คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1233/2533

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตมีความผิดตั้งแต่เริ่มครอบครองเป็นกรรมหนึ่ง และเมื่อได้พกพาอาวุธปืนไปในทางสาธารณะโดยผิดกฎหมายก็เป็นความผิดอีกกรรมหนึ่ง จึงเป็นความผิดสองกรรมต่างกัน ต้องลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิด การที่จำเลยได้ขับขี่รถจักรยานยนต์ของกลางไปพยายามปล้นทรัพย์ ก็เป็นเพียงยานพาหนะไปมาและพาจำเลยกับพวกหลบหนีให้พ้นจากการจับกุมโดยสะดวกและรวดเร็วเท่านั้น รถจักรยานยนต์ของกลางจึงไม่ใช่ทรัพย์สินที่ได้ใช้ในการกระทำความผิดอันจะพึงริบ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 340, 340 ตรี, 288, 289, 138, 140, 32, 33, 80, 83คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 40 ลงวันที่ 21 ตุลาคม2519 ข้อ 4 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11 ลงวันที่ 21พฤศจิกายน 2514 ข้อ 3, 14, 15 พระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 44 ข้อ 3, 6, 7 พระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน(ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2522 มาตรา 5, 7 ริบของกลาง จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 72 วรรคสอง คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 44 ข้อ 6 ฐานมีเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 6 เดือน มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 วรรคสอง คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 41 ข้อ 4 ฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ จำคุก 3 เดือน มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคสอง, 340 ตรี, 80ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11 ข้อ 14, 15 ฐานพยายามปล้นทรัพย์โดยคนหนึ่งคนใดมีอาวุธและใช้ยานพาหนะเพื่อกระทำผิด จำคุก 12 ปีการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91ที่แก้ไขแล้ว รวมเป็นจำคุก 12 ปี 9 เดือน จำเลยที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิดดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ,72 วรรคแรก, 72 ทวิ คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินฉบับที่ 44 ข้อ 3, 6, 7 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน (ฉบับที่ 7)พ.ศ. 2522 มาตรา 5, 7 ฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 2 ปี ฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย จำคุก 1 ปี มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 140 วรรคสาม ฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ จำคุก 3 ปี มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 340 วรรคสอง, 340 ตรี, 80 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11ข้อ 14, 15 ฐานพยายามปล้นทรัพย์โดยมีอาวุธปืนและใช้ยานพาหนะจำคุก 12 ปี รวมเป็นจำคุก 18 ปี ชั้นจับกุมจำเลยที่ 1 ที่ 2 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คนละหนึ่งในสามแล้วคงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 8 ปี 6 เดือน จำเลยที่ 2 มีกำหนด 12 ปีข้อหาอื่นเกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3ให้ยก ของกลางริบ จำเลยที่ 1 ที่ 2 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ในข้อหาพยายามปล้นทรัพย์ คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 6 เดือน จำเลยที่ 2 มีกำหนด 4 ปี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นโจทก์และจำเลยที่ 1 ที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว คดีของโจทก์ขึ้นสู่ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 มีความผิดฐานพยายามปล้นทรัพย์หรือไม่ ในข้อนี้โจทก์มีผู้เสียหายเบิกความว่า ขณะขับขี่รถจักรยานยนต์ไปตามถนนสายคันคลองชลประทานที่เกิดเหตุมีคนร้ายจำนวน 3 คน ขับขี่และนั่งซ้อนรถจักรยานยนต์ไปด้วยกัน 1 คันแล่นตามไปเคียงข้างกับรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหาย คนร้ายที่นั่งซ้อนท้ายหลังสุดใช้อาวุธปืนจี้ขู่บังคับผู้เสียหายให้หยุดรถผู้เสียหายเห็นคนร้ายและจำลักษณะคนร้ายได้ด้วยแสงสว่างจากไฟหน้ารถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายเอง เพราะคนร้ายขับรถล้ำหน้ารถของผู้เสียหายขึ้นไป ผู้เสียหายไม่ยอมหยุดรถคงเร่งเครื่องยนต์ขับรถจักรยานยนต์หนีไปได้และไปแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจที่ป้อมยามตำบลสระแก้ว เจ้าพนักงานตำรวจได้แจ้งทางวิทยุสื่อสารให้เจ้าพนักงานตำรวจด้วยกันสกัดจับคนร้ายหลังเกิดเหตุเล็กน้อยเจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้ผู้เสียหายไปดูแล้วจำได้ว่าจำเลยที่ 1 คือคนร้ายที่ขับขี่รถจักรยานยนต์ จำเลยที่ 2 คือคนร้ายที่นั่งซ้อนตรงกลาง ร้อยตำรวจโทประมวล ดวงสว่าง จ่าสิบตำรวจวินัย ทองประไพ สิบตำรวจเอกสมลักษณ์ ภู่รัตน์ เบิกความว่า ขณะจอดรถยนต์สายตรวจอยู่ในซอยแยกถนนสายคันคลองชลประทานที่เกิดเหตุหันหน้ารถสู่ถนนห่างจากที่เกิดเหตุประมาณ 7-8 กิโลเมตร ได้รับแจ้งทางวิทยุสื่อสารจากศูนย์วิทยุศรีสุริโยทัยว่ามีเหตุพยายามปล้นทรัพย์รถจักรยานยนต์ของผู้เสียหาย คนร้ายมีจำนวน 3 คน ใช้รถจักรยานยนต์แบบหญิงสีเขียวเป็นยานพาหนะ คนร้ายที่ขับขี่สวมกางเกงขาสั้น สวมเสื้อยีน คนนั่งกลางสวมกางเกงยีน สวมเสื้อยืดสีเข้ม คนนั่งหลังสุดสวมกางเกงขายาวสีเข้ม สวมเสื้อเชิ้ตสีขาว คนร้ายมีอาวุธปืนด้วย เหตุเกิดก่อนที่จะมีการแจ้งเหตุทางวิทยุประมาณ 5 นาที จึงพร้อมที่จะออกรถยนต์ไปตรวจจับคนร้ายตามที่ได้รับแจ้ง แต่เห็นรถจักรยานยนต์ 1 คัน กำลังแล่นจะผ่านหน้ารถยนต์ไปโดยไม่เปิดไฟหน้ารถ ลักษณะเป็นพิรุธ และมีอาการรีบร้อนจึงเปิดไฟหน้ารถยนต์ส่องไปข้างหน้าและฉายไฟชนิดสปอทไลท์ไปที่รถจักรยานยนต์นั้น เห็นลักษณะของรถจักรยานยนต์และจำนวนคนขับขี่และนั่งซ้อนตรงกันกับที่ได้รับแจ้ง จึงออกรถยนต์แล่นตามไปได้ระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร ก็ทันกัน ได้ร้องตะโกนให้หยุดรถและแจ้งด้วยว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ คนร้ายหันหน้ามาดูแล้วเร่งเครื่องยนต์หนีต่อไปอีกประมาณ 100 เมตร รถยนต์แล่นตามไปทันได้ใช้รถยนต์เบียดรถจักรยานยนต์บังคับให้หยุด คนร้ายทั้งสามคนลงจากรถจักรยานยนต์วิ่งหนีลงไปตามทุ่งนา เจ้าพนักงานตำรวจไล่ตามจับ จำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้ ส่วนจำเลยที่ 3 จับไม่ได้ ฝ่ายจำเลยมีจำเลยที่ 1 ที่ 2 เบิกความว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ที่ 2ขับขี่รถจักรยานยนต์ ไปตามปกติโดยไม่เปิดไฟหน้ารถ เจ้าพนักงานตำรวจฉายไฟชนิดสปอทไลท์ สั่งให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 หยุดรถ ตรวจค้นตัวไม่พบอะไร สั่งให้ไปที่สถานีตำรวจแล้วชกต่อยทำร้ายร่างกายบังคับขู่เข็ญให้รับสารภาพว่าได้ร่วมกันพวกอีก 1 คน พยายามปล้นทรัพย์รถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายบังคับให้ลงลายมือชื่อในบันทึกการจับกุมโดยไม่ให้อ่านข้อความ เห็นว่าการที่ผู้เสียหายจำลักษณะรถจักรยานยนต์ของคนร้ายว่าเป็นแบบหญิงสีเขียว จำคนร้ายที่ขับขี่รถจักรยานยนต์ว่าสวมกางเกงขาสั้น ใส่เสื้อยีนคนนั่งกลางสวมกางเกงยีนใส่เสื้อยืดสีเข้ม คนนั่งหลังสวมกางเกงขายาวสีเข้ม ใส่เสื้อเชิ้ตสีขาวเป็นการจำลักษณะของสิ่งของที่เห็นได้ง่ายและชัดเจน แม้จะมีแสงสว่างจากไฟหน้ารถจักรยานยนต์เพียงอย่างเดียวและเห็นชั่วระยะเวลาอันสั้นก็ตาม น่าเชื่อว่าผู้เสียหายเห็นและจดจำลักษณะพิเศษดังกล่าวได้ เพราะไม่ใช่จดจำรูปร่างหรือหน้าตาคนร้ายซึ่งจดจำได้ยาก ซึ่งจะต้องอาศัยแสงสว่างมากและใช้ระยะเวลานานพอสมควร เมื่อผู้เสียหายแจ้งลักษณะพิเศษแก่เจ้าพนักงานตำรวจทันทีหลังเกิดเหตุ จึงได้มีวิทยุแจ้งข่าวไปให้ศูนย์วิทยุศรีสุริโยทัยประกาศให้เจ้าพนักงานตำรวจออกจับคนร้าย หลังจากแจ้งเหตุทางวิทยุเพียง 5 นาทีร้อยตำรวจโทประมวล จ่าสิบตำรวจวินัย สิบตำรวจเอกสมลักษณ์ก็สกัดจับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้ เหตุที่จับเพราะจำเลยที่ 1 ที่ 2กับพวกนั่งรถจักรยานยนต์ไปด้วยกันบนถนนสายคันคลองชลประทานที่เกิดเหตุจำนวน 3 คน การแต่งกายตรงกัน และใช้รถจักรยานยนต์ชนิดเดียวกันกับที่ได้รับแจ้งข่าวทางวิทยุ อีกทั้งรถจักรยานยนต์ไม่เปิดไฟหน้ารถเป็นพิรุธและมีอาการรีบร้อนจะหลบหนี พยานแวดล้อมของโจทก์บ่งชี้ให้น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 เป็นคนร้ายเพราะจับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้ใกล้ชิดกับเวลาเกิดเหตุ เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจสั่งให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 หยุดรถจักรยานยนต์ ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 ไม่หยุด กลับขับขี่รถหลบหนีไปโดยเร็ว เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจใช้รถยนต์ไล่ตามทันก็ได้ทิ้งรถจักรยานยนต์วิ่งหนีไปกลางทุ่งนาและต่อสู้ขัดขวางการจับกุมอีกด้วย แม้จะปรากฏว่าจากถนนสายคันคลองชลประทานที่เกิดเหตุไปถึงบริเวณที่จับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้ จะมีทางแยกไปหมู่บ้าน 1 แห่ง และแยกไปวัดมงคลประสิทธิอีก 1 แห่ง ก็ตามแต่ทางแยกทั้ง 2 ทางดังกล่าวก็อาจจะเป็นเส้นทางไม่สะดวกที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 จะหลบหนีไปและจำเลยที่ 1 ที่ 2 ไม่รู้ว่าบนถนนคันคลองชลประทานจะมีเจ้าพนักงานตำรวจสายตรวจจอดรถยนต์ดักตรวจเหตุการณ์ทั่วไปอยู่ก็ได้ การนำสืบของจำเลยที่ 1 ที่ 2 คงมีแต่จำเลยที่ 1 ที่ 2 เบิกความปฏิเสธโดยไม่มีพยานหลักฐานอื่นใด ประกอบให้น่าเชื่อ ที่อ้างว่าถูกเจ้าพนักงานตำรวจชกต่อยทำร้ายร่างกายบังคับให้รับสารภาพในชั้นจับกุมก็ไม่ปรากฏว่าใครทำร้ายและได้รับบาดเจ็บจริงหรือไม่ในชั้นสอบสวนจำเลยที่ 1 ที่ 2 ให้การไว้โดยไม่มีรายละเอียดอะไรให้น่าเชื่อเหตุผลที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ปฏิเสธมาตั้งแต่แรก การนำสืบของจำเลยที่ 1 ที่ 2 จึงมีน้ำหนักน้อย ไม่มีน้ำหนักพอที่จะรับฟังหักล้างพยานโจทก์ได้ ศาลฎีกาเชื่อว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมกับพวกอีก 1 คน พยายามปล้นทรัพย์ตามฟ้อง ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
สำหรับฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า การมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตและพกพาอาวุธปืนไปในทางสาธารณะโดยผิดกฎหมายเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ศาลจะลงโทษได้เพียงบทที่มีโทษหนักที่สุดนั้น เห็นว่า การมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตมีความผิดมาตั้งแต่เริ่มครอบครองเป็นกรรมหนึ่งและเมื่อได้พกพาอาวุธปืนไปในทางสาธารณะโดยผิดกฎหมายก็เป็นความผิดอีกกรรมหนึ่ง จึงเป็นความผิดสองกรรมต่างกัน ศาลลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้นและที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ฎีกาว่าเมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องในความผิดฐานพยายามปล้นทรัพย์รถจักรยานยนต์ของกลางจึงไม่ใช่ทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิด ขอให้คืนแก่เจ้าของนั้น เห็นว่าแม้ศาลฎีกาจะฟังว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้ขับขี่รถจักรยานยนต์ของกลางไปพยายามปล้นทรัพย์ แต่ก็เป็นเพียงยานพาหนะไปมา และพาจำเลยที่ 1 ที่ 2 กับพวกหลบหนีให้พ้นจากการจับกุมโดยสะดวกและรวดเร็วเท่านั้น รถจักรยานยนต์ของกลางจึงไม่ใช่ทรัพย์สินที่ได้ใช้ในการกระทำความผิดอันจะพึงริบได้ ฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 2ในข้อนี้ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นยกเว้นไม่ริบรถจักรยานยนต์ของกลาง

Share