คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2158/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตัวแทนของจำเลยได้รับมอบสินค้าพิพาทไปจากโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นตัวแทนของโจทก์ที่ 1 (ผู้ขนส่ง)โดยจำเลยไม่ได้เวนคืนใบตราส่งให้แก่โจทก์ทั้งสอง แต่จำเลยได้ออกหนังสือขอรับมอบสินค้าโดยไม่มีการเวนคืนใบตราส่งให้แก่โจทก์ที่ 1 ซึ่งเอกสารดังกล่าวมีข้อความระบุโดยชัดแจ้งว่า จำเลยตกลงยอมชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 หากโจทก์ที่ 1 ได้รับความเสียหายจากการนี้ ข้อตกลงดังกล่าวแม้จะไม่มีลักษณะเป็นสัญญาค้ำประกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 680 รวมทั้งไม่มีลักษณะเป็นการให้ประกันตามควรตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 28 แต่ก็ถือได้ว่าข้อตกลงดังกล่าวเป็นนิติกรรมอย่างหนึ่ง เมื่อไม่ขัดต่อกฎหมายย่อมมีผลใช้บังคับได้
โจทก์ที่ 1 ถูกผู้ขายฟ้องคดีให้คืนหรือใช้ราคาสินค้าพิพาทให้แก่ผู้ขาย โจทก์ที่ 1 ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายส่วนนี้ให้แก่โจทก์ที่ 1 ตามข้อตกลงในหนังสือรับรองการรับมอบสินค้า ส่วนค่าเสียหายในส่วนที่เป็นค่าสินค้าพิพาทซึ่งศาลฎีกาเมืองฮ่องกงมีคำพิพากษาให้โจทก์ที่ 1 ชดใช้แก่ผู้ขายนั้น ปรากฏว่าผู้ขายได้ฟ้องจำเลยให้ชำระค่าสินค้าและศาลมีคำพิพากษาตามยอมให้จำเลยผ่อนชำระค่าสินค้าพิพาทแก่ผู้ขายเป็นอีกคดีหนึ่งด้วย และไม่ปรากฏว่าโจทก์ที่ 1 ได้ทำการชำระหนี้ให้แก่ผู้ขายหรือผู้ขายได้ดำเนินการบังคับคดีกับโจทก์ที่ 1 จึงถือว่าโจทก์ที่ 1 ยังไม่ได้รับความเสียหายจริง โจทก์ที่ 1 จึงยังไม่มีสิทธิมาฟ้องให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายในส่วนนี้ได้
โจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ขนส่งฟ้องขอให้จำเลยซึ่งเป็นผู้รับตราส่งรับผิดในความเสียหายของโจทก์ที่ 1 ตามข้อตกลงในหนังสือรับรองการรับมอบสินค้าโดยไม่มีการเวนคืนใบตราส่งซึ่ง พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มิได้บัญญัติเรื่องอายุความในกรณีนี้ไว้ ทั้งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ก็มิได้มีบัญญัติเรื่องอายุความในกรณีนี้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความทั่วไป 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30

ย่อยาว

คดีนี้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางรับโอนมาจากศาลแพ่งกรุงเทพใต้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 46
โจทก์ทั้งสองขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 73,381,222.51 บาท แก่โจทก์ทั้งสอง พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 37,381,222.51 บาท แก่โจทก์ที่ 1 พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ที่ 1 โดยกำหนดเป็นค่าทนายความ 100,000 บาท และให้ยกฟ้องของโจทก์ที่ 2 ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์ที่ 2 กับจำเลยให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยข้อแรกว่าโจทก์ที่ 1 หรือบริษัทคาเนมัตสึ (ฮ่องกง) จำกัด ผู้ขายเป็นผู้ส่งมอบสินค้าพิพาทให้แก่จำเลย และหนังสือขอรับมอบสินค้าโดยไม่มีการเวนคืนใบตราส่งซึ่งมีข้อตกลงว่าจำเลยยอมรับผิดชดใช้ค่าเสียแก่โจทก์ที่ 1 มีผลใช้บังคับได้หรือไม่ ในปัญหาข้อนี้ ข้อเท็จจริงคงรับฟังเป็นที่ยุติได้ว่าจำเลยได้รับมอบสินค้าพิพาทไปจากตัวแทนของโจทก์ที่ 1 ผ่านทางตัวแทนของจำเลยที่ท่าเรือกรุงเทพจริง โดยจำเลยได้ออกหนังสือรับรองการรับมอบสินค้าโดยไม่มีการเวนคืนใบตราส่งให้ไว้แก่โจทก์ที่ 1 เป็นหลักฐาน ซึ่งตามเอกสารดังกล่าวก็มีข้อความระบุโดยชัดแจ้งว่า จำเลยตกลงยอมชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 ซึ่งมีความหมายว่า ในการที่จำเลยรับมอบสินค้าพิพาทโดยไม่มีการเวนคืนใบตราส่งแก่โจทก์ที่ 1 นั้น หากโจทก์ที่ 1 ได้รับความเสียหายเพราะการนี้ จำเลยยอมรับผิดต่อโจทก์ที่ 1 ทั้งสิ้น หาใช่เป็นเพียงกรณีที่จำเลยให้ประกันหรือรับรองต่อโจทก์ที่ 1 ว่า จำเลยเป็นผู้มีสิทธิได้รับสินค้าพิพาทตามใบตราส่งตามที่จำเลยอ้างมาในอุทธรณ์ไม่ สำหรับข้อตกลงดังกล่าวแม้จะไม่มีลักษณะเป็นสัญญาค้ำประกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 680 ตามที่จำเลยอุทธรณ์ รวมทั้งไม่มีลักษณะเป็นการให้ประกันตามควรตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 28 ดังที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยไว้ แต่ก็ถือได้ว่าข้อตกลงดังกล่าวเป็นนิติกรรมอย่างหนึ่ง เมื่อไม่ขัดต่อกฎหมายย่อมมีผลใช้บังคับได้ ดังนั้น หากโจทก์ที่ 1 ได้รับความเสียหายอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่จำเลยได้รับมอบสินค้าพิพาทไปโดยไม่เวนคืนใบตราส่ง จำเลยย่อมจะต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ 1 ตามข้อตกลงดังกล่าว ส่วนที่โจทก์ที่ 1 อ้างมาในคำฟ้องว่า ข้อตกลงดังกล่าวเป็นสัญญาค้ำประกันนั้น เห็นว่า เป็นเพียงโจทก์ที่ 1 เรียกชื่อนิติกรรมดังกล่าวคลาดเคลื่อนไปเท่านั้น จำเลยจะนำมาเป็นข้ออ้างปฏิเสธความรับผิดหาได้ไม่ อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยข้อต่อไปว่า โจทก์ที่ 1 ได้รับความเสียหายหรือไม่เพียงใด ซึ่งในข้อนี้คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยเฉพาะค่าเสียหายของโจทก์ที่ 1 เฉพาะในส่วนที่เป็นค่าสินค้าพิพาทที่ศาลฎีกาเมืองฮ่องกงมีคำพิพากษาให้โจทก์ที่ 1 ชดใช้แก่ผู้ขาย กับค่าเสียหายในส่วนที่โจทก์ที่ 1 ต้องเสียเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีที่ศาลเมืองฮ่องกงเท่านั้น ซึ่งปัญหาข้อนี้ คดีคงฟังยุติตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางโดยที่จำเลยมิได้อุทธรณ์คัดค้านว่า ขณะที่โจทก์ที่ 1 ถูกผู้ขายฟ้องคดีเรียกให้โจทก์ที่ 1 คืนหรือใช้ราคาสินค้าพิพาทให้แก่ผู้ขายที่ศาลเมืองฮ่องกงนั้น โจทก์ที่ 1 ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีดังกล่าวได้แก่ ค่าจ้างทนายความ ค่าใช้จ่ายในการเดินทางติดต่อประสานงานและค่าใช้จ่ายในการติดต่อสื่อสารรวมเป็นเงิน 18,078 ดอลลาร์สหรัฐ หรือเท่ากับ 457,734.96 บาท ค่าใช้จ่ายดังกล่าว ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นว่า เป็นค่าเสียหายโดยตรงที่เกิดจากการที่จำเลยรับมอบสินค้าพิพาทไปจากโจทก์ที่ 1 โดยไม่เวนคืนต้นฉบับใบตราส่งให้แก่โจทก์ที่ 1 จึงเป็นเหตุให้โจทก์ที่ 1 ถูกผู้ครอบครองใบตราส่งฟ้องให้รับผิด และโจทก์ที่ 1 ต้องเสียหายเพราะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดีดังกล่าวที่ศาลเมืองฮ่องกง ดังนั้น จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายส่วนนี้ให้แก่โจทก์ที่ 1 ตามข้อตกลงในหนังสือรับรองการรับมอบสินค้าโดยไม่เวนคืนใบตราส่งดังที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัย ส่วนค่าเสียหายในส่วนที่เป็นค่าสินค้าพิพาท จำนวน 1,458,273.60 ดอลลาร์สหรัฐ หรือเท่ากับ 36,923,487.55 บาท ซึ่งศาลฎีกาเมืองฮ่องกงมีคำพิพากษาให้โจทก์ที่ 1 ชดใช้แก่ผู้ขายนั้น เห็นว่า ตามทางนำสืบของโจทก์ที่ 1 ปรากฏว่าผู้ขายได้ฟ้องจำเลยให้ชำระค่าสินค้าพิพาทรายนี้ที่ศาลจังหวัดสมุทรปราการซึ่งศาลมีคำพิพากษาตามยอมให้จำเลยผ่อนชำระหนี้ค่าสินค้าแก่ผู้ขายเป็นอีกคดีหนึ่งด้วยผู้ขายจึงสามารถบังคับชำระหนี้ค่าสินค้าจากจำเลยตามคำพิพากษาศาลจังหวัดสมุทรปราการ โดยไม่จำเป็นต้องบังคับชำระหนี้เอาจากโจทก์ที่ 1 ก็ได้ และไม่ปรากฏว่าโจทก์ที่ 1 ได้ชำระหนี้ตามคำพิพากษาศาลฎีกาเมืองฮ่องกงให้แก่ผู้ขายไปแล้ว รวมทั้งไม่ปรากฏว่าผู้ขายซึ่งเป็นโจทก์ในคดีดังกล่าวได้ดำเนินการบังคับคดียึดทรัพย์สินของโจทก์ที่ 1 คดีนี้ ขายทอดตลาดนำเงินไปชำระหนี้ตามคำพิพากษาคดีดังกล่าวแล้ว ดังนี้ โจทก์ที่ 1 จึงเพียงแต่อาจได้รับความเสียหายตามคำพิพากษาศาลฎีกาเมืองฮ่องกงดังกล่าวเพราะโจทก์ที่ 1 อาจถูกบังคับคดีต่อไปในภายหน้าเท่านั้น เมื่อโจทก์ที่ 1 ยังมิได้ชำระหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวแก่ผู้ขายหรือถูกบังคับคดียึดทรัพย์สินขายทอดตลาดนำเงินไปชำระหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวแก่ผู้ขาย ถือว่าโจทก์ที่ 1 ยังไม่ได้รับความเสียหายจริง โจทก์ที่ 1 จึงยังไม่มีสิทธิมาฟ้องขอให้จำเลยใช้ค่าเสียหายในส่วนนี้แก่โจทก์ที่ 1 ได้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยชดใช้เงินส่วนนี้แก่โจทก์ที่ 1 ด้วยนั้น จึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ และปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยจะมิได้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้มาในคำให้การจำเลยแต่ต้น จำเลยก็มีสิทธิที่จะยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยเป็นข้อสุดท้ายว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความแล้วหรือไม่ ในปัญหาข้อนี้ต้องวินิจฉัยเฉพาะฟ้องโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับค่าเสียหายที่เป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีของโจทก์ที่ 1 ที่ศาลเมืองฮ่องกงเท่านั้น ซึ่งจำเลยได้อุทธรณ์อ้างว่าอายุความกรณีนี้ต้องด้วยพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 46 ซึ่งกำหนดอายุความฟ้องร้องไว้ว่าต้องฟ้องคดีต่อศาลภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ผู้ขนส่งได้ส่งมอบของ โจทก์ที่ 1 ฟ้องว่า จำเลยได้รับมอบสินค้าพิพาทเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2537 แต่โจทก์ที่ 1 ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2539 ซึ่งเกินกว่า 1 ปี นับแต่วันที่จำเลยรับมอบสินค้าพิพาท ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความแล้วนั้น เห็นว่า มาตรา 46 บัญญัติไว้มีความว่า สิทธิเรียกร้องเอาค่าเสียหายเพื่อการสูญหาย เสียหายหรือส่งมอบชักช้าแห่งของที่รับขนตามสัญญารับขนของทางทะเล ถ้าไม่ได้ฟ้องคดีต่อศาลภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ผู้ขนส่งได้ส่งมอบของ ให้เป็นอันขาดอายุความ ตามบทบัญญัติในมาตรา 46 ดังกล่าว เป็นเรื่องที่ใช้บังคับเฉพาะกรณีที่ผู้รับตราส่งหรือผู้ส่งของฟ้องให้ผู้ขนส่งรับผิดในค่าเสียหายเพื่อการสูญหาย เสียหายหรือส่งมอบชักช้าแห่งของที่รับขนตามสัญญารับขนของทางทะเลเท่านั้น แต่คดีนี้โจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ขนส่งฟ้องขอให้จำเลยซึ่งเป็นผู้รับตราส่งรับผิดในความเสียหายของโจทก์ที่ 1 ตามข้อตกลงในหนังสือรับรองการรับมอบสินค้าโดยไม่มีการเวนคืนใบตราส่ง ซึ่งพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มิได้บัญญัติเรื่องอายุความในกรณีนี้ไว้ จึงต้องนำบทบัญญัติเรื่องอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้บังคับ แต่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 1 ลักษณะ 6 หมวด 2 กำหนดอายุความ ก็มิได้มีบัญญัติเรื่องอายุความในกรณีนี้โดยเฉพาะอีกเช่นกันจึงต้องถือว่ากรณีนี้มีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 โจทก์ที่ 1 ได้รับแจ้งค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีที่ศาลเมืองฮ่องกงตามใบแจ้งหนี้ลงวันที่ 19 มีนาคม 2539 และโจทก์ที่ 1 อ้างมาในคำฟ้องว่าโจทก์ที่ 1 ได้เสียค่าใช้จ่ายดังกล่าวไปแล้ว จำเลยมิได้ให้การปฏิเสธในข้อนี้ จึงฟังได้ตามฟ้อง แม้จะไม่ได้ความว่าโจทก์ที่ 1 ชำระค่าใช้จ่ายดังกล่าวไปในวันใด แต่ก็ต้องเป็นวันที่หลังจากได้รับใบแจ้งหนี้ดังกล่าวซึ่งถือว่าเป็นวันที่โจทก์ที่ 1 เริ่มมีสิทธิเรียกร้องเอาเงินดังกล่าวจากจำเลยได้ เมื่อนับถึงวันที่โจทก์ที่ 1 ฟ้องคดีนี้ยังไม่เกิน 10 ปี ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความดังที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัย อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายส่วนที่โจทก์ที่ 1 เสียไปเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีที่ศาลเมืองฮ่องกงจำนวน 457,734.96 บาท แก่โจทก์ที่ 1 พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้ยกคำขอของโจทก์ที่ 1 ที่ขอให้ชดใช้ค่าเสียหายจำนวนอื่น ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองชั้นศาลระหว่างโจทก์ที่ 1 และจำเลยให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง.

Share