คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5677/2531

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

กรณีที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างไม่เป็นธรรม พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานฯ พ.ศ. 2522 มาตรา 49 กำหนดขั้นตอนให้ศาลแรงงานสั่งเพียงอย่างหนึ่งอย่างใด คือสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างทำงานต่อไปในอัตราค่าจ้างที่ได้รับในขณะที่เลิกจ้าง หรือกำหนดจำนวนค่าเสียหายให้นายจ้างชดใช้ให้แทน เมื่อศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานต่อไปตามเดิมแล้ว โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างหรือค่าเสียหายในระหว่างที่ถูกเลิกจ้าง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรม ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานตามเดิม และให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายนับแต่วันที่โจทก์ถูกสั่งพักงานจนกว่าจำเลยจะรับโจทก์กลับเข้าทำงาน หากจำเลยไม่สามารถรับโจทก์กลับเข้าทำงาน ให้จำเลยจ่ายค่าเสียหาย ค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และเงินบำเหน็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์กระทำผิดวินัยอย่างร้างแรง ไม่ใช่เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมโจทก์กับจำเลยสามารถทำงานร่วมกันต่อไปได้ พิพากษาให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานตามเดิมโดยได้รับเงินเดือนไม่ต่ำกว่าเงินเดือนขณะเลิกจ้าง และให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายเดือนละ 3,000 บาทนับแต่วันที่โจทก์ถูกสั่งพักงานจนกว่าจำเลยจะรับโจทก์กลับเข้าทำงานให้แก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “จำเลยอุทธรณ์เป็นประการที่สองว่ากรณีที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานต่อไปตามเดิมแล้วโจทก์มีสิทธิได้รับค่าจ้างหรือค่าเสียหายในระหว่างถูกเลิกจ้างหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 บัญญัติว่า “การพิจารณาคดีในกรณีนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้าง ถ้าศาลแรงงานเห็นว่าการเลิกจ้างลูกจ้างผู้นั้นไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้างศาลแรงงานอาจสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างเข้าทำงานต่อไปในอัตราค่าจ้างที่ได้รับในขณะที่เลิกจ้าง ถ้าศาลแรงงานเห็นว่าลูกจ้างกับนายจ้างไม่อาจทำงานร่วมกันต่อไปได้ ให้ศาลแรงงานกำหนดจำนวนค่าเสียหายให้นายจ้างชดใช้ให้แทน” ตามบทบัญญัติดังกล่าวเห็นได้ชัดว่ากรณีที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างไม่เป็นธรรมนั้น กฎหมายกำหนดขั้นตอนให้ศาลแรงงานสั่งเพียงอย่างหนึ่งอย่างใด คือสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างเข้าทำงานต่อไปในอัตราค่าจ้างที่ได้รับในขณะที่เลิกจ้าง แต่ถ้าศาลแรงงานเห็นว่าลูกจ้างกับนายจ้างไม่อาจทำงานร่วมกันต่อไปได้ก็ให้ศาลแรงงานกำหนดจำนวนค่าเสียหายให้นายจ้างชดใช้ให้แทน กฎหมายมิได้กำหนดให้สิทธิแก่ลูกจ้างที่จะได้รับค่าจ้างหรือค่าเสียหายในระหว่างที่ถูกเลิกจ้างในกรณีที่ศาลแรงงานสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานตามเดิมแล้วด้วยฉะนั้น เมื่อศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานต่อไปตามเดิมแล้ว โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างหรือค่าธรรมเนียมในระหว่างที่ถูกเลิกจ้าง ทั้งนี้ตามนัยแห่งคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2743/2531 ระหว่าง นายวิชัย แหลมสัก โจทก์บริษัทขนส่ง จำกัด จำเลย”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับคำขอเรื่องค่าเสียหายนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share