คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5657/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ป.วิ.พ. มาตรา 142 ที่บัญญัติห้ามมิให้พิพากษาหรือทำคำสั่งให้สิ่งใด ๆ เกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏ ในคำฟ้อง เว้นแต่เข้าข้อยกเว้นตามอนุมาตรา (1) ถึง (6) เป็นการกำหนดขอบเขตของการวินิจฉัยชี้ขาดคดีของศาล ซึ่งศาลจะต้องวินิจฉัยตามประเด็นปัญหาที่ศาลได้กำหนดไว้เป็นประเด็นข้อพิพาทในชั้นชี้สองสถาน แต่มิได้บังคับ เด็ดขาดว่าศาลจำต้องวินิจฉัยประเด็นปัญหาดังกล่าวทั้งหมด หากศาลเห็นว่าประเด็นปัญหาใดแม้วินิจฉัยให้ ก็ไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป ก็อาจใช้ดุลพินิจไม่วินิจฉัยในประเด็นปัญหาดังกล่าว อันเป็นอำนาจทั่วไปของศาล
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาท ย่อมมีความหมายอยู่ในตัวว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยประเด็นปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์อีก การใช้ดุลพินิจของศาลอุทธรณ์ไม่ขัดต่อ ป.วิ.พ. มาตรา 246 ประกอบด้วยมาตรา 142 และ 131 (2)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยไปถอนคำคัดค้านการรังวัดที่ดินพิพาทซึ่งโจทก์เป็นผู้ครอบครอง ซึ่งจำเลยยื่นไว้ต่อสำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดระยองเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๓๖ ภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด ให้จำเลยรื้อถอนบ้านไม้ชั้นเดียวไม่มีเลขที่พร้อมขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินแปลงดังกล่าวและห้ามเกี่ยวข้องอีกต่อไป
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การว่า โจทก์กับจำเลยร่วมกันซื้อที่ดินแปลงใหญ่ซึ่งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าคลองระเวิง – เขาสมเส็ด และตกลงแบ่งที่ดินกันคนละ ๓๕ ไร่ โดยที่ดินส่วนของโจทก์อยู่ทางทิศตะวันตก และที่ดินส่วนของจำเลยอยู่ทางทิศตะวันออก จำเลยเข้าทำประโยชน์และปลูกสร้างบ้านในที่ดินพิพาท ต่อมากรมชลประทานเวนคืนที่ดินของโจทก์ทางทิศตะวันตกเนื้อที่ ๓๕ ไร่ เพื่อสร้างอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล ต่อมาในปี ๒๕๓๓ โจทก์นำเจ้าหน้าที่สำนักงานปฏิรูปที่ดินไปรังวัดที่ดินรุกล้ำที่ดินของจำเลยเนื้อที่ ๑๗ ไร่ จำเลยจึงทำหนังสือคัดค้านไว้เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๓๖ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความ ๑๕,๐๐๐ บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ พิพากษายืน แต่ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความ ๙,๕๐๐ บาท และให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความ ๕,๐๐๐ บาท
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลอุทธรณ์ภาค ๑ รับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ มิได้วินิจฉัยปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์อันเป็นการขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๒ ประกอบด้วยมาตรา ๑๓๑ (๒) และไม่เข้าข้อยกเว้นตามมาตรา ๑๔๒ (๑) ถึง (๖) เพราะจำเลยได้ให้การต่อสู้ว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องแล้ว คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค ๑ จึงไม่ชอบหรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๒ ที่บัญญัติว่า คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลที่ชี้ขาดคดีต้องตัดสินตามข้อหาในคำฟ้องทุกข้อแต่ห้ามมิให้พิพากษาหรือทำคำสั่งให้สิ่งใด ๆ เกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง เว้นแต่เข้าข้อยกเว้นตามอนุมาตรา (๑) ถึง (๖) นั้น เป็นการกำหนดขอบเขตของการวินิจฉัยชี้ขาดคดีของศาล ซึ่งศาลจะต้องวินิจฉัยตามประเด็นปัญหาที่ศาลได้กำหนดไว้เป็นประเด็นข้อพิพาทในชั้นชี้สองสถาน และห้ามมิให้พิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องหรือคำขอท้ายฟ้อง แต่มิได้บังคับเด็ดขาดว่าศาลจำต้องวินิจฉัยประเด็นปัญหาดังกล่าวทั้งหมด เพราะหากศาลเห็นว่าประเด็นปัญหาใดแม้วินิจฉัยให้ ก็ไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไปก็อาจใช้ดุลพินิจไม่วินิจฉัยในประเด็นปัญหาดังกล่าวได้ อันเป็นอำนาจทั่วไปของศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา เมื่อปรากฏว่าศาลอุทธรณ์ภาค ๑ วินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาทแล้ว ก็ย่อมมีความหมายอยู่ในตัวว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะโจทก์หาได้ถูกจำเลยโต้แย้งสิทธิเนื่องจากเหตุที่จำเลยยื่นคำคัดค้านการที่โจทก์นำรังวัดที่ดินพิพาทไม่ จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยประเด็นปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์อีก ฉะนั้น การใช้ดุลพินิจของศาลอุทธรณ์ภาค ๑ จึงไม่ขัดต่อบทบัญญัติมาตรา ๑๔๒ ประกอบด้วยมาตรา ๑๓๑ (๒) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งดังที่โจทก์ฎีกา คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๑ ในส่วนนี้ชอบแล้ว
พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา ๓,๐๐๐ บาท แทนจำเลย.

Share