คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 52/2540

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การโอนหุ้นระหว่างจำเลยและธ. แบบโอนลอยนั้นคู่กรณีมีเจตนามุ่งให้ความสะดวกเป็นประโยชน์แก่ผู้รับโอนที่จะเลือกปฏิบัติได้ว่าหากประสงค์จะมีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นเป็นการโอนที่เสร็จเด็ดขาดก็ต้องปฏิบัติตามแบบแห่งกฎหมายให้ถูกต้องแต่หากยังไม่ประสงค์จะให้มีผลเสร็จเด็ดขาดก็อาจโอนลอยต่อให้บุคคลอื่นไปปฏิบัติได้ซึ่งเป็นการแบ่งขั้นตอนปฏิบัติตามแบบแห่งนิติกรรมที่กฎหมายกำหนดการโอนลอยหุ้นให้แก่ธ. จึงเป็นเพียงขั้นตอนที่จำเลยได้ปฏิบัติหน้าที่ฝ่ายของตนเป็นขั้นตอนแรกแล้วเท่านั้นยังมิได้เป็นการโอนที่เสร็จเด็ดขาดซึ่งความมุ่งหมายของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1129วรรคสองเป็นการกำหนดแบบของการโอนหุ้นว่าจะต้องทำอย่างไรจึงจะมีหลักฐานการโอนที่แน่นอนหาใช่เป็นแบบของการซื้อขายหุ้นไม่ดังนั้นผู้ถือหุ้นที่มิได้ทำการโอนให้ถูกต้องตามบทบัญญัติดังกล่าวจึงยังไม่อาจอ้างว่าเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทและไม่อาจใช้สิทธิในฐานะผู้ถือหุ้นในบริษัทตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บัญญัติไว้เท่านั้นหาอาจถือเป็นการขัดต่อกฎหมายและตกเป็นโมฆะไม่โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับโอนต่อในช่วงสุดท้ายยังคงอยู่ในฐานะเป็นผู้รับโอนสิทธิในหุ้นพิพาทที่จะดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้รับโอนหุ้นของบริษัทเอ็มดีเอ็กซ์ จำกัดจำนวน 150,000 หุ้น จากนางเยาวณี โดยใบหุ้นดังกล่าวมีชื่อจำเลยเป็นผู้ถือหุ้นและจำเลยได้ลงชื่อโอนลอยไว้กับลงชื่อในใบสำคัญการโอนหลักทรัพย์ให้ไว้ด้วย ต่อมาตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ยกเลิกใบหุ้นเก่า แล้วให้ผู้ถือหุ้นฉบับเก่าไปขอเปลี่ยนและรับใบหุ้นใหม่โจทก์ติดต่อแล้ว แต่ขอเปลี่ยนไม่ได้โดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแจ้งว่า ใบหุ้นเดิมยังมีชื่อจำเลยเป็นผู้ถือหุ้นอยู่ ต้องให้จำเลยเป็นผู้มาขอเปลี่ยน โจทก์จึงแจ้งให้จำเลยทราบแต่จำเลยไม่จัดการอย่างใด โจทก์ไม่ได้รับเงินปันผลของหุ้นระหว่างปี 2535 ถึง 2536หุ้นละ 3 บาท เป็นเงิน 450,000 บาท ซึ่งจำเลยเป็นผู้รับไปและต้องจ่ายให้แก่โจทก์ตามกฎหมาย ขอให้พิพากษาว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์หุ้นบริษัทเอ็มดีเอ็กซ์ จำกัด จำนวน 150,000หุ้น หมายเลข (เดิม) 146300001 ถึง 146350000, 146650001ถึง 146700000 และ 146700001 ถึง 146750000 ให้จำเลยดำเนินการเปลี่ยนใบหุ้นข้างต้น และขอรับใบหุ้นใหม่จากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือมอบอำนาจให้โจทก์ไปดำเนินการแทน แล้วให้จำเลยดำเนินการโอนใบหุ้นใหม่ให้โจทก์ หากจำเลยไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย และให้จำเลยชำระเงินจำนวน 450,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์หุ้นตามฟ้องจำเลยไม่ได้มอบหมายหรือสั่งให้นางเยาวณีเป็นตัวแทนขายหุ้นพิพาทให้โจทก์ โจทก์รับโอนหุ้นพิพาทเป็นการโอนลอย ซึ่งขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1129 และ ข้อบังคับของบริษัทเอ็มดีเอ็กซ์ จำกัด โจทก์ไม่มีกรรมสิทธิ์ในหุ้นพิพาทตามฟ้องจึงไม่มีอำนาจฟ้อง หุ้นพิพาทนั้นจำเลยนำไปมอบให้แก่นายธรรมนูญนิรันดร โดยการโอนลอยต่อมาจำเลยและนายธรรมนูญไม่สามารถตกลงเงื่อนไขและราคาในการซื้อขายหุ้นพิพาทจึงแจ้งให้นายธรรมนูญนำหุ้นพิพาทมาคืน แต่นายธรรมนูญไม่นำมาคืนหุ้นคงเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย การที่นางเยาวณีนำเอาไปโอนให้โจทก์จึงเป็นการไม่ชอบ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์หุ้นบริษัทเอ็มดีเอ็กซ์ จำกัด จำนวน 150,000 หุ้น หมายเลข (เดิม)146300001 ถึง 146350000, 146650001 ถึง 146700000 และ 146700001ถึง 146750000 โดยให้จำเลยดำเนินการเปลี่ยนใบหุ้นข้างต้น และขอรับใบหุ้นใหม่จากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยหรือมอบอำนาจให้โจทก์ไปดำเนินการแทน แล้วให้จำเลยดำเนินการโอนใบหุ้นใหม่ให้โจทก์หากจำเลยไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย และให้จำเลยชำระเงิน 450,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลย อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษากลับ ให้ยก ฟ้อง
โจทก์ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่า โจทก์ได้รับโอนหุ้นบริษัทเอ็มดีเอ็กซ์ จำกัด จำนวน 150,000 หุ้นหมายเลข (เดิม) 146300001 ถึง 146350000, 146650001 ถึง 146700000และ 146700001 ถึง 146750000 มีชื่อจำเลยเป็นผู้ถือหุ้นในใบหุ้นตามเอกสารหมาย จ.6, จ.8 และ จ.10 ซึ่งเป็นหุ้นพิพาทมาจากนางเยาวณีนิรันดร นางเยาวณีได้รับโอนหุ้นพิพาทมาจากนายธรรมนูญ นิรันดรซึ่งได้รับโอนหุ้นพิพาทมาจากจำเลย โดยมีนายรอยอิศราพร ชุตาภาและนางส่องศรี กัลยาณมิตร กรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยลงลายมือชื่อพร้อมกับประทับตราสำคัญโอนลอยไว้ตามใบสำคัญการโอนหลักทรัพย์เอกสารหมาย จ.5 จ.7 และ จ.9 ก่อนที่บริษัทเอ็มดีเอ็กซ์ จำกัดจะได้รับอนุญาตให้นำหุ้นของบริษัทเข้าทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยต่อมาตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ยกเลิกใบหุ้นเก่าของบริษัทดังกล่าวและให้ผู้ถือหุ้นนำใบหุ้นเก่าไปขอเปลี่ยนเพื่อรับใบหุ้นใหม่ โจทก์จึงแจ้งให้จำเลยมอบอำนาจให้โจทก์นำใบหุ้นพิพาทไปขอเปลี่ยนและรับใบหุ้นใหม่จากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแต่จำเลยเพิกเฉย โจทก์จึงมาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้
พิเคราะห์แล้ว ปัญหาที่โจทก์ฎีกาว่า การโอนลอยหุ้นพิพาทมิได้เป็นการโอนซื้อขายเสร็จเด็ดขาด จึงยังไม่ขัดต่อกฎหมายนั้นข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบและจำเลยไม่โต้แย้งรับฟังเป็นยุติได้ว่าหุ้นพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของหุ้นทั้งหมดที่จำเลยได้ลงชื่อในแบบโอนลอยให้แก่นายธรรมนูญ นิรันดร ไป หากนายธรรมนูญประสงค์ต้องการมีชื่อเป็นผู้ถือหุ้น ก็จะต้องลงลายมือชื่อเป็นผู้รับโอนแล้วไปแก้ทะเบียนรายชื่อผู้ถือหุ้นตามระเบียบได้และถ้านายธรรมนูญไม่ต้องการมีรายชื่อเป็นผู้ถือหุ้น นายธรรมนูญสามารถโอนหุ้นดังกล่าวให้แก่บุคคลอื่นต่อไปได้ และข้อเท็จจริงยังปรากฏต่อมาอีกว่านายธรรมนูญได้แบ่งโอนหุ้นบางส่วนให้แก่นางสาวเยาวลักษณ์ นิรันดรบุตรสาวคนหนึ่งซึ่งได้ดำเนินการเปลี่ยนและโอนใบหุ้นเป็นชื่อของตนได้ตามสำเนาใบหุ้นเอกสารหมาย จ.12 แผ่นที่ 7 ถึงแผ่นที่ 11ข้อเท็จจริงดังกล่าวนี้เป็นเครื่องชี้ให้เห็นชัดว่า การโอนหุ้นระหว่างจำเลยและนายธรรมนูญแบบโอนลอยนั้น คู่กรณีมีเจตนามุ่งให้ความสะดวกเป็นประโยชน์แก่ผู้รับโอนที่จะเลือกปฏิบัติได้ว่า หากประสงค์จะมีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นเป็นการโอนที่เสร็จเด็ดขาดก็จะต้องปฏิบัติตามแบบแห่งกฎหมายให้ถูกต้องต่อไป แต่หากยังไม่ประสงค์จะให้มีผลเสร็จเด็ดขาด ก็อาจโอนลอยต่อให้บุคคลอื่นไปปฏิบัติต่อไปได้ กล่าวโดยชัดแจ้งคือเป็นการแบ่งขั้นตอนการปฏิบัติตามแบบแห่งนิติกรรมที่กฎหมายกำหนด โดยฝ่ายจำเลยผู้โอนได้ปฏิบัติตามขั้นตอนฝ่ายตนแล้วมอบให้ฝ่ายผู้รับโอนไปเลือกปฏิบัติภายหลังให้เสร็จสมบูรณ์ต่อไปโดยลำพังได้ การโอนลอยหุ้นให้แก่นายธรรมนูญจึงเป็นเพียงขั้นตอนที่จำเลยได้ปฏิบัติหน้าที่ฝ่ายของตนแล้วเป็นขั้นตอนแรกเท่านั้น ยังมิได้เป็นขั้นตอนการโอนที่เสร็จเด็ดขาด ซึ่งความมุ่งหมายของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1129 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า การโอนหุ้นชนิดระบุชื่อ ถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือและลงลายมือชื่อของผู้โอนกับผู้รับโอน มีพยานคนหนึ่งอย่างน้อยลงชื่อรับรองลายมือชื่อเป็นโมฆะนั้นเป็นการกำหนดแบบของการโอนหุ้นว่าจะต้องทำอย่างไรจึงจะได้มีหลักฐานการโอนที่แน่นอนเท่านั้น หาใช่เป็นแบบของการซื้อขายหุ้นไม่ ผู้ซื้อหุ้นที่มิได้ทำการโอนให้ถูกต้องตามบทบัญญัติดังกล่าว ยังไม่อาจอ้างว่าเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท ยังไม่อาจใช้สิทธิในฐานผู้ถือหุ้นในบริษัทตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บัญญัติไว้เท่านั้น จึงมิอาจถือเป็นการขัดต่อกฎหมายและตกเป็นโมฆะไม่ โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับโอนต่อในช่วงสุดท้ายยังออกในฐานะผู้รับโอนสิทธิในหุ้นพิพาทที่จะดำเนินการตามขั้นตอนต่อไปตามกฎหมายได้ศาลอุทธรณ์ยกฟ้องโจทก์นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้ บังคับคดี ตาม คำพิพากษา ศาลชั้นต้น

Share