คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13384/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสาม ได้ระบุห้ามมิให้เจ้าหนี้ฟ้องเจ้ามรดกเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปี นับแต่เมื่อเจ้าหนี้ได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดกซึ่งตามบทบัญญัติดังกล่าวต้องเป็นการได้รู้หรือควรได้รู้อย่างแน่นอนและมีหลักฐานยืนยันได้ การที่โจทก์มีหนังสือทวงถามลงวันที่ 18 มกราคม 2545 ให้จ่าสิบตำรวจ ก. ชำระหนี้และบอกเลิกสัญญา และได้ส่งให้จ่าสิบตำรวจ ก. ที่ภูมิลำเนาเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2545 ตามใบตอบรับทางไปรษณีย์และซองจดหมาย ซึ่งไม่มีผู้รับแต่มีข้อความเขียนระบุไว้ที่ซองจดหมายว่าจ่าสิบตำรวจ ก. ถึงแก่ความตายแล้วโดยไม่ปรากฏว่าใครเป็นผู้แจ้งให้ผู้ส่งจดหมายบันทึกข้อความดังกล่าว กรณีดังกล่าวจึงยังไม่เป็นการแน่นอนว่าจ่าสิบตำรวจ ก. ถึงแก่ความตาย ต่อมาเมื่อโจทก์ตรวจสอบข้อมูลทางทะเบียนในวันที่ 1 สิงหาคม 2546 ตามแบบรับรองรายการทะเบียนราษฎรมีข้อความระบุว่า จำหน่ายชื่อจ่าสิบตำรวจ ก. จากทะเบียนบ้านเนื่องจากตายเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2545 จึงต้องฟังว่าโจทก์เจ้าหนี้ได้รู้หรือควรได้รู้ถึงการตายของจ่าสิบตำรวจ ก. เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2546 เมื่อโจทก์นำคดีนี้มาฟ้องเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2547 ยังไม่พ้น 1 ปี สิทธิเรียกร้องต่อกองมรดกของจ่าสิบตำรวจ ก. ตามฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความตามมาตรา 1754 วรรคสาม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบรถที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดี หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนเป็นเงิน 217,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 217,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์หรือชดใช้ราคาครบถ้วนให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์เป็นเงิน 30,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะส่งมอบรถคืนหรือใช้ราคาครบถ้วน
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบรถยนต์หมายเลขทะเบียน บ – 1258 สุรินทร์ ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดี ถ้าส่งคืนไม่ได้ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ราคาแทนเป็นเงิน 200,000 บาท ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์เป็นเงิน 17,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 17,000 บาท นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 2 มีนาคม 2547) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ทั้งนี้จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกของจ่าสิบตำรวจกัมปนาทหรือนายกัมปนาท ที่ตกทอดแก่ตน ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 2,500 บาท
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับและให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ที่จำเลยที่ 2 เสียเกินมาแก่จำเลยที่ 2
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 เป็นทายาทของจ่าสิบตำรวจกัมปนาทหรือนายกัมปนาท เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2536 จ่าสิบตำรวจกัมปนาททำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน บ – 1258 สุรินทร์ จากโจทก์ในราคา 260,400 บาท ตกลงชำระค่าเช่าซื้องวดละ 21,700 บาท รวม 12 งวด งวดแรกชำระวันที่ 23 พฤษภาคม 2536 งวดต่อไปชำระทุกวันที่ 23 ของเดือนถัดไปจนกว่าจะครบ โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ตามสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกัน จ่าสิบตำรวจกัมปนาทชำระค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์ งวดแรกวันที่ 30 พฤษภาคม 2536 งวดที่สองวันที่ 7 มิถุนายน 2538 รวมเป็นเงิน 43,400 บาท จากนั้นไม่ชำระค่าเช่าซื้อให้โจทก์อีก เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2545 โจทก์ได้ทวงถามให้จ่าสิบตำรวจกัมปนาท และจำเลยที่ 2 ชำระหนี้และบอกเลิกสัญญา ปรากฏต่อมาว่าจ่าสิบตำรวจกัมปนาทถึงแก่ความตาย ตามหนังสือแบบรับรองรายการทะเบียนราษฎรลงวันที่ 1 สิงหาคม 2546 วันที่ 29 ตุลาคม 2546 โจทก์จึงมีหนังสือทวงถามให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระหนี้และบอกเลิกสัญญา
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคสาม ชอบแล้วหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า โจทก์ทราบการตายของจ่าสิบตำรวจกัมปนาท เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2546 โจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 2 มีนาคม 2547 ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความนั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคสาม ได้ระบุห้ามมิให้เจ้าหนี้ฟ้องเจ้ามรดกเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปี นับแต่เมื่อเจ้าหนี้ได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก ซึ่งตามบทบัญญัติดังกล่าวต้องเป็นการได้รู้หรือควรได้รู้อย่างแน่นอนและมีหลักฐานยืนยันได้ การที่โจทก์มีหนังสือทวงถามลงวันที่ 18 มกราคม 2545 ให้จ่าสิบตำรวจกัมปนาทชำระหนี้และบอกเลิกสัญญา และได้ส่งให้จ่าสิบตำรวจกัมปนาทที่ภูมิลำเนาเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2545 ตามใบตอบรับทางไปรษณีย์และซองจดหมาย ซึ่งไม่มีผู้รับแต่มีข้อความเขียนระบุไว้ที่ซองจดหมายว่าจ่าสิบตำรวจกัมปนาทถึงแก่ความตายแล้วโดยไม่ปรากฏว่าใครเป็นผู้แจ้งให้ผู้ส่งจดหมายบันทึกข้อความดังกล่าว กรณีดังกล่าวจึงยังไม่เป็นการแน่นอนว่าจ่าสิบตำรวจกัมปนาทถึงแก่ความตาย ต่อมาเมื่อโจทก์ตรวจสอบข้อมูลทางทะเบียนในวันที่ 1 สิงหาคม 2546 ตามแบบรับรองรายการทะเบียนราษฎรมีข้อความระบุว่า จำหน่ายชื่อจ่าสิบตำรวจกัมปนาทจากทะเบียนบ้านเนื่องจากตายเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2545 จึงต้องฟังว่าโจทก์เจ้าหนี้ได้รู้หรือควรได้รู้ถึงการตายของจ่าสิบตำรวจกัมปนาทเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2546 เมื่อโจทก์นำคดีนี้มาฟ้องเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2547 ยังไม่พ้น 1 ปี สิทธิเรียกร้องต่อกองมรดกของจ่าสิบตำรวจกัมปนาทตามฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความตามมาตรา 1754 วรรคสาม ดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความและพิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share