คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5645/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ที่พิพาทเป็นของมารดาโจทก์ แต่ใส่ชื่อ ก. พี่ชายโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แทน ต่อมายกให้โจทก์โดยเสน่หาด้วยการจดทะเบียนโอนเป็นซื้อขายอำพรางนิติกรรมการให้เพื่อหลบเลี่ยงเจ้าหนี้ของผู้โอน อันมิใช่เป็นการทำโดยมุ่งค้าหากำไร การที่โจทก์นำไปจำนองหรือได้เสนอขายหน่วยราชการต่าง ๆ ก่อนขายให้การเคหะแห่งชาติล้วนเป็นการกระทำภายหลังจากได้ที่พิพาทแล้วจึงมิใช่เป็นการกระทำเพื่อได้มาโดยมุ่งค้าหากำไร เมื่อโจทก์ได้ที่พิพาทมาโดยมิได้มุ่งในทางการค้าหรือหากำไร จึงได้รับยกเว้นไม่ต้องนำเงินได้จากการขายที่ดังกล่าวมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ตามประมวลรัษฎากรมาตรา 42(9) ที่ใช้บังคับในขณะนั้น และการที่โจทก์ขายที่พิพาทให้การเคหะแห่งชาติเป็นการขายทั้งแปลงเพราะต้องการขายทั้งหมดก็มิใช่เป็นทางค้าหรือหากำไร ไม่ต้องเสียภาษีการค้าตามประมวลรัษฎากร มาตรา 78 วรรคแรก และบัญชีอัตราภาษีการค้าประเภทการค้า 11 การนำสืบพยานบุคคลในเรื่องการจดทะเบียนซื้อที่พิพาทว่าเป็นการถือกรรมสิทธิแทน และการจดทะเบียนซื้อขายเป็นการให้โดยเสน่หา ทั้งสองกรณีเป็นเรื่องที่นำสืบว่าสัญญาที่ระบุไว้ในเอกสารไม่สมบูรณ์ ไม่เป็นการสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสารจึงรับฟังได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 วรรคสอง อุทธรณ์จำเลยที่ว่า โจทก์ไม่ได้รับยกเว้นการเสียภาษีเงินได้เพราะโจทก์นำเงินได้จากการขายที่ดินไปหาส่วนเฉลี่ยแล้วนำไปขอยกเว้นเป็นรายบุคคล ซึ่งตามประมวลรัษฎากรจะต้องนำเงินได้ทั้งหมดไปขอยกเว้นโดยไม่แบ่งเฉลี่ย เป็นข้อที่จำเลยมิได้ว่ากล่าวกันมาในศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยชอบแล้ว เพราะจำเลยให้การต่อสู้ในศาลชั้นต้นเพียงว่า เงินได้ของโจทก์ไม่ได้รับยกเว้นตามประมวลรัษฎากร มาตรา 42(9) ที่ใช้บังคับในขณะนั้น อันหมายถึงว่าไม่ได้รับยกเว้นเพราะโจทก์ได้ทรัพย์สินมาโดยมุ่งในทางการค้าหรือหากำไรเท่านั้น ไม่ได้หมายถึงว่าโจทก์มิได้ยื่นขอยกเว้นโดยถูกต้อง จึงไม่ได้รับยกเว้นด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า บิดามารดาโจทก์ยกที่ดินโฉนดเลขที่ 3313 ตำบลบางเสาธง (เสาธง) อำเภอบางพลี (บางพลีใหญ่) จังหวัดสมุทรปราการซึ่งมารดาเป็นผู้ซื้อและใส่ชื่อนายเกษม ศุภพิพัฒน์ หรือตีซิ่วแซ่โค้ว พี่ชายโจทก์ไว้แทน ในการโอนกรรมสิทธิ์ให้โจทก์ได้จดทะเบียนนิติกรรมเป็นการขายอำพรางนิติกรรมยกให้ โจทก์ได้ขายที่ดินให้แก่การเคหะแห่งชาติ โดยมิได้มุ่งในทางการค้าหรือหากำไรแล้วได้ยื่นแบบ ภ.ง.ด.9 ก. ประจำปี 2519 ขอรับยกเว้นการเสียภาษีเงินได้จากการขายที่ดิน ต่อมาเจ้าพนักงานประเมินไต่สวนแล้วมีคำสั่งประเมินเรียกเก็บภาษี โจทก์อุทธรณ์การประเมิน คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยว่า การประเมินถูกต้องแล้ว แต่งดเบี้ยปรับ ลดเงินเพิ่มโจทก์เห็นว่าการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ไม่ชอบและขัดต่อกฎหมายขอให้เพิกถอน
จำเลยให้การว่า การประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ชอบด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามฟ้อง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 3313 เดิมมีเนื้อที่ 422 ไร่ 40 ตารางวา เป็นของนายกิมเซ็ง ฮวดศิริ ต่อมาเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2481 ได้จดทะเบียนโอนขายในราคา 4,000 บาท ใส่ชื่อในทะเบียนว่านายเกษมพี่ชายคนที่สองโจทก์ทั้งสามเป็นผู้ซื้อ วันที่ 27 ธันวาคม 2506 มีการจดทะเบียนว่านายเกษมได้โอนขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสามในราคา 422,000 บาท วันที่ 22 กันยายน 2518 โจทก์ทั้งสามได้จดทะเบียนแบ่งขายที่ดินพิพาทเนื้อที่ 15 ไร่ 30 ตารางวา ในราคา120,600 บาท ให้แก่กรมทางหลวงทำเป็นถนน และต่อมาเมื่อวันที่13 ธันวาคม 2519 โจทก์ทั้งสามจึงได้จดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทที่เหลือจำนวน 407 ไร่ 10 ตารางวา ให้แก่การเคหะแห่งชาติในราคา12,007,237.50 บาท แล้วโจทก์ทั้งสามได้ยื่นแบบ ภ.ง.ด.9 ก.ประจำปี 2519 ขอรับยกเว้นการเสียภาษีเงินได้จากการขายที่ดินพิพาทอ้างว่าโจทก์ทั้งสามได้รับการยกให้ซึ่งที่ดินพิพาทจากมารดา และได้ขายไปโดยมิใช่เป็นทางค้าหรือหากำไร แต่เจ้าพนักงานประเมินไต่สวนแล้วเห็นว่าโจทก์ทั้งสามซื้อที่ดินพิพาทมาโดยมุ่งค้าหากำไรและขายที่ดินพิพาทไปอันเป็นการค้าหากำไร ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีการค้า จึงได้แจ้งประเมินให้โจทก์ทั้งสามเสียภาษี โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์การประเมิน คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสาม เพียงแต่ให้ยกเว้นเบี้ยปรับและเงินเพิ่มบางส่วน โจทก์ทั้งสามจึงฟ้องเป็นคดีนี้ภายในกำหนด
ปัญหามีว่า ที่ดินพิพาทโจทก์ทั้งสามได้มาโดยมุ่งในทางการค้าหรือหากำไร และได้ขายเป็นทางค้าหรือหากำไรหรือไม่ ในเรื่องการได้มาซึ่งที่ดินพิพาทนี้โจทก์ทั้งสามอ้างว่า ที่ดินพิพาทเดิมเป็นของมารดา แต่ใส่ชื่อนายเกษมพี่ชายของโจทก์ทั้งสามเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แทน มารดายกที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสามโดยเสน่หาแต่ได้จดทะเบียนเป็นโอนขายแทนอันเป็นนิติกรรมอำพรางการให้ เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดในภายหลัง ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์มีตัวโจทก์ทั้งสามกับนายเกษมและนายวิชิต ศุภพิพัฒน์ พี่ชายโจทก์ทั้งสามเป็นพยานเบิกความว่า บิดามารดาของโจทก์ได้ซื้อที่ดินไว้หลายแปลงแต่ใส่ชื่อบุตรชายเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แทนเพราะบิดาโจทก์เป็นคนต่างด้าวต้องห้ามถือกรรมสิทธิ์ที่ดิน สำหรับที่ดินพิพาทมารดาโจทก์ซื้อมาแล้วใส่ชื่อนายเกษมเป็นเจ้าของแทน ต่อมาเมื่อปี 2506บิดามารดาโจทก์ประสงค์จะแบ่งทรัพย์สินให้แก่บุตรทุกคน ส่วนของบิดาแบ่งให้บุตรชายส่วนของมารดาแบ่งให้โจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นบุตรสาวจึงให้นายเกษมโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสาม โดยมอบเรื่องให้นายภักดิ์ ยังน้อย ทนายความไปดำเนินการโอน นายภักดิ์เกรงว่าหากจดทะเบียนโอนให้โดยเสน่หาเกรงจะมีเรื่องพิพาทกันในภายหลังจึงให้จดทะเบียนเป็นซื้อขายแทนแต่ไม่มีการรับเงินจริง ในข้อนี้โจทก์มีนายภักดิ์มาเบิกความสนับสนุนว่าในช่วงดังกล่าว บิดามารดาของโจทก์ได้แบ่งที่ดินให้แก่บุตรจริง นายภักดิ์เป็นผู้รับมอบอำนาจไปดำเนินการโอนให้จริง และได้จดทะเบียนโอนเป็นซื้อขายรวมทั้งที่ดินพิพาทด้วยเพื่อป้องกันเรื่องพิพาทกันในภายหลังพยานโจทก์เบิกความได้สอดคล้องกันอย่างสมเหตุสมผล เพราะมารดาโจทก์เป็นภริยาบุคคลต่างด้าวถือกรรมสิทธิ์ที่ดินไม่ได้จึงต้องใส่ชื่อนายเกษมเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทแทน และในช่วงระยะเวลาดังกล่าวก็มีการจดทะเบียนซื้อขายที่ดินระหว่างพี่ชายของโจทก์ทั้งสามไข้วไปมาทำให้มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ การขายที่ดินพิพาทให้การเคหะแห่งชาติก็เป็นการขายทั้งแปลงแม้จะมีการซื้อที่ดินเพิ่มมาทำเป็นทางสาธารณะและมีการเสนอว่าซื้อมากขายถูกซื้อน้อยขายแพงก็เพราะต้องการขายทั้งหมดนั่นเอง ที่จำเลยฎีกาว่าขณะซื้อที่ดินพิพาทมาเมื่อปี 2481 ยังไม่มีกฎหมายห้ามคนต่างด้าวถือกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งมารดาโจทก์เป็นคนไทยถือกรรมสิทธิ์ที่ดินเองได้นั้นแม้พระราชบัญญัติที่ดินในส่วนที่เกี่ยวกับคนต่างด้าว พ.ศ. 2486จะประกาศใช้ในตอนหลัง แต่ขณะที่ซื้อที่ดินพิพาทมาเมื่อปี 2481 ก็มีประกาศกำหนดที่ให้ขายให้เช่าแก่คนนอกประเทศ จำกัดการได้มาซึ่งที่ดินของคนต่างด้าวใช้บังคับอยู่ แม้มารดาโจทก์เป็นคนไทย แต่ก็เป็นภริยาของคนต่างด้าว อาจถูกสอบสวนว่าถือครองที่ดินแทนคนต่างด้าวได้จึงให้นายเกษมซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้วเป็นผู้ถือครองที่ดินแทนส่วนที่จำเลยฎีกาว่า นายเกษมสามารถซื้อที่ดินพิพาทเองได้เพราะมีการจำนองกลับไปนั้น เห็นว่า ในขณะนั้นนายเกษมมีอายุเพียงประมาณ 23 ปี เท่านั้น ยังต้องพึ่งพิงบิดามารดาอยู่ ไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นผู้ซื้อที่ดินพิพาทเป็นของตนเองเพราะเป็นที่ดินแปลงใหญ่ราคาแพง และที่จำเลยว่ามารดาของโจทก์ทั้งสามกับมารดาของนายเกษมเป็นคนละคนกัน เพราะมารดาของนายเกษมชื่อนางหนู ส่วนมารดาของโจทก์ทั้งสามชื่อนางบุญรอดที่โจทก์นำสืบมาจึงไม่น่าเชื่อถือนั้น คดีนี้โจทก์กล่าวในฟ้องและนำสืบมาโดยตลอดว่ามารดาของโจทก์มีสองชื่อคือนางหนูหรือบุญรอดโดยเฉพาะนายเกษมก็เบิกความว่ามารดาชื่อนางบุญรอด โจทก์ทั้งสามกับนายเกษมจึงมีมารดาคนเดียวกัน ส่วนที่โจทก์ทั้งสามมิได้อ้างเอกสารในชั้นตรวจสอบไต่สวนของเจ้าพนักงานประเมินนั้น เพราะเอกสารนั้นเป็นเรื่องที่บิดาโจทก์แบ่งทรัพย์สินให้แก่พี่ชายทั้งเจ็ดคนของโจทก์ทั้งสามซึ่งไม่เกี่ยวกับที่ดินพิพาท โจทก์จึงไม่จำต้องอ้างแต่ก็ได้ให้การถึงการแบ่งสมบัติของบิดามารดาแล้วไม่เป็นพิรุธดังจำเลยอ้างการจดทะเบียนโอนเป็นซื้อขายที่ดินพิพาทอำพรางนิติกรรมการให้เพื่อหลบเลี่ยงเจ้าหนี้ของผู้โอนนั้นมิใช่เป็นการทำโดยมุ่งค้าหากำไร การที่โจทก์ทั้งสามนำที่ดินพิพาทไปจำนองหลังจากได้ที่ดินมาแล้วก็ดี การนำไปเสนอขายหน่วยราชการต่าง ๆ หลายแห่งก่อนขายให้การเคหะแห่งชาติก็ดี ล้วนเป็นการกระทำภายหลังจากได้ที่ดินพิพาทมาแล้วจึงมิใช่เป็นการกระทำเพื่อได้มาโดยมุ่งค้าหากำไรดังจำเลยฎีกา ส่วนที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์นำสืบพยานบุคคลในเรื่องการจดทะเบียนซื้อที่ดินพิพาทมาเมื่อปี 2481 ว่าเป็นการถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทแทน และการจดทะเบียนซื้อขายเมื่อปี 2506 เป็นการให้โดยเสน่หา เป็นการสืบแก้ไขพยานเอกสาร ต้องห้ามมิให้รับฟังนั้นเห็นว่า ทั้งสองกรณีเป็นเรื่องที่โจทก์นำสืบว่าสัญญาที่ระบุไว้ในเอกสารนั้นไม่สมบูรณ์ จึงรับฟังได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 วรรคสอง สำหรับที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยข้ออุทธรณ์ของจำเลยที่ว่า โจทก์ทั้งสามไม่ได้รับยกเว้นการเสียภาษีเงินได้เพราะโจทก์ทั้งสามนำเงินได้จากการขายที่ดินไปหาส่วนเฉลี่ยแล้วนำไปขอยกเว้นเป็นรายบุคคล ซึ่งตามประมวลรัษฎากรจะต้องนำเงินได้ทั้งหมดไปขอยกเว้นโดยไม่แบ่งเฉลี่ย เพราะเป็นข้อที่จำเลยมิได้ว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลชั้นต้นนั้น ชอบแล้วเพราะจำเลยให้การต่อสู้ในศาลชั้นต้นเพียงว่าเงินได้ของโจทก์ทั้งสามไม่ได้รับยกเว้นตามประมวลรัษฎากร มาตรา 42(9) ที่ใช้บังคับในขณะนั้น อันหมายถึงว่าไม่ได้รับยกเว้นเพราะโจทก์ทั้งสามได้ทรัพย์สินมาโดยมุ่งในทางการค้าหรือหากำไรเท่านั้น หาได้หมายถึงว่าโจทก์ทั้งสามมิได้ยื่นขอยกเว้นโดยถูกต้อง จึงไม่ได้รับยกเว้นไม่คดีฟังได้ว่าโจทก์ทั้งสามได้ที่ดินพิพาทมาโดยมิได้มุ่งในทางการค้าหรือหากำไร ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำเงินได้จากการขายที่ดินดังกล่าวมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 42(9)ที่ใช้บังคับในขณะนั้น และการขายที่ดินพิพาทของโจทก์ทั้งสามก็มิใช่เป็นทางค้าหรือหากำไร ไม่ต้องเสียภาษีการค้าตามประมวลรัษฎากรมาตรา 78 วรรคแรก และบัญชีอัตราภาษีการค้าประเภทการค้า 11การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไม่ชอบ
พิพากษายืน

Share