คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1002/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตาม ป. รัษฎากร มาตรา 118 ตราสารใดไม่ปิดอากรแสตมป์บริบูรณ์จะใช้ต้นฉบับ คู่ฉบับ คู่ฉีก หรือส่วนของตราสารนั้นเป็นพยานหลักฐานไม่ได้เฉพาะในคดีแพ่งเท่านั้น ส่วนในคดีอาญาไม่ต้องห้ามที่จะนำมารับฟังเป็นพยานหลักฐานได้
ในคดีอาญาตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2538 มาตรา 4 เมื่อจำเลยออกเช็คเพื่อชำระหนี้เงินกู้ยืมโดยมีสัญญากู้ยืมเงินแม้ปิดอากรแสตมป์ไม่ครบถ้วนมาแสดงก็ถือได้ว่าจำเลยออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริง และบังคับตามกฎหมาย เมื่อเช็คดังกล่าวถูกธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินก็ครบองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 แล้ว
(วรรคหนึ่ง วินิจฉัยโดยมติที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาครั้งที่ 3/2544)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๙ เวลากลางวัน จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันออกเช็คจำนวนสองฉบับ ฉบับแรกลงวันที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๓๙ จำนวนเงิน ๒๐๐,๐๐๐ บาท ฉบับที่สองลงวันที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๓๙ จำนวนเงิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท ให้แก่นายนิกร ตังควัฒนา ผู้เสียหาย เพื่อชำระหนี้กู้ยืมเงินซึ่งเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย เมื่อเช็คทั้งสองฉบับถึงกำหนดชำระ ผู้เสียหายนำเช็คทั้งสองฉบับไปเข้าบัญชีเงินฝากของผู้เสียหายเพื่อเรียกเก็บเงิน ตามเช็ค แต่ถูกธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินเมื่อวันที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๓๙ ทั้งสองฉบับ โดยให้เหตุผลว่า “บัญชีปิดแล้ว” ทั้งนี้จำเลยทั้งสองร่วมกันออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค ขอให้ลงโทษตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๔ ป.อ. มาตรา ๘๓, ๙๑
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณานายนิกร ตังควัฒนา ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๔ ป.อ. มาตรา ๘๓ ให้เรียงกระทงลงโทษตาม ป.อ. มาตรา ๙๑ กระทงแรกให้ลงโทษจำคุกคนละ ๘ เดือน กระทงที่สองให้ลงโทษจำคุกคนละ ๕ เดือน รวมจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ ๑๒ เดือน
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ พิพากษาแก้เป็นว่า กระทงแรกให้จำคุกคนละ ๔ เดือน กระทงที่สองให้จำคุกคนละ ๒ เดือน รวมจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ ๖ เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๑ อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์ร่วมผู้เสียหายขอถอนคำร้องทุกข์เฉพาะจำเลยที่ ๒ ศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้เป็นคดีอาญาความผิดต่อส่วนตัวและยังไม่ถึงที่สุด ผู้เสียหายจะถอนคำร้องทุกข์เสียเมื่อใดก็ได้ เมื่อผู้เสียหายถอนคำร้องทุกข์ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์เฉพาะจำเลยที่ ๒ ย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๓๙ (๒)
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาเฉพาะจำเลยที่ ๑ ว่ากระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า ตามวันเวลาที่โจทก์ฟ้อง จำเลยทั้งสองได้ลงลายมือชื่อเป็นผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาททั้งสองฉบับมอบให้โจทก์ร่วม มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยทั้งสองว่าจำเลยทั้งสองได้ร่วมกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ศาลฎีกาพินิจพิจารณาโดยรอบคอบตามคำเบิกความและพยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมแล้วตามพฤติการณ์แห่งคดีรับฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองออกเช็คพิพาททั้งสองฉบับให้แก่โจทก์ร่วมเพื่อชำระหนี้เงินกู้ยืมซึ่งเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย เมื่อโจทก์ร่วมนำเช็คพิพาททั้งสองฉบับไปเรียกเก็บเงิน แต่ถูกธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินเนื่องจากบัญชีของจำเลยที่ ๑ ถูกปิดลงก่อนที่โจทก์ร่วมจะนำเช็คพิพาททั้งสองฉบับไปเรียกเก็บเงิน การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นการออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค ครบองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๔ อนึ่ง แม้จะปรากฏว่าสัญญากู้ยืมเงินที่โจทก์อ้างในคดีนี้นั้นปิดอากรแสตมป์เพียง ๒๐ บาท ซึ่งตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ข้อ ๕ ระบุว่า การกู้ยืมเงินทุนจำนวนเงิน ๒,๐๐๐ บาท หรือเศษของ ๒,๐๐๐ บาท แห่งยอดเงินให้กู้ยืม จะต้องปิดอากรแสตมป์ ๑ บาท จำเลยทั้งสองทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์ ๓๐๐,๐๐๐ บาท ดังนั้น จึงต้องปิด อากรแสตมป์ ๑๕๐ บาท การที่โจทก์ปิดอากรแสตมป์ในสัญญากู้ยืมเงินไม่ครบ ซึ่งตาม ป.รัษฎากร มาตรา ๑๑๘ บัญญัติว่า “ตราสารใดไม่ปิดแสตมป์บริบูรณ์จะใช้ต้นฉบับ คู่ฉบับ คู่ฉีกหรือสำเนาตราสารนั้นเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งไม่ได้ จนกว่าจะได้เสียอากรโดยปิดแสตมป์ครบจำนวนตามอัตราในบัญชีท้ายหมวดนี้และขีดฆ่าแล้ว…” จึงมีปัญหาวินิจฉัยว่าเช็คพิพาทที่ออกชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าว จะเป็นเช็คที่ออกเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย อันจะทำให้จำเลยทั้งสองมีความผิดตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๔ หรือไม่ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า ตาม ป. รัษฎากร มาตรา ๑๑๘ ตราสารใดไม่ปิดอากรแสตมป์บริบูรณ์ จะใช้ต้นฉบับ คู่ฉบับ คู่ฉีกหรือส่วนของตราสารนั้นเป็นพยานหลักฐานไม่ได้ เฉพาะในคดีแพ่งเท่านั้น ส่วนในคดีอาญา ไม่ต้องห้ามที่จะนำมารับฟังพยานหลักฐานได้ ดังนั้น ในคดีอาญาตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๔ เมื่อจำเลยออกเช็คเพื่อชำระหนี้เงินกู้ยืมโดยมีสัญญากู้ยืมเงินมาแสดงก็ถือได้ว่าจำเลยออกเช็ค เพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริง และบังคับได้ตามกฎหมายเมื่อเช็คดังกล่าวถูกธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินก็ครบ องค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๔ แล้ว จำเลยที่ ๑ จึงมีความผิดตามฟ้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ ๒ เสียจากสารบบความ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตาม คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๑ .

Share