แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยให้การว่าได้ทำสัญญากู้เงินตามสัญญากู้ที่โจทก์ฟ้องจริงจำเลยต่อสู้ว่าไม่ใช่เงินที่กู้กันตามธรรมดา หาก 2 สัญญาเช่ากับจำเลยโจทก์ชำระให้จำเลยมาบางส่วน โจทก์ให้จำเลยทำเป็นสัญญากู้ให้ไว้แทนการออกใบรับเงิน ทั้งนี้เพื่อประสงค์ว่า ถ้าจำเลยผู้ให้เช่าผิดนัดไม่ยอมทำสัญญาและจดทะเบียนการเช่าให้โจทก์ โจทก์จะได้ฟ้องเรียกเงินตามสัญญากู้นี้คืนจากจำเลย แต่ถ้าโจทก์เป็นฝ่ายผิดนัดไม่มาทำสัญญาเช่า โจทก์ยอมให้จำเลยริบเงินจำนวนนี้ได้ และโจทก์จะคืนสัญญากู้สองฉบับนี้ให้จำเลย ดังนี้ จำเลยย่อมนำสืบพยานบุคคลได้เพราะการนำสืบของจำเลยเป็นการนำสืบเพื่อแสดงว่าหนี้ตามสัญญากู้ในฟ้องไม่สมบูรณ์ เพราะไม่ใช่เจตนาที่แท้จริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 วรรคท้าย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินที่กู้ไปจากโจทก์สองคราวรวมเงินต้นและดอกเบี้ย รวม 37,450 บาท
จำเลยทั้งสองให้การว่า การที่จำเลยทำสัญญากู้เงินให้โจทก์นั้น เนื่องมาจากจำเลยที่ 1 ได้ให้โจทก์เช่าอาคาร โจทก์ได้ตกลงจะให้เงินสมนาคุณแก่จำเลยที่ 1 เป็นเงิน 90,000 บาท ตกลงจะชำระให้เสร็จในวันทำสัญญาจดทะเบียนการเช่า
ต่อมาเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2505 จำเลยที่ 1 ขอรับเงินค่าสมนาคุณก่อน 20,000 บาท และวันที่ 11 พฤษภาคม 2505 ได้ขอรับอีก 12,000 บาทการรับเงินทั้งสองครั้งนี้ตกลงกันให้จำเลยที่ 1 ทำเป็นหนังสือสัญญากู้เป็นหลักฐานว่า ได้รับเงินไปจากโจทก์ โดยตกลงกันว่า ในวันทำสัญญาจดทะเบียนการเช่า โจทก์จะนำเงินค่าสมนาคุณที่ค้างอีก 58,000 บาทมาชำระให้จำเลยที่ 1 พร้อมกับคืนสัญญากู้ทั้งสองฉบับให้จำเลย ถ้าโจทก์ผิดนัดผิดสัญญา โจทก์ยอมให้จำเลยที่ 1 ริบเงิน 32,000 บาทและโจทก์ยอมคืนหนังสือสัญญากู้ให้ ถ้าจำเลยที่ 1 ผิดนัดผิดสัญญาไม่ยอมจดทะเบียนการเช่าให้โจทก์ จำเลยที่ 1 ยอมให้โจทก์เรียกร้องเงินตามสัญญากู้ได้พร้อมด้วยค่าเสียหาย ในการตกลงดังกล่าว โจทก์ได้ให้จำเลยที่ 2 ลงชื่อเป็นผู้กู้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ด้วย
จำเลยที่ 1 ได้มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 ไปขอจดทะเบียนการเช่าอาคารให้โจทก์พร้อมกับโจทก์ที่ว่าการอำเภอ ในระหว่างประกาศขอจดทะเบียนการเช่าโจทก์ได้ขอร้องให้จำเลยที่ 1 ลดเงินค่าสมนาคุณลง จำเลยที่ 1 ไม่ยอม โจทก์จึงบิดพลิ้วไม่ไปจดทะเบียนการเช่าเมื่อครบกำหนดตามประกาศแล้ว โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา แต่โจทก์กลับหาว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิด จำเลยถือว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาจำเลยที่ 1 มีสิทธิริบเงิน 32,000 บาทนี้ได้
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ ให้จำเลยที่ 1 ใช้ต้นเงินกู้พร้อมด้วยดอกเบี้ยในต้นเงินทั้งสองจำนวน ตั้งแต่วันกู้เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเงินเสร็จให้โจทก์
จำเลยที่ 1 ฎีกาต่อมา
ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยให้การว่าได้ทำสัญญากู้เงินจำนวน 32,000 บาทตามสัญญากู้ที่โจทก์ฟ้องจริง จำเลยต่อสู้ว่าไม่ใช่เงินที่กู้กันตามธรรมดา หากแต่เป็นเงินกินเปล่าสำหรับการเช่าอาคารที่โจทก์ตกลงจะทำสัญญาเช่ากับโจทก์ โจทก์ชำระให้จำเลยบางส่วน โจทก์ให้จำเลยทำเป็นสัญญากู้ให้ไว้แทนการออกใบรับเงิน ทั้งนี้เพื่อประสงค์ว่า ถ้าจำเลยผู้ให้เช่าผิดนัดไม่ยอมทำสัญญาและจดทะเบียนการเช่าให้โจทก์ โจทก์จะได้ฟ้องเรียกเงินตามสัญญากู้นี้คืนจากจำเลยได้ แต่ถ้าโจทก์เป็นฝ่ายผิดนัดไม่มาทำสัญญาเช่าโจทก์ยอมให้จำเลยริบเงินจำนวนนี้ได้ และโจทก์จะคืนสัญญากู้สองฉบับนี้ให้จำเลย ดังนี้ จำเลยย่อมนำสืบพยานบุคคลได้ เพราะการนำสืบของจำเลยเป็นการนำสืบเพื่อแสดงว่าหนี้ตามสัญญากู้ในฟ้องไม่สมบูรณ์ เพราะไม่ใช่เจตนาที่แท้จริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 วรรคท้าย
ศาลฎีกาเห็นว่า การเช่าอาคารน่าเชื่อว่าได้มีการเจรจากันมาก่อนแล้วโดยโจทก์ตกลงจะให้เงินกินเปล่าแก่จำเลยที่ 1 ถึง 90,000 บาท และในช่วงเวลาที่ก่อนมีการจดทะเบียนการเช่าก็ปรากฏว่า ได้มีการทำสัญญากู้ว่า จำเลยที่ 1 กู้เงินโจทก์ตามที่ฟ้อง พฤติการณ์ดังนี้ทำให้น่าเชื่อว่าการที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้ให้โจทก์ก็เนื่องจากการรับเงินค่ากินเปล่าล่วงหน้าเพื่อจดทะเบียนการเช่าตามที่ได้ตกลงกันไว้ดังที่จำเลยต่อสู้ เมื่อคดีเรื่องเช่าที่โจทก์หาว่าจำเลยผิดสัญญากลับได้ความว่าโจทก์เองเป็นฝ่ายผิด เมื่อโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะขอให้บังคับจำเลยชำระเงินตามสัญญากู้นั้นฎีกาจำเลยฟังขึ้น
พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น