แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยทราบดีว่านาง ล. ตกลงขายที่ดินแก่นาย พ. บุตรเขยจำเลยในราคาเพียง 220,000 บาท แต่มีการปลอมแปลงลายมือชื่อนาง ล. ในใบเสนอราคาขายที่ดินดังกล่าวเป็นเงิน 594,800 บาท แล้วนำไปยื่นต่อองค์การบริหารส่วนตำบลตูมใต้ พร้อมกับใบเสนอราคาของเจ้าของที่ดินอีกสองแปลงซึ่งเสนอราคาสูงกว่า และเมื่อคณะกรรมการจัดซื้อเห็นสมควรซื้อที่ดินของนาง ล. ที่เสนอราคาต่ำสุด จำเลยในฐานะนายกองค์การบริหารส่วนตำบลตูมใต้ ก็ได้อนุมัติให้จัดซื้อที่ดินดังกล่าวในราคาภายหลังการต่อรองแล้ว 594,000 บาท สูงกว่าราคาที่นาง ล. ต้องการขาย 374,000 บาท และเมื่อหักเงินที่จำเลยต้องนำไปชำระเป็นค่าภาษี 5,940 บาท คงมีส่วนต่างที่เป็นประโยชน์แก่บุตรเขยของจำเลย 368,060 บาท การกระทำของจำเลยจึงเป็นการเอื้อประโยชน์แก่บุตรเขยของจำเลย อันถือได้ว่าเป็นการแสวงประโยชน์โดยมิชอบ เป็นเหตุให้องค์การบริหารส่วนตำบลตูมใต้ ได้รับความเสียหายต้องซื้อที่ดินในราคาสูงเกินกว่าที่ควรจะเป็น จำเลยจึงมีความผิดฐานเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อทรัพย์ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตอันเป็นการเสียหายแก่รัฐ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151, 157
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151, 157 การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 5 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่า จำเลยกระทำความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อทรัพย์ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตอันเป็นการเสียหายแก่รัฐ ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 หรือไม่ เห็นว่า โจทก์มีนางสุวภาเป็นพยานเบิกความว่า ขณะเกิดเหตุ พยานดำรงตำแหน่งหัวหน้าส่วนการคลัง องค์การบริหารส่วนตำบลตูมใต้ เมื่อต้นปี 2540 จำเลยให้พยานตรวจสอบว่าองค์การบริหารส่วนตำบลตูมใต้มีงบประมาณจัดซื้อที่ดินเพื่อก่อสร้างสำนักงานองค์การบริหารส่วนตำบลตูมใต้หรือไม่ พยานตรวจสอบพบว่ามีงบประมาณค่าซื้อที่ดินเพื่อก่อสร้างสำนักงาน 605,000 บาท ต่อมาวันที่ 17 มีนาคม 2540 พยานจัดทำรายงานคำขออนุมัติจัดซื้อ คำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษและคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจรับพัสดุโดยวิธีพิเศษ ให้จำเลยลงลายมือชื่อ ตามสำเนาบันทึกข้อความ หลังจากนั้นจำเลยมาขอใบเสนอราคาจากพยานไม่น้อยกว่า 3 ฉบับ ต่อมาจำเลย บุตรเขย และบุตรสาวของจำเลยนำใบเสนอราคา 3 ฉบับ ของนางหลอง นายแก้ว และนายแสวง เสนอขายที่ดินของนางหลอง นายแก้วและนายแสวง ในราคา 594,825 บาท 927,200 บาท และ 621,500 บาท ตามลำดับ พร้อมด้วยหนังสือสำคัญสำหรับที่ดินของบุคคลทั้งสาม มามอบให้พยาน ตามใบเสนอราคาและเอกสารที่เกี่ยวข้อง คณะกรรมการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษเห็นสมควรจัดซื้อที่ดินของนางหลอง ซึ่งเสนอราคาต่ำสุด พยานจัดทำบันทึกของคณะกรรมการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษเสนอให้จำเลยลงลายมือชื่ออนุมัติจัดซื้อ ตามสำเนาบันทึกข้อความ และจัดทำสัญญาซื้อขายระหว่างองค์การบริหารส่วนตำบลตูมใต้กับนางหลอง ตามสำเนาสัญญาซื้อขาย จำเลยนำสัญญาซื้อขายดังกล่าวไปให้นางหลองลงลายมือชื่อตอนเย็นของวันที่ระบุในสัญญา แล้วนำสัญญาซื้อขายดังกล่าวกลับมาคืนพยานวันรุ่งขึ้น พยานเห็นว่าจำเลยและนางหลองลงลายมือชื่อแล้ว จึงนำไปให้นายสมภัชน์ ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลตูมใต้ และนายอนิรุธ หัวหน้าส่วนโยธา ลงลายมือชื่อ ต่อมาจำเลยดำเนินการให้นางหลองจดทะเบียนโอนขายที่ดินดังกล่าวแก่องค์การบริหารส่วนตำบลตูมใต้ แล้วจำเลยนำเอกสารมามอบให้พยานเพื่อจัดทำใบตรวจรับพัสดุเสนอคณะกรรมการตรวจรับพัสดุโดยวิธีพิเศษเพื่อพิจารณาตรวจรับ หลังจากนั้นพยานทำฎีกาขอเบิกจ่ายเงินแก่นางหลอง 594,000 บาท ให้จำเลยลงลายมือชื่ออนุมัติ ตามสำเนาฎีกาเบิกเงินและสำเนาบันทึกอนุมัติเบิกจ่าย แล้วพยานไปเบิกเงินถอนเงินจำนวนดังกล่าวจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สาขากุมภวาปี มีจำเลย นายอ้วย และนายสมภัชน์ไปด้วย เพราะเป็นการเบิกถอนเงินสด พยานมอบเงินค่าที่ดินจำนวนดังกล่าวให้จำเลยนำไปมอบให้นางหลอง โดยจำเลยนำฎีกาเบิกจ่ายเงินและใบสำคัญการรับเงิน ไปให้นางหลองลงลายมือชื่อ รุ่งขึ้นจำเลยนำเอกสารดังกล่าวมาคืนพยาน หลังจากนั้นจำเลยพาพยานไปบ้านของนางหลอง เพื่อนำทะเบียนจ่ายเงิน ไปให้นางหลองลงลายมือชื่อ เห็นว่า แม้นางสุวภาถูกตั้งกรรมการสอบสวนความผิดทางวินัยและพนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาแก่นางสุวภาว่ากระทำความผิดทางอาญาเพราะเหตุจากการปฏิบัติหน้าที่จัดซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวด้วย แต่ขณะมาเบิกความเป็นพยานโจทก์ในคดีนี้ การสอบสวนความผิดทางวินัยของนางสุวภาเสร็จสิ้นแล้ว โดยนางสุวภาถูกลงโทษตัดเงินเดือนร้อยละ 5 เป็นเวลา 1 เดือนและอัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่ฟ้องนางสุวภาแล้วคำเบิกความของนางสุวภาจึงมิใช่คำซัดทอดจำเลยเพื่อให้ตนเองพ้นผิด อันจะต้องห้ามมิให้รับฟังดังที่จำเลยฎีกา และแม้คำเบิกความของนางสุวภาที่ว่า จำเลยนำใบเสนอราคา 3 ฉบับ ของนางหลอง นายแก้ว และนายแสวง พร้อมด้วยหนังสือสำคัญสำหรับที่ดินมามอบให้นางสุวภา แตกต่างจากที่นางสุวภาเคยให้การต่อว่าที่ร้อยตรีวุฒิชัย กรรมการตรวจสอบสืบสวน ตามคำสั่งของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคที่ 4 ตามบันทึกถ้อยคำ ดังที่จำเลยฎีกา และน่าเชื่อว่าข้อเท็จจริงเป็นดังที่ปรากฏในบันทึกถ้อยคำ มากกว่าเพราะตรงกับที่โจทก์กล่าวมาในคำฟ้องและตรงกับที่นางสุวภาให้การในชั้นสอบสวนตามบันทึกคำให้การ แต่ความแตกต่างดังกล่าวเป็นเรื่องในรายละเอียด ไม่เป็นข้อพิรุธถึงกับทำให้คำเบิกความของนางสุวภาในส่วนอื่นรับฟังไม่ได้ นอกจากนี้โจทก์มีบันทึกถ้อยคำของนางหลอง ที่ให้ไว้ต่อว่าที่ร้อยตรีวุฒิชัยว่า นางหลองขายที่ดินแปลงดังกล่าวแก่นายเจ๊กซึ่งหมายถึงนายพัสกร บุตรเขยจำเลย กับนางนราลักษณ์ ซึ่งเป็นบุคคลเดียวกับนางบุญญาภรณ์ บุตรสาวจำเลย ในราคา 220,000 บาท และนายสาย บุตรชายนางหลองพานางหลองไปลงลายมือชื่อในเอกสารการซื้อขายที่ดินที่บ้านของจำเลย ต่อมาเมื่อถึงเวลารับเงิน นายสายพานางหลองไปรับเงินจากนายพัสกรที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สาขากุมภวาปี และมีบันทึกคำให้การในชั้นสอบสวนนางหลองที่ให้ไว้ต่อพันตำรวจโทคุณาวุฒิ พนักงานสอบสวน ความว่า นางหลองไม่เคยเสนอขายที่ดินให้แก่องค์การบริหารส่วนตำบลตูมใต้ที่สำนักงานที่ดินอำเภอกุมภวาปี ลายมือชื่อที่ระบุว่าเป็นของนางหลองในใบฎีกาเบิกเงินงบประมาณและใบสำคัญการรับเงิน 594,000 บาท ลงวันที่ 3 เมษายน 2540 รวมทั้งในคำร้องขอให้ไปตรวจรับพัสดุ สัญญาซื้อขายที่ดิน และใบเสนอราคาที่ดินในสำนวนคดีนี้ ไม่ใช่ลายมือชื่อของนางหลอง นางหลองไม่เคยเห็นเอกสารดังกล่าว ผู้ที่มาขอซื้อที่ดินจากนางหลองคือนายพัสกรและนางบุญญาภรณ์ นางหลองไม่เคยเห็นหน้าจำเลย นายสายบุตรชายนางหลองรับเงินค่าที่ดินจำนวน 220,000 บาท จากนายพัสกร แล้วนำเงินไปไถ่ถอนจำนองจากธนาคาร เมื่อได้หนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) คืนมา นายสายมอบให้นายพัสกรและนางบุญญาภรณ์ แม้โจทก์ไม่อาจนำนางหลองมาเบิกความเป็นพยานในชั้นพิจารณาเพราะเหตุว่านางหลองถึงแก่ความตายก่อนมาเบิกความ มีผลให้บันทึกถ้อยคำของนางหลอง และบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของนางหลอง เป็นเพียงพยานบอกเล่าก็ตาม แต่โจทก์มีว่าที่ร้อยตรีวุฒิชัยและพันตำรวจโทคุณาวุฒิมาเบิกความเป็นพยานโจทก์ยืนยันว่านางหลองให้การตามบันทึกถ้อยคำและบันทึกคำให้การดังกล่าวจริง อีกทั้งโจทก์มีพันตำรวจเอกพิษณุ เจ้าพนักงานตำรวจ กองพิสูจน์หลักฐาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นพยานเบิกความประกอบหนังสือส่งเอกสารตรวจพิสูจน์ และรายงานการตรวจพิสูจน์ ว่า พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรกุมภวาปีส่งเอกสารฎีกาเบิกเงินตามงบประมาณขององค์การบริหารส่วนตำบลตูมใต้ และเอกสารประกอบจำนวน 11 แผ่น ของกลาง กับตัวอย่างลายมือชื่อของนางหลองที่เขียนไว้ในเอกสารต่างๆ และที่เขียนต่อหน้าพนักงานสอบสวน มาให้กองพิสูจน์หลักฐานตรวจสอบว่าลายมือชื่อตรงบริเวณที่ทำเครื่องหมายดอกจันสีแดงในเอกสารของกลาง กับลายมือชื่อของนางหลองในเอกสารตัวอย่างลายมือชื่อ เป็นลายมือชื่อของบุคคลเดียวกันหรือไม่ พยานตรวจสอบแล้วปรากฏว่า เอกสารของกลางที่เขียนหมายเลข 9 กำกับไว้ ซึ่งตรงกับใบเสนอราคาของนางหลอง ไม่ใช่ลายมือชื่อของบุคคลเดียวกัน ส่วนเอกสารอื่นน่าจะเป็นลายมือชื่อของบุคคลเดียวกัน ตรงกับคำเบิกความของนางพัชรี บุตรสาวนางหลอง ที่มาเบิกความเป็นพยานโจทก์ว่า ลายมือชื่อในช่องผู้เสนอราคาในใบเสนอราคา ไม่ใช่ลายมือชื่อของนางหลอง ส่วนลายมือชื่อในคำขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม สัญญาซื้อขายที่ดิน ใบฎีกาเบิกจ่ายเงิน ใบสำคัญการรับเงิน และใบคำร้องให้ไปตรวจรับพัสดุ เป็นลายมือชื่อของนางหลองจริง นางพัชรียังเบิกความสอดคล้องกับนายสาย บุตรชายนางหลอง ที่มาเบิกความเป็นพยานโจทก์เช่นกันว่า นางหลองขายที่ดินแปลงดังกล่าวแก่นายพัสกรในราคา 220,000 บาท พยานทั้งสองพานางหลองไปรับเงินจากนายพัสกรที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สาขากุมภวาปี ซึ่งเจือสมกับคำเบิกความของนางบุญญาภรณ์ บุตรสาวจำเลย ที่ว่า พยานอยู่ในเหตุการณ์ขณะที่นายพัสกรจ่ายเงินให้นางหลองที่ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ด้วย แม้นางบุญญาภรณ์เบิกความบ่ายเบี่ยงว่าในช่วงเวลานั้นพยานกับนายพัสกรยังไม่ได้คบหากัน พยานพานายพัสกรไปที่ธนาคารดังกล่าวเพราะนายสำราญ หัวหน้างานของพยาน ให้พยานพานายพัสกร ซึ่งเป็นญาติของนายสำราญไปที่ธนาคารดังกล่าว แต่ไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นเช่นนั้น เพราะทางนำสืบของจำเลยไม่ปรากฏว่าเหตุใดนายพัสกรที่มีอาชีพค้าขายอสังหาริมทรัพย์จึงเดินทางไปที่ธนาคารดังกล่าวเองไม่ได้ ต้องให้นางบุญญาภรณ์พาไป ดังนี้ กรณีถือได้ว่าบันทึกถ้อยคำและบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของนางหลอง มีพยานประกอบอื่นสนับสนุนให้รับฟังได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227/1 ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า นางหลองมิได้ลงลายมือชื่อในใบเสนอราคาขายที่ดินของตนแก่องค์การบริหารส่วนตำบลตูมใต้ ตามใบเสนอราคา แต่มีผู้ปลอมลายมือชื่อนางหลองในใบเสนอราคาดังกล่าว แล้วนำไปมอบให้องค์การบริหารส่วนตำบลตูมใต้ และนางหลองไม่ได้ตกลงขายที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่องค์การบริหารส่วนตำบลตูมใต้ในราคา 594,000 บาท แต่นางหลองตกลงขายที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่นายพัสกร บุตรเขยของจำเลย ในราคาเพียง 220,000 บาท โดยได้รับเงินค่าที่ดินจำนวน 220,000 บาท ดังกล่าว จากนายพัสกรแล้ว เมื่อพิเคราะห์ข้อเท็จจริงที่ได้ความดังกล่าวประกอบกับคำเบิกความของนางสุวภาดังกล่าวข้างต้น การที่จำเลยไปขอใบเสนอราคาจากนางสุวภา แล้วต่อมาบุตรเขยและบุตรสาวจำเลยนำใบเสนอราคา 3 ฉบับ ของนางหลอง นายแก้ว และนายแสวง ไปมอบให้นางสุวภา ทั้งที่ไม่ใช่ใบเสนอราคาขายที่ดินของบุตรเขยและบุตรสาวของจำเลยก็ดี การที่จำเลยนำสัญญาซื้อขายที่ดินของนางหลองไปให้นางหลองลงลายมือชื่อ แล้วนำกลับมาคืนนางสุวภาวันรุ่งขึ้น ทั้งที่ไม่ใช่หน้าที่ของจำเลยก็ดี การที่จำเลยนำเงินค่าที่ดินไปมอบให้นางหลองพร้อมกับนำฎีกาเบิกจ่ายเงินและใบสำคัญการรับเงิน ไปให้นางหลองลงลายมือชื่อ รุ่งขึ้นจำเลยนำเอกสารดังกล่าวมาคืนนางสุวภา และหลังจากนั้นจำเลยพานางสุวภาไปบ้านของนางหลอง เพื่อนำทะเบียนจ่ายเงินไปให้นางหลองลงลายมือชื่อ ทั้งที่ควรให้นางหลองไปรับเงิน และลงลายมือชื่อในฎีกาเบิกจ่ายเงิน ใบสำคัญการรับเงินกับในทะเบียนจ่ายเงินด้วยตนเองที่สำนักงานองค์การบริหารส่วนตำบลตูมใต้เพื่อให้เสร็จไปในคราวเดียวกันก็ดี ล้วนเป็นพฤติการณ์ที่แสดงให้เห็นว่า จำเลยทราบดีว่านางหลองตกลงขายที่ดินแก่นายพัสกรในราคาเพียง 220,000 บาท แต่มีการปลอมแปลงลายมือชื่อนางหลองในใบเสนอราคาขายที่ดินดังกล่าวเป็นเงิน 594,800 บาท แล้วนำไปยื่นต่อองค์การบริหารส่วนตำบลตูมใต้ พร้อมกับใบเสนอราคาของเจ้าของที่ดินอีกสองแปลงซึ่งเสนอราคาสูงกว่า และเมื่อคณะกรรมการจัดซื้อเห็นสมควรซื้อที่ดินของนางหลองที่เสนอราคาต่ำสุด จำเลยในฐานะนายกองค์การบริหารส่วนตำบลตูมใต้ก็ได้อนุมัติให้จัดซื้อที่ดินดังกล่าวในราคาภายหลังการต่อรองแล้ว 594,000 บาท สูงกว่าราคาที่นางหลองต้องการขาย 374,000 บาท และเมื่อหักเงินที่จำเลยต้องนำไปชำระเป็นค่าภาษี 5,940 บาท คงมีส่วนต่างที่เป็นประโยชน์แก่บุตรเขยของจำเลย 368,060 บาท การกระทำของจำเลยจึงเป็นการเอื้อประโยชน์แก่บุตรเขยของจำเลยอันถือได้ว่าเป็นการแสวงประโยชน์โดยมิชอบ เป็นเหตุให้องค์การบริหารส่วนตำบลตูมใต้ได้รับความเสียหายต้องซื้อที่ดินในราคาสูงเกินกว่าที่ควรจะเป็น จำเลยจึงมีความผิดฐานเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อทรัพย์ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตอันเป็นการเสียหายแก่รัฐ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยต่อไปมีว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 ชอบหรือไม่ เห็นว่า โจทก์บรรยายมาในคำฟ้องด้วยว่า จำเลยดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลตูมใต้ เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นและเป็นผู้บริหารท้องถิ่น ตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 มีหน้าที่รับผิดชอบในการบริหารราชการขององค์การบริหารส่วนตำบลตูมใต้ รวมทั้งการสั่งอนุญาต อนุมัติเกี่ยวกับงานราชการขององค์การบริหารส่วนท้องถิ่น จึงมีฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา และบรรยายพฤติการณ์แห่งคดีว่า ตามวันเวลาเกิดเหตุ จำเลยใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตอนุมัติจัดซื้อที่ดินของนางหลอง ในราคา 594,000 บาท อันเป็นการทำให้เกิดความเสียหายแก่รัฐและองค์การบริหารส่วนตำบลตูมใต้ เพราะต้องเสียเงินค่าซื้อที่ดินดังกล่าวแพงกว่าที่นางหลองขาย จำเลยนำเงินชำระค่าที่ดินแก่นางหลอง 220,000 บาท จากนั้นจำเลยนำเงินส่วนที่เกินไปเป็นประโยชน์ส่วนตัวหรือผู้อื่น อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น ดังนี้ ถือได้ว่า โจทก์บรรยายฟ้องครบองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 แล้ว การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 จึงชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น และกรณีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยข้ออื่นเพราะไม่อาจทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป แต่เนื่องจากทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดีอยู่บ้าง นับเป็นเหตุบรรเทาโทษ เห็นสมควรลดโทษให้แก่จำเลยเพราะเหตุดังกล่าว
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลดโทษหนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงลงโทษจำคุกจำเลย 3 ปี 9 เดือน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4