คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13450/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 39 บัญญัติว่า ที่ดินที่บุคคลได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจะทำการแบ่งแยกหรือโอนสิทธิในที่ดินนั้นไปยังผู้อื่นมิได้ เว้นแต่เป็นการตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรม หรือโอนไปยังสถาบันเกษตรกร ฯลฯ ตามบทบัญญัติดังกล่าวเห็นได้ว่า แม้จะมีการขายฝากที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 กันจริง หรือจำเลยทั้งสามจะได้รับที่ดินพิพาทมาไม่ว่าด้วยนิติกรรมใด ๆ นิติกรรมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 หรือนิติกรรมระหว่างจำเลยที่ 3 กับผู้ที่ได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินก็เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายย่อมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 และถึงแม้ที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 แปลงที่ 5 สำนักงานการปฏิรูปที่ดินออกให้แก่ จ. ส่วนแปลงที่ 2 และที่ 6 มีชื่อของจำเลยที่ 3 หลังจากที่โจทก์สอบถามแล้ว จ. และจำเลยที่ 3 ยินยอมไปเพิกถอนก็ตาม เมื่อ จ. และจำเลยที่ 3 เป็นผู้ที่ได้รับการจัดสรรละทิ้งการครอบครองไป การครอบครองจะตกมาเป็นของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมอีกครั้ง ซึ่งสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมีอำนาจหน้าที่ที่จะจัดสรรให้เกษตรกรที่เหมาะสมต่อไป ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้าง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบด้วยมาตรา 246 และมาตรา 247 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง และจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ไม่มีอำนาจฟ้องแย้ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้พิพากษาว่า ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 103 ตำบลบ้านตูม อำเภอนาจะหลวย จังหวัดอุบลราชธานี เป็นของโจทก์ ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 เพิกถอนคำคัดค้านในการออกโฉนดที่ดิน หากไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนากับให้ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และร่วมกันขนย้ายเก็บเกี่ยวทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินดังกล่าวด้วย ส่วนจำเลยที่ 3 ให้ไปดำเนินการเพิกถอนการจัดที่ดินแปลงเลขที่ 2 และเลขที่ 6 ต่อสำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดอุบลราชธานี หากเพิกเฉยให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้องและฟ้องแย้งห้ามโจทก์เข้ารบกวนการครอบครองและยุ่งเกี่ยวในที่ดินอีกต่อไป และให้เพิกถอนนิติกรรมสัญญาขายฝากที่ดินตามฟ้องเนื้อที่ 21 ไร่ 1 งาน 90.14 ตารางวา กับให้โจทก์โอนที่ดินในเนื้อที่จำนวนดังกล่าวคืนแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยให้โจทก์เป็นผู้ชำระค่าธรรมเนียมในการโอน หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
จำเลยที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การ
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ และยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียม (ที่ถูก ในส่วนฟ้องโจทก์ระหว่างโจทก์และจำเลยทั้งสามและฟ้องแย้งระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับโจทก์) ให้เป็นพับ
โจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 103 ตำบลบ้านตูม อำเภอนาจะหลวย จังหวัดอุบลราชธานีเฉพาะส่วนเนื้อที่ดิน 14 ไร่ 1 งาน 20.64 ตารางวา ตามที่ระบุไว้ในสัญญาซื้อขายและแผนที่พิพาทบริเวณแปลงที่ 1 เป็นของโจทก์ ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 พร้อมบริวารออกไปจากที่ดินของโจทก์ในส่วนนี้ กับให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 เพิกถอนคำคัดค้านการรังวัดและออกโฉนดที่ดินในส่วนนี้ด้วย ส่วนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 103 ตำบลบ้านตูม อำเภอนาจะหลวย จังหวัดอุบลราชธานี เฉพาะส่วนเนื้อที่ดินรวม 7 ไร่ 69.5 ตารางวา ตามที่ระบุไว้ในสัญญาซื้อขายและแผนที่พิพาทบริเวณแปลงที่ 2 และเหนือแปลงที่ 2 ซึ่งอยู่ภายในกรอบแนวเขตที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 นำชี้ เป็นของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ห้ามโจทก์เข้ารบกวนการครอบครองหรือยุ่งเกี่ยวในที่ดินพิพาทส่วนนี้ด้วย กับให้โจทก์ดำเนินการจดทะเบียนเพิกถอนนิติกรรมการขายฝากที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 ในจำนวนเนื้อที่ดังกล่าว หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของโจทก์ คำขออื่นของโจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 นอกจากนี้ให้ยก คืนค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์ส่วนที่เกินมาให้โจทก์ 5,760 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมนอกจากที่สั่งคืนทั้งในส่วนฟ้องโจทก์และฟ้องแย้งให้เป็นพับกันไป
โจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และจำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์หรือจำเลยที่ 1 และที่ 2 โจทก์มีนายเรืองศรี ผู้รับมอบอำนาจโจทก์เบิกความว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 103 ตำบลบ้านตูม อำเภอนาจะหลวย จังหวัดอุบลราชธานี เนื้อที่ประมาณ 30 ไร่ โดยรับซื้อฝากมาจากจำเลยที่ 3 เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2554 ต่อมาเมื่อครบกำหนดตามหนังสือสัญญาขายฝากที่ดินแล้ว จำเลยที่ 3 ไม่ไถ่ถอนที่ดินจึงตกเป็นของโจทก์ โจทก์นำที่ดินดังกล่าวไปขอออกโฉนด ในการรังวัดที่ดินจำเลยที่ 1 และที่ 2 มาคัดค้านการรังวัด ต่อมาเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดอุบลราชธานีเรียกคู่ความทั้งสองฝ่ายไปไกล่เกลี่ยแต่ไม่สามารถตกลงกันได้ นอกจากนี้ยังได้รับแจ้งจากเจ้าพนักงานที่ดินว่าพื้นที่ที่ขอออกโฉนดนั้นออกทับที่ดิน ส.ป.ก. แปลงที่ 2, 5 และ 6 กลุ่มระวางที่ 960 หลังจากได้รับแจ้งโจทก์จึงไปตรวจสอบปรากฏว่าที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 แปลงที่ 5 สำนักงานการปฏิรูปที่ดินออกให้แก่นายจรรยากรณ์ ส่วนแปลงที่ 2 และที่ 6 มีชื่อของจำเลยที่ 3 หลังจากที่โจทก์สอบถามแล้วนายจรรยากรณ์และจำเลยที่ 3 ยินยอมไปเพิกถอน ส่วนจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีจำเลยที่ 1 และที่ 2 เบิกความว่า ที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 103 เนื้อที่รวมกันประมาณ 21 ไร่ 1 งาน 90.14 ตารางวา เป็นของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซื้อมาจากจำเลยที่ 3 ที่ดินแปลงแรกมีเนื้อที่ 4 ไร่ 2 งาน 43 ตารางวา จำเลยที่ 1 ซื้อมาในราคา 138,225 บาท แปลงที่ 2 เนื้อที่ 2 ไร่ 2 งาน 26.5 ตารางวา และแปลงที่ 3 เนื้อที่ 14 ไร่ 1 งาน 20.64 ตารางวา จำเลยที่ 2 ซื้อมาในราคา 76,987.50 บาท และ 700,000 บาท ตามลำดับ หลังจากซื้อแล้วจำเลยที่ 1 และที่ 2 เข้าครอบครองทำประโยชน์เรื่อยมาจนถึงปัจจุบันโดยไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัดค้าน เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 39 บัญญัติว่า ที่ดินที่บุคคลได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจะทำการแบ่งแยกหรือโอนสิทธิในที่ดินนั้นไปยังผู้อื่นมิได้ เว้นแต่เป็นการตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรม หรือโอนไปยังสถาบันเกษตรกร ฯลฯ ตามบทบัญญัติดังกล่าวเห็นได้ว่า แม้จะมีการขายฝากที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 กันจริง หรือจำเลยทั้งสามจะได้รับที่ดินพิพาทมาไม่ว่าด้วยนิติกรรมใดๆ นิติกรรมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 หรือนิติกรรมระหว่างจำเลยที่ 3 กับผู้ที่ได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินก็เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายย่อมตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 และถึงแม้ที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 แปลงที่ 5 สำนักงานการปฏิรูปที่ดินออกให้แก่นายจรรยากรณ์ ส่วนแปลงที่ 2 และที่ 6 มีชื่อของจำเลยที่ 3 หลังจากที่โจทก์สอบถามแล้วนายจรรยากรณ์และจำเลยที่ 3 ยินยอมไปเพิกถอนก็ตาม เมื่อนายจรรยากรณ์และจำเลยที่ 3 เป็นผู้ที่ได้รับการจัดสรรละทิ้งการครอบครองไป การครอบครองจะตกมาเป็นของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมอีกครั้ง ซึ่งสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมีอำนาจหน้าที่ที่จะจัดสรรให้เกษตรกรที่เหมาะสมต่อไป ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้าง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบด้วยมาตรา 246 และมาตรา 247 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง และจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ไม่มีอำนาจฟ้องแย้งตามลำดับ กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และจำเลยที่ 1 และที่ 2 อีกต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์และยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาในส่วนฟ้องโจทก์กับจำเลยทั้งสาม และฟ้องแย้งระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับโจทก์ให้เป็นพับ

Share