แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ในขณะที่ ศ. และ อ. ร่วมกันลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจให้ ช. กระทำการต่าง ๆ รวมทั้งอำนาจลงลายมือชื่อทำสัญญาเช่าซื้อแทนโจทก์ ศ. และ อ. ยังเป็นกรรมการของโจทก์ ตราบใดที่โจทก์ยังมิได้ยกเลิกหรือเพิกถอนหนังสือมอบอำนาจดังกล่าว ช. ย่อมมีอำนาจกระทำการต่าง ๆ ตามที่ระบุไว้แทนโจทก์ได้ตลอดไป
ค่าขาดประโยชน์จากการใช้ทรัพย์รายเดือนที่ผู้เช่าซื้อจะต้องรับผิด ตามปกติย่อมคิดเทียบได้กับดอกเบี้ยซึ่งผู้ให้เช่าซื้อคิดรวมไว้ล่วงหน้าตามจำนวนปีหรืองวดที่ผ่อนชำระจากราคารถที่เช่าซื้อที่แท้จริง เพราะเงินส่วนนี้คือส่วนที่ทำให้ผู้ให้เช่าซื้อขาดประโยชน์ไปในแต่ละเดือน รถที่เช่าซื้อเป็นรถเทรลเลอร์ดั๊มเป็นตัวพ่วงไม่มีเครื่องยนต์ การใช้งานจะนำรถเทรลเลอร์ดั๊มไปพ่วงกับรถบรรทุก รถที่เช่าซื้อมิใช่รถยนต์รับจ้างทั่วไปที่อาจนำรถออกไปทำธุรกิจให้บุคคลทั่ว ๆ ไปเช่าเป็นรายเดือนได้ทุกเดือนดังที่โจทก์บรรยายฟ้องมา และเมื่อจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อตามสัญญาเช่าซื้อกำหนดให้โจทก์มีสิทธิที่จะบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อได้ แต่โจทก์ไม่ดำเนินการกลับปล่อยปละละเลยไปนานร่วม 5 ปีเศษ จึงไปติดตามยึดรถที่เช่าซื้อคืนอันเป็นเหตุให้สัญญาเช่าซื้อเลิกกัน แม้โจทก์จะได้รับความเสียหายตลอดเวลาจนกว่าจะได้รถที่เช่าซื้อคืน ซึ่งจำเลยที่ 1 ก็สามารถผ่อนปรนความเสียหายโดยการรีบส่งมอบรถที่เช่าซื้อคืนโจทก์ได้ แต่เมื่อโจทก์ละเลยไม่รีบดำเนินการใด ๆ ตามข้อสัญญาภายในเวลาอันควรโดยไม่ปรากฏเหตุข้อจำเป็นหรือเหตุขัดข้องประการอื่นแล้ว ถือว่าโจทก์มีส่วนผิดเช่นกัน การกำหนดให้จำเลยที่ 1 รับผิดชำระค่าขาดประโยชน์นานถึง 69 เดือน ย่อมทำให้โจทก์จะได้ผลประโยชน์ตอบแทนมากกว่ากรณีที่ปฏิบัติตามสัญญาเสียอีก เมื่อคำนึงถึงประโยชน์ที่โจทก์ได้จากการเช่าซื้อและราคารถที่ขายได้ เห็นสมควรกำหนดค่าขาดประโยชน์ให้แก่โจทก์เป็นเวลา 24 เดือน
ค่าเบี้ยประกันภัยเป็นเงินที่โจทก์ทดรองจ่ายไปตามสัญญาเช่าซื้อ เป็นเรื่องที่ตัวแทนเรียกเอาเงินที่ทดรองจ่ายไปชดใช้จากตัวการ ซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้ ต้องใช้อายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 637,469 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 629,126 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 158,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (วันที่ 8 สิงหาคม 2549) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยกำหนด ค่าทนายความ 5,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าที่โจทก์ชนะคดี คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 305,950 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 297,607 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ประกอบกิจการให้เช่าและเช่าซื้อรถยนต์ จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ทำสัญญาเช่าซื้อรถเทรลเลอร์ดั๊มจากโจทก์ ในราคา 772,000 บาท ตกลงชำระค่าเช่าซื้อรวม 49 งวด งวดละเดือน งวดแรกชำระวันที่ 30 เมษายน 2539 จำนวน 100,000 บาท งวดต่อไปชำระงวดละ 14,000 บาท ทุกวันที่ 1 ของเดือนจนกว่าจะครบ มีจำเลยที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ในสัญญาเช่าซื้อรถยนต์มีนายเชิดชัย ลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของโจทก์ในช่องเจ้าของ หลังจากทำสัญญาจำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อรวม 16 งวด เป็นเงิน 310,000 บาท แล้วผิดนัดตั้งแต่งวดที่ 17 ประจำวันที่ 1 กันยายน 2540 เป็นต้นไป โจทก์ยึดรถที่เช่าซื้อคืน ถือว่าคู่สัญญาต่างสมัครใจเลิกสัญญาในวันดังกล่าว โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดราคา คงมีสิทธิเรียกได้เฉพาะค่าขาดประโยชน์จากการใช้ทรัพย์ โจทก์ขายรถได้ราคา 200,000 บาท โจทก์ทดรองจ่ายเบี้ยประกันภัยรถที่เช่าซื้อประจำปี 2541 จำนวน 21,607 บาท
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามประการแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ จำเลยทั้งสามฎีกาว่า โจทก์ไม่ได้นำสืบพยานหลักฐานให้เห็นว่า ขณะทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ นายศักดิ์ชัยและนางสาวอุทัยวรรณเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ได้จนถึงวันที่ 29 เมษายน 2539 การที่นายเชิดชัยทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์กับจำเลยที่ 1 ถือไม่ได้ว่าทำสัญญาในนามโจทก์ สัญญาเช่าซื้อรถยนต์เป็นสัญญาที่ไม่ได้ทำเป็นหนังสือ ตกเป็นโมฆะนั้น เห็นว่า จากคำเบิกความของนางขวัญจิตร พยานโจทก์ที่ว่า การลงนามในสัญญาเช่าซื้อ โจทก์มอบอำนาจให้นายเชิดชัย มีอำนาจลงชื่อแทน ซึ่งตามสำเนาหนังสือรับรองระบุว่า ระหว่างวันที่ 13 ธันวาคม 2537 ถึงวันที่ 21 กันยายน 2538 กรรมการโจทก์มี 6 คน คือ นายสาโรจน์ นายศักดิ์ชัย นายเชิดชัย นายสัมฤทธิ์ นายอัครพล นางสาวอุทัยวรรณ จำนวนและกรรมการซึ่งลงชื่อผูกพันบริษัทได้ คือ นายสาโรจน์ นายศักดิ์ชัย นายเชิดชัย กรรมการคนใดคนหนึ่งลงลายมือชื่อร่วมกับนายสัมฤทธิ์ หรือนายอัครพล หรือนางสาวอุทัยวรรณ รวมเป็นสองคนและประทับตราสำคัญของบริษัท โดยที่จำเลยทั้งสามมิได้นำสืบโต้แย้งข้อเท็จจริงข้างต้นว่าไม่ถูกต้องแต่อย่างใด จึงฟังได้ว่า ระหว่างวันที่ที่ระบุไว้ในสำเนาหนังสือรับรองดังกล่าว นายศักดิ์ชัยและนางสาวอุทัยวรรณเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ นายศักดิ์ชัยและนางสาวอุทัยวรรณร่วมกันลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของโจทก์มอบอำนาจให้นายเชิดชัยมีอำนาจกระทำการต่าง ๆ ตามที่ระบุไว้รวมทั้งมีอำนาจกระทำนิติกรรมสัญญาใด ๆ แทนโจทก์ได้ ดังนั้น ขณะนายศักดิ์ชัยและนางสาวอุทัยวรรณร่วมกันลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจนั้น บุคคลทั้งสองยังเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของโจทก์ หนังสือมอบอำนาจจึงมีผลให้นายเชิดชัยมีอำนาจกระทำการต่าง ๆ ตามที่ระบุไว้รวมทั้งมีอำนาจลงลายมือชื่อทำสัญญาเช่าซื้อแทนโจทก์ ตราบใดโจทก์ยังมิได้ยกเลิกหรือเพิกถอนหนังสือมอบอำนาจ นายเชิดชัยย่อมมีอำนาจกระทำการต่าง ๆ ตามที่ระบุไว้ทั้งหมดแทนโจทก์ได้ตลอดไป เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าโจทก์ได้ยกเลิกหรือเพิกถอนสำเนาหนังสือมอบอำนาจ นายเชิดชัยจึงมีอำนาจลงลายมือชื่อทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์กับจำเลยที่ 1 แทนโจทก์ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า นายศักดิ์ชัยและนางสาวอุทัยวรรณกรรมการผู้มีอำนาจของโจทก์มอบอำนาจให้นายเชิดชัยมีอำนาจทำสัญญาเช่าซื้อแทนโจทก์ สัญญาเช่าซื้อรถยนต์ไม่ตกเป็นโมฆะ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามประการต่อไปว่า จำเลยทั้งสามต้องรับผิดชำระ ค่าขาดประโยชน์แก่โจทก์เพียงใด จำเลยทั้งสามฎีกาว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 กำหนดให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าขาดประโยชน์แก่โจทก์เดือนละ 4,000 บาท นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดจนถึงวันที่โจทก์ยึดรถคืนเป็นเวลา 69 เดือน เป็นเงิน 276,000 บาท สูงเกินไปนั้น เห็นว่า ค่าขาดประโยชน์จากการใช้ทรัพย์เป็นรายเดือนที่ผู้เช่าซื้อจะต้องรับผิดนี้ ตามปกติย่อมคิดเทียบได้กับดอกเบี้ยซึ่งผู้ให้เช่าซื้อคิดรวมกันไว้ล่วงหน้าตามจำนวนปีหรืองวดที่ผ่อนชำระจากราคารถที่เช่าซื้อที่แท้จริง เพราะเงินส่วนนี้คือส่วนที่ทำให้ผู้ให้เช่าซื้อขาดประโยชน์ไปในแต่ละเดือนนั่นเอง ได้ความจากคำเบิกความของนางขวัญจิตรพยานโจทก์ว่า รถที่เช่าซื้อมีราคาแท้จริง 580,000 บาท จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้องวดแรก 100,000 บาท ถือว่าเป็นเงินดาวน์ คงเหลือราคา 480,000 บาท โจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อปี รวมกับภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อคำนวณจากราคารถที่คงเหลือ 480,000 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อปี แล้วเป็นดอกเบี้ยปีละ 48,000 บาท หรือเดือนละ 4,000 บาท จึงเป็นค่าขาดประโยชน์จำนวนที่เหมาะสมแล้ว แต่จากคำเบิกความของนางขวัญจิตรตอบทนายจำเลยทั้งสามถามค้านที่ว่า รถที่เช่าซื้อเป็นรถเทรลเลอร์ดั๊ม เป็นตัวพ่วงที่ไม่มีเครื่องยนต์ การใช้งานจะนำรถเทรลเลอร์ดั๊มไปพ่วงกับรถบรรทุก ดังนี้ รถที่เช่าซื้อมิใช่รถยนต์รับจ้างทั่วไป โจทก์ไม่อาจนำรถดังกล่าวออกไปทำธุรกิจให้บุคคลทั่ว ๆ ไปเช่าเป็นรายเดือนได้ทุกเดือนดังที่โจทก์บรรยายฟ้องมา ครั้นเมื่อจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 17 ประจำวันที่ 1 กันยายน 2540 เป็นต้นไปแล้วไม่ชำระค่าเช่าซื้ออีก ตามสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ข้อ 8 กำหนดให้โจทก์มีสิทธิที่จะบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อได้ แต่โจทก์มิได้ดำเนินการใด ๆ ตามข้อสัญญาดังกล่าว กลับปล่อยให้ระยะเวลาล่วงเลยไปนานร่วม 5 ปีเศษ จึงไปติดตามยึดรถที่เช่าซื้อคืนอันเป็นเหตุให้สัญญาเช่าซื้อเลิกกัน แม้ความเสียหายจะเกิดขึ้นแก่โจทก์ตลอดเวลาจนกว่าโจทก์จะได้รับรถที่เช่าซื้อคืนก็ตาม ซึ่งจำเลยที่ 1 ก็สามารถผ่อนปรนความเสียหายโดยการรีบส่งมอบรถที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์ได้ แต่เมื่อโจทก์ก็ละเลยไม่รีบดำเนินการใด ๆ ตามข้อสัญญาภายในเวลาอันสมควรโดยไม่ปรากฏข้อจำเป็นหรือเหตุขัดข้องประการอื่นแล้ว ถือว่าโจทก์มีส่วนผิดด้วยเช่นกัน การกำหนดให้จำเลยที่ 1 รับผิดชำระค่าขาดประโยชน์แก่โจทก์เป็นเวลานานถึง 69 เดือน ย่อมทำให้โจทก์จะได้ผลประโยชน์ตอบแทนจากจำเลยที่ 1 มากกว่ากรณีที่ปฏิบัติตามสัญญาเสียอีก เมื่อคำนึงถึงประโยชน์ที่โจทก์ได้จากการเช่าซื้อครั้งนี้ ประกอบกับราคารถที่โจทก์ขายได้ 200,000 บาท แล้ว เห็นสมควรกำหนดค่าขาดประโยชน์แก่โจทก์เดือนละ 4,000 บาท เป็นเวลา 24 เดือน เป็นเงิน 96,000 บาท ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสามฟังขึ้นบางส่วน
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามประการสุดท้ายว่า ฟ้องโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับค่าเบี้ยประกันภัยขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า ในปัญหาข้อนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้วินิจฉัยไว้โดยละเอียดแล้วว่า ค่าเบี้ยประกันภัยเป็นเงินที่โจทก์ทดรองจ่ายไปตามสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 7 เป็นเรื่องที่ตัวแทนเรียกเอาเงินที่ทดรองจ่ายไปชดใช้จากตัวการ ซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้ ต้องใช้อายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 ค่าเบี้ยประกันภัยจึงไม่ขาดอายุความ ซึ่งชอบด้วยกฎหมายแล้ว ศาลฎีกาไม่จำต้องวินิจฉัยซ้ำอีก ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้น เมื่อรวมค่าเบี้ยประกันภัย พร้อมดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นเงิน 29,950 บาท และค่าขาดประโยชน์ 96,000 บาท แล้วเป็นเงิน 125,950 บาท
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 125,950 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 117,607 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ