คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9701/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 90/5 บัญญัติว่าในกรณีที่ผู้กระทำผิดซึ่งต้องรับโทษตามหมวด 4 เป็นนิติบุคคล กรรมการผู้จัดการ ผู้จัดการหรือผู้แทนของนิติบุคคลนั้นต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น ๆ ด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้ยินยอมหรือมีส่วนในการกระทำความผิดของนิติบุคคลนั้น แม้คดีนี้จำเลยที่ 3 จะมีอาชีพค้าขายก๋วยเตี๋ยวมิได้ประกอบกิจการค้าอื่น แต่จำเลยที่ 3 ยินยอมให้ น. พี่ชายนำสำเนาทะเบียนบ้านและสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนไปจดทะเบียนเป็นห้างจำเลยที่ 2 โดยมีจำเลยที่ 3 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการห้างดังกล่าว และยื่นคำขอเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มที่มีสิทธิออกใบกำกับภาษีเมื่อมีการขายสินค้าหรือบริการ โดยใช้บ้านพักของตนเป็นสถานประกอบการโดยไม่ปรากฏว่าได้มีการประกอบกิจการตามที่ได้มีการจดทะเบียนไว้แต่อย่างใด ดังนี้ การกระทำของจำเลยที่ 3 ดังกล่าว ถือได้ว่าได้ยินยอมหรือมีส่วนในการกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 ในการออกใบกำกับภาษี โดยไม่มีสิทธิจะออกโดยเจตนาหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงภาษีมูลค่าเพิ่มอันเป็นความผิดตามประมวลรัษฎากร มาตรา 90/5 ประกอบด้วย มาตรา 90/4 (3) และ (6)
จำเลยที่ 1 และที่ 4 ได้ร่วมกันออกใบกำกับภาษีมูลค่าเพิ่มของหลายบริษัทโดยไม่มีสิทธิออกเนื่องจากไม่มีการซื้อขายสินค้ากันจริง โดยมีเจตนาหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงภาษีมูลค่าเพิ่ม ทั้งจำเลยที่ 1 และที่ 4 ได้ออกใบกำกับภาษีมูลค่าเพิ่มของแต่ละบริษัทห้างร้านต่าง ๆ ต่างวาระกันอีกด้วย ถือได้ว่าเป็นการกระทำต่างกรรมต่างเจตนากันจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลรัษฎากร พ.ศ.๒๔๘๑ มาตรา ๗๗/๑ , ๘๒/๓ , ๘๖ , ๘๖/๑๓ , ๙๐/๔ , ๙๐/๕ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓ , ๙๑ และสั่งคืนของกลางแก่กรมสรรพากรเพื่อใช้ในการดำเนินคดีแพ่งต่อไป
จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดตามประมวลรัษฎากร พ.ศ.๒๔๘๑ มาตรา ๙๐/๔ (ที่ถูก ๙๐/๔ (๓) และ (๖)) ประกอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓ ลงโทษปรับจำเลยที่ ๒ จำนวน ๒๐๐,๐๐๐ บาท ส่วนการกระทำของจำเลยที่ ๑ ที่ ๓ และที่ ๔ เป็นความผิดกรรมเดียว ลงโทษจำเลยที่ ๑ ตามฟ้องโจทก์ข้อ ๒.๒ (ที่ถูกคือ ข้อ ๒) จำคุก ๒ ปี ลงโทษจำเลยที่ ๓ ตามฟ้องโจทก์ข้อ ๒.๓ (ที่ถูกคือ ข้อ ๓) จำคุก ๒ ปี ลงโทษจำเลยที่ ๔ ตามฟ้องโจทก์ข้อ ๒.๔ (ที่ถูกคือ ข้อ ๔) จำคุก ๒ ปี ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๑ ที่ ๓ และที่ ๔ ในความผิดตามฟ้องโจทก์ข้ออื่น ๆ หากจำเลยที่ ๒ ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙ คืนของกลางแก่กรมสรรพากรเพื่อใช้ในการดำเนินคดีแพ่งต่อไป
จำเลยที่ ๑ ที่ ๓ และที่ ๔ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๔ พิพากษายืน
จำเลยที่ ๑ และที่ ๓ ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยแล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า บริษัทนพรัตน์พาณิชย์ จำกัด จำเลยในคดีหมายเลขแดงที่ ๔๔๙๔/๒๕๓๘ ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษไปแล้วมีนายนพรัตน์ สงค์ไพรสณท์ จำเลยในคดีเดียวกันและศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษไปแล้วเป็นกรรมการผู้จัดการมีอำนาจกระทำการแทนและบริษัทนี้เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม บริษัทอีชิกาว่า (ไทยแลนด์) จำกัด จำเลยในคดีเดียวกันและศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษไปแล้ว มีจำเลยที่ ๑ เป็นกรรมการผู้จัดการมีอำนาจกระทำการแทน ต่อมาเปลี่ยนเป็นนายนพรัตน์ บริษัทนี้ก็เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ห้างหุ้นส่วนจำกัดโดมจินดาน้ำปลาแซบ จำเลยที่ ๒ มีจำเลยที่ ๓ เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการมีอำนาจกระทำการแทนและเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย จำเลยที่ ๑ และที่ ๓ โดยส่วนตัวแล้วมิใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มด้วยและมิใช่ผู้มีสิทธิออกใบกำกับภาษี คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ ๑ และที่ ๓ ว่า จำเลยที่ ๑ ได้ร่วมกับบริษัทอีชิกาว่า (ไทยแลนด์) จำกัด และจำเลยที่ ๓ ได้ร่วมกับจำเลยที่ ๒ ออกใบกำกับภาษีโดยไม่มีสิทธิออกเนื่องจากไม่มีการซื้อขายสินค้ากันจริง โดยมีเจตนาหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงภาษีมูลค่าเพิ่มตามฟ้องข้อ ๒ และ ๓ ตามลำดับหรือไม่ เพื่อความสะดวกในการวินิจฉัยขอแยกพิจารณาเป็นรายบุคคลดังนี้…
ปัญหาวินิจฉัยต่อไปเกี่ยวกับจำเลยที่ ๓ เห็นว่า ทางพิจารณาของโจทก์ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ ๓ เป็นผู้ลงลายมือชื่อในใบกำกับภาษีของจำเลยที่ ๒ ที่ออกโดยไม่มีสิทธิออกเนื่องจากไม่มีการซื้อขายสินค้ากันจริง อีกทั้งไม่ปรากฏข้อเท็จจริงในทางนำสืบของโจทก์ว่าจำเลยที่ ๓ กระทำการอย่างใดที่มีลักษณะเป็นการร่วมกระทำความผิดตามฟ้องกับจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๔ ข้อเท็จจริงจึงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ ๓ ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๔ ตามประมวลรัษฎากร พ.ศ. ๒๔๘๑ มาตรา ๙๐/๔ (๓) และ (๖) ประกอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓ แต่ตามคำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ ๒ เป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ ๓ เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการและขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลรัษฎากร พ.ศ.๒๔๘๑ มาตรา ๙๐/๕ มาด้วย ซึ่งข้อเท็จจริงรับฟังเป็นที่ยุติว่า จำเลยที่ ๓ เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างจำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๒ ออกใบกำกับภาษีโดยไม่มีสิทธิที่จะออกให้แก่ผู้ประกอบการในหลายจังหวัด ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาว่าจำเลยที่ ๒ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓ ลงโทษปรับจำเลยที่ ๒ จำนวน ๒๐๐,๐๐๐ บาท จำเลยที่ ๒ มิได้อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้น คดีในส่วนของจำเลยที่ ๒ จึงถึงที่สุดแล้วนั้น เห็นว่า ตามประมวลรัษฎากร มาตรา ๙๐/๕ บัญญัติว่า ในกรณีที่ผู้กระทำผิดซึ่งต้องรับโทษตามหมวด ๔ เป็นนิติบุคคล กรรมการผู้จัดการ ผู้จัดการหรือผู้แทนของนิติบุคคลนั้นต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น ๆ ด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้ยินยอมหรือมีส่วนในการกระทำความผิดของนิติบุคคลนั้น สำหรับคดีนี้จำเลยที่ ๓ มีอาชีพค้าขายก๋วยเตี๋ยวมิได้ประกอบกิจการค้าอื่น แต่จำเลยที่ ๓ ยินยอมให้นายนพรัตน์พี่ชายนำสำเนาทะเบียนบ้านและสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน ตามเอกสารหมาย จ.๑๕ และ จ.๑๖ ไปจดทะเบียนเป็นห้างจำเลยที่ ๒ และยื่นคำขอเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มที่มีสิทธิออกใบกำกับภาษีเมื่อมีการขายสินค้าหรือบริการ โดยระบุประเภทกิจการ ร้านน้ำปลา วัสดุก่อสร้าง และรับเหมาก่อสร้าง ตามแบบคำขอเอกสารหมาย จ.๑๔ โดยใช้บ้านพักของตนเป็นสถานประกอบการ สถานประกอบการของจำเลยที่ ๒ เป็นเรือนไม้ชั้นเดียวและเป็นร้านขายก๋วยเตี๋ยวมีลังน้ำปลาภายในร้านประมาณ ๕๐ ถึง ๖๐ ลัง ไม่พบวัสดุก่อสร้าง นอกจากนี้ยังพบเอกสารทางบัญชีอันได้แก่บัญชีรับจ่าย ใบกำกับภาษีและสมุดธนาคารรวม ๒๑ รายการ และเมื่อพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหาแก่จำเลยที่ ๒ ว่าได้ร่วมกันออกใบกำกับภาษีโดยไม่มีสิทธิจะออกโดยเจตนาหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงภาษีมูลค่าเพิ่ม จำเลยที่ ๓ ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการให้การรับสารภาพ เช่นนี้ การที่จำเลยที่ ๓ ไม่มีความประสงค์จะประกอบอาชีพค้าขายน้ำปลา วัสดุก่อสร้างและรับเหมาก่อสร้างที่บ้านพักของตน แต่กลับยินยอมให้พี่ชายนำสำเนาทะเบียนบ้าน และสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของตนไปดำเนินการจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัด โดยมีจำเลยที่ ๓ เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการห้างดังกล่าว และยื่นคำขอเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มที่จะมีสิทธิออกใบกำกับภาษีเมื่อมีการขายสินค้าหรือบริการได้ ซึ่งสถานประกอบการของจำเลยที่ ๒ เป็นที่เดียวกับบ้านพักของตน ก็ไม่ปรากฏว่าได้มีการประกอบกิจการตามที่ได้มีการจดทะเบียนไว้ นอกจากนี้ การที่จำเลยที่ ๓ นำสืบปฏิเสธลอย ๆ ว่า จำเลยที่ ๓ มีอาชีพค้าขายก๋วยเตี๋ยวไม่เคยเข้าไปยุ่งเกี่ยวในการดำเนินการของห้าง ไม่เคยออกใบกำกับภาษีในการขายสินค้า จำเลยที่ ๓ ไม่เคยเขียนและลงนาม โดยจำเลยที่ ๓ ไม่มีพยานหลักฐานอื่นนอกจากนี้มาพิสูจน์ยืนยันให้เห็นได้ว่าจำเลยที่ ๓ มิได้ยินยอมหรือมีส่วนในการกระทำความผิดของจำเลยที่ ๒ ข้อเท็จจริงจึงยังฟังไม่ได้เช่นนั้น ดังนี้การกระทำของจำเลยที่ ๓ ดังกล่าว ถือได้ว่าได้ยินยอมหรือมีส่วนในการกระทำความผิดของจำเลยที่ ๒ ในการออกใบกำกับภาษี โดยไม่มีสิทธิจะออกโดยเจตนาหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงภาษีมูลค่าเพิ่ม จำเลยที่ ๓ จึงมีความผิดตามมาตรา ๙๐/๕ ประกอบด้วยมาตรา ๙๐/๔ (๓) และ (๖)
อนึ่ง ข้อเท็จจริงตามที่โจทก์ฟ้องฟังได้ว่า จำเลยที่ ๑ และที่ ๔ ได้ร่วมกันออกใบกำกับภาษีมูลค่าเพิ่มของบริษัทนพรัตน์พาณิชย์ จำกัด บริษัทอีชิกาว่า (ไทยแลนด์) จำกัด ห้างหุ้นส่วนจำกัด โดมจินดาน้ำปลาแซบจำเลยที่ ๒ ห้างหุ้นส่วนจำกัดสยามพาณิชยกรรม ร้านสมศักดิ์พาณิชย์ และร้านนพรัตน์การไฟฟ้าโดยไม่มีสิทธิออกเนื่องจากไม่มีการซื้อขายสินค้ากันจริงโดยมีเจตนาหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงภาษีมูลค่าเพิ่ม ทั้งจำเลยที่ ๑ และที่ ๔ ได้ออกใบกำกับภาษีมูลค่าเพิ่มของแต่ละบริษัทห้างร้านดังกล่าวต่างวาระกันอีกด้วย ถือได้ว่าเป็นการกระทำต่างกรรมต่างเจตนากัน การกระทำของจำเลยที่ ๑ และที่ ๔ จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันมาว่าจำเลยที่ ๑ และที่ ๔ กระทำความผิดกรรมเดียว จึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ปัญหาว่าการกระทำของจำเลยที่ ๑ และที่ ๔ เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จะไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ฎีกาขึ้นมา ศาลฎีกาก็หยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง แต่เนื่องจากโจทก์มิได้อุทธรณ์และฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ ๑ และที่ ๔ สำหรับความผิดตามฟ้องตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ จึงไม่อาจเพิ่มเติมโทษจำเลยที่ ๑ และที่ ๔ ให้หนักไปกว่าโทษตามคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองได้ แต่เห็นสมควรปรับบทลงโทษจำเลยที่ ๑ และที่ ๔ เสียให้ถูกต้อง
ที่จำเลยที่ ๑ และที่ ๓ ฎีกาขอให้รอการลงโทษให้นั้น เห็นว่า จำเลยทั้งสองกระทำความผิดเกี่ยวกับภาษีอากรของชาติอันเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้ประเทศชาติจะสามารถดำรงอยู่ได้ ทั้งนี้เพราะเงินภาษีอากรที่รัฐบาลได้รับมาจากประชาชนทั่วไปนั้นจะเป็นรายได้ที่รัฐบาลนำไปปรับปรุงและพัฒนาประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้า ดังนั้น การที่จำเลยทั้งสองกระทำการเพื่อหลีกเลี่ยงในการที่จะชำระภาษีให้ถูกต้องและหลอกลวงเอาเงินค่าภาษีอากรของรัฐไปโดยไม่ชอบ เป็นการนำเสนอแนวทางหลีกเลี่ยงภาษีต่อประชาชนทั่วไปโดยไม่จำกัด นับได้ว่าเป็นการกระทำที่เป็นภัยร้ายแรงต่อประเทศชาติสมควรที่จะกำจัดและปราบปรามให้หมดสิ้นไปโดยเร็ว คดีจึงไม่มีเหตุที่จะรอการลงโทษให้ได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองมาโดยไม่รอการลงโทษให้นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ ๑ และที่ ๓ ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ ๑ และที่ ๔ มีความผิดตามประมวลรัษฎากร พ.ศ.๒๔๘๑ มาตรา ๙๐/๔ (๓) และ (๖) ประกอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓ การกระทำของจำเลยที่ ๑ และที่ ๔ เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ สำหรับจำเลยที่ ๓ มีความผิดตามประมวลรัษฎากร พ.ศ.๒๔๘๑ มาตรา ๙๐/๕ ประกอบด้วยมาตรา ๙๐/๔ (๓) และ (๖) นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๔.

Share