แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยมีหน้าที่ขายสินค้า นอกจากค่าจ้างประจำแล้ว หากโจทก์ขายสินค้าได้เองโจทก์ยังมีสิทธิได้รับค่าตอบแทนการขายในอัตราร้อยละ 1.5 ของยอดขายด้วย จึงเป็นเงินส่วนหนึ่งที่จ่ายให้แก่โจทก์เป็นการตอบแทนในการทำงานโดยคำนวณตามผลงานที่โจทก์ทำได้และมีกำหนดเวลาจ่ายไว้แน่นอน จึงเป็นค่าจ้างตามความหมายของประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 2 ซึ่งค่าตอบแทนการขายนี้ โจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระภายใน 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34(9)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เคยเป็นลูกจ้างของจำเลยทำงานในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายขายมีข้อตกลงกับจำเลยว่าในการขายสินค้าให้จำเลย โจทก์จะได้รับค่าตอบแทนในอัตราร้อยละ 1.5 ของราคาสินค้าที่ขายได้ โดยจำเลยจะต้องชำระให้แก่โจทก์ทุก 3 เดือน คือเดือนมีนาคม มิถุนายน กันยายน และธันวาคม ต่อมาเดือนกันยายน 2535 ถึงเดือนมิถุนายน 2536 โจทก์ขายสินค้าให้จำเลยได้หลายรายการคิดเป็นเงินทั้งสิ้น 29,525,434.22 บาท ซึ่งโจทก์มีสิทธิจะได้รับค่าตอบแทนการขายทั้งสิ้น 442,881.51 บาท แต่จำเลยไม่ยอมชำระ ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับจากวันที่ 1 กรกฎาคม 2536 ที่โจทก์ได้ทวงถามก่อนลาออกไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า ฟ้องโจทก์อ้างว่าขายสินค้าให้แก่จำเลยได้ระหว่างเดือนกันยายน2535 ถึงเดือนมิถุนายน 2536 โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องเงินดังกล่าวจากจำเลยในช่วงดังกล่าว 3 งวด คืองวดที่ 1 เดือนธันวาคม 2535 งวดที่ 2 เดือนมีนาคม 2536 และงวดที่ 3 เดือนมิถุนายน 2536 แต่โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2538 เงินในงวดที่ 1 ที่โจทก์ฟ้องมาจึงพ้นกำหนด 2 ปี นับแต่วันที่เกิดสิทธิแล้วเป็นอันขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า การขายสินค้าของโจทก์เป็นไปตามเงื่อนไขข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลย โจทก์จึงมีสิทธิได้รับเงินค่าตอบแทนการขายตามฟ้อง และข้อตกลงเกี่ยวกับค่าตอบแทนการขายสินค้าเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาจ้างแรงงาน การที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าตอบแทนดังกล่าวจึงเป็นการใช้สิทธิเรียกร้องตามสัญญาซึ่งมีกำหนดอายุความ 10 ปี สิทธิเรียกร้องเกิดขึ้นระหว่างปี 2535 ถึง 2536 โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2538 คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ พิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน442,881.51 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าวนับจากวันที่1 กุมภาพันธ์ 2538 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยเพียงข้อเดียวว่าคดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ข้อเท็จจริงยุติตามที่ศาลแรงงานกลางฟังมาว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยมีหน้าที่ขายสินค้า โดยมีข้อตกลงกันว่าหากโจทก์ขายสินค้าได้โจทก์มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนการขายอัตราร้อยละ 1.5 ของยอดขายแต่หากโจทก์เป็นเพียงผู้ประสานงานภายหลังการขายโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนค่าตอบแทนการขายตามฟ้องเป็นค่าตอบแทนงวดเดือนธันวาคม 2535 ซึ่งโจทก์มีสิทธิได้รับตามข้อตกลงที่กล่าวแล้ว จำเลยอุทธรณ์ว่า ค่าตอบแทนการขายสินค้าเป็นค่าจ้างอย่างหนึ่ง ซึ่งโจทก์จะต้องฟ้องเรียกภายใน 2 ปี เมื่อโจทก์ฟ้องเกิน 2 ปี คดีโจทก์จึงขาดอายุความ พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยมีหน้าที่ขายสินค้า หรืออีกนัยหนึ่งคือพนักงานขาย นอกจากโจทก์จะได้รับเงินเดือนเป็นค่าจ้างประจำแล้ว หากโจทก์เป็นผู้ขายสินค้าได้เองโจทก์ยังมีสิทธิได้รับค่าตอบแทนการขายในอัตราร้อยละ 1.5 ของยอดขายด้วย ค่าตอบแทนการขายนี้โจทก์จะได้รับมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับจำนวนยอดขายที่โจทก์สามารถขายได้ เมื่อเป็นเช่นนี้จึงเห็นได้ว่าค่าตอบแทนการขายเป็นเงินส่วนหนึ่งที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์เป็นการตอบแทนในการทำงาน โดยคิดตามผลงานที่โจทก์ทำได้ ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ได้ให้บทนิยามคำว่าค่าจ้าง ไว้ว่า เงินหรือเงินและสิ่งของที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นการตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติของวันทำงานหรือจ่ายให้โดยคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้ เมื่อค่าตอบแทนการขายจ่ายให้แก่โจทก์เป็นการตอบแทนในการทำงานโดยคำนวณตามผลงานที่โจทก์ทำได้และมีกำหนดงวดเวลาจ่ายไว้แน่นอน เงินค่าตอบแทนการขายจึงเป็นค่าจ้างตามความหมายของประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานตามที่กล่าวแล้ว ค่าตอบแทนการขายในคดีนี้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าเป็นค่าตอบแทนที่จำเลยจะต้องจ่ายให้แก่โจทก์ในงวดเดือนธันวาคม 2535 ดังนั้น โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระเงินค่าตอบแทนการขายดังกล่าวตั้งแต่เดือนมกราคม 2536 เป็นต้นมา เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้ในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2538 จึงเกิน 2 ปี นับแต่โจทก์สามารถใช้สิทธิเรียกร้องได้ คดีโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34(9) ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์