แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแต่ที่ศาลชั้นต้นปรับบทลงโทษจำเลยทั้งสองในความผิดฐานพรากผู้เยาว์กับฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทลงโทษฐานพรากผู้เยาว์บทหนักนั้น ยังไม่ถูกต้อง เนื่องจากกรณีเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ต้องลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ศาลฎีกาปรับบทลงโทษให้ถูกต้องได้.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276, 310,318, 91, 90, 83, 80 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ,72, 72 ทวิ คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 44 ลงวันที่21 ตุลาคม 2519 ข้อ 3, 6, 7
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 310, 318, 91, 83 พระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ อันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดฐานพรากผู้เยาว์กับหน่วงเหนี่ยวกักขังทำให้ผู้เสียหายปราศจากเสรีภาพในร่างกายเป็นกรรมเดียว ให้ลงโทษบทหนักตามมาตรา 318 วรรคสาม จำคุกคนละ 6 ปีฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกคนละ 1 ปี ฐานพาอาวุธปืนติดตัวโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกคนละ 6 เดือน และจำเลยที่ 1 ยังมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 วรรคสอง จำคุก15 ปี ส่วนจำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276วรรคสอง, 80 จำคุก 10 ปี รวมจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 22 ปี 6 เดือนจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 17 ปี 6 เดือน
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า พยานโจทก์ฟังได้เฉพาะข้อหาพรากผู้เยาว์เพื่อการอนาจาร พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 319 วรรคหนึ่ง ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2525 มาตรา 9 จำคุกคนละ 2 ปี และปรับคนละ 4,000 บาท โทษจำคุกให้รอไว้ 2 ปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระ่าปรับให้ดำเนินการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้ยกฟ้องโจทก์ในข้อหาความผิดฐานมีและพาอาวุธปืน ฐานพยายามข่มขืนกระทำชำเรา
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายคนหนึ่ง จำเลยที่ 2 มีความผิดฐานพยายามข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายอีกคนหนึ่ง นอกจากนี้จำเลยทั้งสองยังมีความผิดฐานพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจารโดยผู้เยาว์ไม่เต็มใจไปด้วย กับฐานหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังเป็นเหตุให้ผู้เสียหายทั้งสองปราศจากเสรีภาพในร่างกาย แต่ไม่มีความผิดในข้อหาความผิดต่อพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ แล้ววินิจฉัยข้อกฎหมายว่า แม้โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น แต่ที่ศาลชั้นต้นปรับบทลงโทษจำเลยทั้งสองในความผิดฐานพรากผู้เยาว์กับฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษฐานพรากผู้เยาว์บทหนักนั้นยังไม่ถูกต้อง เนื่องจากกรณีเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ต้องลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป เห็นควรปรับบทลงโทษให้ถูกต้อง และเมื่อพิจารณาข้อที่จำเลยทั้งสองได้ชดใช้เงินค่าทำขวัญเป็นที่พอใจแก่มารดาของผู้เสียหายทั้งสองแล้ว เห็นควรกำหนดโทษความผิดสองฐานนี้ในสถานเบาลงมา
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 310 วรรคแรก มาตรา 318 วรรคสาม จำเลยที่ 1 ยังมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 วรรคสอง และจำเลยที่ 2 ยังมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 วรรคสอง ประกอบมาตรา 80 อีกด้วย เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ให้ลงโทษจำเลยทั้งสองในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 310 วรรคแรก และมาตรา 318 วรรคสามรวมจำคุกคนละ 4 ปี ลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 276 วรรคสอง จำคุก 15 ปี ลงโทษจำเลยที่ 2 ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 วรรคสอง ประกอบมาตรา 80 จำคุก 10 ปี รวมจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 19 ปี จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 14 ปี ทางนำสืบของจำเลยทั้งสองเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา นับเป็นเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 12 ปี 8 เดือน จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 4 ปี 4 เดือนนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.