คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5645/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่เขตพระโขนง เขตยานนาวา เขตปทุมวัน เขตบางรัก เขตสัมพันธวงศ์ เขตป้อมปราบ-ศัตรูพ่าย เขตพระนคร เขตดุสิต เขตบางเขน เขตพญาไท และเขตห้วยขวางกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2530 หมดอายุวันที่ 16 มิถุนายน 2535 ส่วน พ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนฯ…พ.ศ. 2535 ประกาศใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 29 สิงหาคม 2535 มีระยะห่างกันเพียง 2 เดือน และกำหนดเขตที่จะทำการสำรวจเพื่อเวนคืนและท้องที่ที่จะเวนคืนเป็นเขตและท้องที่เดียวกัน เมื่อไม่ปรากฏว่าหลังจาก พ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนฯ พ.ศ.2530 สิ้นอายุแล้วที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนมีสภาพเปลี่ยนแปลงอย่างไร และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง กำหนดให้ดำเนินการสำรวจเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนที่แน่นอน เมื่อจำเลยที่ 1 เคยสำรวจที่ดินโจทก์และทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับที่ดินโจทก์ที่ถูกเวนคืนแน่นอนแล้ว ก็ไม่จำเป็นที่จำเลยที่ 1 ต้องดำเนินการสำรวจหรือกำหนดราคาเบื้องต้นสำหรับที่ดินโจทก์ดังกล่าวขึ้นใหม่
ขณะโจทก์กับจำเลยที่ 1 ทำสัญญาซื้อขาย พ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนฯ พ.ศ.2535 มีผลใช้บังคับแล้ว จำเลยที่ 1 จึงมีอำนาจทำสัญญาซื้อขายที่ดินโจทก์ที่ถูกเวนคืนกับโจทก์ได้ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 10 วรรคหนึ่ง สัญญาซื้อขายที่ดินโจทก์ที่ถูกเวนคืนระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงชอบด้วยกฎหมาย
เมื่อไม่ปรากฏว่ามีการกำหนดเงินค่าทดแทนไว้เป็นพิเศษในพ.ร.บ.เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฉบับใดโดยเฉพาะ ดังนี้การกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินโจทก์ที่ถูกเวนคืน จึงต้องบังคับตามว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ.2530 มาตรา 21 (1) ถึง (5) ประกอบกัน ที่ดินโจทก์ที่ถูกเวนคืนอยู่ในย่านที่เจริญแล้ว แม้การเวนคืนที่ดินจะมีเหตุและวัตถุประสงค์เนื่องจากมีความจำเป็นที่จะต้องสร้างทางพิเศษระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนเพื่ออำนวยความสะดวกและความรวดเร็วแก่การจราจรและการขนส่ง อันเป็นกิจการสาธารณูปโภคของรัฐก็ตามแต่รัฐก็เก็บเงินค่าตอบแทนจากการใช้บริการดังกล่าว อันมีลักษณะเป็นการดำเนินธุรกิจอยู่ด้วย เมื่อศาลฎีกาคำนึงถึงหลักเกณฑ์ดังกล่าวประกอบกันแล้ว เห็นว่าที่จำเลยทั้งสองกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินโจทก์ที่ถูกเวนคืนยังไม่เป็นธรรม ศาลฎีกาเห็นสมควรกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินโจทก์ที่ถูกเวนคืนดังกล่าวเพิ่มขึ้นได้
เมื่อฝ่ายจำเลยต้องชำระเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์ตามคำวินิจฉัยของศาล โจทก์จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนที่เพิ่มขึ้นทั้งนี้นับแต่วันที่ต้องมีการจ่ายหรือวางเงินค่าทดแทนนั้นตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530มาตรา 26 วรรคสาม ส่วนจะได้รับอัตราเท่าใดต้องเป็นไปตามประกาศของธนาคารออมสินที่ประกาศอัตราดอกเบี้ยขึ้นลง แต่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีตามที่โจทก์ขอ
โจทก์ทำสัญญาซื้อขายที่ดินกับจำเลยที่ 1 ตามมาตรา 10 แห่งพ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2535จำเลยทั้งสองต้องชำระค่าทดแทนที่ดินให้หมดภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่ทำสัญญาซื้อขายตามมาตรา 11 วรรคหนึ่ง ดังนั้น วันที่ต้องมีการจ่ายเงินค่าทดแทนตาม มาตรา26 วรรคสาม คือ วันที่ 15 เมษายน 2536

Share