกันนั้นเป็นคนละส่วนได้หรืออีกนัยหนึ่ง หนี้ที่มีจำนองเป็นประกันนั้น เจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องอย่างหนี้สามัญ คือบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินทั่วไปของลูกหนี้ตามมาตรา ๒๑๔ หรือจะบังคับจำนองคือ ใช้บุริมสิทธิบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ การจำนองมิได้ผูกพันผู้รับจำนองให้ต้องบังคับจำนองเฉพาะแต่ทางเดียว ฉะนั้น โจทก์จะใช้สิทธิบังคับจำเลยให้ชำระรายนี้อย่างหนี้สามัญโดยสละบุริมสิทธิของโจทก์ที่มีเหนือทรัพย์ที่จำนองก็ย่อมทำได้” ฯลฯ พิพากษายืน