แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยเขียนชื่อของผู้เสียหายลงในช่องผู้จะซื้อของสัญญาจะซื้อขายหรือสัญญาวางมัดจำโดยเป็นการเขียนให้เป็นลายมือของจำเลยเอง และยังใช้คำว่านายนำหน้าชื่อผู้เสียหายและเขียนชื่อผู้เสียหายผิดจาก “ประพฤทธิ์” เป็น “ประพฤติ” แสดงว่าจำเลยมิได้เจตนาจะเลียนให้เหมือนหรือคล้ายคลึงลายมือชื่อที่แท้จริงของผู้เสียหายแต่อย่างใด จึงไม่ใช่การลงลายมือชื่อปลอม เมื่อจำเลยทำสัญญาจะซื้อขายทั้ง 2 ฉบับ ในฐานะเป็นตัวแทนของผู้เสียหายและ ฉ. ไม่ได้ทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริงซึ่งผู้เสียหายทำด้วยตนเอง อันจะเป็นการทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับ ส่วนจำเลยจะเป็นตัวแทนมีอำนาจทำสัญญาแทนผู้เสียหายจริงหรือไม่ ก็เป็นปัญหาเพียงเรื่องการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งหรือจะผูกพันผู้เสียหายที่เป็นตัวการหรือไม่เพียงใดเท่านั้น แต่ไม่ทำให้สัญญาดังกล่าวกลายเป็นเอกสารปลอมไปได้ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร ความผิดฐานใช้เอกสารปลอมจึงไม่อาจเกิดขึ้นได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 264, 265, 268
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265 และมาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265 จำเลยเป็นผู้ปลอมเอกสารสิทธิและใช้เองต้องลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265 ตามมาตรา 268 วรรคสอง แต่กระทงเดียว จำคุก 2 ปี และปรับ 8,000 บาท ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน และปรับ 6,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ให้คุมความประพฤติของจำเลยเป็นเวลา 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 และ 30
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังว่า นายประพฤทธิ์ ผู้เสียหาย เป็นบุตรของนายประหยัดและนางพรรณวดี ซึ่งเป็นเจ้าของโรงแรมที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี วันเวลาเกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยเขียนกรอกข้อความลงในแบบพิมพ์หนังสือสัญญาจะซื้อขายหรือสัญญาวางมัดจำว่า ผู้เสียหายตกลงจะซื้ออาคารพาณิชย์เลขที่ 605/6 หมู่ที่ 7 ตำบลเชียงรากน้อย อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จากนายสุชาติในราคา 1,900,000 บาท วางมัดจำเป็นเงิน 100,000 บาท กำหนดโอนกรรมสิทธิ์กันในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2548 โดยจำเลยเขียนชื่อของผู้เสียหายในช่องผู้จะซื้อและลงลายมือชื่อของจำเลยในช่องพยานของหนังสือสัญญาจะซื้อขายหรือสัญญาวางมัดจำในวันเดียวกัน จำเลยทำสัญญาจะซื้อขายทาวน์เฮ้าส์เลขที่ 605/22 ซึ่งด้านหลังติดกับอาคารพาณิชย์ตามสัญญาฉบับแรกจากนายสุชาติ โดยระบุชื่อผู้จะซื้อคือนายฉัตรชัย จำเลยเขียนชื่อของนายฉัตรชัยในช่องผู้จะซื้อและลงลายมือชื่อในช่องพยานในหนังสือสัญญาจะซื้อขายหรือสัญญาวางมัดจำในลักษณะเดียวกันกับสัญญา
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิและฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 หรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยเขียนชื่อของผู้เสียหายลงในช่องผู้จะซื้อของสัญญาจะซื้อขายหรือสัญญาวางมัดจำ เป็นการเขียนให้เป็นลายมือของจำเลยเอง ยังใช้คำว่านายนำหน้าชื่อผู้เสียหายและเขียนชื่อผู้เสียหายผิดจาก “ประพฤทธิ์” เป็น “ประพฤติ” แสดงให้เห็นชัดเจนว่าจำเลยมิได้เจตนาจะเลียนให้เหมือนหรือคล้ายคลึงลายมือชื่อที่แท้จริงของผู้เสียหายแต่อย่างใด จึงไม่ใช่การลงลายมือชื่อปลอม เมื่อพิจารณาประกอบสัญญาจะซื้อขายหรือสัญญาวางมัดจำซึ่งจำเลยกับนายสุชาติทำขึ้นในคราวเดียวกันที่มีลักษณะเป็นเช่นเดียวกัน แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าจำเลยทำสัญญาจะซื้อขายทั้งสองฉบับในฐานะเป็นตัวแทนของผู้เสียหายและนายฉัตรชัย ไม่ได้ทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริงซึ่งผู้เสียหายทำด้วยตนเอง อันจะเป็นการทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับ ส่วนจำเลยจะเป็นตัวแทนมีอำนาจทำสัญญาแทนผู้เสียหายจริงหรือไม่ ก็เป็นปัญหาเพียงเรื่องการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งหรือจะผูกพันผู้เสียหายที่เป็นตัวการหรือไม่ เพียงใดเท่านั้น แต่ไม่ทำให้สัญญาดังกล่าวกลายเป็นเอกสารปลอมไปได้ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร ความผิดฐานใช้เอกสารปลอมก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาลงโทษจำเลยมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง