คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5664/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การมีอาวุธปืนของกลางไว้ในครอบครอง เป็นความผิดนับแต่วาระแรกที่จำเลยได้อาวุธปืนของกลางมาไว้ในครอบครอง และเป็นความผิดอยู่ตลอดเวลาเรื่อยไปจนกระทั่งจำเลยถูกจับได้พร้อมด้วยอาวุธปืนของกลาง ส่วนความผิดฐานรับของโจรที่จำเลยให้การรับสารภาพในคดีนี้นั้น เมื่อจำเลยรับของโจรอาวุธปืนของกลางในขณะใดขณะหนึ่งในระหว่างวันที่ 7 กันยายน 2547 เวลากลางวันถึงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2548 เวลากลางวัน ความผิดฐานรับของโจรอาวุธปืนของกลางจึงเป็นความผิดในขณะใดขณะหนึ่งและเป็นการกระทำความผิดซึ่งอาศัยเจตนาแตกต่างแยกจากความผิดฐานมีอาวุธปืนของกลางไว้ในครอบครองได้การกระทำความผิดของจำเลยที่โจทก์กล่าวหาทั้งสองคดีจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ซึ่งต้องลงโทษจำเลยทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตาม ป.อ. มาตรา 91

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334, 335, 357 ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหายเป็นเงิน 350 บาท และนับโทษต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1099/2548 ของศาลชั้นต้น
จำเลยให้การรับสารภาพข้อหารับของโจร
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคแรก จำคุก 3 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์เป็นเงิน 350 บาท แก่ผู้เสียหายส่วนที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1099/2548 ของศาลชั้นต้น เนื่องจากคดีดังกล่าวศาลชั้นต้นยังไม่ได้พิพากษา จึงไม่อาจนับโทษต่อได้ ข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอของโจทก์ที่ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหาย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่า ความผิดฐานรับของโจรอาวุธปืนของกลางที่จำเลยให้การรับสารภาพในคดีนี้เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวกับความผิดฐานมีอาวุธปืนของกลางไว้ในครอบครองซึ่งโจทก์ฟ้องจำเลยเป็นอีกคดีหนึ่งและศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาไปแล้วนั้น เห็นว่า การมีอาวุธปืนของกลางไว้ในครอบครอง เป็นความผิดนับแต่วาระแรกที่จำเลยได้อาวุธปืนของกลางมาไว้ในครอบครอง และเป็นความผิดอยู่ตลอดเวลาเรื่อยไปจนกระทั่งจำเลยถูกจับได้พร้อมด้วยอาวุธปืนของกลาง ส่วนความผิดฐานรับของโจรที่จำเลยให้การรับสารภาพในคดีนี้นั้น ข้อเท็จจริงเป็นยุติตามที่โจทก์ฟ้องว่า จำเลยรับของโจรอาวุธปืนของกลางในขณะใดขณะหนึ่งในระหว่างวันที่ 7 กันยายน 2547 เวลากลางวัน ถึงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2548 เวลากลางวัน ดังนั้น ความผิดฐานรับของโจรอาวุธปืนของกลางจึงเป็นความผิดในขณะใดขณะหนึ่งตามที่โจทก์กล่างอ้างในฟ้อง และเป็นการกระทำความผิดซึ่งอาศัยเจตนาแตกต่างแยกจากความผิดฐานมีอาวุปืนของกลางไว้ในครอบครองได้ ฉะนั้น การกระทำความผิดของจำเลยที่โจทก์กล่าวหาทั้งสองคดีจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ซึ่งต้องลงโทษจำเลยทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 หาใช่เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายบท ซึ่งจะต้องใช้กฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดลงแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ดังที่จำเลยกล่าวอ้างในฎีกาไม่…”
พิพากษายืน

Share