คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5646/2538

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ในระหว่างพิจารณา พ. รักษาการเจ้าอาวาสวัดโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอให้สัตยาบันการที่นาย ช. และนาย น. ฟ้องคดีแทนวัดโจทก์พร้อมกับได้ชี้แจงเหตุผลประกอบ และได้ส่งหนังสือมอบอำนาจฉบับใหม่โดยไม่ได้ระบุมอบอำนาจให้นาย ช. เป็นผู้ฟ้องคดีแทนด้วยเพราะนาย ช. ถึงแก่กรรมไปแล้วย่อมเท่ากับเป็นการให้สัตยาบันในการมอบอำนาจให้ฟ้องคดีซึ่งไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งห้ามไว้แต่ประการใด ทั้งกรณีไม่ต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 47 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง นาย ช. และนาย น. จึงมีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์มาแต่ต้น ที่ดินโจทก์ดังกล่าวมีสภาพเป็นป่าช้ามาแต่โบราณกาล ล้อมรอบด้วยที่ธรณีสงฆ์ของวัด บ. จากข้อเท็จจริงที่ปรากฎต่อมาว่านาย ห.เป็นผู้แจ้งสิทธิครอบครองในที่ป่าช้าดังกล่าวไว้ด้วยเหตุผลที่จะกันไม่ให้ถูกบุกรุกยึดครอง โดยเจตนาของนาย ห. ดังกล่าวนี้ได้ประกาศชัดเจนว่าถือครองในฐานะแทนโจทก์ ซึ่งจำเลยก็มิได้คัดค้านโต้แย้งเมื่อพิเคราะห์ประกอบกับข้อเท็จจริงที่บริเวณที่ดินใกล้เคียงที่ป่าช้า ซึ่งหากจำเลยยึดถือครอบครองและออกโฉนดซึ่งมีทั้งซากวัตถุโบราณซึ่งมีความเกี่ยวเนื่องกับพิธีกรรมการฝังศพ ตลอดจนทางจำเลยก็ยอมรับถึงความเชื่อถือที่ไม่ยอมใช้น้ำในหนองโบสถ์ตรงตามที่พยานโจทก์เบิกความเป็นหนองน้ำใช้ล้างกระดูกศพ แล้วยิ่งเห็นได้ชัดว่าคำยืนยันของโจทก์ดังกล่าวเป็นความจริงว่าที่ดินพิพาทที่ล้อมรอบป่าช้าของโจทก์ เป็นที่ที่ใช้ประโยชน์เกี่ยวเนื่องกับการฝังศพจริง ที่ดินพิพาทเป็นที่ธรณีสงฆ์ของวัด บ. โจทก์ จำเลยไม่อาจยกการครอบครองขึ้นยันวัดโจทก์ การออกโฉนดในที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ธรณีสงฆ์ดังกล่าวจึงไม่ชอบ และโต้แย้งสิทธิโจทก์โจทก์มีอำนาจขอให้เพิกถอนได้ตามฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้พิพากษาเพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ 2332, 447, 446, 2206, 2205, 98, 96, 1075ตั้งอยู่หมู่ที่ 11 ตำบลวังไก่เถื่อน อำเภอหันคา จังหวัดชัยนาทห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้องในที่ดินของโจทก์
ระหว่างพิจารณา โจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 7 ที่ 8ศาลชั้นต้นอนุญาตจำหน่ายคดีเฉพาะตัวจำเลยที่ 7 ที่ 8 ออกจากสารบบความ
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 และที่ 9 ที่ 10 ให้การว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินตาม ส.ค.1เลขที่ 199 ตั้งอยู่หมู่ที่ 11 ตำบลวังไก่เถื่อน อำเภอหันคาจังหวัดชัยนาท เนื้อที่ 3 ไร่ 2 งาน 88 ตารางวา ห้ามจำเลยทุกคนและบริวารเกี่ยวข้องกับที่ดินโจทก์ดังกล่าว
โจทก์อุทธรณ์
ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 2 ถึงแก่กรรม นางจุน ซิละเซ็นยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอนุญาต
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 1 ถึงแก่กรรม นางแม้นศรี สาปานยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลฎีกามีคำสั่งอนุญาต
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาดังกล่าวในข้อที่ว่านายเชื่อมและนายเนี่ยมมีอำนาจฟ้องและการแต่งตั้งทนายความให้ดำเนินกระบวนพิจารณาแทนโจทก์ชอบหรือไม่ เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ซึ่งจำเลยยกขึ้นกล่าวในคำแก้อุทธรณ์แล้วแต่ศาลอุทธรณ์มิได้วินิจฉัย ศาลฎีกาสมควรวินิจฉัยให้โดยไม่ย้อนสำนวนศาลฎีกาเห็นว่า ไม่ว่านายเชื่อมและนายเนี่ยมจะมีอำนาจฟ้องคดีตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.2 จ.3 หรือไม่ก็ตาม แต่ในระหว่างพิจารณา พระครูศรีชโยดมรักษาการเจ้าอาวาสวัดโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอให้สัตยาบันการที่นายเชื่อมและนายเนี่ยมฟ้องคดีแทนวัดโจทก์พร้อมกับได้ชี้แจงเหตุผลประกอบ และได้ส่งหนังสือมอบอำนาจฉบับใหม่โดยไม่ได้ระบุมอบอำนาจให้นายเชื่อมเป็นผู้ฟ้องคดีแทนด้วยนั้นเพราะนายเชื่อมถึงแก่กรรมไปแล้ว ย่อมเท่ากับเป็นการให้สัตยาบันในการมอบอำนาจให้ฟ้องคดีซึ่งไม่มีบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งห้ามไว้แต่ประการใด เมื่อพิจารณามาตรา 47แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งประกอบด้วยแล้ว นายเชื่อมและนายเนี่ยมจึงมีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์มาแต่ต้น การที่นายเชื่อมและนายเนี่ยมร่วมกันแต่งตั้งทนายโจทก์ให้ดำเนินกระบวนพิจารณาแทนโจทก์จึงชอบแล้ว โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้อง มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 2332, 477, 466, 2206, 2205, 98และ 1075 ซึ่งอยู่ในบริเวณที่ดินพิพาทภายในเส้นดำหมายสีแดงตามแผนที่วิวาทเป็นที่ดินของวัดโจทก์หรือไม่
พิเคราะห์แล้ว ที่ดินพิพาทภายในเส้นดำหมายสีแดงตามแผนที่วิวาทตั้งอยู่ล้อมรอบที่ป่าช้าของโจทก์คือบริเวณเส้นดำหมายสีแดงประหมายเลข 2 ในแผนที่วิวาท ข้อที่โจทก์อ้างว่าได้ย้ายวัดโจทก์ซึ่งแต่เดิมชื่อวัดบ้านพรานจากฝั่งตะวันออกของแม่น้ำท่าจีนคือบริเวณที่ดินพิพาทมายังอีกฝั่งหนึ่งซึ่งอยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำท่าจีน และเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นวัดโจทก์ปัจจุบันก็ดี ข้อที่ฝ่ายจำเลยยืนยันว่าวัดบ้านพรานใต้เป็นวัดร้างไม่เกี่ยวกับโจทก์ก็ดี ปรากฏว่าประวัติความเป็นมาของวัดบ้านพรานใต้เป็นอย่างไรไม่มีพยานหลักฐานที่สามารถยืนยันได้แน่ชัดทั้งไม่มีชื่อของวัดบ้านพรานใต้อยู่ในทะเบียนวัดร้างอีกด้วย ข้ออ้างนำสืบของคู่ความทั้งสองฝ่ายล้วนแต่มีพื้นฐานอ้างอิงจากการบอกเล่าสืบทอดกันมาโดยไม่มีพยานยืนยันได้เป็นเด็ดขาดแต่จากข้อเท็จจริงที่จำเลยนำสืบรับตรงกับโจทก์ว่า ที่ดินของโจทก์ดังกล่าวมีสภาพเป็นป่าช้ามาตั้งแต่โบราณกาล ล้อมรอบด้วยที่ธรณีสงฆ์ของวัดบ้านพรานใต้ จึงน่าเชื่อตามสภาพที่ปรากฏเป็นที่พื้นเดียวกันว่าน่าจะเป็นป่าช้าของวัดบ้านพรานใต้อยู่เดิมเช่นเดียวกับที่ดินพิพาทที่พวกจำเลยได้เข้ายึดถือภายหลังนั้น และจากข้อเท็จจริงที่ปรากฏต่อมาว่านายหรุ่นเป็นผู้แจ้งสิทธิครอบครองในที่ป่าช้าดังกล่าวไว้ด้วยเหตุผลที่จะกันไม่ให้ถูกบุกรุกยึดครอง โดยเจตนาของนายหรุ่นดังกล่าวนี้ได้ประกาศชัดเจนว่าถือครองในฐานะแทนโจทก์ซึ่งพวกจำเลยก็มิได้คัดค้านโต้แย้ง และจากที่พวกจำเลยได้ยอมรับสิทธิของโจทก์ในที่ป่าช้าซึ่งน่าจะเป็นของวัดบ้านพรานใต้นี้เป็นการสะท้อนให้เห็นไปในทางว่า พวกจำเลยได้มีความเชื่อหรือยอมรับว่าวัดบ้านพรานใต้และวัดโจทก์มีส่วนเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกัน ที่โจทก์นำสืบว่าการขยายย้ายไปสร้างวัด ณ ที่ตั้งวัดโจทก์ปัจจุบันเนื่องจากความเจริญแห่งท้องถิ่นที่ขยายไปตามสภาพขณะนั้น และการเปลี่ยนชื่อจากวัดบ้านพรานเป็นวัดบ้านใหม่เพื่อเป็นสิริมงคลนั้นจึงมีเหตุผลน่ารับฟัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมุมกลับ หากวัดโจทก์เป็นวัดที่สร้างใหม่โดยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับวัดบ้านพรานใต้ก็จะขัดต่อข้อเท็จจริงและปราศจากเหตุผลว่า โจทก์ได้ถือสิทธิใช้ประโยชน์ในที่ป่าช้าของวัดบ้านพรานใต้ซึ่งอยู่คนละฝั่งแม่น้ำ และนายหรุ่นถือสิทธิในที่ป่าช้าดังกล่าวแทนโจทก์ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานข้อเท็จจริงหรือเหตุผลใดเป็นหลัก จึงสามารถยันพวกจำเลยเป็นผลให้ไม่ติดใจคัดค้านได้ ดังนี้เมื่อพิเคราะห์ประกอบข้อเท็จจริงที่บริเวณที่ดินใกล้เคียงที่ป่าช้าซึ่งพวกจำเลยยึดถือครอบครองและออกโฉนดซึ่งมีทั้งซากวัตถุโบราณซึ่งมีความเกี่ยวเนื่องกับพิธีกรรมทางฝังศพตลอดจนพวกจำเลยก็ยอมรับถึงความเชื่อถือที่ไม่ยอมใช้น้ำในหนองโบสถ์ตรงตามที่พยานโจทก์เบิกความว่าเป็นหนองน้ำใช้ล้างกระดูกศพแล้ว ยิ่งเห็นได้ชัดว่า คำยืนยันของโจทก์ดังกล่าวเป็นความจริงว่าที่ดินพิพาทที่ล้อมรอบที่ป่าช้าของโจทก์เป็นพื้นที่ที่ใช้ประโยชน์เกี่ยวเนื่องในการทำพิธีเกี่ยวกับการฝังศพจริงยิ่งเห็นได้แน่ชัดว่าที่ดินของวัดบ้านพรานใต้ที่พวกจำเลยยึดถือครอบครองและออกโฉนดเป็นส่วนที่ป่าช้าของโจทก์ ซึ่งความจริงเป็นผืนเดียวกัน และเป็นของวัดบ้านพรานใต้ตั้งแต่โบราณกาล นั้นเองที่โจทก์นำสืบขยายที่วัดมาถึงยังที่ใหม่และเปลี่ยนชื่อเป็นวัดบ้านใหม่นั้นจึงสอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่ปรากฏ และเชื่อมโยงสมเหตุสมผลมีน้ำหนักรับฟังเชื่อถือได้เฉพาะอย่างยิ่งนายบุญรอด จันทร์ฟัก และนายชิต โฉมเชิด พยานโจทก์ซึ่งมีอายุ 53 ปี และ 52 ปี ตามลำดับ ซึ่งได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินใกล้เคียงที่ดินพิพาทต่อจากบิดามารดาของตนต่างก็ยินยอมคืนที่ดินซึ่งแม้ได้ออกหลักฐานเป็น น.ส.3 แล้วแก่วัดโจทก์โดยดี ทั้งนี้เพราะบิดามารดาได้บอกไว้ว่าบริเวณที่ดินที่ตนครอบครองอยู่นี้เป็นที่ดินป่าช้าของวัดโจทก์หากวัดโจทก์จะเอาคืนก็คืนให้วัดโจทก์ไปตรงกันข้ามที่จำเลยนำสืบว่าวัดบ้านพรานใต้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโจทก์นั้น เป็นเพียงคำปฏิเสธลอย ๆ ซึ่งนอกจากจะขัดกับข้อเท็จจริงและเหตุที่ได้วินิจฉัยมาข้างต้นแล้ว ยังเห็นได้จากที่จำเลยนำสืบเองว่าพวกจำเลยมีความต้องการที่จะสร้างวัดใหม่ด้วยเหตุผลความสะดวกไม่ต้องข้ามแม่น้ำไปทำบุญ และด้วยเหตุผลที่ไม่ยอมให้ทรัพย์สินที่สร้างใช้ อยู่ในความดูแลของโจทก์อีก ไม่ยอมรับวิธีการในการประนีประนอมของโจทก์ ขอให้ตั้งเป็นสำนักสาขาของโจทก์ พยานหลักฐานจำเลยจึงขาดน้ำหนักที่จะรับฟังเชื่อถือ ข้อเท็จจริงจึงมีน้ำหนักให้รับฟังได้ตามพยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบว่า ที่ดินพิพาทเป็นธรณีสงฆ์ของวัดบ้านพรานใต้ซึ่งเป็นวัดเดียวกับวัดโจทก์ จำเลยไม่อาจยกการครอบครองขึ้นยันวัดโจทก์ การออกโฉนดในที่ดินพิพาทซึ่งเป็นธรณีสงฆ์ดังกล่าวจึงไม่ชอบ และโต้แย้งสิทธิของโจทก์โจทก์มีอำนาจที่ขอให้เพิกถอนได้ตามฟ้อง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ 2332, 477, 466,2206, 2205, 98 และ 1075 ตำบลวังไก่เถื่อน อำเภอหันคาจังหวัดชัยนาท ห้ามมิให้จำเลยเข้าเกี่ยวข้อง

Share