แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 27 หาได้บัญญัติถึงหลักเกณฑ์และวิธีการชำระค่าภาษีอากรค้างว่าจะต้องชำระเงินเพิ่มก่อนหลังกันอย่างไรจึงเป็นข้อเท็จจริงที่เจ้าหนี้จะต้องนำสืบมิใช่ข้อที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือศาลจะสามารถรู้ได้เอง เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเจ้าหนี้มีหนังสือแจ้งการประเมินภาษีเงินได้ไปยังลูกหนี้ที่ 2และลูกหนี้ที่ 2 ได้รับหนังสือดังกล่าวแล้วไม่ปรากฏว่าลูกหนี้ที่ 2ได้ชำระค่าภาษีเงินได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันได้รับแจ้งการประเมินลูกหนี้ที่ 2 จึงต้องเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 20 ตามมาตรา 27 ที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และศาลล่างทั้งสองนำเงินที่ลูกหนี้ที่ 2ผ่อนชำระไปหักจากค่าภาษีเงินได้ตามหนังสือแจ้งการประเมินภาษีโดยไม่คำนวณเงินเพิ่มร้อยละ 20 ด้วย จึงเป็นการไม่ถูกต้อง การที่พยานเจ้าหนี้ให้การว่า ได้มีการชำระเงินกันบางส่วนแล้วแต่จะชำระเมื่อใดไม่ปรากฏนั้น แม้ข้อเท็จจริงจะได้ความว่าลูกหนี้ที่ 2 ได้รับทราบการประเมินและไม่มีเจ้าหนี้รายอื่นโต้แย้งคำขอรับชำระหนี้รายนี้ก็ไม่อาจถือได้ว่ามีการรับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร้องด้วยการใช้เงินบางส่วนอันจะทำให้อายุความสะดุดหยุดลง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 172.
ย่อยาว
คดีนี้สืบเนื่องมาจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองขอให้ล้มละลาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ (จำเลย) ทั้งสองไว้เด็ดขาด กรมสรรพากร เจ้าหนี้ ยื่นคำขอรับชำระหนี้ค่าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีการค้า จำนวน562,510.25 บาท จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 2
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นัดตรวจคำขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติ ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 104 แล้ว ไม่มีผู้ใดโต้แย้งคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้รายนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้ว เห็นว่า ลูกหนี้ที่ 2ค้างชำระค่าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาพร้อมเงินเพิ่มสำหรับปี 2512,2513 และ 2515 รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 808.97 บาท แต่เจ้าหนี้ไม่ได้ใช้สิทธิเรียกร้องในมูลหนี้ค่าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปี 2512ถึงปี 2515 จึงขาดอายุความ 10 ปี ส่วนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี 2516 จำนวน 188,120.24 บาท เงินเพิ่มจำนวน 37,624.05 บาทรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 225,744.29 บาท ลูกหนี้ที่ 2 ได้ผ่อนชำระหนี้แก่เจ้าหนี้เป็นเงินทั้งสิ้น 185,570 บาท ซึ่งลูกหนี้ที่ 2 ได้กระทำภายในกำหนดอายุความ 10 ปี ถือได้ว่าลูกหนี้ที่ 2 ได้รับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร้องด้วยการใช้เงินบางส่วน อายุความจึงสะดุดหยุดลงนับถึงวันที่เจ้าหนี้ใช้สิทธิเรียกร้องต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์คดียังไม่ขาดอายุความ เมื่อหักเงินที่ได้ชำระไปแล้ว ลูกหนี้ที่ 2 คงต้องรับผิดเป็นเงิน 40,174.29 บาท กับเงินเพิ่มอีกร้อยละ 20 ของเงินภาษีตามประมวลรัษฎากรมาตรา 27เป็นเงิน 8,034.86 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 48,209.15 บาท ส่วนภาษีการค้าในปี 2512 ถึงปี 2516 ลูกหนี้ที่ 2 ค้างชำระภาษีทั้งสิ้น465,584.78 บาท แต่เจ้าหนี้ไม่ได้ใช้สิทธิเรียกร้องดังกล่าวต่อลูกหนี้ที่ 2 แต่อย่างใด คดีจึงขาดอายุความ 10 ปี ต้องห้ามมิให้ได้รับชำระหนี้ตามมาตรา 94 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 เห็นควรให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้เฉพาะหนี้ค่าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี 2516 เป็นเงิน 48,209.15 บาทจากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 2 ตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 130(8) ส่วนหนี้ภาษีอื่นและจำนวนเงินที่เกินมาเห็นควรให้ยกเสียทั้งสิ้น
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ค่าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี 2516 เป็นเงิน48,209.15 บาท คำขอนอกจากนี้ให้ยกตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
เจ้าหนี้อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
เจ้าหนี้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ที่เจ้าหนี้ฎีกาว่า การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์นำยอดเงินค่าภาษีอากรค้างที่ลูกหนี้ที่ 2 นำมาชำระเป็นเงิน 185,570 บาทซึ่งเป็นภาษีตามใบแจ้งการประเมินเป็นเงิน 156,482.25 บาท รวมเงินเพิ่มตามมาตรา 27 เป็นเงิน 39,169.75 บาท (ที่ถูกน่าจะเป็น29,087.75 บาท) มาหักจากเงินภาษีตามใบแจ้งการประเมินที่ค้างชำระ225,744.29 บาท โดยไม่ได้คำนวณเงินเพิ่มตามมาตรา 27 เป็นการขัดต่อหลักการเหตุผลข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายดังกล่าวนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าตามประมวลรัษฎากร มาตรา 27 หาได้บัญญัติถึงหลักเกณฑ์และวิธีการชำระค่าภาษีอากรค้างว่าจะต้องชำระเงินเพิ่มก่อนหลังกันอย่างไรจึงเป็นข้อเท็จจริงที่เจ้าหนี้จะต้องนำสืบ มิใช่ข้อที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือศาลจะสามารถรู้ได้เอง คดีนี้เมื่อเจ้าหนี้มิได้นำสืบให้ปรากฏชัดว่า เงินที่ลูกหนี้ที่ 2 นำมาชำระให้นั้นเป็นการชำระหนี้ค่าภาษีตามใบแจ้งการประเมินจำนวน 156,482.25 บาท และชำระหนี้เงินเพิ่มตามมาตรา 27 แห่งประมวลรัษฎากรอีกเป็นเงิน30,087.75 บาท (ที่ถูกน่าจะเป็น 29,087.75 บาท) จึงรับฟังตามที่เจ้าหนี้ฎีกาไม่ได้ แต่เมื่อเจ้าหนี้มีหนังสือแจ้งการประเมินภาษีเงินได้ ไปยังลูกหนี้ที่ 2 ตามเอกสารหมาย จ.4ลูกหนี้ที่ 2 ได้รับหนังสือดังกล่าวแล้วตามเอกสารหมาย จ.12 และไม่ปรากฏว่าลูกหนี้ที่ 2 ได้ชำระค่าภาษีเงินได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันได้รับแจ้งการประเมิน ลูกหนี้ที่ 2 จึงต้องเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 20 ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 27 เป็นเงินเพิ่ม 45,148.85 บาทรวมเป็นเงินที่ลูกหนี้ที่ 2 จะต้องชำระทั้งสิ้น 270,893.14 บาท ได้ความว่าลูกหนี้ที่ 2 ผ่อนชำระแล้วจำนวน 185,570 บาท จึงคงค้างชำระอยู่อีก 85,323.14 บาท แต่เจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้ส่วนนี้เป็นเงิน 83,114.44 บาท จึงให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ตามจำนวนที่ขอ ที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และศาลล่างทั้งสองนำเงินที่ลูกหนี้ที่ 2 ผ่อนชำระไปหักจากค่าภาษีเงินได้ตามหนังสือแจ้งการประเมินภาษีโดยไม่คำนวณเงินเพิ่มร้อยละ 20 ด้วยเป็นการไม่ถูกต้อง…
ส่วนที่เจ้าหนี้ฎีกาว่า หนี้ภาษีการค้าของปี 2512 ถึงปี 2516ยังไม่ขาดอายุความนั้น เห็นว่า ตามคำให้การของนายกลยุทธ ยอดอุดมพยานของเจ้าหนี้ว่า ได้มีการชำระเงินกันบางส่วนแล้วเป็นเงิน95,615.81 บาท แต่จะชำระเมื่อใดไม่ปรากฏ แม้ข้อเท็จจริงจะได้ความว่า ลูกหนี้ที่ 2 ได้รับทราบการประเมินและไม่มีเจ้าหนี้รายอื่นโต้แย้งคำขอรับชำระหนี้รายนี้ก็ไม่อาจถือหรือรับฟังได้ว่ามีการรับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร้องด้วยการใช้เงินบางส่วนอันจะทำให้อายุความสะดุดหยุดลง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 172 ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าหนี้ภาษีการค้าขาดอายุความ 10 ปี ชอบแล้ว…”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ค่าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ปี 2516 เป็นเงิน 83,114.44 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.