คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 508/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2 มิได้รู้เห็นเป็นใจในการกระทำผิดของจำเลยที่ 1 ถือไม่ได้ว่าเป็นตัวการตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2510 มาตรา 10 และพิพากษายกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 โจทก์มิได้อุทธรณ์หรือแก้อุทธรณ์ในปัญหานี้ ดังนั้นการที่โจทก์ฎีกาว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวการในการกระทำผิดของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวแทนหรือลูกจ้างของจำเลยที่ 2 จึงเป็นฎีกาในปัญหาที่ยุติแล้ว และเป็นปัญหาที่มิได้ว่ากล่าวกันมาในศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 มาตรา 110 วรรคท้าย แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่3) พ.ศ. 2522 มาตรา 19 บัญญัติว่า’การขนแร่เกินใบอนุญาตที่มิได้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวงให้ถือว่าแร่ที่ขนทั้งสิ้นนั้นเป็นแร่ที่ขนโดยไม่ได้รับอนุญาต’ หมายความว่าเจ้าของแร่หรือผู้ถืออาชญาบัตรผู้ถือประทานบัตรชั่วคราว ผู้ถือประทานบัตรหรือผู้รับใบอนุญาตจะต้องมีเจตนาหรือรู้เห็นเป็นใจในการขนแร่เกินใบอนุญาตด้วยเมื่อจำเลยที่ 2 ได้รับอนุญาตให้ขนแร่ดีบุกจำนวน 11 กระสอบโดยได้ว่าจ้างจำเลยที่ 1 ให้ขับรถยนต์ไปบรรทุกแร่ดีบุกจากท.คนเฝ้ารักษษแร่ดีบุกของจำเลยที่2ท. ได้ยักยอกแร่ดีบุกของจำเลยที่ 2บรรทุกไปในรถยนต์คันดังกล่าวอีก 15 กระสอบกรณีแร่ดีบุกจำนวน 15 กระสอบนี้จำเลยที่ 2 มิได้มีเจตนาหรือรู้เห็นเป็นใจที่จะให้ขนเกินไปจากที่ระบุไว้ในใบอนุญาตขนแร่ หากแต่เป็นการกระทำโดยพลการของ ท. เอง จึงถือไม่ได้ว่าแร่ของกลางทั้งหมดเป็นแร่ที่ขนโดยไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 110 และริบไม่ได้ตามมาตรา 154.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2525 เวลากลางคืนก่อนเที่ยงจำเลยทั้งสองร่วมกันมีแร่ดีบุกน้ำหนัก 883 กิโลกรัมไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตและในการขนแร่ดีบุกจำเลยทั้งสองได้รับใบอนุญาตขนแร่ให้ขนได้ 660 กิโลกรัมแต่จำเลยทั้งสองร่วมกันขนแร่ดีบุกถึง 1,543 กิโลกรัมเกินกว่าที่ได้รับอนุญาตถึง 883 กิโลกรัมซึ่งตามพระราชบัญญัติแร่ให้ถือว่าแร่ที่ขนทั้งสิ้นเป็นแร่ที่ขนโดยไม่ได้รับอนุญาตเจ้าพนักงานจับจำเลยที่ 1 ได้พร้อมด้วยแร่ดีบุกน้ำหนัก 1,543 กิโลกรัมและรถยนต์บรรทุกซึ่งใช้ในการกระทำผิดเป็นของกลางขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติแร่พ.ศ.2510 มาตรา 4, 10, 105, 108, 110, 148, 154 พระราชบัญญัติแร่(ฉบับที่ 2) พ.ศ.2516 มาตรา 3, 7, 8, 32 พระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ 3)พ.ศ.2522 มาตรา 18, 19, 21, 27 กฎกระทรวงฉบับที่ 43 ออกตามความในพระราชบัญญัติแร่พ.ศ.2510 ลงวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ.2522ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 91 ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 11 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2514 ข้อ 2 ให้ริบแร่ทั้งหมดและรถยนต์ของกลาง
จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ
จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติแร่พ.ศ.2510 มาตรา 4, 10, 105, 108, 110, 148, 154พระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2516 มาตรา 3, 7, 8, 32พระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2522 มาตรา 18, 19, 21, 27กฎกระทรวงฉบับที่ 43 ออกตามความในพระราชบัญญัติแร่พ.ศ.2510 ลงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2522 เรียงกระทงลงโทษฐานมีแร่ไว้ในครอบครองปรับ 380,000 บาทฐานขนแร่โดยไม่ได้รับอนุญาตปรับ 660,000 บาทรวมปรับ 1,040,000 บาทจำเลยที่ 1 รับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงปรับ 520,000 บาทของกลางริบทั้งหมดและยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ขอให้คืนแร่ดีบุกของกลางทั้งหมดแก่จำเลยที่ 2
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าแร่ดีบุกจำนวน 11 กระสอบเป็นแร่ที่มีใบอนุญาตให้ขนได้โดยถูกต้อง จึงริบแร่ดีบุกดังกล่าวไม่ได้ส่วนแร่ดีบุกอีก 15 กระสอบเป็นแร่ดีบุกของจำเลยที่ 2 ซึ่งถูกยักยอกไปและจำเลยที่ 2 มิได้รู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ด้วยเป็นทรัพย์ที่ริบไม่ได้เช่นกันจึงพิพากษาแก้เป็นว่า ไม่ริบแร่ดีบุกของกลางทั้งหมด นอกจากที่แก้ให้คงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าที่โจทก์ฎีกาว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวการในการกระทำผิดของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวแทนหรือลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ตามพระราชบัญญัติแร่พ.ศ.2510 มาตรา 10 นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าเมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2 มิได้รู้เห็นเป็นใจในการกระทำผิดของจำเลยที่ 1 จึงถือไม่ได้ว่าเป็นตัวการตามพระราชบัญญัติแร่พ.ศ.2510 มาตรา 10 และพิพากษายกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 แล้วโจทก์มิได้อุทธรณ์หรือแก้อุทธรณ์ปัญหาดังกล่าวต่อศาลอุทธรณ์จึงถือว่าปัญหาดังกล่าวเป็นอันยุติ และเป็นปัญหาที่มิได้ว่ากล่าวกันมาในศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้
ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่าศาลควรริบแร่ดีบุกของกลางทั้งหมดนั้นศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่าตามพระราชบัญญัติแร่พ.ศ.2510 มาตรา110 วรรคท้ายแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ 3)พ.ศ.2522 มาตรา 19 บัญญัติว่า ‘การขนแร่เกินใบอนุญาตที่มิได้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวงให้ถือว่าแร่ที่ขนทั้งสิ้นนั้นเป็นแร่ที่ขนโดยไม่ได้รับอนุญาต’ ซึ่งหมายความว่าเจ้าของแร่หรือผู้ถืออาชญาบัตรผู้ถือประทานบัตรชั่วคราวผู้ถือประทานบัตรหรือผู้รับใบอนุญาตจะต้องมีเจตนาหรือรู้เห็นเป็นใจในการขนแร่เกินใบอนุญาตด้วย และตามพระราชบัญญัติแร่พ.ศ.2510มาตรา 154 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2522มาตรา 27 ยังบัญญัติไว้ว่า ‘บรรดาแร่ เครื่องมือ เครื่องใช้ ….ที่บุคคลได้มาได้ใช้ในการกระทำความผิด …….ให้ริบเสียทั้งสิ้นไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่เว้นแต่ทรัพย์สินนั้นเป็นของผู้อื่นซึ่งมิได้รู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิด’ ในกรณีนี้ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติแล้วว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าของแร่ดีบุกของกลางได้รับอนุญาตให้ขนแร่ดีบุกจากจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ไปกรุงเทพมหานครเป็นจำนวน11 กระสอบน้ำหนัก 660 กิโลกรัมจึงได้ว่าจ้างจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกไปบรรทุกแร่ดีบุกตามจำนวนที่ได้รับใบอนุญาตขนแร่ดังกล่าว จากนายทรัพย์คนเฝ้ารักษาแร่ของจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 2 มิได้ร่วมไปกับจำเลยที่ 1 ด้วย แต่นายทรัพย์คนเฝ้ารักษาแร่ของจำเลยที่ 2 ยักยอกแร่ดีบุกของจำเลยที่ 2 บรรทุกไปในรถยนต์ที่จำเลยที่ 1 ขับด้วยอีก 15 กระสอบน้ำหนัก 883 กิโลกรัมทำให้จำนวนแร่เกินกว่าที่ระบุไว้ในใบอนุญาตขนแร่เป็นเหตุให้ถูกจับ ดังนี้แร่ดีบุกจำนวน 11 กระสอบน้ำหนัก 660 กิโลกรัมเป็นแร่ที่จำเลยที่ 2 ได้รับใบอนุญาตขนแร่โดยถูกต้องตามกฎหมายส่วนแร่ดีบุกจำนวน 15 กระสอบน้ำหนัก 883 กิโลกรัมที่เกินจากที่ระบุไว้ในใบอนุญาตขนแร่นั้นจำเลยที่ 2 มิได้มีเจตนาหรือรู้เห็นเป็นใจที่จะให้ขนแร่เกินไปจากที่ระบุไว้ในใบอนุญาตขนแร่แต่ประการใด เป็นการกระทำไปโดยพลการของนายทรัพย์ที่ยักยอกแร่ของจำเลยที่ 2 เองแร่ดีบุกของกลางทั้งหมดจึงถือไม่ได้ว่าเป็นแร่ที่ขนโดยไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 110 และริบไม่ได้ตามมาตรา 154 ดังกล่าวข้างต้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาไม่ริบแร่ดีบุกของกลางทั้งหมดชอบแล้ว
พิพากษายืน.

Share