แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ทำการเรี่ยไรในคูบ้านซึ่งเป็นคูเข้าถึงบ้านผู้ที่อยู่ริมคลองลึกเข้าไป แม้ใครๆจะเข้าออกได้ ก็เป็นเรื่องถือประเพณีเอื้อเฟื้อวิสาสะกันในท้องถิ่นไม่เป็นการเรี่ยไรในที่สาธารณะ
ย่อยาว
คดีได้ความว่า มีพระภิกษุหลายสิบรูปจากหลายสำนักไปรวมสอบข้อสอบนักธรรมที่วัดบัวแก้วเกษร จังหวัดปทุมธานี ในระหว่างวันที่ 15 ถึง 18 ธันวาคม 2495 ในระหว่างสอบ ทางวัดนั้นบอกบุญเรี่ยไรการเลี้ยงอาหารและน้ำหวานเป็นการกุศลไว้แล้ว และในวันสุดท้าย คือ 18 ธันวาคม2494 นายสิงขรรับเลี้ยงน้ำหวานส่วนทางจำเลยได้นั่งเรือไปในคลองระแหงแล้วแวะเข้าไปในคูบ้านพวกพยานโจทก์ ขอเรี่ยไรข้าวเปลือกว่าจะไปซื้อเครื่องดื่มเลี้ยงพระนี้ ได้ไปบ้านละครึ่งถังบ้าง 1 ขันบ้าง แล้วก็เอาไปจัดการจำหน่ายหมุนเป็นน้ำหวานแบ่งถวายพระที่วัดบ้าง เอาถวายพระที่มาในงานนี้บางส่วนที่บ้านตนบ้าง การเรี่ยไรนี้จำเลยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่
โจทก์ว่า จำเลยเรี่ยไรในที่สาธารณสถาน ได้ข้าวเปลือกไปประมาณหนึ่งถังครึ่งคิดเป็นเงิน 14 บาท 60 สตางค์ จึงขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติควบคุมการเรี่ยไร พ.ศ. 2487 มาตรา 5(2), 8 และ 17 จำเลยก็รับว่าได้เรี่ยไรโดยมิได้รับอนุญาตจริง
ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกาว่า คูเข้าบ้านพยานโจทก์ที่จำเลยนั่งเรือเข้าไปเรี่ยไรเป็นที่สาธารณสถาน ข้อนี้ศาลฎีกาเห็นว่า คูนี้เป็นคูเข้าถึงบ้านผู้ที่อยู่ริมคลองระแหงลึกเข้าไป คูของใครก็ของใคร ไม่ผิดอะไรกับไปเรี่ยไรตามบ้านในซอยที่ติดถนนใหญ่ ตั้งใจไปเรี่ยไรเป็นบ้าน ๆ คูเช่นนี้แม้พยานโจทก์จะเบิกความว่าใคร ๆ เข้าออกได้ ก็ดูเป็นเรื่องถือประเพณีเอื้อเฟื้อวิสาสะกันในท้องถิ่น ยังไม่ควรฟังว่าเรี่ยไรในที่สาธารณะอันควรเป็นความผิดตามมาตรา 8-17 และการเรี่ยไรที่จำเลยกระทำไม่เข้าลักษณะห้ามขาดตามมาตรา 5
แต่เห็นว่า เท่าที่จำเลยกระทำไปนั้นน่าเกลียด ว่าจะเอาไปทำที่วัดแต่กลับแบ่งไว้ทำบุญที่บ้านเสียบ้าง จะได้บาปมากกว่าบุญไม่คุ้มกันพระอธิการวัดที่สอบนักธรรมก็ร่ำร้องว่า จำเลยฉวยโอกาสกระทำอย่างนี้เวลามีสอบนักธรรมมาหลายครั้งก่อนแล้วเป็นที่เอือมระอาจำเลยเคยบวชเรียน เวลานี้ก็เป็นข้าราชการเป็นครู ควรจะมีหิริโอตตัปปะสังวรตนอยู่ในวินัยและศีลธรรมอันดีให้มาก ดีไม่ดีอาจลำบากตัวถึงต้องโทษทัณฑ์นอกจากตามพระราชบัญญัติควบคุมการเรี่ยไรอีกก็ได้ พิพากษายืน