คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5253/2560

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.ศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ.2482 มาตรา 19 ทวิ บัญญัติว่า “ของที่ส่งออกไปยังเมืองต่างประเทศ… ถ้าพิสูจน์เป็นที่พอใจอธิบดีหรือผู้ที่อธิบดีมอบหมายว่าได้ผลิตหรือผสมหรือประกอบหรือบรรจุด้วยของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักร ให้คืนเงินอากรขาเข้าสำหรับของดังกล่าวที่ได้เรียกเก็บไว้แล้วให้แก่ผู้นำของเข้า ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขดังต่อไปนี้…(ง) ของนั้นได้ส่งออกไปภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่นำของซึ่งใช้ในการผลิต ผสม หรือประกอบเป็นของที่ส่งออก หรือใช้บรรจุของที่ส่งออก เข้ามาในราชอาณาจักร เว้นแต่ในกรณีมีเหตุสุดวิสัยทำให้ไม่อาจส่งออกภายในกำหนดเวลาดังกล่าวได้ อธิบดีอาจขยายเวลาออกไปได้อีกไม่เกินหกเดือน…” และมาตรา 19 ตรี บัญญัติว่า “เมื่อผู้นำของเข้าแสดงความจำนงว่าของที่นำเข้าจะใช้เฉพาะในการผลิต… เพื่อการส่งออกไปยังเมืองต่างประเทศ… อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายจะอนุญาตให้รับการค้ำประกัน… แทนการชำระอากรขาเข้าที่ต้องเสีย…เมื่อมีการส่งออกซึ่งของที่จะได้คืนเงินอากรตามมาตรา 19 ทวิ ก็ให้คืนหลักประกันโดยถือเสมือนว่าเป็นการคืนเงินอากร”
การคืนเงินภาษีอากรที่ได้ชำระแล้วหรือการคืนเงินประกันโดยถือเสมือนว่าเป็นการคืนเงินอากรตามมาตรา 19 ทวิ กำหนดไว้เพียงกรณีเดียว คือ เมื่อผู้นำเข้าได้พิสูจน์ให้เป็นที่พอใจอธิบดีว่าของที่ส่งออกไปยังเมืองต่างประเทศนั้น ได้ผลิตหรือผสมหรือประกอบหรือบรรจุด้วยของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักร ทั้งต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามมาตรา 19 ทวิ (ก) ถึง (จ)
แม้กากถั่วเหลืองที่โจทก์นำเข้าได้ใช้ผสมอาหารสัตว์เลี้ยงไก่เพื่อส่งไก่สดแช่แข็งไปจำหน่ายในต่างประเทศ และเหตุที่โจทก์ไม่สามารถส่งออกไก่สดแช่แข็งดังกล่าวได้ภายในกำหนดเวลาของกฎหมายนั้นจะเกิดจากการที่ต่างประเทศห้ามนำเข้าไก่สดแช่แข็งจากกรณีภัยพิบัติไข้หวัดนก อันมิใช่ความผิดของโจทก์ก็ตาม ก็หาใช่เหตุตามมาตรา 19 ทวิ ที่โจทก์ไม่ต้องรับผิดชำระอากรขาเข้าแต่อย่างใด จำเลยจึงไม่ต้องคืนเงินอากรขาเข้าแก่โจทก์
การที่โจทก์ไม่สามารถส่งออกผลิตภัณฑ์ได้เพราะ รัฐบาลห้ามส่งออก คู่ค้าต่างประเทศประกาศห้ามนำเข้าไก่สดแช่แข็งจากประเทศไทย อันเป็นเหตุจากไข้หวัดนกระบาด รัฐบาลประกาศภัยพิบัติไข้หวัดนกให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องหาแนวทางให้ความช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ผู้ประสบภัยโดยออกประกาศกรมศุลกากรที่ 28/2547 ขยายเวลาการส่งออกไก่สดเป็ดสดแช่เย็นแช่แข็ง และผลิตภัณฑ์อาหารที่ปรุงจากเนื้อไก่เป็ด ออกไปอีกหกเดือนสำหรับการนำเข้าตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2546 ถึงวันที่ 30 เมษายน 2547 โจทก์ก็ยังไม่สามารถส่งออกไก่สดแช่แข็งได้จากเหตุภัยพิบัติดังกล่าว ซึ่งเป็นเหตุที่ไม่ใช่ความผิดของโจทก์ กรณีจึงมีเหตุงดเงินเพิ่มแก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ 1,426,707.41 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 0.625 ต่อเดือน ของต้นเงิน 952,350.76 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติโดยคู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นนี้ว่า เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2546 โจทก์นำเข้าสินค้าประเภทกากถั่วเหลืองเป็นวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตอาหารสัตว์จากสหพันธ์สาธารณรัฐบราซิลเข้ามาในราชอาณาจักรไทยเพื่อใช้ในการผลิต ผสม ประกอบหรือบรรจุเป็นอาหารสัตว์ใช้เลี้ยงไก่เพื่อส่งออกไก่สดแช่แข็งไปจำหน่ายยังต่างประเทศ โดยยื่นใบขนสินค้าขาเข้าเลขที่ 2801-00646-80554 พร้อมแบบแสดงรายการภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่มต่อจำเลยว่า เป็นสินค้าที่นำเข้ามาผลิตเพื่อส่งออกภายใน 1 ปี นับแต่วันนำเข้า และแสดงความจำนงขอคืนเงินอากรขาเข้า 1,008,928 บาท ตามมาตรา 19 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ.2482 โดยนำหนังสือค้ำประกันของธนาคารซิตี้แบงก์ เลขที่ 5023167009 ลงวันที่ 16 มิถุนายน 2546 วงเงินค้ำประกัน 1,009,000 บาท วางประกันค่าอากรขาเข้าต่อจำเลย พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยจึงได้ตรวจปล่อยสินค้าให้โจทก์รับไป ต่อมาเกิดเหตุการณ์ไข้หวัดนกระบาด รัฐบาลประกาศภัยพิบัติไข้หวัดนก ให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องหาแนวทางให้ความช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ผู้ประสบภัยพิบัติ โดยออกประกาศกรมศุลกากรที่ 28/2547 ลงวันที่ 22 มีนาคม 2547 เรื่องการขยายเวลาการส่งออกไก่สดเป็ดสด แช่เย็นแช่แข็ง และผลิตภัณฑ์อาหารที่ปรุงจากเนื้อไก่เป็ด ขยายเวลาการส่งออกไปอีกหกเดือนสำหรับการนำเข้าตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2546 ถึงวันที่ 30 เมษายน 2547 เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2547 โจทก์ยื่นคำขอคืนหลักประกันที่โจทก์ใช้ค้ำประกันแทนการชำระอากรขาเข้าที่ต้องเสียสำหรับกากถั่วเหลืองปริมาณ 719,303.137 กิโลกรัม ที่โจทก์นำเข้าและได้ใช้ทำการผลิตสินค้าและส่งออกไปนอกราชอาณาจักรภายใน 1 ปี นับแต่วันนำเข้า รวมทั้งภายในระยะเวลาอีก 6 เดือน ที่ได้รับการขยายระยะเวลาการส่งออกตามประกาศของจำเลย ซึ่งกากถั่วเหลืองจำนวนดังกล่าวเป็นเพียงบางส่วนของกากถั่วเหลืองปริมาณ 2,088,000 กิโลกรัม ที่โจทก์นำเข้าตามใบขนสินค้าขาเข้าเลขที่ 2801-00646-80554 และตามใบขนสินค้าขาเข้าฉบับอื่น ๆ รวม 10 ฉบับ พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยตรวจสอบและพิจารณาอนุมัติคืนเงินอากรและอนุมัติคืนค่าประกันตามส่วนที่ส่งออกให้แก่โจทก์ครบถ้วนตามที่ยื่นคำขอ คงเหลือยอดกากถั่วเหลืองที่โจทก์ยังไม่ได้ผลิตสินค้าและส่งออกไปนอกราชอาณาจักรภายใน 1 ปี นับแต่วันนำเข้า และพ้นกำหนดระยะเวลาหกเดือนตามที่จำเลยได้ขยายระยะเวลาส่งออก เป็นจำนวน 1,368,696.863 กิโลกรัม พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยคิดคำนวณอากรขาเข้าและเงินเพิ่มที่โจทก์ต้องรับผิดเป็นอากรขาเข้า 661,354 บาท เงินเพิ่มถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2550 จำนวน 290,996.76 บาท โจทก์ชำระอากรขาเข้าและเงินเพิ่มแล้ว วันที่ 8 สิงหาคม 2549 คณะรัฐมนตรีมีมติให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับเรื่องการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติไข้หวัดนกไปเสนอคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) เพื่อพิจารณา ต่อมาสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง จัดการประชุมร่วมกับกรมปศุสัตว์ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เห็นควรให้ความช่วยเหลือโจทก์สำหรับผลความเสียหายในส่วนของภาระอากรขาเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่เกิดจากการเลี้ยงไก่เพื่อส่งออกกรณีของตู้ตีกลับ กรณีการยกเลิกคำสั่งซื้อล่วงหน้าและเงินเพิ่มร้อยละ 1 ต่อเดือน สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2546 ถึงวันที่ 30 เมษายน 2547 โดยมอบหมายให้จำเลยคำนวณภาระอากรขาเข้าและเงินเพิ่มที่เกิดขึ้นเพื่อเสนอพิจารณาจ่ายเงินชดเชยเพื่อเยียวยาผลกระทบที่เกิดจากเหตุการณ์ดังกล่าวตามหนังสือสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ที่ กค. 1005/1341 ลงวันที่ 4 พฤษภาคม 2544 จำเลยคำนวณภาระอากรขาเข้าและเงินเพิ่มที่เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาดังกล่าวตามที่ได้รับมอบหมายแล้ว พบว่า มีใบขนสินค้าขาเข้า 12 ฉบับ ที่เป็นการวางประกันและเป็นกรณีที่ตู้ตีกลับ หรือยกเลิกคำสั่งซื้อ ทำให้จำเลยสามารถคิดเงินเพิ่มได้เพียง 12 ใบ ขนสินค้าขาเข้าเท่านั้น คิดเป็นเงิน 4,877,872.39 บาท จากเดิมที่คิดเงินเพิ่มจากใบขนสินค้าขาเข้า 16 ฉบับ เป็นเงิน 9,531,987.67 บาท จำเลยมีหนังสือที่ กค. 0520/16505 ลงวันที่ 28 ธันวาคม 2555 แจ้งผลการพิจารณาทบทวนผลกระทบความเสียหายให้โจทก์ทราบ วันที่ 28 ธันวาคม 2555 จำเลยมีบันทึกข้อความ เรื่อง การพิจารณากรณีบริษัทซันฟีด จำกัด ได้รับความเสียหายเพราะเหตุแห่งภัยพิบัติไข้หวัดนก แจ้งกรณีเงินเพิ่มที่ได้ทบทวนใหม่ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทราบ ต่อมาวันที่ 12 มกราคม 2556 กระทรวงการคลังมีหนังสือ ที่ กค. 0520/2440 แจ้งไปยังสำนักนายกรัฐมนตรีทราบเนื่องจากโจทก์ร้องเรียนไปยังนายกรัฐมนตรี วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2556 กระทรวงการคลังมีหนังสือ ที่ กค. 0520/2439 แจ้งไปยังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพื่อดำเนินการช่วยเหลือโจทก์ตามมติคณะรัฐมนตรี หลังจากนั้นโจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า จำเลยต้องคืนเงินอากรขาเข้าและเงินเพิ่มพร้อมดอกเบี้ยตามฟ้องแก่โจทก์หรือไม่ โจทก์อุทธรณ์ว่า มาตรา 19 ทวิ และมาตรา 19 ตรี แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ.2482 มีวัตถุประสงค์ให้ผู้นำเข้าที่ประกอบกิจการส่งออกสินค้าไปจำหน่ายในต่างประเทศได้รับการยกเว้นอากรขาเข้าขณะนำเข้าตามมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 เสมือนว่าไม่ได้นำวัตถุดิบเข้ามาในประเทศ เมื่อขณะนำเข้าโจทก์ได้รับยกเว้นอากรขาเข้าตามมาตรา 19 ทวิ โดยชอบแล้ว แต่ต่อมาโจทก์ไม่สามารถส่งออกผลิตภัณฑ์ได้เพราะรัฐบาลห้ามส่งออก คู่ค้าต่างประเทศประกาศห้ามนำเข้าไก่สดแช่แข็งจากประเทศไทย อันเป็นเหตุจากไข้หวัดนกระบาดซึ่งเป็นสาธารณภัยตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 มาตรา 4 เป็นเหตุให้ต้องบังคับใช้กฎหมายในทางคุ้มครองโจทก์ โดยต้องยกเว้นอากรขาเข้าและเงินเพิ่มที่เรียกเก็บจากโจทก์ และโจทก์ได้พิสูจน์ว่าไก่สดแช่แข็งที่เลี้ยงจากอาหารสัตว์ที่ผลิตจากกากถั่วเหลืองที่นำเข้าตามใบขนสินค้าพิพาทได้เตรียมส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศแล้ว แต่ต่อมาถูกยกเลิกคำสั่งซื้อเพราะรัฐบาลมีคำสั่งห้ามการส่งออก และรัฐบาลต่างประเทศห้ามนำเข้าไก่สดแช่แข็ง ถือว่าโจทก์ปฏิบัติหน้าที่ครบถ้วนมีสิทธิได้รับยกเว้นอากรขาเข้าตามมาตรา 19 ทวิ นั้น ปัญหานี้พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ.2482 มาตรา 19 ทวิ บัญญัติว่า “ของที่ส่งออกไปยังเมืองต่างประเทศหรือส่งไปเป็นของใช้สิ้นเปลืองในเรือเดินทางไปเมืองต่างประเทศ ถ้าพิสูจน์เป็นที่พอใจอธิบดีหรือผู้ที่อธิบดีมอบหมายว่าได้ผลิตหรือผสมหรือประกอบหรือบรรจุด้วยของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักร ให้คืนเงินอากรขาเข้าสำหรับของดังกล่าวที่ได้เรียกเก็บไว้แล้วให้แก่ผู้นำของเข้า ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขดังต่อไปนี้… (ง) ของนั้นได้ส่งออกไปภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่นำของซึ่งใช้ในการผลิต ผสม หรือประกอบเป็นของที่ส่งออก หรือใช้บรรจุของที่ส่งออก เข้ามาในราชอาณาจักร เว้นแต่ในกรณีมีเหตุสุดวิสัยทำให้ไม่อาจส่งออกภายในกำหนดเวลาดังกล่าวได้ อธิบดีขยายเวลาออกไปได้อีกไม่เกินหกเดือน และ (จ) ต้องขอคืนเงินอากรภายในหกเดือนนับแต่วันที่ส่งของนั้นออกไป แต่อธิบดีจะขยายเวลาออกไปตามที่เห็นสมควรก็ได้” และมาตรา 19 ตรี บัญญัติว่า “เมื่อผู้นำของเข้าแสดงความจำนงว่าของที่นำเข้าจะใช้เฉพาะในการผลิต ผสม ประกอบ หรือบรรจุ เพื่อการส่งออกไปยังเมืองต่างประเทศ หรือส่งไปเป็นของใช้สิ้นเปลืองในเรือเดินทางไปเมืองต่างประเทศ อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายจะอนุญาตให้รับการค้ำประกันของกระทรวงการคลังหรือธนาคาร หรือหลักประกันอื่น แทนการชำระอากรขาเข้าที่ต้องเสีย โดยอาจกำหนดเงื่อนไขตามที่เห็นสมควรก็ได้ เมื่อมีการส่งออกซึ่งของที่จะได้คืนเงินอากรตามมาตรา 19 ทวิ ก็ให้คืนหลักประกันโดยถือเสมือนว่าเป็นการคืนเงินอากร” ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นว่า โจทก์ได้ใช้กากถั่วเหลืองในการผลิตสินค้าและส่งออกไปนอกราชอาณาจักรภายใน 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์ได้นำกากถั่วเหลืองดังกล่าวเข้ามาในราชอาณาจักรและภายในกำหนดระยะเวลาหกเดือนที่ขยายออกไปตามประกาศกรมศุลกากร ที่ 28/2547 เพียงบางส่วน ยังคงเหลือสินค้ากากถั่วเหลืองอีก 1,368,696.863 กิโลกรัม ที่โจทก์ใช้ในการผลิตสินค้า แต่สินค้ามิได้ส่งออกไปนอกราชอาณาจักร แม้จะได้ความจากนายจำลอง กรรมการของโจทก์ว่า กากถั่วเหลืองตามใบขนสินค้าขาเข้าเลขที่ 2801-00646-80554 ที่นำมาใช้ในการผลิตสินค้า สินค้าดังกล่าวถูกยกเลิกคำสั่งซื้อจากต่างประเทศจากเหตุการณ์ภัยพิบัติไข้หวัดนก ทำให้โจทก์ไม่สามารถส่งออกสินค้าได้ภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดก็ตาม แต่การคืนเงินภาษีอากรที่ได้ชำระแล้วหรือการคืนประกันโดยถือเสมือนว่าเป็นการคืนเงินอากรตามมาตรา 19 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ.2482 กำหนดไว้เพียงกรณีเดียว คือ เมื่อผู้นำเข้าได้พิสูจน์ให้เป็นที่พอใจอธิบดีกรมศุลกากรหรือผู้ที่อธิบดีกรมศุลกากรมอบหมายว่าของที่ส่งออกไปยังเมืองต่างประเทศนั้น ได้ผลิตหรือผสมหรือประกอบหรือบรรจุด้วยของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักร ทั้งต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามมาตรา 19 ทวิ (ก) ถึง (จ) ด้วย เมื่อสินค้ากากถั่วเหลืองที่โจทก์นำเข้ามา 1,368,696.863 กิโลกรัม ตามใบขนสินค้าขาเข้าเลขที่ 2801-00646-80554 เป็นสินค้าที่ใช้ในการผลิต ผสม หรือประกอบเป็นของส่งออก แต่โจทก์ไม่สามารถส่งออกไปเมืองต่างประเทศภายใน 1 ปี นับแต่วันนำของเข้า และภายในกำหนดเวลาหกเดือนตามที่จำเลยได้ขยายระยะเวลาส่งออกให้ตามประกาศกรมศุลกากรที่ 28/2547 ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรา 19 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ.2482 โจทก์จึงไม่อาจขอคืนเงินอากรขาเข้าจากจำเลยได้ แม้เหตุที่โจทก์ไม่สามารถส่งออกสินค้าที่นำเข้ามาได้ภายในกำหนดเวลาของกฎหมายนั้นจะเกิดจากการที่ต่างประเทศห้ามนำเข้าไก่สดแช่แข็งจากกรณีภัยพิบัติไข้หวัดนก อันมิใช่ความผิดของโจทก์ก็ตาม ก็หาใช่เหตุตามมาตรา 19 ทวิ ที่โจทก์ไม่ต้องรับผิดชำระอากรขาเข้าแก่จำเลยแต่อย่างใด จำเลยจึงไม่ต้องคืนเงินอากรขาเข้าที่โจทก์ได้ชำระไปแล้วแก่โจทก์ ส่วนประเด็นว่า จำเลยต้องคืนเงินเพิ่มพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์หรือไม่นั้น เห็นว่า การที่โจทก์ไม่สามารถส่งออกผลิตภัณฑ์ได้เพราะรัฐบาลห้ามส่งออก คู่ค้าต่างประเทศประกาศห้ามนำเข้าไก่สดแช่แข็งจากประเทศไทย อันเป็นเหตุจากไข้หวัดนกระบาด รัฐบาลประกาศภัยพิบัติไข้หวัดนก ให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อหาแนวทางให้ความช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ผู้ประสบภัยโดยออกประกาศกรมศุลกากรที่ 28/2547 เรื่อง การขยายเวลาการส่งออกไก่สดเป็ดสดแช่เย็นแช่แข็ง และผลิตภัณฑ์อาหารที่ปรุงจากเนื้อไก่เป็ด ออกไปอีกหกเดือนสำหรับการนำเข้าตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2546 ถึงวันที่ 30 เมษายน 2547 โจทก์ก็ยังไม่สามารถส่งออกไก่สดแช่แข็งได้จากเหตุภัยพิบัติดังกล่าว ซึ่งเป็นเหตุที่ไม่ใช่ความผิดของโจทก์ กรณีจึงมีเหตุงดเงินเพิ่มแก่โจทก์ ดังนั้นจำเลยต้องคืนเงินเพิ่มที่โจทก์ชำระไว้แล้ว 290,996.76 บาท ส่วนดอกเบี้ยที่ขอมานั้นตามพฤติการณ์แห่งคดีไม่ควรกำหนดให้
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยคืนเงินเพิ่มที่โจทก์ชำระไว้แล้ว 290,996.76 บาท แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

Share