คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5652/2560

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2569 มาตรา 10 วรรคสาม บัญญัติว่า “เว้นแต่ในกรณีที่มีการหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงอากร สิทธิของกรมศุลกากรที่จะเรียกเงินอากรที่ขาด…ให้มีอายุความสิบปี… แต่ในเหตุที่ได้คำนวณจำนวนเงินอากรผิด ให้มีอายุความสองปี ทั้งนี้นับจากวันที่นำเข้าหรือส่งของออก” บทบัญญัติดังกล่าวกำหนดสิทธิเรียกร้องของกรมศุลกากรที่จะเรียกอากรขาดในกรณีไม่มีการหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงอากรให้มีอายุความสิบปีนับจากวันนำของเข้าหรือส่งออก ส่วนกรณีที่มีการหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงอากร พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ ต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/31 สิทธิเรียกร้องของรัฐในหนี้ภาษีอากรให้มีกำหนดอายุความสิบปี และมาตรา 193/12 อายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป ซึ่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 10 ทวิ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ความรับผิดในอันจะต้องเสียค่าภาษีสำหรับของที่นำเข้าเกิดขึ้นในเวลาที่นำของเข้าสำเร็จ” คือเริ่มนับตั้งแต่วันนำของเข้า ข้อพิพาทคดีนี้มิใช่เป็นกรณีฟ้องเรียกอากรที่ขาดไปในเหตุที่ได้คำนวณจำนวนเงินอากรผิด ซึ่งมีอายุความสองปี แต่เป็นกรณีมีอายุความสิบปี ไม่ว่าเป็นกรณีการหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงอากร ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/31 หรือกรณีไม่มีการหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยง ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 10 วรรคสาม ดังนั้น ไม่ว่ามีการหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงอากรหรือไม่ ก็มีกำหนดอายุความสิบปีตั้งแต่วันนำของเข้า
เมื่อใบขนสินค้า 16 ฉบับ ที่จำเลยนำเข้าเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2539 ถึงวันที่ 25 มีนาคม 2543 ซึ่งนับแต่วันนำสินค้าเข้าถึงวันที่จำเลยได้รับหนังสือแจ้งการประเมินเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2553 และโจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2554 จึงเป็นการประเมินและฟ้องคดีเกินกำหนดอายุความ 10 ปี สิทธิเรียกร้องค่าอากรของโจทก์ที่ 1 สำหรับการนำเข้าสินค้าตามใบขนสินค้าขาเข้าทั้ง 16 ฉบับดังกล่าวจึงขาดอายุความ สำหรับสินค้าที่นำเข้าวันที่ 6 พฤศจิกายน 2543 ถึงวันที่ 18 สิงหาคม 2544 รวม 5 ฉบับ โจทก์ที่ 1 ประเมินภาษีอากรที่ขาดแก่จำเลย และจำเลยได้รับหนังสือแจ้งการประเมินเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2553 เป็นการประเมินภายใน 10 ปี นับแต่วันที่จำเลยนำของเข้ามา แม้การประเมินดังกล่าวจะเป็นการประเมินอากรขาเข้ารวมอยู่ด้วยแต่การประเมินดังกล่าวเป็นกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้อำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายบังคับไว้เพื่อใช้สิทธิเรียกร้องในทางหนี้ภาษีอากร และหากผู้ถูกประเมินไม่อุทธรณ์การประเมินและฟ้องคดีต่อศาลภาษีอากรกลางภายในเวลาที่กำหนด หนี้ภาษีอากรเป็นอันยุติและจะมีการบังคับหนี้ภาษีอากรไปตามนั้น ถือเป็นกรณีที่โจทก์ที่ 1 ใช้สิทธิของเจ้าหนี้ได้กระทำการอื่นใดอันมีผลเป็นอย่างเดียว
กับการฟ้องคดี อายุความย่อมสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (5) เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 16 กันยายน 2554 จึงยังไม่เกินสิบปี คดีโจทก์ที่ 1 สำหรับใบขนสินค้าขาเข้าฯ 5 ฉบับดังกล่าวจึงไม่ขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินภาษีอากรจำนวน 61,857,763.50 บาท และเงินเพิ่มอากรขาเข้าและเงินเพิ่มอากรพิเศษในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนจากต้นเงิน 20,462,312.59 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยชำระภาษีอากรจำนวน 61,857,763.50 บาท และเงินเพิ่มอากรขาเข้ากับเงินเพิ่มอากรพิเศษในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือนหรือเศษของเดือน จากค่าอากรจำนวน 20,462,312.59 บาท นับแต่วันฟ้อง (16 กันยายน 2554) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง กับให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความ 100,000 บาท และค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี 50,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังยุติได้ว่า เมื่อระหว่างวันที่ 14 มกราคม 2539 ถึงวันที่ 18 สิงหาคม 2544 จำเลยนำเข้าสินค้าประเภทรถพลังงานไฟฟ้าใช้เฉพาะที่ (รถกอล์ฟ) จากประเทศสหรัฐอเมริกาเข้ามาในราชอาณาจักร รวม 21 ครั้ง โดยสำแดงราคาของสินค้าที่เป็นราคารวมค่าขนส่งและค่าประกันภัยหรือราคา ซี.ไอ.เอฟ. รายละเอียดปรากฏตามใบขนส่งสินค้า โดยจำเลยชำระอากรขาเข้าในอัตราร้อยละ 60 ของราคาสินค้าที่สำแดง อากรพิเศษและภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว และเจ้าพนักงานตรวจปล่อยสินค้าให้จำเลยรับไปเรียบร้อยแล้ว ต่อมาเมื่อวันที่ 21 และ 25 กันยายน 2544 เจ้าพนักงานของโจทก์ที่ 1 เข้าตรวจค้นสำนักงาน และโกดัง 2 แห่งของจำเลยตามหมายค้น และตรวจยึดเอกสารจำนวน 42 แฟ้ม กับรถกอล์ฟยี่ห้อ CLUB CAR, EZ – GO และ TAYLOR – DUNN จำนวน 55 คัน และยี่ห้อ CLUB CAR และ EZ – GO จำนวน 8 คัน เมื่อตรวจสอบเอกสารที่จำเลยแสดงประกอบใบขนสินค้า คือใบกำกับราคาสินค้า (INVOICE) และเอกสารประกอบเปรียบเทียบกับใบกำกับราคาสินค้า เอกสารแสดงราคาซื้อขายสินค้า และเอกสารอื่นที่ตรวจยึดแล้ว เจ้าพนักงานของโจทก์ที่ 1 มีเหตุเชื่อได้ว่า จำเลยสำแดงราคาสินค้ารถกอล์ฟต่ำกว่าราคาซื้อขายที่แท้จริงเพื่อหลีกเลี่ยงอากร เป็นเหตุให้จำเลยชำระอากรขาเข้า อากรพิเศษและภาษีมูลค่าเพิ่มขาดไป จึงประเมินราคาสินค้า อากรขาเข้า อากรพิเศษ และภาษีมูลค่าเพิ่มให้จำเลยชำระรวม 24,366,058.56 บาท รายละเอียดปรากฏตามแบบแจ้งการประเมินอากรขาเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่ม จำเลยไม่เห็นด้วยกับการประเมินจึงอุทธรณ์การประเมิน คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์พิจารณาแล้วมีคำวินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ จำเลยไม่ชำระค่าภาษีแก่โจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองจึงฟ้องคดีนี้
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า ฟ้องของโจทก์ที่ 1 ขาดอายุความหรือไม่ โดยจำเลยอุทธรณ์ว่า กรณีของจำเลยขาดอายุความแล้ว เนื่องจากจำเลยนำเข้าสินค้าระหว่างวันที่ 14 มกราคม 2539 ถึงวันที่ 18 สิงหาคม 2544 แต่โจทก์ที่ 1 ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2554 จึงเกินกำหนด 10 ปี นับแต่วันนำของเข้าตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 10 วรรคสาม และจำเลยนำสืบได้ว่าไม่มีเจตนาเลี่ยงค่าภาษีอากร ทั้งพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 4 สรุปคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาจำเลยแล้ว โดยวินิจฉัยว่าจำเลยไม่ได้สำแดงภาษีนำเข้าเป็นเท็จ และมิได้มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีศุลกากรแต่อย่างใด แม้คดีไม่ขึ้นสู่การพิจารณาของศาลก็ตาม ถือว่าสรุปคำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการเป็นพยานหลักฐานส่วนหนึ่งของคดีนี้แล้ว แต่ศาลภาษีอากรกลางมิได้หยิบยกข้อเท็จจริงดังกล่าวเปรียบเทียบชั่งน้ำหนักพยานที่โจทก์เสนอแต่อย่างใด นั้น พิเคราะห์แล้ว มาตรา 10 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 บัญญัติว่า “เว้นแต่ในกรณีที่มีการหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงอากร สิทธิของกรมศุลกากรที่จะเรียกเงินอากรที่ขาดเพราะเหตุอันเกี่ยวกับชนิด คุณภาพ ปริมาณ น้ำหนัก หรือราคาแห่งของใด ๆ หรือเกี่ยวกับอัตราอากรสำหรับของใด ๆ นั้น ให้มีอายุความสิบปี แต่ในเหตุที่ได้คำนวณจำนวนเงินอากรผิด ให้มีอายุความสองปี ทั้งนี้ นับจากวันที่นำของเข้าหรือส่งของออก” กรณีตามบทบัญญัติดังกล่าวกำหนดสิทธิเรียกร้องของกรมศุลกากร กรณีไม่มีการหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงภาษีอากร สิทธิของกรมศุลกากรที่จะเรียกอากรขาดให้มีอายุความสิบปีนับจากวันนำของเข้าหรือส่งของออกประการหนึ่ง และในเหตุที่ได้คำนวณจำนวนอากรผิด ให้มีอายุความสองปีนับจากวันที่นำของเข้าหรือส่งของออกอีกประการหนึ่ง ส่วนกรณีที่มีการหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงอากร พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ ต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/31 สิทธิเรียกร้องของรัฐในหนี้ภาษีอากรให้มีกำหนดอายุความสิบปี ส่วนการนับอายุความกรณีนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/12 อายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป ซึ่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 10 ทวิ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ความรับผิดในอันจะต้องเสียค่าภาษีสำหรับของที่นำเข้าเกิดขึ้นในเวลาที่นำของเข้าสำเร็จ” ก็คือเริ่มนับ ตั้งแต่วันนำของเข้า ซึ่งกรมศุลกากรอาจบังคับเรียกเงินอากรที่ขาดได้เพราะกรณีที่มีการหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงอากร เห็นว่า ข้อพิพาทคดีนี้มิใช่เป็นกรณีโจทก์ที่ 1 ฟ้องเรียกอากรที่ขาดไปในเหตุที่ได้คำนวณจำนวนเงินอากรผิด ซึ่งมีอายุความสองปีนับแต่วันที่นำของเข้า แต่เป็นกรณีมีอายุความสิบปี ไม่ว่าเป็นกรณีมีการหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงอากรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/31 หรือกรณีไม่มีการหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยง แต่โจทก์ที่ 1 ฟ้องเรียกอากรที่ขาดไปเพราะเหตุเกี่ยวกับราคาแห่งของใด ๆ นั้น ตามมาตรา 10 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 ดังนั้น ไม่ว่ามีการหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงอากรหรือไม่ ก็มีกำหนดอายุความสิบปีตั้งแต่วันนำของเข้า แตกต่างเฉพาะตัวบทกฎหมายที่อ้างอิงเท่านั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ใบขนสินค้าที่นำเข้าเมื่อวันที่ 14 มกราคม, 26 กุมภาพันธ์, 9 มีนาคม, 5 พฤษภาคม, 16 มิถุนายน, 4 และ 20 กรกฎาคม, 2 สิงหาคม, 28 กันยายน, 26 ตุลาคม, 2 และ 16 พฤศจิกายน และ 18 ธันวาคม 2539, 28 มกราคม, 12 ธันวาคม 2542 และ 25 มีนาคม 2543 ซึ่งนับแต่วันนำสินค้าเข้าถึงวันที่จำเลยได้รับหนังสือแจ้งการประเมินเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2553 และโจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2554 จึงเป็นการประเมินและฟ้องคดีเกินกำหนดอายุความ 10 ปี สิทธิเรียกร้องค่าอากรของโจทก์ที่ 1 สำหรับการนำเข้าสินค้าตามใบขนสินค้าขาเข้าฯ ทั้ง 16 ฉบับดังกล่าวจึงขาดอายุความ สำหรับสินค้าที่นำเข้าวันที่วันที่ 6 และ 17 พฤศจิกายน 2543 และวันที่ 4, 11 และ 18 สิงหาคม 2544 โจทก์ที่ 1 ประเมินภาษีอากรที่ขาดแก่จำเลย และจำเลยได้รับหนังสือแจ้งการประเมินเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2553 เป็นการประเมินภายใน 10 ปี นับแต่วันที่จำเลยนำของเข้ามา แม้การประเมินดังกล่าวจะเป็นการประเมินอากรขาเข้าอยู่ด้วย แต่การประเมินดังกล่าวเป็นกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้อำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายบังคับไว้เพื่อใช้สิทธิเรียกร้องในทางหนี้ภาษีอากร และหากผู้ถูกประเมินไม่อุทธรณ์การประเมินและฟ้องคดีต่อศาลภาษีอากรกลางภายในเวลาที่กำหนด หนี้ภาษีอากรเป็นอันยุติและจะมีการบังคับหนี้ภาษีอากรไปตามนั้น ถือเป็นกรณีที่โจทก์ที่ 1 ใช้สิทธิของเจ้าหนี้ได้กระทำการอื่นใดอันมีผลเป็นอย่างเดียวกับการฟ้องคดี อายุความย่อมสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14 (5) เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 16 กันยายน 2554 จึงยังไม่เกินสิบปี คดีโจทก์ที่ 1 สำหรับใบขนสินค้าขาเข้าฯ 5 ฉบับดังกล่าวจึงไม่ขาดอายุความ สำหรับภาษีมูลค่าเพิ่มจำเลยไม่ได้กล่าวอ้างให้ชัดแจ้งในคำอุทธรณ์ จึงไม่รับวินิจฉัย ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ว่า ศาลภาษีอากรกลางมิได้หยิบยกข้อเท็จจริงใดจากการสรุปสำนวนสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการขึ้นวินิจฉัยเปรียบเทียบกับน้ำหนักพยานที่โจทก์ทั้งสองนำเสนอมา จึงไม่เป็นประโยชน์แก่การวินิจฉัย เพราะไม่ทำให้ผลของอายุความเปลี่ยนแปลงไป อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนการประเมินเฉพาะอากรตามใบขนสินค้าขาเข้าเลขที่ 0551 – 0014300156, 0581 – 00034306325, 0106 – 00192468,0106 – 00590305, 0110 – 00690373, 0106 – 00391626, 0110 – 00790523, 0110 – 00791840, 0110 – 00890296, 0110 – 01291498, 0110 – 01092438, 0110 – 01191546, 0110 – 01190864, 0302 – 00291571, 0114 – 00220002, 0110 – 01090233 ตามหนังสือแจ้งการประเมินเลขที่ กค 0521(6)/3 – 3 – 01452 ถึง 01472 ลงวันที่ 8 กันยายน 2553 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ ที่ กอ 45/2554/ป3/2554(4.5) ลงวันที่ 26 กรกฎาคม 2554 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง ให้จำเลยใช้ค่าทนายความแทนโจทก์ทั้งสอง 100,000 บาท

Share