คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7990/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ร้อยตำรวจเอก ป. และนายดาบตำรวจ ว. ผู้จับกุมจำเลยเป็นผู้ร่วมวางแผนล่อซื้อยาเสพติดให้โทษตามที่สายลับได้แจ้งว่ามีพ่อค้ายาเสพติดให้โทษสัญชาติลาวจะขายฝิ่นและเมทแอมเฟตามีนให้มาตั้งแต่ต้น และได้มีการปฏิบัติตามแผนที่วางไว้จนสามารถจับกุมจำเลยซึ่งมีสัญชาติลาวได้พร้อมฝิ่นสุกและเมทแอมเฟตามีนของกลางที่ตกลงซื้อขายกัน คำเบิกความของร้อยตำรวจเอก ป. และ นายดาบตำรวจ ว. สอดคล้องต่อเนื่องเชื่อมโยงกันในข้อสาระสำคัญโดยไม่มีข้อพิรุธตั้งแต่จำเลยได้ร่วมเจรจาตกลงซื้อขายยาเสพติดให้โทษกับสายลับและเจ้าหน้าที่ปราบปรามยาเสพติดของประเทศสหรัฐอเมริกา กับเจ้าพนักงานตำรวจที่ปลอมตัวเป็นพ่อค้า และร้อยตำรวจเอก ป. ได้ถ่ายรูปจำเลยไว้ในวันดังกล่าวด้วยซึ่งจำเลยก็ยอมรับว่ามีจำเลยอยู่ในภาพถ่ายดังกล่าวจริง นอกจากนั้นจำเลยยังร่วมตรวจสอบเงินที่ใช้ล่อซื้อ เป็นผู้บอกพวกของจำเลยให้พานายดาบตำรวจ ว. ไปรับยาเสพติดให้โทษโดยจำเลยมิได้ไปด้วย แต่รออยู่ที่ห้องพักในโรงแรมกับเจ้าหน้าที่ปราบปรามยาเสพติดของประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อรับมอบเงิน เมื่อนายดาบตำรวจ ว. รับมอบยาเสพติดให้โทษที่ตกลงซื้อแล้วพวกของจำเลยที่พาไปเอายาเสพติดให้โทษก็ไม่กลับไปกับนายดาบตำรวจ ว. แต่บอกให้นายดาบตำรวจ ว. นำจำเลยมาส่งที่จุดรับยาเสพติดให้โทษเมื่อจำเลยรับเงินค่ายาเสพติดแล้ว พฤติกรรมของจำเลยกับพวกดังกล่าวเห็นได้ว่ามีการวางแผนเป็นอย่างดี โดยแบ่งหน้าที่กันทำเพื่อป้องกันมิให้ถูกจับกุมได้พร้อมยาเสพติดให้โทษที่ตกลงซื้อขายโดยไม่นำยาเสพติดให้โทษติดตัวมาด้วย เพื่อจำเลยจะใช้เป็นข้อต่อสู้เมื่อถูกจับกุมได้ พฤติการณ์ดังกล่าวฟังได้ว่าจำเลยกับพวกเป็นตัวการร่วมกันกระทำความผิดตามฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 16, 17, 65, 66, 67, 68, 69, 102ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91 และริบเมทแอมเฟตามีนกับฝิ่นสุกของกลาง

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคสอง (ที่ถูกมาตรา 15วรรคหนึ่งและวรรคสอง), 16, 17 วรรคสอง (ที่ถูกมาตรา 17 วรรคหนึ่งและวรรคสอง), 65 วรรคสอง, 66 วรรคสอง, 68 วรรคสองและมาตรา 69วรรคสี่ ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ฐานนำเข้าซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 เพื่อจำหน่าย มีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ลงโทษฐานนำเข้าซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 เพื่อจำหน่ายซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดให้ประหารชีวิตฐานนำเข้าซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 เพื่อจำหน่าย (ที่ถูกฐานนำเข้าซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 2) มีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 ลงโทษฐานจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 (ที่ถูกลงโทษฐานนำเข้าซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 2)ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดให้จำคุกตลอดชีวิต แต่ศาลได้พิพากษาลงโทษประหารชีวิตแล้ว จึงไม่อาจลงโทษจำคุกจำเลยตลอดชีวิตได้อีกคงลงโทษประหารชีวิตสถานเดียว ริบเมทแอมเฟตามีนและฝิ่นสุกของกลาง

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยได้และยึดเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำนวน 17,947 เม็ด น้ำหนัก 1,627.83 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 249.664 กรัม ฝิ่นสุกอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 2จำนวน 100 ห่อน้ำหนัก 98,694 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้15,524.566 กรัม และโทรศัพท์มือถือโมโตโรล่าหมายเลขโทรศัพท์01-9990367 เป็นของกลาง มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยว่าจำเลยได้กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ โจทก์มีร้อยตำรวจเอกประจวบขุลีดี ผู้จับกุมจำเลยมาเบิกความเป็นพยานว่า เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม 2540 พยานได้รับแจ้งจากสายลับว่ามีพ่อค้ายาเสพติดให้โทษสัญชาติลาวติดต่อจำหน่ายฝิ่นและเมทแอมเฟตามีนให้ จึงรายงานผู้บังคับบัญชาและได้รับคำสั่งให้สืบสวนและวางแผนจับกุม ต่อมาวันที่ 20 กรกฎาคม2540 เวลา 11 นาฬิกา สายลับและนายดาบตำรวจประสิทธิ์ ชาหอมชื่นพร้อมเจ้าหน้าที่ปราบปรามยาเสพติดของประเทศสหรัฐอเมริกาได้ปลอมตัวเป็นพ่อค้าไปติดต่อเจรจาขอซื้อฝิ่นและเมทแอมเฟตามีนจากจำเลยกับพวกที่โรงแรมหนองคายแกรนด์ จังหวัดหนองคาย โดยพยานไปสังเกตการณ์และถ่ายรูปจำเลยกับพวกไว้ตามภาพถ่ายหมาย ป.จ.1 (ศาลจังหวัดอุดรธานี)มีการเจรจาซื้อขายยาเสพติดให้โทษกันที่ห้องอาหารภายในโรงแรมหนองคายแกรนด์นานประมาณ 1 ชั่วโมง จากนั้นนายดาบตำรวจประสิทธิ์ขับรถไปส่งจำเลยกับพวกที่บริเวณสะพานมิตรภาพไทย-ลาว ต่อมาสายลับและเจ้าหน้าที่ปราบปรามยาเสพติดของประเทศสหรัฐอเมริกาแจ้งต่อพยานว่า ได้สั่งซื้อฝิ่น100 กิโลกรัม ราคากิโลกรัมละ 21,000 บาท และเมทแอมเฟตามีน 50 มัดประมาณ 100,000 เม็ด ราคามัดละ 80,000 บาท รวมเป็นเงิน 6,100,000บาท และจำเลยกับพวกได้ให้หมายเลขโทรศัพท์มือถือเพื่อติดต่อ คือหมายเลข01-9990367 และหมายเลขโทรศัพท์ที่ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว หมายเลข 007856-20-514367 ต่อมาสายลับและเจ้าหน้าที่ปราบปรามยาเสพติดของประเทศสหรัฐอเมริกาได้โทรศัพท์แจ้งไปยังจำเลยกับพวกเพื่อขอรับมอบยาเสพติดให้โทษที่สั่งซื้อ พยานและนายดาบตำรวจวิรัตน์ สิทธิ์ทองหลาง กับพวกวางแผนจับกุมโดยใช้โรงแรมมณีรัตน์รีสอร์ทอำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย เป็นสถานที่ส่งมอบยาเสพติดให้โทษให้นายดาบตำรวจวิรัตน์ปลอมตัวเป็นคนขับรถของเจ้าหน้าที่ปราบปรามยาเสพติดของประเทศสหรัฐอเมริกา วันที่ 5 กันยายน 2540 พยานมอบเงิน6,000,000 บาท ที่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยปราบปรามยาเสพติดให้แก่เจ้าหน้าที่ปราบปรามยาเสพติดของประเทศสหรัฐอเมริกานำไปให้จำเลยตรวจสอบที่โรงแรมหนองคายแกรนด์ในเวลา 11 นาฬิกา หลังจากนั้นสายลับกับพวกได้พาจำเลยกับพวกไปพักที่โรงแรมมณีรัตน์รีสอร์ทเวลา 13 นาฬิกา เจ้าหน้าที่ปราบปรามยาเสพติดของประเทศสหรัฐอเมริกาโทรศัพท์แจ้งพยานว่านัดหมายส่งมอบยาเสพติดให้โทษซึ่งนำมาจากประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวในเวลา 2 นาฬิกาของวันที่ 6 กันยายน 2540 พยานกับพวกเฝ้าสังเกตการณ์ ในเวลา 16.30นาฬิกามีรถยนต์ 2 คันแล่นเข้ามายังโรงแรมมณีรัตน์รีสอร์ท คันหนึ่งมีเจ้าหน้าที่ปราบปรามยาเสพติดของประเทศสหรัฐอเมริกานั่งมากับจำเลยส่วนอีกคันหนึ่งนายดาบตำรวจวิรัตน์และนายหนอมนั่งร่วมกันมา ทั้งหมดได้เข้าพักที่โรงแรมมณีรัตน์รีสอร์ท ต่อมาเวลา 3.30 นาฬิกาของวันที่ 6กันยายน 2540 นายดาบตำรวจวิรัตน์ขับรถออกจากโรงแรมมณีรัตน์รีสอร์ทไปกับนายหนอมพวกของจำเลยซึ่งพยานทราบภายหลังว่าไปรับยาเสพติดให้โทษที่บริเวณข้างวัดอรัญ ริมฝั่งแม่น้ำโขงจนกระทั่งเวลา 4.30 นาฬิกานายดาบตำรวจวิรัตน์ขับรถกลับมาที่โรงแรมเพียงคนเดียวและให้สัญญาณว่าล่อซื้อยาเสพติดให้โทษได้แล้วให้จับกุมจำเลย พยานกับพวกจึงเข้าจับกุมจำเลยที่ห้องพักโรงแรมมณีรัตน์รีสอร์ท และโจทก์มีนายดาบตำรวจวิรัตน์ซึ่งเป็นผู้ร่วมจับกุมจำเลยมาเบิกความสนับสนุนยืนยันว่า เมื่อประมาณต้นเดือนกรกฎาคม 2540 พยานทราบว่าจะมีการลักลอบจำหน่ายยาเสพติดให้โทษและประเภทฝิ่นและเมทแอมเฟตามีนให้แก่สายลับจากร้อยตำรวจเอกประจวบหัวหน้าชุดจับกุมและพยานได้เข้าร่วมประชุมวางแผนจับกุมกับร้อยตำรวจเอกประจวบและเจ้าพนักงานตำรวจอื่นโดยให้พยานปลอมตัวเป็นคนขับรถของเสี่ยซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ปราบปรามยาเสพติดของประเทศสหรัฐอเมริกา วันที่ 5 กันยายน 2540 เวลา 11 นาฬิกา พยานได้ขับรถพาเจ้าหน้าที่ปราบปรามยาเสพติดของประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งปลอมตัวเป็นเสี่ยไปยังโรงแรมหนองคายแกรนด์เพื่อนำเงินที่ใช้ล่อซื้อให้จำเลยกับพวกตรวจสอบตามที่นัดหมายกันไว้ หลังจากนั้นพยานและเจ้าหน้าที่ปราบปรามยาเสพติดของประเทศสหรัฐอเมริกาพร้อมด้วยจำเลยกับพวกได้เดินทางไปพักที่โรงแรมมณีรัตน์รีสอร์ทเพื่อรอการส่งมอบยาเสพติดให้โทษและเงินครั้นเวลา 3.30 นาฬิกาของวันที่ 6 กันยายน 2540 ขณะที่พยานอยู่ในห้องพักโรงแรมมณีรัตน์รีสอร์ทโดยมีเจ้าหน้าที่ปราบปรามยาเสพติดของประเทศสหรัฐอเมริกาและจำเลยกับพวกพักอยู่ห้องเดียวกับพยาน จำเลยพูดกับนายหนอมพวกของจำเลยว่าถึงเวลารับของแล้วให้พยานขับรถออกจากโรงแรมมณีรัตน์รีสอร์ทไปกับนายหนอมเพื่อไปรับยาเสพติดให้โทษส่วนจำเลยกับเจ้าหน้าที่ปราบปรามยาเสพติดของประเทศสหรัฐอเมริการออยู่ที่ห้องพักเพื่อรอรับยาเสพติดให้โทษและส่งมอบเงิน เมื่อพยานขับรถไปถึงหลักกิโลเมตรที่ 10 ถึง 12 ถนนสายศรีเชียงใหม่-สังคม ริมฝั่งแม่น้ำโขงนายหนอมให้พยานทำสัญญาณกะพริบไฟสูงต่ำเพื่อบอกให้ทราบว่ามารับของ มีชาย 7 ถึง 8 คนโบกให้หยุดรถ นายหนอมได้หมุนกระจกรถลงชายทุกคนดังกล่าวได้จ้องและจ่ออาวุธปืนเข้ามาในรถ นายหนอมพูดกับชายเหล่านั้นว่าเหตุการณ์เรียบร้อยดีไม่มีอะไรแล้วลงจากรถบอกให้ชายเหล่านั้นขนยาเสพติดให้โทษขึ้นรถ ชาย 4 ถึง 5 คนเป็นผู้ขนฝิ่นและเมทแอมเฟตามีนจากริมฝั่งแม่น้ำโขงไปไว้ที่เบาะที่นั่งด้านหลังคนขับ หลังจากนั้นนายหนอมบอกพยานว่าไม่กลับไปด้วย เมื่อจำเลยได้รับเงินแล้วให้พยานจำเลยกลับมาส่งที่จุดรับฝิ่นและเมทแอมเฟตามีนดังกล่าว เมื่อพยานขับรถกลับมาถึงโรงแรมมณีรัตน์รีสอร์ทจึงส่งสัญญาณโดยยกโทรศัพท์มือถือทำทีเหมือนจะโทรศัพท์ตามที่ตกลงกันให้ร้อยตำรวจเอกประจวบเข้าจับกุมจำเลยเห็นว่า ร้อยตำรวจเอกประจวบและนายดาบตำรวจวิรัตน์ผู้จับกุมจำเลยเป็นผู้ร่วมวางแผนล่อซื้อยาเสพติดให้โทษตามที่สายลับได้แจ้งแก่ร้อยตำรวจเอกประจวบว่ามีพ่อค้ายาเสพติดให้โทษสัญชาติลาวจะขายฝิ่นและเมทแอมเฟตามีนให้มาตั้งแต่ต้น และได้มีการปฏิบัติตามแผนที่วางไว้จนสามารถจับกุมจำเลยซึ่งมีสัญชาติลาวได้พร้อมฝิ่นสุกและเมทแอมเฟตามีนของกลางที่ตกลงซื้อขายกัน คำเบิกความของร้อยตำรวจเอกประจวบและนายดาบตำรวจวิรัตน์สอดคล้องต่อเนื่องเชื่อมโยงกันในข้อสาระสำคัญโดยไม่มีข้อพิรุธตั้งแต่จำเลยได้ร่วมเจรจาตกลงซื้อขายยาเสพติดให้โทษกับสายลับและเจ้าหน้าที่ปราบปรามยาเสพติดของประเทศสหรัฐอเมริกากับเจ้าพนักงานตำรวจที่ปลอมตัวเป็นพ่อค้า ซึ่งร้อยตำรวจเอกประจวบได้ถ่ายรูปจำเลยไว้ในวันดังกล่าวด้วยตามภาพถ่ายหมาย ป.จ.(ศาลจังหวัดอุดรธานี) ซึ่งจำเลยก็ยอมรับว่ามีจำเลยอยู่ในภาพถ่ายดังกล่าวจริงนอกจากนั้นจำเลยยังร่วมตรวจสอบเงินที่ใช้ล่อซื้อ เป็นผู้บอกพวกของจำเลยให้พานายดาบตำรวจวิรัตน์ไปรับยาเสพติดให้โทษโดยจำเลยมิได้ไปด้วยแต่รออยู่ที่ห้องพักในโรงแรมกับเจ้าหน้าที่ปราบปรามยาเสพติดของประเทศสหรัฐอเมริกาเพื่อรับมอบเงินเมื่อนายดาบตำรวจวิรัตน์รับมอบยาเสพติดให้โทษที่ตกลงซื้อแล้ว พวกของจำเลยที่พาไปเอายาเสพติดให้โทษก็ไม่กลับไปกับนายดาบตำรวจวิรัตน์ แต่บอกให้นายดาบตำรวจวิรัตน์นำจำเลยมาส่งที่จุดรับยาเสพติดให้โทษเมื่อจำเลยรับเงินค่ายาเสพติดแล้ว พฤติกรรมของจำเลยกับพวกดังกล่าวเห็นได้ว่ามีการวางแผนเป็นอย่างดีโดยแบ่งหน้าที่กันทำเพื่อป้องกันมิให้ถูกจับกุมได้พร้อมยาเสพติดให้โทษที่ตกลงซื้อขายโดยไม่นำยาเสพติดให้โทษติดตัวมาด้วย เพื่อจำเลยจะใช้เป็นข้อต่อสู้เมื่อถูกจับกุมได้ พฤติการณ์ดังกล่าวฟังได้ว่าจำเลยกับพวกเป็นตัวการร่วมกันนำเข้าฝิ่นสุกและเมทแอมเฟตามีนของกลางเพื่อจำหน่าย มีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายซึ่งยาเสพติดให้โทษดังกล่าวจึงมีความผิดตามฟ้อง ที่จำเลยฎีกาว่าคำเบิกความของร้อยตำรวจเอกประจวบกับนายดาบตำรวจวิรัตน์ไม่สมเหตุสมผลและเป็นพิรุธขาดพยานหลักฐานรองรับสนับสนุนไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะรับฟังว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องเช่น ในเรื่องเงินที่ใช้ล่อซื้อยาเสพติดให้โทษของกลางไม่มีจริงเพราะโจทก์ไม่มีหลักฐานการยืมมาแสดงโทรศัพท์มือถือของกลางที่อ้างว่ายึดได้จากจำเลยก็ไม่ใช่ของจำเลยแต่เป็นของบุคคลอื่นและไม่ได้ยึดจากจำเลย โจทก์ไม่มีรายการโทรศัพท์มาแสดงและภาพถ่ายหมาย ป.จ.1 (ศาลจังหวัดอุดรธานี) เป็นพยานหลักฐานที่ไม่น่าเชื่อถือนั้น เห็นว่า เงินที่ใช้ล่อซื้อยาเสพติดให้โทษของกลางร้อยตำรวจเอกประจวบเบิกความว่าพยานได้รับเงินสนับสนุนจำนวน 6,000,000 บาท จากหน่วยงานปราบปรามยาเสพติด และพยานได้มอบเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่เจ้าหน้าที่ปราบปรามยาเสพติดของประเทศสหรัฐอเมริกาและได้ความตามที่โจทก์นำสืบมาว่าจำเลยกับพวกได้ตรวจสอบเงินที่ใช้ล่อซื้อดังกล่าวแล้ว จำเลยจึงให้พวกของจำเลยพานายดาบตำรวจวิรัตน์ไปเอายาเสพติดให้โทษของกลางที่ตกลงซื้อขายกัน และพวกของจำเลยก็มอบยาเสพติดให้โทษของกลางให้แก่นายดาบตำรวจวิรัตน์ไปจนเจ้าพนักงานตำรวจยึดได้ยาเสพติดให้โทษที่ล่อซื้อเป็นของกลาง เงินค่ายาเสพติดให้โทษของกลางเป็นจำนวนมากถึง6,000,000 บาท การที่จำเลยยอมมอบยาเสพติดให้โทษของกลางให้ดังกล่าวจึงเชื่อได้ว่าจำเลยจะต้องเห็นเงินที่ใช้ล่อซื้อแล้วว่ามีจริง ไม่เช่นนั้นจำเลยคงไม่ยอมมอบยาเสพติดให้โทษของกลางให้แก่ฝ่ายผู้ซื้อไป แม้โจทก์ไม่มีหลักฐานการยืมเงินมาแสดงก็ไม่ทำให้น้ำหนักพยานหลักฐานโจทก์ในส่วนนี้ลดน้อยลง ส่วนเรื่องโทรศัพท์มือถือของกลางนั้น ร้อยตำรวจเอกประจวบเบิกความยืนยันว่า ยึดได้จากตัวจำเลย และตามที่โจทก์นำสืบมาก็ได้ความว่าจำเลยเป็นผู้บอกหมายเลขโทรศัพท์มือถือของกลางแก่สายลับด้วย นอกจากนั้นบันทึกการจับกุมจำเลยเอกสารหมาย ป.จ.2 (ศาลจังหวัดอุดรธานี) ก็ระบุว่าในวันเกิดเหตุยึดโทรศัพท์มือถือของกลางจากจำเลยและจำเลยได้ลงลายมือชื่อในบันทึกการจับกุมดังกล่าวในช่องผู้ต้องหาโดยมีข้อความบันทึกไว้ก่อนลงลายมือชื่อใจความว่า สอบถามผู้ต้องหาแล้วยืนยันว่าสามารถพูดและฟังภาษาไทยได้โดยไม่ต้องใช้ล่ามแปลได้ทราบและเข้าใจข้อกล่าวหาได้ดีโดยตลอดแล้ว และได้อ่านบันทึกการจับกุมให้ผู้ต้องหาฟังและให้ผู้ต้องหาอ่านเองต่อหน้าผู้เกี่ยวข้องแล้วรับว่าถูกต้องจึงให้ลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน และตามคำให้การของจำเลยเอกสารหมาย จ.2 ที่จำเลยให้การต่อพนักงานสอบสวนในชั้นสอบสวนก็มีข้อความบันทึกเป็นใจความว่า ในวันเกิดเหตุเจ้าพนักงานตำรวจยึดโทรศัพท์มือถือของกลางได้โดยจำเลยให้การว่านายหนอมนำมาให้จำเลยใช้ที่จำเลยฎีกาว่า พนักงานสอบสวนข่มขู่ให้ลงลายมือชื่อโดยไม่ทราบข้อความเพราะไม่เข้าใจภาษาไทยนั้น เห็นว่า ในคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยบันทึกว่าจำเลยสามารถฟังและพูดภาษาไทยได้ดีและสามารถอ่านได้บ้าง แต่ไม่สามารถเขียนภาษาไทยได้ กับบันทึกใจความว่าจำเลยทราบและเข้าใจข้อกล่าวหาที่พนักงานสอบสวนแจ้งแล้วขอให้การด้วยความสมัครใจของจำเลยเอง มิได้มีผู้หนึ่งผู้ใดบังคับ ขู่เข็ญ หลอกลวงหรือให้สัญญาประการใด และก่อนจำเลยลงลายมือชื่อในช่องผู้ต้องหาก็มีข้อความบันทึกเป็นใจความว่าอ่านให้ฟังแล้วรับว่าถูกต้องเป็นความจริง โดยโจทก์มีร้อยตำรวจโทนนทวรรธน์อัมรานนท์ พนักงานสอบสวนผู้จัดทำเอกสารดังกล่าวมาเบิกความยืนยันจำเลยก็มิได้ถามค้านพยานโจทก์ปากดังกล่าวในเรื่องดังกล่าวข้างต้นให้ฟังได้เป็นอย่างอื่น แม้โทรศัพท์มือถือของกลางเป็นของบุคคลอื่นแต่การครอบครองโทรศัพท์มือถือเพื่อใช้ไม่จำเป็นที่ผู้ครอบครองจะต้องเป็นเจ้าของจึงจะสามารถใช้โทรศัพท์นั้นได้เสมอไป ทั้งจำเลยก็มีตัวจำเลยเพียงปากเดียวมานำสืบโดยไม่มีพยานหลักฐานอื่นมาสืบสนับสนุนข้อต่อสู้ ที่จำเลยฎีกาว่าเจ้าพนักงานที่เกี่ยวข้องเอาโทรศัพท์มือถือซึ่งเป็นของกลางในคดีอื่นมายัดเยียดในคดีที่จำเลยถูกกล่าวหาจึงไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานโจทก์ได้ ส่วนเรื่องภาพถ่ายหมาย ป.จ.1(ศาลจังหวัดอุดรธานี) โจทก์มีร้อยตำรวจเอกประจวบผู้ถ่ายรูปมาเบิกความยืนยันว่า เป็นผู้ถ่ายรูปตามภาพถ่ายดังกล่าวในวันที่จำเลยกับพวกมาเจรจาตกลงซื้อขายยาเสพติดให้โทษที่โรงแรมหนองคายแกรนด์จังหวัดหนองคาย กับฝ่ายพยานโดยระบุด้วยว่าคนไหนเป็นจำเลยคนไหนเป็นพวกจำเลย ซึ่งจำเลยก็นำสืบยอมรับว่ามีจำเลยอยู่ในภาพถ่ายดังกล่าวจริง เพียงแต่อ้างว่าไม่รู้จักคนอื่นในภาพถ่ายเท่านั้น แต่จำเลยหาได้นำพยานหลักฐานอื่นมาสืบหักล้างให้เห็นว่าภาพถ่ายดังกล่าวมิได้ถ่ายตามวันเวลาและสถานที่ที่โจทก์อ้างและบุคคลในภาพถ่ายมิใช่พวกของจำเลยตามที่โจทก์อ้าง ที่จำเลยฎีกาว่าภาพถ่ายดังกล่าวไม่ควรรับฟังเป็นพยานหลักฐานจึงไม่มีเหตุที่จะรับฟังได้ ที่จำเลยฎีกาอีกว่าพยานโจทก์ผู้จับกุมจำเลยทั้งสองปากเบิกความแตกต่างกัน เห็นว่า ข้อแตกต่างที่จำเลยอ้างเป็นข้อแตกต่างในรายละเอียดไม่ใช่ในข้อสาระสำคัญไม่ทำให้น้ำหนักคำเบิกความของพยานโจทก์ดังกล่าวเสียไป ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share