คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1388/2530

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 69 กฎหมายกำหนดโทษไว้ตามลำดับความร้ายแรงแห่งการกระทำผิดคือถ้า ผู้ใดมียาเสพติดไว้ในครอบครองก็จะมีความผิดตามวรรคแรก ถ้า เป็นการจำหน่ายหรือมียาเสพติดไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายก็จะเป็นความผิดตามมาตรา69 วรรคสอง สำหรับความในมาตรา 69 วรรคสามซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2528 มาตรา 6 ให้ขยายไปใช้กับความผิดตามวรรคสองเท่านั้น กฎหมายมิได้บัญญัติให้ขยายไปถึงความในวรรคแรกด้วย เพราะมิฉะนั้นจะทำให้การมียาเสพติดไว้ในครอบครองเป็นความผิดที่มีโทษสูงกว่าการมียาเสพติดไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายหรือจำหน่ายไป.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีมูลฝิ่นจำนวน 1 ก้อนเล็ก หนัก 1.6 กรัมไว้ในครอบครองกับเสพฝิ่นอีกจำนวนหนึ่งเข้าสู่ร่างกาย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 17,58, 69, 91, 102 พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 2)พ.ศ. 2528 มาตรา 4, 6, 10 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4ริบของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 17, 58, 69, 91, 102พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2528 มาตรา 4, 6, 10ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4 ฐานมีมูลฝิ่นจำคุกหกเดือน ฐานเสพฝิ่นจำคุกหกเดือน รวมแล้วให้ลงโทษจำคุกจำเลยไว้มีกำหนดหนึ่งปี จำเลยรับสารภาพมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงลงโทษจำคุกจำเลยหกเดือนของกลางริบ
โจทก์อุทธรณ์ว่า ศาลชั้นต้นลงโทษต่ำกว่ากฎหมาย
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้วเห็นว่า พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 69 วรรคแรก ระบุโทษของผู้มีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 17ให้จำคุกไม่เกินห้าปีและปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท ถ้าเป็นการจำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท2 อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 17 แล้ว มาตรา 69 วรรคสองระบุโทษให้จำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปีและปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท
ส่วนมาตรา 69 วรรคสามซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2528 มาตรา 6 บัญญัติว่า ถ้ายาเสพติดให้โทษซึ่งเป็นวัตถุแห่งการกระทำความผิดเป็นมอร์ฟีน ฝิ่นหรือโคคาอีน มีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ไม่เกินหนึ่งร้อยกรัมผู้กระทำผิดต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงยี่สิบปีและปรับตั้งแต่สามหมื่นบาทถึงสองแสนบาท จึงเห็นได้ว่า พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษฯ ได้กำหนดโทษตามลำดับความร้ายแรงแห่งการกระทำผิดถ้าจะถือว่าผู้ใดมีฝิ่นไว้ในครอบครองอันเป็นความผิดตามมาตรา 69วรรคแรก ต้องลงโทษตามมาตรา 69 วรรคสามที่แก้ไขเพิ่มเติมแล้วผู้นั้นก็จะได้รับโทษหนักกว่าผู้จำหน่ายฝิ่นหรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามมาตรา 69 วรรคสอง ทั้งที่เป็นการกระทำผิดที่ร้ายแรงกว่าการมีฝิ่นไว้ในครอบครองโดยมิได้จำหน่ายหรือมิได้มีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายเสียอีก ที่โจทก์กล่าวในฎีกาว่า ถ้ามาตรา 69วรรคสาม ที่แก้ไขใหม่ประสงค์จะให้ขยายความถึงวรรคสองโดยเฉพาะก็น่าจะบัญญัติไว้ทำนองเดียวกับมาตรา 76 วรรคสามและวรรคสี่ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 2)พ.ศ. 2528 เช่นเดียวกันนั้น เห็นว่าถ้ามาตรา 69 วรรคสามที่แก้ไขใหม่ประสงค์จะให้ใช้บังคับกับมาตรา 69 วรรคแรกแล้วก็น่าจะมีบทบัญญัติทำนองเดียวกับมาตรา 76 วรรคสาม ที่ใช้ถ้อยคำว่า”ถ้ายาเสพติดให้โทษซึ่งเป็นวัตถุแห่งการกระทำผิดดังกล่าวมาในวรรคหนึ่ง…” เมื่อถ้อยคำในมาตรา 69 วรรคสามมิได้ระบุไว้เช่นนี้ก็ต้องถือว่า มาตรา 69 วรรคสาม มิได้ประสงค์ให้ใช้กับมาตรา 69วรรคแรก ทั้งมาตรา 76 วรรคสาม และวรรคสี่ที่แก้ไขใหม่ก็กำหนดโทษตามลำดับความร้ายแรงแห่งการกระทำผิดเช่นกันกล่าวคือถ้ามีพืชกระท่อมไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายมีโทษสูงกว่ามีพืชกระท่อมไว้ในครอบครองโดยมิได้มีไว้เพื่อจำหน่าย ที่ศาลอุทธรณ์เห็นว่า มาตรา 69วรรคสาม เป็นการบัญญัติกฎหมายขยายความมาตรา 69 วรรคสอง ซึ่งเป็นเรื่องการจำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งยาเสพติดให้โทษประเภท 2 ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยชอบด้วยกฎหมายแล้วนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share