แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์เป็นผู้ทรงเช็คพิพาทโดยสุจริต แม้เช็คพิพาทเป็นเช็คให้ใช้เงินเมืองเดียวกันกับที่ออกเช็ค และโจทก์มิได้ ยื่นแก่ธนาคารให้ใช้เงินภายใน 1 เดือน นับแต่วันออกเช็คก็ตาม แต่จำเลยที่ 2 สลักหลังเช็คพิพาทซึ่งจำเลยที่ 1 เป็นผู้สั่งจ่ายแก่ผู้ถือ ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 921 ประกอบด้วยมาตรา 989 ให้ถือว่าการสลักหลังนั้นเป็นเพียง ประกัน (อาวัล) สำหรับผู้สั่งจ่าย หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งเป็นการ รับประกันเพื่อการใช้เงินตามเช็คนั้น จำเลยที่ 2 จึงต้องผูกพันตนเป็นอย่างเดียวกันและรับผิดร่วมกันกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรงตามมาตรา 940 และ 967 ประกอบด้วยมาตรา 989ในฐานะผู้รับประกันการใช้เงิน (อาวัล) สำหรับผู้สั่งจ่าย จำเลยที่ 2 มิได้อยู่ในฐานะผู้สลักหลังทั้งปวงอัน จะพึงต้องรับผิดตามมาตรา 990 ซึ่งเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับ เรื่องเงื่อนไขแห่งการใช้สิทธิไล่เบี้ยของผู้ทรงเช็คต่อผู้สลักหลัง โอนเช็คชนิดระบุชื่อผู้รับเงินเท่านั้น บทบัญญัติมาตรา 990 ดังกล่าวหาได้รวมถึงผู้สลักหลังเช็คในฐานะเป็นผู้รับประกัน การใช้เงิน (ผู้รับอาวัล) สำหรับผู้สั่งจ่ายตามเช็คซึ่งสั่ง ให้ใช้เงินแก่ผู้ถือนั้นด้วยไม่ ซึ่งเป็นกรณีต่างกัน จึงไม่อาจ นำมาปรับแก่กรณีนี้ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อประมาณวันที่ 30 พฤษภาคม 2533 นายอร่าม จาดเชย นำเช็คธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาบางซื่อ ลงวันที่ 1 สิงหาคม 2533 สั่งจ่ายเงินแก่ผู้ถือจำนวน 5,000,000 บาท มาแลกเงินสดไปจากโจทก์ เช็คดังกล่าวมีจำเลยที่ 1 เป็นผู้สั่งจ่ายและจำเลยที่ 2 กับที่ 3 เป็นผู้สลักหลัง ต่อมาโจทก์นำเช็คไปเข้าบัญชีของโจทก์ที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาท่ายางเพื่อเรียกเก็บเงินแต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 5,281,250 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินจำนวน 5,000,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 5,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 11 ตุลาคม 2533 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 ส่วนจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าธรรมเนียมศาลที่ไม่ได้รับยกเว้นให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาชั้นอุทธรณ์ภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนดจึงถือว่าจำเลยที่ 1 ไม่ติดใจอุทธรณ์ต่อไป
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นฎีกาฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อเป็นผู้สั่งจ่ายเช็คธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาบางซื่อ ลงวันที่ 1 สิงหาคม 2533 สั่งจ่ายเงินแก่ผู้ถือจำนวน 5,000,000 บาท โดยมีจำเลยที่ 2 และที่ 3 ลงลายมือชื่อเป็นผู้สลักหลังเช็คมอบให้นายอร่าม จาดเชยเป็นการชำระหนี้ค่าพลอยที่ซื้อไป ตามสำเนาเช็คเอกสารหมาย จ.1 ต่อมาวันที่ 11 ตุลาคม 2533 โจทก์นำเช็คดังกล่าวไปเข้าบัญชีของโจทก์ที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาท่ายาง เพื่อเรียกเก็บเงินปรากฏว่าธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน ตามสำเนาในคืนเช็คเอกสารหมาย จ.3
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ประการแรกว่า โจทก์เป็นผู้ทรงเช็คโดยสุจริตหรือไม่ ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่านายอร่ามสมคบกันฉ้อฉลกับโจทก์ให้โจทก์นำเช็คไปเรียกเก็บเงินโดยไม่มีมูลหนี้ต่อกันดังที่จำเลยที่ 2 ฎีกาแต่ฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบว่า โจทก์เป็นผู้ทรงเช็คพิพาทโดยสุจริต
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการต่อไปคือ จำเลยที่ 2 หลุดพ้นจากความรับผิดตามเช็คพิพาทแล้วหรือไม่ จำเลยที่ 2 ฎีกาว่าเช็คพิพาทที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นเช็คให้ใช้เงินเมืองเดียวกันกับที่ออกเช็ค โจทก์มิได้ยื่นแก่ธนาคารให้ใช้เงินภายใน 1 เดือน นับแต่วันออกเช็ค โจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรงจึงสิ้นสิทธิที่จะไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้สลักหลัง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 990 เห็นว่า จำเลยที่ 2 สลักหลังเช็คพิพาทซึ่งจำเลยที่ 1เป็นผู้สั่งจ่ายแก่ผู้ถือซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 921ประกอบด้วยมาตรา 989 ให้ถือว่าการสลักหลังนั้นเป็นเพียงประกัน (อาวัล) สำหรับผู้สั่งจ่าย หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งเป็นการรับประกันเพื่อการใช้เงินตามเช็คนั้น จำเลยที่ 2 จึงต้องผูกพันตนเป็นอย่างเดียวกันและรับผิดร่วมกันกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรงตามมาตรา 940 และ 967 ประกอบด้วยมาตรา 989 ในฐานะผู้รับประกันการใช้เงิน (อาวัล) สำหรับผู้สั่งจ่าย มิได้อยู่ในฐานะผู้สลักหลังทั้งปวงอันจะพึงต้องรับผิดตามมาตรา 990 ซึ่งเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับเรื่องเงื่อนไขแห่งการใช้สิทธิไล่เบี้ยของผู้ทรงเช็คต่อผู้สลักหลังโอนเช็คชนิดระบุชื่อผู้รับเงินเท่านั้นหาได้รวมถึงผู้สลักหลังเช็คในฐานะเป็นผู้รับประกันการใช้เงิน (ผู้รับอาวัล) สำหรับผู้สั่งจ่ายตามเช็คซึ่งสั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือนั้นด้วยไม่ ซึ่งเป็นกรณีต่างกัน จะนำมาปรับแก่กรณีนี้หาได้ไม่ ดังนั้น จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 และไม่หลุดพ้นจากความรับผิดตามเช็คพิพาท
พิพากษายืน