แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติตามหน้าที่โดยใช้กำลังประทุษร้าย แต่ความผิดดังกล่าวรวมการกระทำหลายอย่าง ซึ่งแต่ละอย่างเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเอง เมื่อจำเลยใช้กำลังทำร้ายดาบตำรวจ ว. แต่ไม่เป็นเหตุให้ดาบตำรวจ ว. ได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นแต่ไม่เป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ซึ่งมีบทลงโทษเบากว่าตามที่พิจารณาได้ความได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138, 140, 371, 32, 91 ริบอาวุธปืนของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพข้อหามีอาวุธปืนฯ และพาอาวุธปืนฯ ส่วนข้อหาอื่นให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138, 140 วรรคสาม, 371 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายบทมาตราเดียวกัน ให้ลงโทษจำเลยฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำคุก 4 ปี ฐานมีอาวุธปืนมีทะเบียนของผู้อื่น จำคุก 1 ปี ฐานพาอาวุธปืน ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 เดือน ฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่โดยมีอาวุธปืน จำคุก 4 เดือน รวมจำคุก 5 ปี 10 เดือน ความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนและต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนและทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้กระทงละหนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 ปี 3 เดือน ส่วนข้อหามีและพาอาวุธปืนจำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 9 เดือน รวมจำคุก 3 ปี 12 เดือน ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานมีอาวุธปืนให้จำคุก 8 เดือน ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่งแล้ว คงจำคุก 4 เดือน เมื่อรวมกับโทษในความผิดฐานอื่นตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้วรวมจำคุกจำเลย 3 ปี 7 เดือน ยกฟ้องข้อหาต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน คืนธนบัตรที่ใช้ล่อซื้อของกลางแก่เจ้าของ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยรู้หรือไม่ว่าดาบตำรวจวัฒนาเป็นเจ้าพนักงานตำรวจซึ่งกำลังปฏิบัติราชการตามหน้าที่ ศาลฎีกาได้พิเคราะห์คำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสามปากแล้ว ไม่มีพยานปากใดเบิกความว่าในวันเกิดเหตุพันตำรวจตรีสมบัติแต่งเครื่องแบบข้าราชการตำรวจ คงมีแต่บันทึกการจับกุมเท่านั้นที่มีข้อความว่าพันตำรวจตรีสมบัติแต่งเครื่องแบบข้าราชการ ซึ่งไม่มีน้ำหนักพอให้รับฟังเป็นยุติเช่นนั้นได้ ส่วนรถที่พยานโจทก์ทั้งสามปากใช้เป็นยานพาหนะแล่นติดตามจำเลยไปได้ความว่าพันตำรวจตรีสมบัติกับดาบตำรวจวัฒนานั่งรถยนต์ส่วนตัวของดาบตำรวจวัฒนา ส่วนพันตำรวจตรีเสวียนจะนั่งรถคันใดไปยังไม่ได้ความชัด เพราะพันตำรวจตรีเสวียนไม่ได้เบิกความเลยว่ารถที่พยานนั่งไปเป็นรถชนิดใด คงมีแต่คำเบิกความของดาบตำรวจวัฒนาที่ระบุว่ารถยนต์ที่พันตำรวจตรีเสวียนนั่งไปเป็นรถยนต์ของทางราชการ แต่ถ้อยคำของดาบตำรวจวัฒนาในเรื่องนี้มีใจความขัดแย้งกับพันตำรวจตรีสมบัติอย่างเห็นได้ชัด เพราะพันตำรวจตรีสมบัติเบิกความว่าพันตำรวจตรีเสวียนนั่งรถจักรยานยนต์ติดตามจำเลยไป ซึ่งเห็นได้อยู่ในตัวว่าพันตำรวจตรีเสวียนไม่ได้นั่งไปในรถยนต์ของทางราชการ ดังนั้น ที่โจทก์ฎีกาว่าจำเลยรู้ดีว่าผู้ที่กำลังไล่ตามจำเลยไปเป็นเจ้าพนักงานตำรวจจึงฟังไม่ขึ้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางดาบตำรวจวัฒนา ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานในการปฏิบัติตามหน้าที่โดยใช้กำลังประทุษร้าย ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย แต่การที่จำเลยชกต่อยดาบตำรวจวัฒนาเป็นการใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นไม่เป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจอันเป็นความผิดลหุโทษ แม้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติตามหน้าที่โดยใช้กำลังประทุษร้าย แต่เห็นได้ว่าความผิดที่โจทก์ฟ้องรวมการกระทำหลายอย่าง ซึ่งแต่ละอย่างอาจเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเอง เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยใช้กำลังทำร้ายดาบตำรวจวัฒนา แต่ไม่เป็นเหตุให้ดาบตำรวจวัฒนาได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นแต่ไม่เป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ซึ่งมีบทลงโทษเบากว่าตามที่พิจารณาได้ความได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคท้าย
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391 ปรับ 1,000 บาท ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสี่ คงปรับ 750 บาท หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้คงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์