แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 368 ให้ตีความสัญญาไปตามความประสงค์ในทางสุจริต โดยพิจารณาถึงปกติประเพณีด้วย และตามมาตรา 171 ในการตีความการแสดงเจตนา ให้เพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงยิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนหรือตัวอักษร เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับที่ดิน เคยทำสัญญาซื้อขายและจัดสรรที่ดินมาแล้วหลายแห่ง มีความรู้ความชำนาญและสันทัดจัดเจนในการทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินยิ่งกว่าจำเลย สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทเป็นสัญญาสำเร็จรูปที่พนักงานของโจทก์จัดทำขึ้น โจทก์มีฐานะทางเศรษฐกิจดีกว่าจำเลย ย่อมมีอำนาจต่อรองในการทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทมากกว่าจำเลย หลังจากทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทแล้วโจทก์มีหนังสือถึงธนาคารพาณิชย์ขอกู้ยืมเงินเพื่อการลงทุนในโครงการรวม 155,000,000 บาท โดยเป็นการขอกู้ยืมเงินเพื่ออาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินจำนวน 43,000,000 บาท ซึ่งเท่ากับจำนวนเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินที่โจทก์จะต้องชำระค่าที่ดินพิพาท และบริษัทในเครือของโจทก์เคยมีวงเงินสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ เพื่ออาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินมาแล้ว แสดงให้เห็นว่าในทางปฏิบัติและตามปกติประเพณีของการซื้อขายที่ดินที่มีราคาสูง หากผู้จะซื้อที่ดินจะต้องออกตั๋วสัญญาใช้เงินเพื่อชำระราคาที่ดินล่วงหน้า ผู้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินนั้นจะต้องให้ธนาคารอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินด้วย ประเพณีเช่นว่านี้แม้ไม่ได้เขียนไว้ในสัญญาก็ต้องถือว่าเป็นข้อตกลงที่คู่สัญญาจะต้องปฏิบัติโดยปริยาย จึงน่าเชื่อว่าโจทก์กับจำเลยมีเจตนาให้ธนาคารอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินในคดีนี้ด้วย แม้สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทจะไม่ได้ระบุไว้ก็ตาม เมื่อโจทก์ออกตั๋วสัญญาใช้เงินชำระราคาที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยโดยไม่มีอาวัลของธนาคาร จำเลยย่อมมีสิทธิปฏิเสธไม่ยอมรับชำระหนี้ด้วยตั๋วสัญญาใช้เงินนั้นได้ กรณีถือไม่ได้ว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์จึงเรียกค่าเสียหายจากจำเลยไม่ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้จำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแก่โจทก์โดยปลอดจาก ภาระติดพันใด ๆ ทั้งสิ้น พร้อมรับเงินค่าจะซื้อจะขายที่ดินส่วนที่เหลือจากโจทก์เป็นเงินสดจำนวน 16,300,000 บาท และเป็นตั๋วสัญญาใช้เงินมีกำหนดชำระเงินในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2539 อีกจำนวน 42,696,000 บาท หากจำเลยไม่ปฏิบัติให้ถือเอาตามคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทน ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงินจำนวน 158,032,266 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า จำเลยมิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา เหตุที่จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินที่จะซื้อจะขายกันไม่ได้นั้นเนื่องมาจากโจทก์ไม่ยอมออกตั๋วสัญญาใช้เงินโดยให้ธนาคารรับรองตั๋วเพื่อชำระค่าที่ดินส่วนที่เหลือให้จำเลย จำเลย มิได้จงใจที่จะไม่ปฏิบัติตามสัญญากับโจทก์ จำเลยพร้อมที่จะจดทะเบียนโอนที่ดินให้โจทก์ถ้าโจทก์ชำระค่าที่ดิน ส่วนที่เหลือเป็นตั๋วสัญญาใช้เงินที่มีธนาคารรับรองตั๋วเงินนั้นแล้ว เมื่อจำเลยมิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายหรือเบี้ยปรับใด ๆ จากจำเลย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยโดยกำหนดค่าทนายความ 30,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษากลับเป็นว่า ให้จำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์โดย ปลอดภาระติดพัน หากจำเลยไม่ปฏิบัติให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย แต่ทั้งนี้ต่อเมื่อจำเลยได้รับเงินค่าจะซื้อจะขายที่ดินส่วนที่เหลือจากโจทก์จำนวน 16,300,000 บาท และเป็นตั๋วสัญญาใช้เงินมีกำหนดใช้เงินในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2539 จำนวนเงิน 42,696,000 บาท แต่เมื่อตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวถึงกำหนดใช้เงินแล้ว จึงให้โจทก์ชำระเป็นเงินสดตอบแทนจำเลย และให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์เป็นเงิน 3,000,000 บาท โดยให้โจทก์หักกลบเอาจากจำนวนเงินค่าที่ดินที่โจทก์ต้องชำระให้แก่จำเลยดังกล่าว และให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 80,000 บาท
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2537 จำเลยทำสัญญาจะ ขายที่ดินรวม 3 แปลง ซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลแคราย (ปลายคลองกระทุ่มแบน) อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร ให้แก่โจทก์ในราคา 60,996,000 บาท โดยโจทก์วางมัดจำในวันทำสัญญา 2,000,000 บาท ตกลงจะไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้ง 3 แปลง ภายในวันที่ 21 กรกฎาคม 2538 หรือเมื่อโจทก์ได้กำหนดวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ ที่ดินและแจ้งให้จำเลยทราบ แต่เมื่อถึงวันที่ 21 กรกฎาคม 2538 ซึ่งเป็นวันนัดจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท โจทก์กับจำเลยได้ยื่นคำขอจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมหลักฐานการโอนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่สำนักงาน ที่ดินจังหวัดสมุทรสาคร สาขากระทุ่มแบน แต่ผลสุดท้ายจำเลยไม่ยอมจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์โดย อ้างว่าตั๋วสัญญาใช้เงินที่โจทก์ชำระเป็นค่าที่ดินจำนวน 42,696,000 บาท ธนาคารไม่ได้อาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าว
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และจำเลยว่า จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาหรือไม่ และต้องชดใช้ ค่าเสียหายให้แก่โจทก์หรือไม่เพียงใด เห็นว่า สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทมีใจความว่าข้อ 1. ที่ดินพิพาทตกลง ซื้อขายกันเป็นเงินทั้งสิ้น 60,996,000 บาท ข้อ 2. ผู้จะซื้อวางมัดจำในวันทำสัญญา 2,000,000 บาท ข้อ 3. ผู้จะซื้อตกลงจะชำระเงินจำนวน 16,300,000 บาท ให้ผู้จะขายในวันที่ 21 กรกฎาคม 2538 ส่วนเงินที่เหลือผู้จะซื้อตกลงชำระเป็น ตั๋วสัญญาใช้เงินมีกำหนดเวลาใช้เงินภายในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2539 โดยชำระในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน ณ สำนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรสาคร จากข้อสัญญาดังกล่าว โจทก์อ้างว่าไม่มีข้อความให้ธนาคารเป็นผู้อาวัลตั๋วสัญญาใช้เงิน จำเลยจะไม่ยอมรับตั๋วสัญญาใช้เงินนั้นไม่ได้ จึงเกิดปัญหาข้อโต้แย้งระหว่างโจทก์กับจำเลยว่า ตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวต้องมีอาวัลของธนาคารหรือไม่ ซึ่งศาลจำเป็นจะต้องค้นหาเจตนาที่แท้จริงของโจทก์และจำเลยว่าเป็นอย่างไร ในเรื่องนี้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 368 บัญญัติว่า สัญญานั้นท่านให้ตีความไปตามความประสงค์ในทางสุจริตโดยพิเคราะห์ถึงปกติประเพณีด้วย และมาตรา 171 ก็บัญญัติว่า ในการตีความการแสดงเจตนานั้น ให้เพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงยิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนหรือตัวอักษร ข้อเท็จจริงในคดีนี้ได้ความว่า โจทก์มีวัตถุประสงค์ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับที่ดิน เคยทำสัญญาซื้อขายและจัดสรรที่ดินมาแล้วหลายแห่ง มีความรู้ความชำนาญและสันทัดจัดเจนในการทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินยิ่งกว่าจำเลย สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทเป็นสัญญาสำเร็จรูปที่พนักงานของโจทก์เป็นผู้จัดทำขึ้นโดยพิมพ์ข้อความที่เป็นสาระสำคัญไว้ล่วงหน้าเรียบร้อยแล้ว โจทก์ซึ่งมีฐานะทางเศรษฐกิจดีกว่าจำเลยย่อมมีอำนาจต่อรองในการทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทมากกว่าจำเลยดังจะเห็นว่าในวันทำสัญญาจำเลยจะต้องส่งมอบที่ดินพิพาทให้โจทก์ครอบครองเข้าทำประโยชน์ทันที ค่าภาษี อากร ค่าฤชาธรรมเนียม ค่านายหน้าและค่าใช้จ่ายอื่นในการแบ่งแยกและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน จำเลยเป็นผู้ชำระทั้งหมด แต่จำเลยจะได้รับชำระค่าที่ดินจำนวน 16,300,000 บาท หลังวันทำสัญญา 8 เดือน และจะได้รับเงินที่เหลือจำนวน 42,696,000 บาท เป็นตั๋วสัญญาใช้เงินซึ่งมีกำหนดเวลาใช้เงินหลังจากวันทำสัญญาถึง 2 ปี ดังนั้น ถ้าตั๋วสัญญาใช้เงินไม่มีอาวัลของธนาคารจำเลยก็จะไม่มีหลักประกันว่าจะได้รับเงินเมื่อตั๋วสัญญาใช้เงินถึงกำหนด ประกอบกับหลังจากทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทแล้วโจทก์มีหนังสือถึงธนาคารนครธน จำกัด (มหาชน) สาขาดาวคนอง ขอกู้ยืมเงินเพื่อการลงทุนในโครงการสำหรับที่ดินพิพาทรวม 155,000,000 บาท โดยเป็นการขอกู้ยืมเงินเพื่ออาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินจำนวน 43,000,000 บาท ซึ่งเท่ากับจำนวนเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินในคดีนี้ และก่อนหน้านั้นบริษัท พี.พี.เอ็น (1992) จำกัด และบริษัท พี.พี. ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ซึ่งมีนาย ส. กรรมการผู้จัดการของโจทก์ได้ขอวงเงินสินเชื่อจากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และ ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) เพื่ออาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินจำนวน 74,000,000 บาท และ 79,550,000 บาท ตามลำดับมาแล้วซึ่งแสดงให้เห็นว่าในทางปฏิบัติและตามปกติประเพณีของการซื้อขายที่ดินที่มีราคาสูง หากผู้จะซื้อ ที่ดินจะต้องออกตั๋วสัญญาใช้เงินเพื่อชำระราคาที่ดินล่วงหน้า ผู้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินนั้นจะต้องให้ธนาคารอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินด้วย ประเพณีเช่นว่านี้แม้ไม่ได้เขียนไว้ในสัญญาก็ต้องถือว่าเป็นข้อตกลงที่คู่สัญญาจะต้องปฏิบัติโดยปริยาย ด้วยเหตุนี้จึงน่าเชื่อว่าโจทก์และจำเลยมีเจตนาให้ธนาคารอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินในคดีนี้ด้วยแม้สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทจะไม่ได้ระบุไว้ก็ตาม เมื่อโจทก์ออกตั๋วสัญญาใช้เงินชำระราคาที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยโดยไม่มีอาวัลของธนาคาร จำเลยย่อมมีสิทธิปฏิเสธไม่ยอมรับชำระหนี้ด้วยตั๋วสัญญาใช้เงินนั้นได้ กรณีถือไม่ได้ว่าจำเลยเป็น ฝ่ายผิดสัญญา เมื่อจำเลยไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาโจทก์จึงเรียกค่าเสียหายจากจำเลยไม่ได้
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความรวม 70,000 บาท.