คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5649/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

อาคารพิพาทที่โจทก์ฟ้องขับไล่แม้โจทก์จะอ้างว่าให้เช่าได้เดือนละ 25,000 บาท แต่ศาลชั้นต้นเห็นว่าแม้อาคารพิพาทจะอยู่ในทำเลการค้าแต่ก็เป็นอาคารที่ก่อสร้างมานาน จึงกำหนดค่าเสียหายให้เพียงเดือนละ 10,000 บาทโจทก์มิได้อุทธรณ์ จึงถือได้ว่าอาคารพิพาทอาจให้เช่าได้ในขณะยื่นคำฟ้องไม่เกินเดือนละ 10,000 บาท ต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 248 วรรคสอง คดีนี้ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินและอาคารพิพาทให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกจากอาคารพิพาท และให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 10,000 บาท จำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าของที่ดินและอาคารพิพาทค่าเช่าเดือนละ 10,000 บาท สูงเกินไปเพราะเป็นตึกเก่าอย่างมากคิดได้เดือนละ 5,000 บาท จึงเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์เป็นฎีกาในข้อเท็จจริงจึงต้องห้ามตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยมีสิทธิอยู่ในอาคารพิพาทเพราะมีสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดาซึ่งพอแปลได้ว่าโจทก์ยังไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยนั้น ในประเด็นดังกล่าวจำเลยมิได้ยกขึ้นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นแต่ขอให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาตามคำฟ้องแย้งของจำเลย ซึ่งคำฟ้องแย้งของจำเลยศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับและศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ฎีกาของจำเลยในประเด็นข้อนี้จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะคำเบิกความของโจทก์ไม่น่าเชื่อถือ โจทก์ไม่สามารถพิสูจน์ประเด็นอำนาจฟ้องให้ชัดแจ้งได้นั้นก็เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์จึงเป็นฎีกาในข้อเท็จจริง ปรากฎจากคำฟ้องว่าโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินและอาคารพิพาทตั้งอยู่ที่ถนนเยาวราชแขวงสัมพันธวงศ์เขตสัมพันธวงศ์กรุงเทพมหานคร จำเลยเช่าอาคารพิพาทเลขที่ 424 จากเจ้าของกรรมสิทธิ์เดิมโดยไม่มีสัญญาเช่าและกำหนดเวลาเช่า จำเลยยื่นคำให้การว่าเช่าที่ดินพิพาทอยู่จริงและมีสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดามีกำหนดระยะเวลา 30 ปี โจทก์ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินและอาคารพิพาทมาจึงต้องรับสิทธิและหน้าที่ที่จะต้องให้จำเลยเช่าอยู่ในอาคารจนครบกำหนดเวลาดังกล่าว แสดงว่าจำเลยเข้าใจดีว่าอาคารพิพาทตั้งอยู่ส่วนใดของที่ดินพิพาทและสามารถต่อสู้คดีได้ถูกต้องฟ้องโจทก์จึงได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาพอที่จำเลยจะเข้าใจข้อหาของโจทก์ได้แล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 172 วรรค 2 ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 965 และอาคารเทียวกัวเทียน เลขที่ 424 ถนนเยาวราชแขวงสัมพันธวงศ์ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร จำเลยเช่าอาคารดังกล่าวจากเจ้าของกรรมสิทธิ์เดิมโดยไม่มีสัญญาเช่าและกำหนดเวลาเช่าเมื่อโจทก์ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินและอาคารดังกล่าวมา โจทก์ไม่ประสงค์จะให้จำเลยเช่าอาคารดังกล่าวอีกต่อไปจึงให้ทนายความมีหนังสือบอกเลิกการเช่า ให้จำเลยกับบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกจากอาคารที่เช่า แต่จำเลยเพิกเฉย โจทก์สามารถนำอาคารไปให้ผู้อื่นเช่าได้ค่าเช่าเดือนละ 25,000 บาท ขอให้ขับไล่จำเลยและบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากอาคารเทียนกัวเทียน เลขที่ 424 ของโจทก์กับให้จำเลยชำระค่าเสียหายเป็นเงิน 25,150 บาท และต่อไปเดือนละ25,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยจะขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากอาคารของโจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินและอาคารเทียนกัวเทียนที่แท้จริง จำเลยเช่าที่ดินพิพาทจากนายพวง ตันธนะโดยมีข้อตกลงว่านายพวงจะให้จำเลยอยู่ในที่ดินพิพาทได้เป็นเวลา30 ปี จำเลยได้ชำระค่าปรับปรุงรักษาอาคารเป็นเงินประมาณ 5,000,000บาท ให้แก่นายพวงเป็นการตอบแทน จำเลยจึงมีสิทธิอยู่ในที่ดินพิพาทได้จนครบ 30 ปี อาคารพิพาทอาจให้เช่าได้ไม่เกินเดือนละ 1,500 บาทค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องมาสูงเกินความจริง ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมทำให้จำเลยไม่อาจต่อสู้คดีได้อย่างถูกต้องขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ขับไล่จำเลยและบริวารให้ขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากอาคารเทียนกัวเทียน เลขที่ 424 ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 10,000 บาท และต่อไปเดือนละ 10,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2532) เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยและบริวารจะขนย้ายทรัพย์สินออกจากอาคารของโจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า อาคารพิพาทที่โจทก์ฟ้องขับไล่แม้โจทก์จะอ้างว่าให้เช่าได้เดือนละ 25,000 บาท แต่ศาลชั้นต้นเห็นว่าแม้อาคารพิพาทจะอยู่ในทำเลการค้าแต่ก็เป็นอาคารที่ก่อสร้างมานาน จึงกำหนดค่าเสียหายให้เพียงเดือนละ 10,000 บาท โจทก์มิได้อุทธรณ์จึงถือได้ว่าอาคารพิพาทอาจให้เช่าได้ในขณะยื่นคำฟ้องไม่เกินเดือนละ10,000 บาท ต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคสอง คดีนี้ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินและอาคารพิพาทให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกจากอาคารพิพาท และให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ เดือนละ 10,000 บาท จำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าของที่ดินและอาคารพิพาทค่าเช่าเดือนละ 10,000 บาท สูงเกินไปเพราะเป็นตึกเก่าอย่างมากคิดได้เดือนละ 5,000 บาท จึงเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์เป็นฎีกาในข้อเท็จจริงจึงต้องห้ามตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยมีสิทธิอยู่ในอาคารพิพาทเพราะมีสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดาซึ่งพอแปลได้ว่าโจทก์ยังไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยนั้น เห็นว่า ในประเด็นดังกล่าวจำเลยมิได้ยกขึ้นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้น เป็นแต่ขอให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาตามคำฟ้องแย้งของจำเลย ซึ่งคำฟ้องแย้งของจำเลยศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับและศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ฎีกาของจำเลยในประเด็นข้อนี้จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะคำเบิกความของโจทก์ไม่น่าเชื่อถือ โจทก์ไม่สามารถพิสูจน์ประเด็นอำนาจฟ้องให้ชัดแจ้งได้นั้นเห็นว่าเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ จึงเป็นฎีกาในข้อเท็จจริงเช่นกัน ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
จำเลยฎีกาเป็นข้อสุดท้ายว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเพราะไม่บรรยายว่าจำเลยเช่าอาคารพิพาทเลขที่ 424 อยู่ตรงส่วนไหนของที่ดินพิพาทยากแก่การคำนวณค่าเสียหาย ข้อนี้ปรากฎจากคำฟ้องว่าโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินและอาคารพิพาทตั้งอยู่ที่ถนนเยาวราชแขวงสัมพันธวงศ์ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร จำเลยเช่าอาคารพิพาทเลขที่ 424 จากเจ้าของกรรมสิทธิ์เดิม โดยไม่มีสัญญาเช่าและกำหนดเวลาเช่า จำเลยยื่นคำให้การว่าเช่าที่ดินพิพาทอยู่จริงและมีสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดามีกำหนดระยะเวลา 30 ปีโจทก์ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินและอาคารพิพาทมาจึงต้องรับสิทธิและหน้าที่ที่จะต้องให้จำเลยเช่าอยู่ในอาคารจนครบกำหนดเวลาดังกล่าวแสดงว่าจำเลยเข้าใจดีว่าอาคารพิพาทตั้งอยู่ส่วนใดของที่ดินพิพาทและสามารถต่อสู้คดีได้ถูกต้อง ฟ้องโจทก์จึงได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาพอที่จำเลยจะเข้าใจข้อหาของโจทก์ได้แล้ว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรค 2ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
พิพากษายืน

Share