คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 102/2535

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้สัญญาจะซื้อขายที่ดิน ผู้ขายได้พิมพ์ลายนิ้วมือในสัญญา แต่ไม่มีพยานรับรองลายพิมพ์นิ้วมือ ซึ่งจะใช้บังคับผู้ขายไม่ได้ ก็ตาม แต่ผู้ซื้อได้วางมัดจำให้ผู้ขายไว้เป็นเงินบางส่วน ถือว่า เป็นการวางมัดจำตามกฎหมาย ผู้ซื้อจึงฟ้องบังคับผู้ขายได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 456วรรคสอง ศาลพิพากษาให้จำเลยโอนที่ดินให้โจทก์ โดยไม่บังคับให้โจทก์ชำระเงินค่าที่ดินที่ค้างให้จำเลย ไม่ชอบด้วย ป.พ.พ. มาตรา 369แม้จำเลยจะไม่อุทธรณ์ฎีกาในข้อนี้ ศาลฎีกาแก้ไขให้ถูกต้องได้เพราะ เป็นการชำระหนี้ตามสัญญาต่างตอบแทน.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2521 จำเลยที่ 1 ที่ 2นายเชย โพธิ์ศรี และนายชื่น โพธิ์ศรี ได้ร่วมกันทำสัญญาจะขายที่ดินโฉนดเลขที่ 1962 เนื้อที่ 1 ไร่ 1 งาน 58 ตารางวา ปัจจุบันเหลือเพียง 3 งาน 43 ตารางวาเศษ ตำบลคลองด่าน อำเภอบางบ่อจังหวัดสมุทรปราการ ให้แก่โจทก์ในราคา 400,000 บาท โจทก์ได้วางมัดจำไว้ 250,000 บาท ส่วนราคาที่ดินที่เหลือ 150,000 บาท ตกลงกันว่าจะชำระในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้โจทก์หลังจากจำเลยที่ 1ที่ 2 นายชื่น โพธิ์ศรี นายเชย โพธิ์ศรี ดำเนินคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 518-521/2520 หมายเลขแดงที่ 632-635/2520 ของศาลชั้นต้นถึงที่สุด เมื่อคดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว จำเลยที่ 1 ที่ 2 นายเชยโพธิ์ศรี และนายชื่น โพธิ์ศรี ไม่ไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้โจทก์ โจทก์ทวงถามหลายครั้ง จำเลยกับพวกก็เพิกเฉย ต่อมานายชื่น โพธิ์ศรี ถึงแก่กรรม จำเลยที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 6 ที่ 7และที่ 8 ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของนายชื่น โพธิ์ศรี ต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ และต่อมานายเชย โพธิ์ศรี ได้ถึงแก่กรรม จำเลยที่ 9ที่ 10 ที่ 11 ที่ 12 ที่ 13 ที่ 14 และที่ 15 ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของนายเชย โพธิ์ศรี ต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ โจทก์ได้บอกกล่าวให้จำเลยทั้งสิบห้าให้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้โจทก์แล้วจำเลยต่างเพิกเฉย ขอให้บังคับให้จำเลยทั้งสิบห้าคนร่วมกันโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 1962 ตำบลคลองด่าน อำเภอบางบ่อจังหวัดสมุทรปราการ หากไม่ยอมโอนให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย หากนิติกรรมไม่เปิดช่องให้ทำการโอนได้ ให้จำเลยทั้งสิบห้าคนร่วมกันคืนเงินมัดจำจำนวน 250,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 มกราคม 2521 ถึงวันฟ้องเป็นเวลา 7 ปี 7 เดือน เป็นจำนวนเงิน 284,375 บาท รวมเป็นเงิน534,375 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงิน250,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 3 ที่ 4 ที่ 8 ที่ 13 ที่ 14 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ส่วนจำเลยที่ 2 ที่ 5 ที่ 6 ที่ 10 ที่ 11 ที่ 12ที่ 15 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 1 ที่ 7 และที่ 9 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่เคยตกลงจะขายที่ดินตามฟ้องให้โจทก์ สัญญาท้ายฟ้องเกิดขึ้นเพราะทายาทเจ้ามรดกผู้ซึ่งไม่มีสิทธิรับมรดกได้ร่วมกับโจทก์ทำการฉ้อฉลเพื่อหลอกลวงจำเลยที่ 1 และสัญญาระบุว่าโจทก์วางมัดจำไว้ 250,000 บาทส่วนที่เหลือจะชำระภายใน 2 ปี หากเลิกสัญญาวางมัดจำเพราะโจทก์ไม่ชำระค่าที่ดินที่เหลือในกำหนด ฝ่ายจำเลยก็ริบมัดจำได้ สัญญาท้ายฟ้องจำเลยที่ 1 พิมพ์ลายนิ้วมือไม่มีพยานรับรองตามที่กฎหมายกำหนดจึงไม่ผูกพันจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 7 เป็นบุตรนายชื่นโพธิ์ศรี จำเลยที่ 9 เป็นบุตรนายเชย โพธิ์ศรี จำเลยที่ 7 และที่ 9ไม่ทราบว่าบิดาได้นำที่ดินไปขายให้โจทก์ จำเลยที่ 7 และที่ 9ได้ปลูกบ้านอยู่อาศัยบนที่ดินมรดกโดยความสงบ โดยเปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันมาเกิน 10 ปี จำเลยที่ 7 และที่ 9 จึงได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครอง และโจทก์ชอบที่จะฟ้องจำเลยที่ 6ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกเพียงผู้เดียว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 7 และที่ 9 ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาโจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลเรียกนายไพโรจน์เที่ยงตรง ผู้จัดการมรดกของนายพร้อม โพธิ์ศรี และนางโป้ พรหมประเทศเข้ามาเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยร่วมให้การว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 1962 ตำบลคลองด่านอำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ มีชื่อนางสั้น โพธิ์ศรี และนายพร้อม โพธิ์ศรี ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกัน เมื่อบุคคลทั้งสองถึงแก่กรรม ทายาทของนางสั้นและนายพร้อมได้ครอบครองที่ดินร่วมกันมาโดยมิได้แบ่งแยก และยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงชื่อทางทะเบียนจำเลยร่วมประสงค์จดทะเบียนโอนที่ดินให้โจทก์ตามสัญญาที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 นายชื่น โพธิ์ศรี และนายเชย โพธิ์ศรีทำไว้กับโจทก์
ศาลชั้นต้น พิพากษาให้จำเลยทั้งสิบห้าร่วมกันโอนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 1962 ตำบลคลองด่าน อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการให้โจทก์ หากจำเลยไม่ยอมโอนขายให้โจทก์ ให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสิบห้า หากจำเลยไม่อาจโอนขายให้โจทก์ได้ให้จำเลยร่วมกันคืนเงินมัดจำจำนวน 250,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 31ธันวาคม 2523 อันเป็นวันที่ผลคดีที่นายชม โพธิ์ศรี ฟ้องจำเลยที่ 1ที่ 2 นายเชย โพธิ์ศรี และนายชื่น โพธิ์ศรีถึงที่สุด จนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ และให้จำเลยร่วมกันชำระค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความ 2,000 บาท แทนโจทก์ด้วย คำขอนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 1 ที่ 7 ที่ 9 ที่ 11 ที่ 12 และที่ 15 ยื่นคำร้องขออุทธรณ์อย่างคนอนาถา
ระหว่างไต่สวนคำร้องขออุทธรณ์อย่างคนอนาถา จำเลยที่ 11และที่ 12 ขอถอนฟ้องอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นอนุญาต และอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ที่ 7 ที่ 9 และที่ 15 อุทธรณ์อย่างคนอนาถา
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ก่อนฝ่ายจำเลยที่ 1 ยื่นฎีกา ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตายแล้วระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ นางสำเภา โพธิ์ศรีบุตรของจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นอนุญาต
นางสำเภา โพธิ์ศรี ผู้เป็นคู่ความแทนที่จำเลยที่ 1 ผู้มรณะจำเลยที่ 7 และที่ 9 ฎีกา โดยได้รับอนุญาตให้ฎีกาอย่างคนอนาถา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ที่จำเลยที่ 1 ที่ 7 และที่ 9 ฎีกาว่าที่ศาลอุทธรณ์ฟังว่า จำเลยที่ 1 กับพวกได้ทำสัญญาตามฟ้องจะขายที่ดินให้โจทก์จริงจำเลยที่ 1 ที่ 7 และที่ 9ไม่เห็นด้วยเพราะจำเลยที่ 1 ให้การต่อสู้ว่า สัญญาท้ายฟ้องเกิดขึ้นเพราะทายาทเจ้ามรดกซึ่งไม่มีสิทธิรับมรดกร่วมกับโจทก์ทำการฉ้อฉลหลอกลวงจำเลยที่ 1 ซึ่งชรามากแล้ว และจำเลยที่ 1 พิมพ์ลายนิ้วมือในสัญญาไม่มีพยานรับรองลายพิมพ์นิ้วมือตามที่กฎหมายกำหนดไว้ สัญญาไม่สมบูรณ์ไม่ผูกพันจำเลยที่ 1 นั้น โจทก์ก็นำสืบว่าจำเลยที่ 1 นายชิต นายชื่น นายเชย ได้กู้เงินโจทก์ไปหลายครั้งแล้วจำนวนรวม 150,000 บาท แล้วจะกู้อีก โจทก์ไม่ให้กู้อีก จำเลยที่ 1 กับพวกดังกล่าวจึงบอกขายที่ดินพิพาทในราคา 400,000 บาทเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2521 แก่โจทก์และได้ตกลงทำสัญญาซื้อขายและสัญญาจะซื้อขายหรือสัญญาวางมัดจำ โจทก์ได้วางมัดจำ 250,000 บาทโดยรวมกับเงินกู้เดิม กำหนดโอนอีก 2 ปี จะชำระส่วนที่ค้างในวันจดทะเบียนโอนตามเอกสารหมาย จ.28 จ.29 จำเลยที่ 6 บุตรนายชื่นจำเลยที่ 10 บุตรนายเชยก็เบิกความว่า นายชื่นนายเชยได้ตกลงขายที่ดินพิพาทให้โจทก์ ส่วนจำเลยที่ 1 ก็ไม่มาเบิกความนำสืบถึงการถูกฉ้อฉลหรือถูกหลอกลวงแต่อย่างไร ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1กับพวกได้ตกลงทำสัญญาซื้อขายและสัญญาจะซื้อขายหรือสัญญาวางมัดจำที่ดินพิพาทตามเอกสารท้ายฟ้องกับโจทก์จริง คงมีปัญหาที่จำเลยที่ 1อ้างว่าจำเลยที่ 1 พิมพ์ลายนิ้วมือในสัญญาดังกล่าวโดยไม่มีพยานรับรองลายพิมพ์นิ้วมือตามที่กฎหมายกำหนด สัญญาไม่ผูกพันจำเลยที่ 1นั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456 วรรคสองบัญญัติว่า “อนึ่ง สัญญาจะขายหรือจะซื้อทรัพย์สินอย่างใด ๆ ดังว่ามานี้ก็ดี คำมั่นในการซื้อขายทรัพย์สินเช่นว่านั้นก็ดี ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิดเป็นสำคัญ หรือได้วางประจำไว้ หรือได้ชำระหนี้บางส่วนท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่” ดังนี้ แม้สัญญาซื้อขายและสัญญาจะซื้อขายหรือสัญญาวางมัดจำที่จำเลยที่ 1 พิมพ์ลายนิ้วมือไว้จะใช้บังคับจำเลยที่ 1 ไม่ได้ก็ตาม แต่โจทก์ผู้ซื้อได้วางมัดจำเป็นเงินรวม 250,000 บาท ซึ่งถือว่าเป็นการวางประจำตามกฎหมายจำเลยที่ 1 กับพวกได้รับเงินมัดจำดังกล่าวไว้แล้วตามที่โจทก์นำสืบไว้ ซึ่งจำเลยที่ 1 ไม่ได้นำสืบแก้แต่ประการใดฟังได้ว่าโจทก์ได้วางเงินมัดจำไว้จริง สำหรับจำเลยที่ 1 แม้สัญญาจะซื้อขายจะใช้บังคับไม่ได้ แต่ก็ได้มีการวางมัดจำไว้แล้ว ดังนั้นโจทก์จึงฟ้องบังคับคดีแก่จำเลยที่ 1 ได้ ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456 วรรคสอง จำเลยที่ 1 จึงต้องผูกพันตามสัญญาและต้องโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ตามฟ้อง….
สรุปแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 7 และที่ 9 ฟังไม่ขึ้น แต่ที่ศาลล่างทั้งสองได้พิพากษาให้จำเลยทั้งสิบห้าร่วมกันโอนที่ดินให้โจทก์ตามสัญญาโดยไม่บังคับให้โจทก์ชำระเงินค่าที่ดินที่ค้างให้จำเลยไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 369แม้จำเลยจะไม่อุทธรณ์ฎีกาในข้อนี้ ศาลฎีกาแก้ไขให้ถูกต้องได้เพราะเป็นเรื่องการชำระหนี้ตามสัญญาต่างตอบแทน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์ชำระเงินค่าที่ดิน จำนวน 150,000บาท ให้จำเลยด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share