คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5324/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยเป็นหนี้บริษัทธ.ต่อมาบริษัทธ.ควบรวมกับบริษัทอื่นเป็นบริษัทโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1243 มีผลให้บริษัทใหม่ได้ไปทั้งสิทธิและความรับผิดบรรดามีอยู่แก่บริษัทเดิมอันได้มาควบเข้ากันมิใช่เป็นเรื่องการแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวเจ้าหนี้โจทก์จึงหาจำต้องทำหนังสือหรือสัญญาใด ๆ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 349 และมาตรา 306 อันเป็นเรื่องเกี่ยวกับการโอนสิทธิเรียกร้องไม่ทั้งการควบบริษัทเข้าด้วยกันตามมาตรา 1240 บริษัทจะต้องบอกกล่าวให้แต่เฉพาะเจ้าหนี้ของบริษัททราบและให้โอกาสคัดค้านไม่มีบทบัญญัติกฎหมายใดบังคับว่าจะต้องได้รับความยินยอมจากจำเลยผู้เป็นลูกหนี้นิติสัมพันธ์ ระหว่างโจทก์และจำเลยยังหาระงับลงไม่ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ได้ขายลดเช็ค 1 ฉบับ แก่โจทก์เป็นเงินจำนวน 1,000,000 บาท โดยมีจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 จดทะเบียนจำนองที่ดินเป็นประกัน และทำสัญญาเป็นผู้ค้ำประกันยินยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1เมื่อเช็คดังกล่าวถึงกำหนดชำระเงิน ปรากฏว่าธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินจำเลยที่ 1 จึงได้ทำบันทึกข้อตกลงผ่อนผันการชำระหนี้ตามเช็คพร้อมดอกเบี้ยหลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระเงินตามข้อตกลง โจทก์ได้บอกกล่าวทวงถามให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระหนี้และบอกกล่าวบังคับจำนองแล้วแต่จำเลยทั้งสี่เพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน 1,676,205.48 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 21 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 1,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 9166 ตำบลบางพระ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี และที่ดินโฉนดเลขที่ 23072 ตำบลบางพระ อำเภอศรีราชา(บางพระ) จังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 พร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินดังกล่าว นำออกขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์จนครบหากขายได้เงินสุทธิไม่พอชำระหนี้ ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสี่นำออกขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ให้การรับว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 เป็นลูกค้าประเภทขายลดเช็คกับทำสัญญาค้ำประกันและสัญญาจำนองไว้จริงเมื่อปี 2532 แต่ต่อสู้ว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะการที่โจทก์ควบกิจการของบริษัทหลายบริษัทเข้าด้วยกันนั้นโจทก์ไม่ได้ทำเป็นหนังสือบอกกล่าวการโอนหนี้ระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสี่ให้เจ้าหนี้หรือลูกหนี้ทราบ เนื่องจากจำเลยทั้งสี่เป็นลูกหนี้ของบริษัทเงินทุนไฟแน้นเชี่ยลทรัสต์ จำกัด กับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนานันต์ จำกัด จำเลยทั้งสี่จึงไม่มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์ฟ้องโจทก์ในส่วนเกี่ยวกับการคิดดอกเบี้ยเคลือบคลุม โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจำนองที่ค้างชำระเกิน 5 ปี ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงิน 1,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยที่ค้างชำระตามอัตราในรายละเอียดเกี่ยวกับการคำนวณดอกเบี้ยเอกสารหมาย จ.27 ย้อนหลังไป 5 ปี นับแต่วันฟ้องกับให้คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ15 ต่อปี ของต้นเงิน 1,000,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสี่ไม่ชำระให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 9166 และ 23072ตำบลบางพระ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์ หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสี่ออกขายทอดตลาดจนครบ
โจทก์ จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินจำนวน1,561,712.32 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน 1,000,000 บาทตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2538 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากโจทก์จะบังคับจำนอง ให้บังคับจำนองเพื่อชำระในส่วนของดอกเบี้ยที่ค้างชำระตามอัตราในรายละเอียดเกี่ยวกับการคำนวณดอกเบี้ยเอกสารหมาย จ.27 ย้อนหลังไป 5 ปี นับแต่วันฟ้อง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเดิมโจทก์มีชื่อว่าบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนานันต์ จำกัด ตั้งขึ้นจากการควบบริษัทเงินทุนไฟแน้นเชี่ยลทรัสต์ จำกัด กับบริษัทจำกัดอีก 5 บริษัท เข้ากันแล้วต่อมาจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทโจทก์ในปัจจุบันจำเลยที่ 1 เป็นลูกหนี้โจทก์ตามสัญญาขายลดเช็คจำนวนเงิน 1,000,000 บาทเศษโดยมีจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม และจดทะเบียนจำนองที่ดินเป็นประกันหนี้ดังกล่าว โดยทำสัญญาขณะโจทก์ยังเป็นบริษัทเงินทุนไฟแน้นเชี่ยลทรัสต์ จำกัด และบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนานันต์ จำกัด และขณะนำเช็คพิพาทมาขายลดนั้นโจทก์ใช้ชื่อบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนานันต์ จำกัด มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 เพียงประการเดียวว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า การควบบริษัทจำกัดเข้ากันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1243 มีผลให้บริษัทใหม่ได้ไปทั้งสิทธิและความรับผิดบรรดามีอยู่แก่บริษัทเดิมอันได้มาควบเข้ากันเท่านั้น แต่การควบบริษัทจำกัดเข้ากันมิใช่เป็นเรื่องการแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวเจ้าหนี้ซึ่งต้องบังคับตามบทบัญญัติเรื่องการโอนสิทธิเรียกร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 349 และมาตรา 306 ดังที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 อ้าง เพราะเป็นบทบัญญัติของกฎหมายที่ต่างลักษณะไม่เกี่ยวข้องกัน โจทก์หาจำต้องทำหนังสือหรือสัญญาใด ๆ ตามบทบัญญัติดังกล่าวไม่ทั้งการควบบริษัทจำกัดเข้ากันของโจทก์นั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1240 ก็บัญญัติเฉพาะแต่เจ้าหนี้ของบริษัทเท่านั้น ที่บริษัทจะต้องบอกกล่าวให้ทราบและให้โอกาสคัดค้านการควบบริษัท แต่ไม่มีบทบัญญัติกฎหมายใดบังคับว่าจะต้องได้รับความยินยอมจากจำเลยผู้เป็นลูกหนี้ กรณีไม่มีเหตุทำให้นิติสัมพันธ์ของทั้งสองฝ่ายระงับลง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง คำพิพากษาศาลฎีกาที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 อ้างมีรูปเรื่องไม่ตรงกับคดีนี้ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share