แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ข้อตกลงที่เรียกกันว่า “ค่าปรับ” เมื่อผิดสัญญานั้น ก็คือค่าสินไหมทดแทนที่กำหนดกันไว้ล่วงหน้านั่นเอง
ข้อความในสัญญามีความว่า “ฯลฯ หากปรากฎว่าผู้ขายไม่ส่งมอบไม้ให้กับผู้ซื้อให้ครบภายในเวลาดังกล่าวข้างต้น ผู้ซื้อมีสิทธิบอกเลิกสัญญาทันที ฯลฯ” นั้นหมายความว่าเป็นความตกลงให้ผู้ซื้อมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเท่านั้น หาใช่เป็นบทบังคับว่าผู้ซื้อจะต้องใช้สิทธิ ทันที่จึงจะได้ค่าปรับไม่ การที่ผู้ซื้อมีสิทธิบอกเลิกสัญญาแต่ยังไม่ใช้สิทธินั้น ผ่อนผันให้ผู้ขายได้แก้ตัวโดยเห็นใจผู้ขายต่อมาโดยความขอร้องของผู้ขายนั้นหาทำให้ผู้ซื้อหมดสิทธิเรียกค่าปรับในที่สุดอย่างใดไม่
การที่บริษัทอันเป็นนิติบุคคลจะทำนิติกรรมใดนั้นอาจกระทำได้โดยผู้แทนของบริษัท คือกรรมการลงชื่อตามจำนวน และประทับตราตามข้อบังคับของบริษัทนิติบุคคล แต่บริษัทนิติบุคคลก็ย่อมมีตัวแทน หรือเชิดให้ผู้อื่นเป็นตัวแทนไปกระทำนิติกรรมอันผูกพันบริษัทได้เหมือนกัน
ฉะนั้นแม้ข้อบังคับของบริษัทจะมีว่ากรรมการต้องลงนาม 2 คน จึงจะทำการแทนบริษัทได้ แต่เมื่อกรรมการผู้จัดการ เพียงคนเดียวไปลงลายมือชื่อลงในสัญญาและประทับตราของบริษัทกำกับไว้ อันจะเถียงไม่ได้ว่าได้ทำในฐานะตัว แทนของบริษัท และบริษัทก็ได้รับเอาผลของนิติกรรมนั้นตลอดมาด้วยดังนี้ บริษัทจะปฏิเสธความรับผิด เมื่อถึง คราวจะต้องรับผิดหาได้ไม่
ป.ม.แพ่งฯมาตรา 381 วรรค 3 ที่มีข้อความว่า “ถ้าเจ้าหนี้ยอมรับชำระหนี้แล้ว จะเรียกเอาเบี้ยปรับได้ต่อเมื่อได้ บอกสงวนสิทธิไว้เช่นนั้น ” นี้หมายความว่า ลุกหนี้ได้ชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้โดยสิ้นเชิงแล้ว ถ้าลูกหนี้ยังชำระหนี้ให้ เจ้าหนี้ไม่ครบจำนวน กรณีก็ยังไม่เข้ามาตรา 381 วรรค 3.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๔๙๑ โจทก์กับจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นบริษัทจำกัดเหมือนกันได้ทำสัญญาซื้อขายไม้ กะบาก โดยโจทก์เป็นผู้ซื้อและจำเลยที่ ๑ เป็นผู้ขาย ครั้นครบกำหนดจำเลยที่ ๑ ส่งไม้ให้โจทก์ไม่ได้ตามสัญญา ได้ตกลง เลื่อนกำหนดไปอีก ก็ยังส่งไม้ไม่ได้ โจทก์จะเลิกสัญญา แต่จำเลยขอเพิ่มเติมสัญญา จึงตกลงทำสัญญาซื้อขายไม้เพิ่มลง วันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๔๙๒ โดยมีเงื่อนไขว่าโจทก์ยอมให้จำเลยที่ ๑ ส่งไม้ให้โจทก์ได้จนถึงสิ้นเดือนเมษายน ๒๔๙๒ โดยจำเลยที่ ๑ ยอมเสียค่าภาษีศุลกากรเท่าที่มีให้โจทก์ ถ้าผิดสัญญานอกจากจะต้องคืนเงินล่วงหน้าและค่าปรับตามสัญญาแล้ว จำเลยที่ ๑ ยังต้องให้เงินอีก ๑๐,๐๐๐ บาท เป็นค่าทดแทนในการต่ออายุสัญญา ทั้งนี้โดยจำเลยที่ ๒ -๓ เป็นผู้ค้ำ ประกัน
หลังจากทำสัญญาเพิ่มเติมแล้ว จำเลยที่ ๑ ส่งไม้ให้โจทก์ ๒ คราวยังไม่ครบจำนวน แล้วจำเลยก็ไม่ได้ส่งไม้ให้โจทก์อีก เลย โจทก์จึงบอกเลิกสัญญาและให้จำเลยที่ ๑ คืนเงินล่วงหน้า ถ้าชำระค่าปรับตามสัญญารวมเป็นเงิน ๙๘,๗๙๐ บาท ๙๘ สตางค์ ขอให้จำเลยทั้ง ๓ ชำระพร้อมทั้งดอกเบี้ย
จำเลยต่อสู้ปฏิเสธความรับผิดหลายประการ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยรับผิดตามสัญญาเต็มตามฟ้อง ถ้าจำเลยที่ ๑ ไม่ชำระให้จำเลยที่ ๒ – ๓ ใช้แทน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาคงฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อพ้นกำหนดสิ้นเดือนเมษายน ๒๔๙๒ แล้ว การส่งไม้ก็ยังทำได้ไม่ครบจำนวนตามสัญญา โจทก์จึงบอกเลิกสัญญาซื้อขายและเรียกร้องเงินล่วงหน้าที่รับไปกับค่าปรับตามจำนวนที่ขาด
จำเลยฎีกาว่า กรณีนี้เป็นเรื่องเบี้ยปรับศาลจะพิพากษาบังคับเป็นเรื่องผิดสัญญาหรือเอาค่าเสียหายไม่ได้ เป็นเรื่องต่างไปจากคำฟ้อง ข้อตกลงตามสัญญา นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ตามข้อตกลงที่เรียกกันว่า “ค่าปรับ” นั้น ก็คือค่า สินไหมทดแทนที่กำหนดไว้ล่วงหน้านั่นเอง
จำเลยเถียงอีกว่า ตามสัญญาโจทก์จะมีสิทธิได้เบี้ยปรับต่อเมื่อโจทก์ได้ใช้เสิทธิเลิกสัญญาทันที่ แต่เรื่องนี้โจทก์ยอมให้ ผัดผ่อนต่อมาอีกหลายเดือน โจทก์หมดสิทธิเรียกค่าปรับนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ตามข้อสัญญามีความชัดอยู่แล้วว่า “หาก ปรากฎ ว่าผู้ขายไม่ส่งมอบไม้ให้กับผู้ซื้อครบภายในเวลาดังกล่าวข้างต้น ผู้ซื้อมีสิทธิบอกเลิกสัญญาทันที ฯลฯ” แสดงว่า เป็นความตกลงให้ผู้ซื้อมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเท่านั้น หาใช่เป็นบทบังคับว่าผู้ซื้อจะต้องใช้สิทธิทันทีจึงจะได้ค่าปรับไม่ การที่โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาแต่ยังไม่ใช้สิทธินั้นผ่อนผันให้จำเลยได้แก้ตัวโดยเห็นใจจำเลย ต่อมาโดยความร้อง ขอของจำเลยนั้น หาทำให้โจทก์ขาดสิทธิเรียกค่าปรับในที่สุดอย่างใดไม่
ข้อโต้เถียงของจำเลยอีกข้อหนึ่ง คือ ในสัญญามีชื่อพระสารสาสน์ประพันธ์ ลงนามแต่ผู้เดียว แม้จะประทับตราของบริษัทก็ หาผูกพันบริษัทหัวหิน จำกัด จำเลยที่ ๑ ไม่ เพราะตามข้อบังคับของบริษัทกรรมการจะต้องลงนาม ๒ คน จึงจะทำการแทน บริษัทได้ และทำนองเดียวกันการบอกเลิกสัญญาซื้อขายรายนี้ นายเติมกรรมการบริษัทโจทก์ ก็ลงนามโดยไม่ได้ประทับ ตราบริษัท จึงถือไม่ได้ว่าบริษัทหัวหิวได้ทำสัญญากับโจทก์ และโจทก์ได้บอกเลิกสัญญา ในข้อนี้ศาลฎีกาเห็นว่า การทำ นิติกรรมใด แม้จะไม่ได้กระทำโดยการแสดงเจตนาของผู้แทนบริษัทคือกรรมการลงชื่อตามจำนวนและประทับตราตาม ข้อบังคับของบริษัทก็ดี แต่นิติบุคคลก็ย่อมมีตัวแทนหรือเชิดให้ผู้อื่นเป็นตัวแทนไปกระทำนิติกรรมนั้นๆ อันผูกพันบริษัท ได้ กรณีนี้พระสารสาสน์ประพันธ์ในฐานะกรรมการผู้จัดการของบริษัทได้ลงลายมือชื่อลงในสัญญาและประทับตราของ บริษัทหัวหินจำกัดกำกับไว้ แม้จะเถียงว่าไม่ได้ทำแทนบริษัท แต่ก็จะเถียงไม่ได้ว่าไม่ได้ทำในฐานะตัวแทนของบริษัท ทั้งบริษัทก็ได้รับเอาผลของนิติกรรมนั้นตลอดมา บริษัทจะปฏิเสธความรับผิดเมื่อถึงคราวจะต้องรับผิดหาได้ไม่สำหรับ กรณีบอกเลิกสัญญาซื้อขายก็เช่นเดียวกัน จำเลยจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้
ฟังหาขึ้นไม่
อีกข้อหนึ่ง จำเลยอ้างว่า โจทก์ยอมรับไม้ไว้ ๒ คราวโดยสงวนเรียกร้องเบี้ยปรับไว้แต่ประการใดนั้น ตาม ป.ม.แพ่ง มาตรา ๓๘๑ วรรค ๓ มีข้อความว่า “ถ้าเจ้าหนี้ยอมรับชำระหนี้แล้วจะเรียกร้องเอาเบี้ยปรับได้ต่อเมื่อได้บอกสงวนสิทธิ ไว้ เช่นนั้นในเวลาชำระหนี้” นี้หมายความว่า ลูกหนี้ได้ชำระให้แก่เจ้าหนี้โดยสิ้นเชิงแล้ว แต่กรณีในคดีนี้จำเลยยังขาดการ ส่งมอบไม้อยู่อีก ๕๒ ตันเศษ จะเรียกว่าจำเลยได้ชำระให้แก่โจทก์แล้วหาได้ไม่
ฯลฯ ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น จึงพิพากษายืน